จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ครั้งที่ 27


เมื่อวันที่ 17 ก.ค.53ที่โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานภูเก็ต นายศักดา วารีพร ประธานชมรมผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม อันดามัน นายเมธี ตันมานะตระกูล ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นายนรา สุทธิชานนท์ ประธานชมรมพ่อครัวใหญ่ภูเก็ต นายวุฒิ ชูบาล ประธานชมรมผู้บริหารงานแม่บ้าน ภูเก็ต พังงา กระบี่ และนางสาววิไลพร ปิติมานะอารี ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประจำปี 2553 ณ ลานอเนกประสงค์ศูนย์โฮมเวิร์ค ภูเก็ต(ตรงข้ามศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสวัล ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-1 ส.ค.53

นางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประจำปี 2553 นับเป็นครั้งที่ 27 เป็นกิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการพัฒนาระบบการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มสู่มาตรฐานสากลสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากเป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมและแลกเปลี่ยนทักษะเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้กับกลุ่มสมาชิกผู้สนใจงานอาชีพฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มของโรงแรมแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และให้ความเพลิดเพลินแก่นักท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการใช้จ่ายได้

ด้านนายศักดา วารีพร ประธานชมรมผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม อันดามัน กล่าวถึงกิจกรรมงานในปีนี้ว่ามีการแข่งขันด้านอาหารและเครื่องดื่มมากมายหลายประเภท เริ่มจากการแข่งขันผสมเครื่องดื่มชิงแชมป์ภาคใต้ ประเภทมืออาชีพและมือสมัครเล่น การแข่งขันปรุงอาหารจากทะเล Andaman Seafood การแข่งขันแกะสลักผัก ผลไม้ผสมผสานกับงานใบตอง การแข่งขันพับผ้าขนหนูแฟนซี การแข่งขันการแกะสลักน้ำแข็ง การประกวดการตกแต่งไอศกรีม การประกวดจัดอาหารว่าง ประเภท Canape การแข่งขันอาหารประเภทของหวานสไตล์ยุโรป การแข่งขันการทำแฟเฟรปเป้ การแข่งขันการจัดค๊อกเทล รวมทั้งมีการออกร้านแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการบริการในธุรกิจของโรงแรมอีกมากมาย

พรรคมาตุภูมิเดินสายให้ความรู้ที่ภูเก็ต


เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.อ.สนธิ บุณยกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวในโอกาสเดินทางมาบรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางการเมืองไทยกับสภาวะปัจจุบัน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวน ว่า เป็นหน้าที่ของทุกพรรคการเมืองในการที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ถูกต้องกับประชาชน เพราะไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร หากเลือกตั้งเร็วความพร้อมก็จะน้อยลง ขณะนี้ก็มีการเตรียมไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนการส่ง ส.ส.ลงสมัครนั้นก็จะพิจารณาในพื้นที่ที่มีความพร้อม แต่คงไม่ส่งทุกจังหวัด

“ในการเปิดสาขาของพรรคมาตุภูมินั้นได้ดำเนินการไปตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ครบทุกภูมิภาค ส่วนพื้นที่ของจังหวัดอันดามันขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจุดที่เป็นศูนย์กลาง คาดว่าคงต้องใช้เวลาไม่นานนัก โดยเฉพาะจำนวนของสมาชิกที่เข้าร่วมว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อมาร่วมกันกำหนดทิศทางความสำคัญในการจัดทำนโยบายที่มีความเร่งด่วน ซึ่งสำหรับภูเก็ตนั้นมีสมาชิกอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง”

พล.อ.สนธิ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ จึงต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไรเพื่อนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของพรรค เนื่องจากขณะนี้มีความแตกแยกเกิดขึ้นเป็นอย่างมากมายในประเทศ แม้แต่ในพื้นที่ภาคใต้ก็มีจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากปัญหาความยากจน ความเสื่อมล้ำของสังคม ประการสำคัญกรณีที่มีหลายฝ่าย ทำให้อย่างไรที่จะให้คนไทยรักและสามัคคีกัน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.สนธิ กล่าวด้วยว่า การจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประสบการณ์ ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางที่ดี และก่อให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายจะต้องลดฐิติทั้งฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกครอง และประชาชนผู้ใต้ปกครอง ส่วนของการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นคิดว่าหากมองในแง่ของประโยชน์น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า และจะมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้น แต่ในจุดใดที่ทำให้เป็นเงื่อนไขทำให้สถานะความมั่นคงหลายๆ ด้านเสียไปก็ต้องไปพิจารณา โดยเฉพาะกรณีของเมืองท่องเที่ยวว่าควรจะคงไว้หรือไม่อย่างไร


เรือหลวงบางปะกงพบทุ่นสึนามิแล้ว


พล.ร.ท.ชุมนุม อาจวงษ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เปิดเผยว่า จากการที่ทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับการประสานข้อมูลจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารว่า ทุ่นลอยตรวจวัดคลื่นยักษ์สึนามิที่ไทยได้วางที่มหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2549 โดยห่างจากประเทศไทยไปประมาณ 600 ไมล์ทะเล บริเวณหมู่เกาะอันดามัน นิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ได้หลุดออกจากฐานเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ไม่สามารถตรวจวัดข้อมูลการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิจากทุ่นดังกล่าวได้

และจากรายงานเบื้องต้นว่า ทุ่นดังกล่าว ได้ลอยเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 200 ไมล์ทะเล จึงได้สั่งการให้เรือหลวงบางปะกง ออกจากฐานทัพเรือพังงา เมื่อบ่ายวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 เพื่อไปเก็บกู้ทุ่นลอยตรวจวัดคลื่นสึนามิดังกล่าว

พล.ร.ท.ชุมนุม ยังกล่าวอีกว่า จนกระทั่งเมื่อเวลา 06.30 น.ของวันที่ 17 กรกฎาคม 53 เรือหลวงบางประกง ก็ได้พบกับทุ่นสึนามิดังกล่าว กำลังลอยอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย อยู่ไปทางทิศตะวันตกห่างจากฐานทัพเรือพังงา ประมาณ 160 ไมล์ทะเล จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็จะใช้ชุดปฏิบัติการพิเศษดำน้ำลงไปตรวจสอบพื้นที่ใต้น้ำของตัวทุ่น หลังตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ประจำเรือก็ได้ทำการเก็บกู้ขึ้นบนเรือ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำทุ่นกลับถึงฐานทัพเรือพังงาในเช้าของวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคมนี้


 

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทศบาลตำบลรัษฎาอบรมอปพร.


เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 53 ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลรัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมให้ความรู้ อปพร./ลูกเสือชาวบ้าน รุ่นที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2553 โดยมีนายเชาวเลิศ จิตต์จำนงค์ รองนายกเทศมนตรี คณะผู้บริหาร ประธานสภา, สมาชิกสภา, หัวหน้าส่วนราชการและแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธีเปิด

ทั้งนี้นายเชาวเลิศ จิตต์จำนง รองนายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา ได้กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือภัยที่เกิดจากการกระทำของบุคคลได้เกิดมากขึ้น โดยสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งต่อหน่วยงานของรัฐ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายปกครอง สำนักปลัดเทศบาลตำบลรัษฎา ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดให้มีโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ อปพร./ลูกเสือชาวบ้าน รุ่นที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2553 ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสาธารณภัยรูปแบบต่างๆ และสามารถช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พร้อมทั้งให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้มีการเสียสละเพื่อช่วยเหลือสังคมส่วนรวม ประกอบกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้มีการเพิ่มจำนวนสมาชิก อปพร. /ลูกเสือชาวบ้าน ให้ได้ร้อยละ 2 ของจำนวนประชากร และให้อัตรากำลังอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อย่างเพียงพอในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 16 – 18 กรกฎาคม 2553

ภูเก็ตแคร์ในพื้นที่ตำบลป่าคลอก


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายสวัสดิ์ มัจฉาเวช สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง เขต 3 นายจิรศักดิ์ ท่อทิพย์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต คณะพยาบาล คณะอาสาสมัครสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ได้ออกเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการที่บ้าน ประจำปี 2553 ในเขตตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

ภารกิจการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามนโยบายด้านการดูแลสวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกเพศทุกวัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และมีมาตรฐานทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้มีการออกพื้นที่เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น ตำบลตลาดใหญ่ ตลาดเหนือ ตำบลราไวย์ รวมถึงตำบลป่าคลอก อันจะสานรับกับการทำบ้านให้เป็นโรงพยาบาล 10,000 เตียง ที่ผู้ป่วยสามารถรอรับการรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวก และปลอดภัย

นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการภูเก็ตแคร์ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อเข้ามาดูพี่น้องประชาชนในจังหวัดภูเก็ตที่เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยจะมีทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเข้ามาดูแล ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ได้เห็นถึงความสำคัญของการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มีการติดตามความคืบหน้าอาการและให้กำลังใจแก่พี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ป่วยรวมทั้งผู้ที่ดูแลอีกด้วย การออกพื้นที่ในครั้งนี้นอกจากการออกเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการที่บ้านแล้ว ยังได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ พร้อมของเยี่ยม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นไปมอบให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย” นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าว

อบต.ศรีสุนทรจ่ายเบี้ยยังชีพในพื้นที่


เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 53 ที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุนทร อ.ถลาง ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายธำรง ตันติวิรัชกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุนทร ได้ร่วมกันมอบเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ สำหรับคนชราคนพิการฯ ในพื้นที่ตำบลศรีสุนทร ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุนทร โดยมีผู้สูงอายุ และผู้พิการเข้ารับเงินในวันนี้จำนวน 89 ราย

สำหรับการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับผู้สูงอายุฯ เป็นโครงการที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ในจังหวัดภูเก็ต โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้จัดสรรให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดภูเก็ต จะมีการกระจายไปตามพื้นต่างๆ โดยให้แต่ละพื้นที่ทำการสำรวจรายชื่อของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรับเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 500 บาท สำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพในครั้งนี้ เป็นเงินประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2553 (4 เดือน) โดยจะได้รับเงินรายละ 2,000 บาท


แม้ไม่มีทุ่นยังสามารถที่จะแจ้งเตือนภัยได้

ความคืบหน้า กรณีทุ่นลอยตรวจวัดคลื่นยักษ์สึนามิที่ไทยได้วางที่มหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2549 โดยห่างจากประเทศไทยไปประมาณ 600 ไมล์ทะเล บริเวณหมู่เกาะอันดามัน นิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ได้หลุดออกจากฐานเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และทางทัพเรือภาคที่ 3 จะทำการส่งเรือหลวงบางปะกงออกไปเก็บกู้แล้ว

ด้านนายวิระยะ มงคลวีระพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ทุ่นตรวจวัดสึนามิตัวนี้ เป็นตัวที่นำไปวางแทนทุ่นตัวแรกที่ได้วางเมื่อปลายปี 2549 ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ว่าที่ขาดเพราะสาเหตุใด อาจจะกระตุกเพราะคลื่นมรสุมลมแรง หรือเรือหาปลาไปกระแทกให้ขาด ซึ่งต้องรอการเก็บกู้กลับมาก่อนแล้วนำมาพิสูจน์ โดยในส่วนของการตรวจตำแหน่งตัวทุ่นขณะนี้มีระบบ GPS ในการตรวจสอบอยู่แล้ว และเนื่องจากในระยะนี้เป็นหน้ามรสุม ทำให้ทุ่นถูกพัดเข้าหาฝั่งประเทศไทย จึงได้ประสานกับทัพเรือภาคที่ 3 เข้าไปเก็บกู้ ส่วนช่วงเวลาของการจะนำกลับไปวางในทะเลอันดามันอีกครั้งนั้น จะต้องดูสภาพคลื่นลมที่เหมาะสม แต่จะดำเนินการโดยเร็วที่สุด

ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยันว่า ในส่วนของการตรวจสอบแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสุมทรอินเดียนั้น ยังสามารถตรวจสอบได้ตามปกติ โดยการเชื่อมโยงกับระบบตรวจวัดสึนามิของต่างประเทศ และมีจุดตรวจวัดระดับน้ำตามเกาะต่างๆ ในฝั่งอันดามัน ดังนั้นระหว่างการตรวจสอบแก้ไขทุ่นที่ขาด จึงสามารถให้ความมั่นใจประชาชนในการเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าได้เหมือนเดิม


