เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2555 ที่ห้องประชุมแววราไวย์ โรงแรมเมโทรโพล จังหวัดภูเก็ต นายชวลิต ณ นคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานปิดโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวธรรมชาติของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายอวยพร สกุลตัน ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และครู อาจารย์ จากโรงเรียนในสังกัด อบจ.ภูเก็ต เข้าร่วม คณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สำหรับโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวธรรมชาติ เป็นโครงการที่ทาง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ 3 ประการ ได้แก่ ให้ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเติมเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนโดยจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็นและส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มีความรอบรู้และสามารถพัฒนาเพื่อให้นักเรียนและครูโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ให้เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ซึ่งโครงการนี้จัดให้มีขึ้น ระหว่างเดือน มกราคม – กันยายน 2555 ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ประกอบด้วย ครู อาจารย์จากโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต คือ โรงเรียน อบจ.เมืองภูเก็ต โรงเรียน อบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู 2502) โรงเรียนบ้านนาบอน และโรงเรียน อบจ.สาธิตร่วมพัฒนา จากผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 9 เดือน ที่ผ่านมา คณะทำงานได้ประเมินการดำเนินโครงการพบว่าบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้วางไว้ทุกประการ และในการดำเนินการโครงการในครั้งนี้ มีคณะครูผ่านเกณฑ์ การฝึกอบรมและสมควรได้รับใบประกาศนียบัตรจำนวนทั้งสิ้น 40 คน
ด้านนายชวลิต ณ นคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดทำโครงการ “พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวธรรมชาติให้กับโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตแล้วนั้น ตลอดระยะเวลาทั้งสิ้น 9 เดือนนั้น ที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ชัดว่าการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นพันธกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดีจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบกับสภาพปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นอันมาก การพัฒนาการเรียนการสอนในแต่ละวิชาจะต้องรวดเร็วรองรับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งนี้เพื่อสรรค์สร้างให้มีกระบวนการจัดการการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ คือ นักเรียนที่ “เก่ง ดี มีสุข” ให้กับสังคม
นายชวลิต กล่าวต่อว่า “การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวธรรมชาติเป็นแนวการสอนที่เลียนแบบการรับรู้ (Acquire) ภาษาที่หนึ่งของเด็กเล็กๆ ซึ่งเป็นการรับรู้ภาษาที่เกิดตามธรรมชาติโดยที่ไม่มีใครสอน คำว่า Natural approach เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการพูดของครู (Teacher talk time-TTT) และเปิดโอกาสให้นักเรียนพูด (Student talk time- STTT) และเน้นการแก้ข้อผิดพลาดของผู้เรียน นอกจากนั้นแนวการสอนตามธรรมชาติยังต่างจากวิธีสอนแบบ Grammar translation และวิธีสอนแบบ Audio-lingual method ตรงที่การสอนตามแนวธรรมชาติเน้นการใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมาย (Meaning) และเน้นหน้าที่ (Function) ของภาษา ซึ่งเป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารเหมือนกับวิธีสอนแบบสื่อสาร (Communicative language teaching- CLT) การเลือกเนื้อหาและเรื่องที่สอนต้องสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน ทักษะฟังควรฝึกก่อนทักษะพูด ก่อนที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะเขียนต้องคำนึงความพร้อมของผู้เรียนเพราะทักษะนี้ต้องใช้เวลานานในการสร้างความพร้อม ผู้สอนไม่ควรเร่งเพราะจะทำให้ผู้เรียนวิตกกังวลซึ่งมีผลต่อทัศนคติและแรงจูงใจ การช่วยลดความวิตกกังวลเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษาที่สอง
ทั้งนี้การพัฒนาระบบการจัดการการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษโดยทำการศึกษาและพัฒนาเกี่ยวกับสภาพปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษความต้องการ แนวคิด กลยุทธ์ ยุทธวิธีในพัฒนาประสิทธิภาพ การสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด แนวทาง หลักสูตร การจัดการการเรียนการสอน และประเมินผลการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสู่เป้าหมายที่ทุกฝ่ายต้องการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น