จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สำรวจทุจริตหน่วยงานภาครัฐภูเก็ตพบเพิ่มสูงขึ้น



เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ที่ห้องประชุม POC ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายสุรินทร์ บำรุงผล ประธานเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายจรัญ ธัญญอุดร ประธานเครือข่าย ป.ป.ช. ภาคประชาสังคมจังหวัดภูเก็ต, นายพรสุข หลิมจานนท์ กรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกครอง และเครือข่ายภูเก็ตจัดการตนเอง รวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ได้แถลงผลการสำรวจสถานการณ์และแนวโน้มการทุจริตคอร์รัปชั่นในจังหวัดภูเก็ตปี 2556 


ทั้งนี้นายสุรินทร์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์และความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชั่นในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น ตามความเจริญเติบโตของเมืองซึ่งเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาในหลายมิติ เช่น การเหลื่อมล้ำของผู้มีรายได้กับประชาชนทั่วไป การแตกแยกแบ่งชนชั้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันระดับสากลลดลง และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญของจังหวัดอาจรับเอาวัฒนธรรมที่ผิดๆ มาใช้ โดยคิดว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าใจผิด 


และหากปล่อยไว้จะส่งผลร้ายแรงต่อจังหวัดภูเก็ต ทางเครือข่ายต่อต้านการทุจริตฯ จึงได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ออกมาร่วมกันหาแนวทางในการต่อต้านการทุจริตขึ้นอย่างจริงจัง โดยขณะนี้เครือข่ายฯ มีสมาชิกแล้ว 23,000 คน ที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้และประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้มีการดำเนินการต่อไป จึงได้จัดทำแบบสอบถามสำรวจ เรื่อง สถานการณ์และแนวโน้มการทุจริตคอร์รัปชั่นในจังหวัดภูเก็ต ขึ้นในระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม – 6 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา 


“ทั้งนี้ได้มีการส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มประชากรตัวอย่าง ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย ข้าราชการ เอกชน พนักงานรัฐวิสาหดิจ และอื่นๆ (นักศึกษาและสื่อมวลชน) จำนวน 1,200 ชุด และได้รับผลตอบกลับมาจำนวน 611 ชุด คิดเป็น 50.92% ประเด็นการสำรวจ ได้แก่ ความรุนแรงของปัญหาทุจริตคอรัปชั่นปี 2555-2556-2557, ทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น, ประสิทธิภาพของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชน, การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐที่มีความประพฤติทุจริตคอรัปชั่นในจังหวัดภูเก็ต” 


นายสุรินทร์ กล่าวสรุปผลการสำรวจว่า จากจำนวนแบบสอบถามที่ตอบกลับมาจำนวน 611ชุด พบว่ามี 15.06% เคยจ่ายเงินสินบนเพื่อให้ได้งานกับหน่วยงานภาครัฐ ส่วนคำถามที่ว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในจังหวัดภูเก็ต เมื่อเทียบระหว่างปี 2555 กับปี 2556 พบว่ามี 80.52% คิดว่าในปี 2556 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ส่วนแนวโน้มในปี 2557 ผู้ตอบแบบสอบถาม 79.71% บอกว่ามีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน 93.78% มองว่าปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องที่กระทบทุกคน โดย 86.74% ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลคอรัปชั่น แต่มีผลงานทำให้เกิดการยอมรับการทุจริตคอรัปชั่น โดยมีเพียง 13% ที่เห็นด้วยและยอมรับ นอกจากนี้ 90.18% ไม่เห็นด้วยการการให้เงินสินบนพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการติดต่องานราชการเพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวก และรวดเร็ว 


ในส่วนของประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต พบว่า ล้มเหลว 40.26% ได้ผลปานกลาง 27.82% ได้ผลมาก 11.46% และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ 20.29% ส่วนของความเชื่อมั่นกับการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นนั้นมีเพียง 17.02% เชื่อมั่นบ้างไม่เชื่อมั่นบ้าง 44.19% และไม่เชื่อมั่น 38.63% 


ส่วนความเชื่อมั่นภาคเอกชนในการร่วมต่อต้านการทุจริตฯ ของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พบว่ามีความเชื่อมั่น 55.97% หอการค้าจังหวัดภูเก็ต มี 53.03% และความเชื่อมั่นต่อสื่อมวลชนในการต่อต้านการทุจริตฯ พบว่ามี 57.12 % นอกจากนี้ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการต่อต้านการทุจริตฯ พบว่า ต้องการมีส่วนร่วม 47.63% อยากมีส่วนร่วมแต่ไม่พร้อมและคิดว่าจะเข้าร่วมในอนาคตมี 39.44% และไม่ต้องการเข้าร่วมมีเพียง 12.77% เท่านั้น นายสุรินทร์กล่าว 


นายสุรินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น กลุ่มตัวอย่าง 611 คน ที่มีการตอบแบบสอบถามได้มีการจ่ายเงินสินบนเพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการ พบว่า อันดับ 1 คือ ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต จำนวน 140 คน รองลงมา สำนักงานที่ดินภูเก็ต จำนวน 138 คน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.,เทศบาล) จำนวน 128 คน อำเภอถลาง จำนวน 77 คน อำเภอเมืองภูเก็ต จำนวน 71 คน ขนส่งจังหวัดภูเก็ต จำนวน 70 คน อำเภอกะทู้ จำนวน 65 คน ด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต จำนวน 64 คน 


ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จำนวน 57 คน ตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ต จำนวน 56 คน โรงเรียนสตรีภูเก็ต จำนวน 51 คน แขวงการทางภูเก็ต จำนวน 49 คน โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จำนวน 49 คน สรรพากรพื้นที่ภูเก็ต จำนวน 39 คน ด่านศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ต จำนวน 35 คน และยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วย ซึ่งข้อมูลที่ได้ดังกล่าวทางเครือข่ายฯ จะนำเสนอให้กับแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 


อย่างไรก็ตามนายสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า โครงการต่อไปที่จะดำเนินการ คือ การจัดตั้งเครือข่ายตาสับปะรด เพื่อเฝ้าติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของหน่วยงานราชการที่มีการทุจริต ในลักษณะแฝงตัวเข้าตามสำนักงานต่างๆ รวมทั้งจะได้มีการสำรวจความคิดเห็นในเชิงลึกของแต่ละกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้จะต้องมีการจ่ายสินบนให้กับหน่วยงานของรัฐ คาดว่าเริ่มดำเนินการในเร็วๆ นี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น