นทท.ออสเตรเลียยังเชื่อมั่นภูเก็ต


เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวหลังจากการเข้าพบของนายพอล กริกสัน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เข้าพบที่ห้องทำงานชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ว่า การเข้าพบของเอกอัครราชทูตฯ นั้นเพื่อมาอำลาเนื่องในโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศอื่น และขอบคุณที่ทางจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการร้องเรียนมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องออสซี่ผับ ปัญหาเจ็ทสกี หรือปัญหาอื่นๆ ซึ่งเขาทราบว่าเรามีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา และก็ดีใจมากที่ทางจังหวัดได้วางระบบการทำประกันภัยเจ็ทสกี เพื่อแก้ปัญหาการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวร้องเรียนไปยังกงสุลน้อยลง

นอกจากนี้ทางเอกอัครราชทูตออสเตรเลียบอกด้วยว่าในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียเดินทางเข้ามาประมาณ 50,000 คน และในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ได้มีการทำเรื่องขอวีซ่าเพื่อเดินทางมายังประเทศไทยอีกประมาณ 70,000 คน ซึ่งก็จะนำรายได้มาสู่ภูเก็ตอย่างมาก หลังจากเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ เงียบลง ทำให้มีการยกเลิกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยทั้งหมด

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เที่ยวบินบินเข้ามาภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่สัปดาห์ละประมาณ 3 เที่ยวบิน ซึ่งคงต้องขอบคุณชาวภูเก็ตที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามทางเอกอัครราชทูตออสเตรเลียยังได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของการป้องกันภัยทางทะเล ซึ่งก็ได้ยืนยันถึงความพร้อมทั้งในส่วนของหอเตือนภัยที่ได้มีการติดตั้งรอบเกาะจำนวน 19 หอ ขณะเดียวกันก็มีการซ้อมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วย


ทัพเรือภาค 3 ส่งเรือกู้ทุ่นสึนามิ


พล.ร.ท.ชุมนุม อาจวงษ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เปิดเผยว่า ทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับการประสานข้อมูลจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารว่า ทุ่นลอยตรวจวัดคลื่นยักษ์สึนามิที่ไทยได้วางที่มหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2549 โดยห่างจากประเทศไทยไปประมาณ 600 ไมล์ทะเล บริเวณหมู่เกาะอันดามัน นิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ได้หลุดออกจากฐานเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ไม่สามารถตรวจวัดข้อมูลการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิจากทุ่นดังกล่าวได้

ทางทัพเรือภาคที่ 3 ก็ได้ประสานงานกับน.อ.บัญชา บัวรอด ผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อประสานกองทัพเรืออินเดียช่วยค้นหาและติดตามทุ่นดังกล่าว ซึ่งกองกำลังอันดามันและนิโคบาร์ของ กองทัพเรืออินเดียได้ตรวจพบเมื่อ 29 มิถุนายน 53 และรายงานการเคลื่อนที่และตำบลที่ทุ่นดังกล่าวให้กับศูนย์เตือนภัยพิบัติและ ทรภ.3 มาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ทุ่นดังกล่าวได้ลอยเคลื่อนมาทางตะวันออกเข้าหาประเทศไทยด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พล.ร.ท.ชุมนุม ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่ทุ่นดังกล่าวได้ลอยเข้ามาสู่เขตของประเทศไทย จึงได้สั่งการให้เรือหลวงบางปะกง ออกจากฐานทัพเรือพังงา ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 เพื่อไปเก็บกู้ทุ่นลอยตรวจวัดคลื่นสึนามิดังกล่าว เนื่องจากมีรายงานว่าได้ลอยเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 200 ไมล์ทะเล และในวันที่ 17 กรกฎาคม 2553 ก็จะส่งเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล ออกไปชี้ตำแหน่งเพื่อให้เรือหลวงบางปะกง เข้าไปเก็บกู้ได้

สำหรับปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นตรวจวัดสึนามิที่ขาดหลุดออกจากฐานใต้น้ำครั้งนี้ เมื่อเรือหลวงบางปะกงพบทุ่นก็จะใช้ชุดปฏิบัติการพิเศษดำน้ำลงไปตรวจสอบพื้นที่ใต้น้ำของตัวทุ่น จากนั้นจะทำการเก็บกู้ขึ้นบนเรือ โดยจะมีการประสานข้อมูลกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำทุ่นกลับถึงฐานทัพเรือพังงาในเช้าของวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ พล.ร.ท.ชุมนุมกล่าว


วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“Business Matching” ที่ภูเก็ต


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ที่โรงแรมภูเก็ตออร์คิด รีสอร์ท แอนด์ สปา หาดกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเจรจาธุรกิจการค้า “Business Matching” ตามโครงการส่งเสริมตลาดสินค้าและบริการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดต่างๆ รวม 35 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 132 ราย ผลิตสินค้า 375 รายการเข้าร่วมพบปะเจรจาธุรกิจการค้าซึ่งเป็นผู้ซื้อจำนวน 27 ราย ประกอบด้วย ศูนย์จำหน่ายของฝากที่ระลึกจากต่างจังหวัด ตัวแทนค้าปลีกจากกรุงเทพ ตัวแทนค้าปลีกขนาดใหญ่ และตัวแทนจำหน่ายในภูเก็ต

นายสมพงศ์ อ่อนประเสริฐ พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดประชุมเจรจาธุรกิจการค้าในครั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกแก่ตัวแทนการค้าและผู้ประกอบการในภูมิภาคในการพบปะซื้อขายสินค้า เพื่อสร้างเครือข่ายการตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการในภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตอีกทางหนึ่งด้วย

“มั่นใจว่าการพบปะกันในครั้งนี้จะมีการตกลงส่งสินค้าระหว่างกันได้เป็นจำนวนมาก เพราะสินค้าที่นำมานำเสนอเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัด และได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด เพราะตัวแทนการค้าแต่ละจังหวัดได้เลือกสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดไปจำหน่ายต่อ”

นายสมพงศ์ กล่าวด้วยว่า การจัด Business Matching นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสในเจรจาธุรกิจการค้าและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแล้ว ยังจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองธุรกิจท่องเที่ยว บริการและการค้าที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติด้วย ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าของจังหวัด ที่จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าและบริการ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ เพิ่มช่องทางการตลาด รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในจังหวัด เพื่อดึงดูดความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวด้วย


