เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน ปี 2554 ซึ่งกรมพลังงานทะแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการ จัดขึ้น เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีระบบผลิตพลังงานความร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน และการชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การสนับสนุนการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครับและผู้ประกอบการเอกชนต่างๆ เข้าร่วม กำหนดดำเนินการทั่วประเทศ 8 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5
นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านพลังงานมีความผันผวนและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังมีความต้องการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งหามาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการความต้องการใช้พลังงานให้มีดุลยภาพและเกิดความมั่นคง ด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งนอกจากการหาแหล่งพลังงานที่เหมาะสมและพอเพียงกับความต้องการแล้ว การพัฒนาและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ จะเป็นวิธีลดปัญหาดังกล่าวได้วิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำร้อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้ผลและสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมากิจกรรมหลายประเภทที่จำเป็นต้องใช้น้ำร้อน อาทิ โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน เป็นต้น โดยการผลิตน้ำร้อนได้มีการใช้พลังงานหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้มโดยใช้พลังงานจากก๊าซและไฟฟ้า หรือหากเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่จะใช้หม้อต้มที่ใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง
“เพื่อให้เกิดการทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ อันเป็นการทดแทนการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ทาง พพ. จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณร้อยละ 30 สำหรับผู้ยื่นเสนอขอรับการสนับสนุนฯ ตามหลักเกณฑ์ที่ พพ. กำหนดไว้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และปีนี้เป็นปีที่ 4 มีการติดตั้งระบบคิดเป็นพื้นที่แผงทำน้ำร้อนแสงอาทิตย์รวมแล้วจำนวน 16,000 ตารางเมตร และในปี 2554พพ. มีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนติดตั้งระบบฯ จำนวน 10,000 ตารางเมตรของแผงทำน้ำร้อนแสงอาทิตย์ คิดเป็นเงินให้การสนับสนุนประมาณ 45 ล้านบาท ทั้งนี้สถานประกอบการจะได้ประโยชน์ในด้านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และยังเป็นการลดการก่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานสิ้นเปลือง อีกทั้งเป็นการลดภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาของประเทศและของโลกในปัจจุบัน” นายไกรฤทธิ์ กล่าวและว่า สำหรับโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายดำเนินการถึงปี 2556 คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางเมตร ใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น