ลูกผู้ชาย.......ไม่ทำร้ายผู้หญิง


นายชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ อัยการจังหวัดพังงา กล่าวที่ จ.ภูเก็ต ว่า เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ทั้งทางกาย วาจา และพฤติกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการทำร้ายที่มาจากคนใกล้ชิด เช่น สามี คนในครอบครัว ผู้ร่วมงาน เป็นต้น ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ดังนั้นทางสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดพังงา (สคช.พังงา) สำนักงานอัยการจังหวัดพังงา สคช.ตะกั่วป่า จ.พังงา และสำนักงานอัยการตะกั่วป่าในฐานะหน่วยงานปฏิบัติตามนโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย ตลอดจนการรณรงค์เพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง การสร้างเครือข่ายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงตามโครงการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย โดยจะดำเนินการจัดโครงการนิทรรศการและการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงขึ้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 นี้ โดยมีนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เดินทางมาเปิดสำนักงานอัยการจังหวัดพังงา และเป็นประธานการรณรงค์ดังกล่าว

การจัดโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย และเป็นการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เรื่องที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น โดยรณรงค์ให้จังหวัดพังงาเป็นต้นแบบปลอดการใช้กำลังต่อสตรี 100% ภายใต้สโลแกน “ลูกผู้ชาย.......ไม่ทำร้ายผู้หญิง” ซึ่งจะมีหน่วยงานต่างๆเข้าร่วม เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพังงา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพังงาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประธานหอการค้าพังงา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา เป็นต้น

นายชัยนันท์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานอัยการจังหวัดพังงา มีเป้าหมายที่จะรณรงค์ให้จังหวัดพังงาปลอดจากการทำร้ายผู้หญิง 100% ให้ได้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เป็นต้น ถือเป็นจังหวัดแรกในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นจังหวัดที่สองของประเทศที่มีการรณรงค์ดังกล่าว โดยจะใช้มาตรการต่างๆ จากเบาไปหาหนัก พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติของทั้งผู้หญิงและผู้ชายเพื่อไม่ให้มีเกิดทำร้ายกัน เช่น ตั้งแต่การเจรจาไกล่เกลี่ย ดำเนินคดีเพ่ง คดีอาญา ให้ศาลสั่งจำคุก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามนายชัยนันท์ กล่าวด้วย คดีที่เกี่ยวกับการทำร้ายผู้หญิงในจังหวัดพังงานั้นเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แล้วถือว่าน้อยมาก มีประมาณ 20 คดีต่อปี ซึ่งทุกคดีสามารถที่จะดำเนินการจบในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ย ส่วนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลมีเพียง 5 คดีเท่านั้น และปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เข้าใจกันในครอบครัวเป็นหลัก

สร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดอบรมโครงการอบรมเยาวชนเรียนรู้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ซึ่งทางสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวีระพงษ์ ไวทยวงศ์สกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นายสุภาพ อรรคคำ ผู้อำนวยการสำนักงานการเลือกตั้งประจำจังหวัดภูเก็ต พร้อมคณะครู อาจารย์ และนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม ได้แก่ โรงเรียนภูเก็ตวิทยา โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงเรียนเมืองถลาง วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต วิทยาลัยอาชีวศึกษา และโรงเรียนดาวรุ่งวิทยา

นายวีระพงษ์ ไวทยวงศ์สกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองของประเทศไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยมีหัวใจหลักสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ในปัจจุบันสภาวะทางสังคมทำให้เกิดช่องว่างระหว่างสังคมคนจนกับคนรวย คนในเมืองกับคนชนบท ซึ่งส่งผลให้ประชาชนอีกเป็นจำนวนมากยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ทำให้เกิดความแตกต่างไม่เท่าเทียมกันในระบอบประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้มีการจัดทำโครงการอบรมเยาวชนเรียนรู้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งขึ้น เพื่อให้เยาวชนเกิดความรู้ ความเข้าและตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ตามวิถีทางในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง เหมาะสม อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับกลุ่มเยาวชนด้วยกันเองและคนในชุมชนด้วย นายวีระพงษ์กล่าว

มอบทุนราชประชานุเคราะห์ 36


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต และคณะกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ส่วนจังหวัดภูเก็ตมูล นายจุฑา ดุมลักษณ์ นายก อบต.กมลา ส.ต.อ.โกลมล ดุมลักษณ์ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 นายสวัสดิ์ บรรจงพาศ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 คณะครู และนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 ร่วมให้การต้อนรับนายขวัญแก้ว วัชโรทัย นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะ ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีมอบเงินทุนเพื่อการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ มอบอุปกรณ์การเรียน และอุปกรณ์กีฬาแก่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต ในโอกาสเดียวกันนี้ได้เป็นประธานเปิดห้องละหมาดของในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ เพื่อเป็นสถานที่ให้นักเรียนและประชาชนได้ปฏิบัติศาสนกิจด้วย

นายสวัสดิ์ บรรจงพาศ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 กล่าวว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อสร้างขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์แก่นักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปลายปี 2547 และจัดเป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ให้ได้เข้าถึงบริการทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โดยทางโรงเรียนรับนักเรียนเข้าศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งประเภทประจำ และไป – กลับ ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 776 คนจำนวน 26 ห้องเรียน แบ่งเป็นนักเรียนประจำจำนวน 159 คน และนักเรียนไป – กลับ จำนวน 617 คน มีครูทั้งหมด 50 คน เป็นครูอัตราจ้างที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.ภูเก็ต 5 อัตรา ได้รับความอนุเคราะห์ครูจากวิทยาลัยเทคนิคถลาง จำนวน 2 คน วิทยากรพิเศษ จำนวน 2 คน ครูอาสาสมัครชาวต่างชาติจากประเทศอเมริกา ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส จำนวน 4 คน และครูจากประเทศจีน จำนวน 1 คน ช่วยในเรื่องการเรียนการสอนวิชาภาษาต่างประเทศแก่นักเรียน

นายสวัสดิ์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนใช้ระบบสื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมโดยรับสัญญาณจากโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียง นอกจากนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน และองค์กรต่างๆ โรงเรียนได้บริการอาคารสถานที่ อุปกรณ์เพื่อใช้ในการจัดประชุม อบรม สัมมนา การจัดการแข่งขันกีฬา การบริการห้องพัก ให้แก่ชุมชนและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ด้วย


นครภูเก็ตหล่อเทียนพรรษา


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ที่วัดมงคลนิมิต นายไชยวัตน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีหล่อเทียนเนื่องในวันเข้าพรรษา ประจำปี 2553 โดยมีนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต คณะผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าส่วน พนักงานเทศบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ครู นักเรียนและประชาชนทั่วไป ร่วมในพิธี

ทั้งนี้นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้กล่าวว่า ประเพณีเข้าพรรษาเป็นประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนาที่มีมาแต่โบราณและได้มีการยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน สำหรับปีนี้วันเข้าพรรษาตรงกับวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2553 ทางเทศบาลนครภูเก็ตตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย จึงได้กำหนดจัดงานประเพณีดังกล่าวขึ้น โดยในวันนี้จัดให้มีการประกอบพิธีหล่อเทียนพรรษา

จากนั้นจะมีการสมโภชเทียนพรรษาในวันที่ศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 18.30 – 20.00 น.ที่วัดมงคลนิมิตร และในวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล พนักงานและลูกจ้าง ร่วมกันนำเทียนพรรษาและปัจจัยไทยธรรมไปถวายยังวัดในเขตเทศบาล ประกอบด้วย วัดมงคลนิมิตร วัดเจริญสมณกิจ วัดวิชิตสังฆาราม วัดขจรรังสรรค์ วัดสามัคคีสามกอง และวัดถาวรคุณาราม

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ยังกล่าวอีกว่า ในโอกาสวันเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ เทศบาลนครภูเก็ตขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน พุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญสร้างกุศล ถวายเทียนพรรษาร่วมกับเทศบาลฯ เพื่อสร้างกุศล ถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมอธิษฐานจิตให้ตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติสงบสุขตลอดไป


วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เตรียมนิรโทษโรงแรมเถื่อน


เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 53 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นายวิชัยไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.จังหวัดภูเก็ต) เพื่อติดตามประเด็นขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัด โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม เช่น อบจ.ภูเก็ต หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของคณะอนุกรรมการ กรอ.จังหวัดภูเก็ต สาขาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งหนึ่งในประเด็นในการนำเสนอขอให้มีการควบคุมจำนวนโรงแรมและส่งเสริมโฮมสเตย์ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงแรม รวดเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ทำให้โรงแรมแต่ละแห่งมีแขกน้อย จึงควรจะชะลอการเพิ่มจำนวนโรงแรม เพื่อให้สมดุลกับนักท่องเที่ยวและควรหันไปสนับสนุนโฮมสเตย์ของชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ต่อมาได้ถอนประเด็นการควบคุมจำนวนโรงแรมออกเหลือเพียงให้ส่งเสริมโฮมสเตย์ เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าไม่สามารถห้ามการลงทุนได้ แต่ควรจะนำโรงแรมที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตมาเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง และขอเป็นมติ กรอ.ในการเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอนิรโทษกรรมโรงแรมที่ดำเนินการไปแล้วมาเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยให้ตั้งอนุกรรมการศึกษารายละเอียดว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง

โดยนายแพทย์ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เหตุที่มีการนำเสนอให้มีการควบคุมการขออนุญาตก่อสร้าง เนื่องจากมองว่าปัจจุบันในบางช่วงจำนวนห้องพักของโรงแรมเพิ่มมากว่าจำนวนของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหากระทบในเรื่องของความเชื่อมั่น และก่อให้เกิดปัญหาการแข่งขันตัดราคา ดังนั้นอยากให้มีการเข้ามาดูแลในภาพรวมของการก่อสร้างโรงแรมใหม่ ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าห้ามไม่ให้ลงทุนก่อสร้างเลย เพียงแต่ให้มีการส่งสัญญาณเตือน ในขณะเดียวกันให้มาส่งเสริมโฮมสเตย์ของชุมชนมาช่วยรองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นเพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

ขณะที่นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การควบคุมจำนวนนั้นคงเป็นเรื่องยาก ที่จะห้ามได้ เนื่องจากปัจจุบันเป็นการแข่งขันในระบบของทุนนิยม และเป็นเรื่องดีมานท์ซัฟฟราย ส่วนของการส่งเสริมโฮสเตย์นั้นก็มีหน่วยที่รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและจะต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข นั่นคือ การนำโรงแรมที่ไม่ถูกต้องมาเข้าระบบให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีจำนวนมากและเกินกว่าครึ่งของจำนวนโรงแรมที่มีอยู่

นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เรื่องการดูแลจำนวนห้องพักนั้นได้มีการดำเนินการร่วมกันของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อกำหนดในการดูแลจำนวนห้องพักเพื่อไม่ให้เกิดการโอเวอร์ซัฟฟราย ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานครก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งเข้าใจในระบบทุนนิยมซึ่งไม่สามารถที่จะห้ามการลงทุนได้ แต่ทำอย่างไรให้โรงแรมที่ก่อสร้างมาแล้วเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีของอาคารพาณิชย์ เกสเฮ้าส์หรือคอนโดมีเนียม ได้ทำการดัดแปลงมาเป็นโรงแรมที่พักเป็นจำนวนมากและในส่วนนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะถูกกว่าโรงแรมที่มีการขออนุญาตถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของการเกิดสงครามราคา สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย และทำอย่างไรให้โรงแรมที่ยังไม่ขออนุญาตให้เข้าสู่ระบบ เพราะการห้ามไม่ให้สร้างเพิ่มคงเป็นไปได้ และอาจจะเป็นการผิดรัฐธรรมนูญด้วย

ส่วนนายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต สำนักงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวยอมรับว่า การขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมตาม พ.ร.บ.โรงแรมนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นจึงมีโรงแรมจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ขออนุญาต แต่ที่ผ่านมาเคยมีการประกาศนิรโทษกรรมให้โรงแรม ซึ่งน่าจะนำในส่วนนี้มาใช้ เพื่อนำมาเข้าสู่ระบบทั้งหมด โดยอาจจะกำหนดให้นิรโทษกรรมโรงแรมที่ก่อสร้างก่อนปี 2553


วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แลกเปลี่ยนการวิจัยการตลาดไทย – มาเลเซีย


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องประชุมอัญชัน อาคารศรีราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ หรือ International Conference Project เรื่อง “การตลาดและการค้าปลีกที่ยั่งยืน : การมีส่วนร่วมและขีดความสามารถของกลุ่มประเทศอาเซียน (Sustainable marketing & retailing contributions and competencies of Asian Nations) ซึ่งเป็นการจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต กับ University Teknologi Mara ประเทศมาเลเซีย โดยมีนักวิจัยจากทั้งสถาบันการศึกษาทั้งสองแห่ง และนักวิจัยจากองค์กรเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ในเอเชียเข้าร่วม

ผศ.ดร.ประภา กล่าวว่า ด้วยทางมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และ University Teknologi Mara ประเทศมาเลเซีย ตลอดจนสถาบันชั้นนำด้านวิชาการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการตลาดและการค้าปลีก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในด้านสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนการเกิดขึ้นของปัญหาที่ตามมา ดังนั้นในการพัฒนาของท้องถิ่นที่สถาบันการศึกษาแลกเปลี่ยนด้วยองค์ความรู้ มุมมอง ความคิดเห็น แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการวิจัย จึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ดังนั้นจึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างกันดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยสาขาการตลาด การค้าปลีก การท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ เอกชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านวิชาการ การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาด้วยการวิจัย รวมทั้งเพื่อให้เกิดการตื่นตัวของผู้เกี่ยวข้องในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนาทางวิชาการวิจัยทางสังคมศาสตร์และธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนการวิจัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย ผศ.ดร.ประภากล่าว

ป่าคลอกลงทุน-ท่องเที่ยวขยายตัว


นายอธิพงษ์ คงนาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก (อบต.ป่าคลอก) อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวลงทุนในพื้นที่ ต.ป่าคลอก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการพัฒนาทางด้านอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีทั้งโครงการบ้านจัดสรรและโรงแรมที่พัก ส่งผลให้พื้นที่ของป่าตองมีการเติบโตทางด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีนี้มีโครงการบ้านจัดสรรที่ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านศุภาลัย ซึ่งเป็นการลงทุนของนักลงทุนจากส่วนกลาง กับโครงการบ้านพร้อมพันธ์ซึ่งเป็นการลงทุนของนักลงทุนในพื้นที่ ส่วนของโรงแรมที่พักในปีนี้ยังไม่มีการอนุญาตก่อสร้างเพิ่ม ทั้งนี้เนื่องจากอาจจะอยู่ระหว่างการรอดูสถานการณ์ โดยปัจจุบันห้องพักของโรงแรมและรีสอร์ทซึ่งมีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงแรมศุภาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา โรงแรมจันดารารีสอร์ทแอนด์สปา และโรงแรมบนเกาะนาคา มีจำนวนห้องพักรวมประมาณ 200 ห้อง

“จากการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ป่าคลอกของนักลงททุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้ อบต.ป่าคลอกสามารถจัดเก็บรายได้ซึ่งมาจากภาษีโรงเรือนและอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2552 สามารถจัดเก็บได้ 63 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้ 10 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2553 คาดว่าน่าจะเก็บได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางด้านอสังหาริมทรัพย์”

นายอธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านการลงทุนและท่องเที่ยวที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของอบต.ป่าคลอก ได้มีการวางแผนในการพัฒนาสาธารณูปโภค-สาธารณูปการโดยการจัดสรรงบประมาณจัดทำโครงการต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การปรับปรุงถนนซอยในหมู่บ้าน การขยายเขตไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในพื้นที่ โดยนำเอาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่มาเป็นจุดขายหลักทางด้านการท่องเที่ยว เช่น โครงการจากภูผาสู่ทะเล ซึ่งดำเนินการโดยชุมชนบ้านบางโรง เป็นต้น ซึ่งนอกจากงบประมาณจากรายได้และงบอุดหนุนของ อบต.เองแล้ว ในปีนี้ยังได้รับการจัดสรรงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอีกประมาณ 30 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้วย เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


ส.ท่องเที่ยวภูเก็ตวางแผนโรดโชว์


นายภูริต มาศวงศ์ศา อุปนายกฝ่ายการตลาดต่างประเทศ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศประสบปัญหา แต่ภูเก็ตยังสามารถที่จะประคับประคองตัวเองไปได้ เนื่องจากมีตลาดหลักที่มาช่วยประคองสถานการณ์ไว้ เช่น ออสเตรเลีย เกาหลี จีน ตะวันออกกลาง อินเดีย เป็นต้น ประกอบกับช่วงของไฮซีซั่นลดสั้นลงเหลือเพียง 4 เดือน จากเดิม 6 เดือน ขณะที่โลว์ชีซั่นยาวขึ้นเป็น 8 เดือน ทำให้จะต้องวางแผนในการหาตลาดใหม่มาเสริมให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตสูงสุดปีละประมาณ 400,000 คน รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ในส่วนของอินเดียและตะวันออกกลางด้วย

ทั้งนี้ในแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นจะมีการเดินทางไปโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการขายที่ประเทศออสเตรเลียในสองเมืองหลัก คือ ซิดนีย์และบริสเบน ในระหว่างวันที่ 16 – 23 กันยายนนี้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เพื่อจะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งเพื่อขอบคุณบริษัททัวร์ใหญ่ๆ ที่ให้การช่วยเหลือส่งนักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตตลอด โดยเฉพาะในคราวที่จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหา เช่น สึนามิ เป็นต้น ซึ่งจากสถิติพบว่านักท่องเที่ยวตลาดออสเตรเลียเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาซ้ำเฉลี่ยปีละประมาณ 150,000 – 200,000 คน

นอกจากนี้ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม จะมีการเดินทางไปร่วมงานส่งเสริมการขาย ITB ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ.ภูเก็ต ให้เดินทางไปร่วมทุกปี เพราะเป็นงานส่งเสริมการขายระดับโลกและเป็นตลาดหลักที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงไฮซีชั่น หลังจากนั้นในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเดินทางไปโรดโชว์ที่กรุงนิวเดลี บังการอ และเชนไช ประเทศอินเดีย และร่วมงานอาระเบียน เทรเวล เทรด เพื่อนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยว รวมทั้งในส่วนของตลาดตะวันออกกลางด้วย ประกอบกับทางสายการบินกาตาร์จะเปิดบินตรงโดยใช้เส้นทางโดฮา-กัวลาลัมเปอร์-ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวในตะวันออกกลางและยุโรปสามารถเดินทางเข้ามาได้สะดวกมากขึ้น

ส่วนของตลาดภายในประเทศนั้น นายภูริต กล่าวว่า ก็ได้ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางไปทำโรดโชว์ที่ จ.เชียงใหม่ และในระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายนนี้ก็จะเดินทางไปยัง จ.อุดรธานีและสาธารณรัฐประชาชนลาว เพื่อที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากทางอีสานและประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวให้เข้ามาภูเก็ต เนื่องจากขณะนี้ทางสายการบินไทยแอร์เอเซียได้เปิดบินเส้นทางภูเก็ต-อุดรธานี วันละ 1 เที่ยวบินแล้ว

นายภูริต กล่าวว่า สำหรับถานการณ์ท่องเที่ยวของภูเก็ตในช่วงไฮซีซั่นที่จะมาถึงในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้หากไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงขึ้นอีก คาดว่าในช่วงไฮซีซั่นนี้การท่องเที่ยวของภูเก็ตก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจากการสอบถามไปยังโรงแรมต่างๆ ปรากฏว่าการจองห้องพักเข้ามาแล้วประมาณ 50% และจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงใกล้ไฮซีซั่นนี้ ส่วนอัตราเข้าพักปัจจุบันในภาพรวมเฉลี่ยประมาณ 40 – 45% ซึ่งดีขึ้นกว่าในช่วง 2 – 3 เดือนก่อนหน้านี้


ทน.ภูเก็ตรับงบถนนไร้ฝุ่น 24 ล.


นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่ทางเทศบาลนครภูเก็ต มีโครงการก่อสร้างถนนผังเมือง ค.ตามแผนโครงการจัดผังแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ โดยธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตให้ใช้ที่ดินจำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 20 ไร่เศษ ประกอบด้วย ที่ดินแปลงหมายเลขที่ ภก 155 จำนวน 12 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ เขต 4 เป็นผู้ใช้ประโยชน์ กับที่ดินแปลงหมายเลขที่ ภก 241 จำนวน 7 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา ซึ่งสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ฯเป็นผู้ใช้ประโยชน์ เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี กับถนนเจ้าฟ้า เพื่อให้มีพื้นที่ถนนสำหรับรองรับปริมาณยานพาหนะที่เพิ่มมากขึ้น เป็นการระบายการจราจรบริเวณถนนเจ้าฟ้าและถนนพูนผล ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งมีการจราจรคับคั่งในชั่วโมงเร่งด่วน และเป็นเส้นทางผ่านไปสู่บริเวณสวนสาธารณะสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 สวนสาธารณะสะพานหิน เป็นเส้นทางไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ของจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนเพื่อรองรับและสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนบางกอก-ถนนพูลผล (PH-RB-10) และถนนสายหลักทางด้านใต้ (PH-RB-3A) ตามโครงการพัฒนาเมืองหลัก รอบที่ 2 ระยะแรก

“ถนนเส้นนี้ได้รับงบประมาณจากโครงการถนนไร้ฝุ่นของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานทางหลวงชนบท ที่ 18 จังหวัดกระบี่และสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดภูเก็ต จำนวน 24 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะก่อสร้างเป็นถนนลาดยางขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 684 เมตร ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ต่างก็เห็นด้วย เนื่องจากเล็งเห็นถึงความจำเป็นเพื่อลดปัญหาการจราจรในเขตเมืองโดยเฉพาะในช่วงเวลาชั่งโมงเร่งด่วน เพราะจะช่วยให้สามารถที่จะระบายรถได้อีกทางหนึ่ง คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้ และจะเปิดใช้บริการได้ประมาณปีหน้า”

นางสาวสมใจ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อถนนสายนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในการสัญจรเข้า-ออกตัวเมืองภูเก็ต เพราะปัจจุบันปริมาณยวดยานพาหนะมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการสร้างถนนขึ้นอีก 1เส้นทางจะเป็นการเพิ่มพื้นผิวการจราจร ทำให้การคมนาคมขนส่งมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ประกอบกับบริเวณพื้นที่ก่อสร้างถนนผังเมือง ค เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการขยายตัวด้านที่อยู่อาศัยของชุมชน นอกจากนี้ยังใกล้กับสถานที่ราชการ เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี กับเจ้าฟ้าตะวันออก ผ่านไปยังแหล่งท่องเที่ยวในเขตเมือง สนามกีฬา สวนสาธารณะสำคัญ คือ สะพานหิน ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ พิธีกรรมเนื่องในประเพณีถือศีลกินผัก ทำบุญตักบาตร ปีใหม่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละครั้งจะมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ในวันปกติก็จะมีประชาชนใช้บริการวันละกว่า 2,000 คน นอกจากนี้เทศบาลนครภูเก็ตยังได้รับงบประมาณแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในการจัดสร้างยิมเนเชี่ยมขนาด 4,000 ที่นั่งในบริเวณดังกล่าวด้วย ดังนั้นการเพิ่มเส้นทางจราจรซึ่งจะช่วยระบายรถและลดความแออัดของยวดยานพาหนะในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมได้เป็นเป็นอย่างดี

สร้างเสริมสุขภาพในการทำงาน


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องประชุม 2 อาคารหลังใหม่ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการสร้างเสริมสุขภาพในการทำงาน สำหรับผู้ประกันตน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมเชิงปฏิบัติการให้ผู้ประกันตนดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ปลอดจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานเพื่อให้ผู้ประกันตนทุกคนสามารถดูแลตนเองได้ และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ เมื่อได้รับอุบัติเหตุและมีสาเหตุอันเกิดจากโรคจากการทำงาน โดยมีผู้ประกันตนในสถานประกอบการต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม

นายแพทย์เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุตสาหกรรมขนาดย่อม จนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เกิดความหลากหลายในมาตรฐานการผลิตและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อผู้ใช้แรงงานทั้งการบาดเจ็บ อุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นจำนวนผู้อยู่ในวัยทำงาน (15-59 ปี) มีจำนวน 53.28 ล้านคน และเป็นผู้ที่มีงานทำจำนวน 37.60 ล้านคน โดยกระจายอยู่ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและภาคบริการ

สำหรับจังหวัดภูเก็ตเป็นตลาดแรงงานใหญ่ระดับประเทศ มีสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ประกันตนทั้งหมดประมาณ 129,240 คน จาก 9,000 สถานประกอบการ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ละปีผู้ใช้แรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือเจ็บป่วยจากการทำงานเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น การบาดเจ็บกล้ามเนื้อหลังเนื่องจากยกของหนัก การบาดเจ็บไหล่และต้นคอ เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าวสามารถป้องกันได้ หากสถานประกอบการให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการดำเนินงานคลินิกโรคจากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน นายแพทย์เจษฎากล่าว

ด้านนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเสริมว่า สถานการณ์โรคและภัยจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อพนักงานในสถานประกอบการ ซึ่งจากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคจากการประกอบอาชีพในแต่ละปีมีเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าสุขภาพของผู้ประกันตนในสถานประกอบการควรได้รับการเสริมสร้างสุขภาพทั้งองค์ความรู้ และการปฏิบัติปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงประจักษ์จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถดูแลสุขภาพของตนเองให้ปลอดจากอุบัติเหตุ และโรคจากการทำงานทั้งทางด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันรักษาและการฟื้นฟูสภาพให้ตนเองมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง ก่อให้เกิดความพร้อมในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถ มีประสิทธิภาพและคุณภาพ บ่งชี้ให้เห็นการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยหลักการปฏิบัติให้เข้าถึงโรงงานสุขภาพดี (Healthy Factory Thailand) ที่ประกอบด้วย อาหารดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อนามัยและสิ่งแวดล้อมงดงาม ปลอดอโรคยา ปราศจากอบายมุข สุขด้วยอารมณ์


“บันทึกนักประหยัดตัวน้อย”

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม “จุ-ติ ก้องอนุสรณ์” ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายสมชาย เครือแพทย์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอถลาง เป็นประธานเปิดโครงการ “บันทึกนักประหยัดตัวน้อย” ประจำปี 2553 ซึ่งเป็นกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบสถาปนา 50 ปี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีนายชาญณรงค์ หนูคง ผู้อำนวยการโรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม “จุ-ติ ก้องอนุสรณ์” คณะครู นักเรียน และวิทยากรจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคใต้ (กฟภ.ต.2) จังหวัดนครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายศักดิ์ดา นาวารัตน์ รองผู้อำนวยการกองบริการลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภาคใต้ เขต 2 กล่าวว่าสืบเนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะครบรอบสถาปนา 50 ปีในวันที่ 28 กันยายน 2553 นี้ ในโอกาสดังกล่าวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงได้จัดทำโครงการบันทึกนักประหยัดตัวน้อยจัดขึ้นใน 73 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อแนะนำให้นักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้า รู้จักใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย ถูกวิธี ประหยัดมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งช่วยแนะนำผู้ปกครองร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน และให้ผู้ปกครองตอบแบบสอบถามถึงพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันลดโลกร้อนด้วย

สำหรับรูปแบบการจัดโครงการบันทึกนักประหยัดตัวน้อย ประจำปี 2553 ของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยกิจกรรมในรูปแบบ Walk Rally โดยแบ่งฐานให้ความรู้ออกเป็น 5 ฐาน ประกอบด้วย ฐานไฟฟ้ามาสู่บ้านได้อย่างไร,มิเตอร์ กฟภ.หน่วยไฟฟ้า และใบเสร็จค่าไฟฟ้า,การใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด,การไฟฟ้าอย่างปลอดภัย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด นอกจากนี้ยังมีการจัดทำข้อสอบ เพื่อประเมินผลความรู้ที่ได้รับจาก Walk Rally และหวังว่าหลังจากจบโครงการฯ นักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริงเพื่อให้เกิดผล โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่บ้าน มุ่งเน้นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากการใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน และจะต้องมีการบันทึกลงในสมุดบันทึกนักประหยัดตัวน้อยถึงวิธีการประหยัดไฟฟ้าภายในบ้านและโรงเรียน ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะร่วมกับทางโรงเรียนติดตามผลเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2553

นายศักดิ์ดา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคใต้ มีพื้นที่ดูแล ประกอบด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยจัดกิจกรรมดังกล่าวไปแล้วที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี และภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ 4 หลังจากนี้จะไปจัดที่จังหวัดพังงา และกระบี่ ทั้งนี้จะเลือกโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจังหวัดละ 1 แห่ง

 

แข่งเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องประชุมหลวงอนุภาษ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ผศ.ดร.เมธี สรรพานิช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นประธานเปิดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC Thailand Southern Area ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ TESCA 2010 เพื่อเป็นเวทีการแข่งขัน และสร้างการพัฒนาทักษะด้าน Algorithms ความคิดริเริ่มในการเขียนโปรแกรม และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ทางด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตจัดขึ้น โดยมีนักศึกษาจาก 6 คณะ 2 สำนักวิชา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และมหาสงขลานครินทร์ ทั้ง 5 วิทยาเขต เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 24 ทีม รวม 74 คน

นายปริญญา กระจ่างผล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า ซิป้าเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดทิศทางและนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยมีพันธกิจหลัก คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ด้วยเหตุที่ตลาดซอฟต์แวร์เป็นตลาดใหญ่ และมีบทบาทสูงต่อการเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งการสร้างและพัฒนาบุคลากรในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างและพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเขียนโปรแกรมของนักศึกษาอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาคและเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในทุกภาคของประเทศ จึงได้มีการจัดแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ขึ้น ทุกภูมิภาค โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการในภาคเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการในภาคกลาง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ดำเนินการในภาคใต้ เพื่อกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษาในภาคใต้ สนใจในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่งเสริมกิจกรรมการสร้างทักษะและเพิ่มขีดความสามารถในการเขียนโปรแกรมของนิสิต นักศึกษาภาคใต้ สร้างกิจกรรมทางวิชาการด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเป็นเวทีให้นักศึกษาไทยได้เข้าร่วมแข่งขันและมีประสบการณ์ในการแข่งขันระดับประเทศและนานาชาติ รวมทั้งยังเป็นโครงการนำร่องที่จะสนับสนุนให้สามารถจัดกิจกรรมแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับภาคและประเทศทุกปี ระดับเอเชียอย่างน้อยทุกๆ 2-3 ปีต่อครั้ง และระดับโลกในอนาคตต่อไป นายปริญญา กล่าว

ในส่วนของการแข่งขันระดับประเทศไทยปีนี้ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2553 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อสร้างแรงกระตุ้นไปสู่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยให้เกิดความสนใจและเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะทางด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น โดยผู้ชนะเลิศที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท และถ้วยรางวัล ที่ 2 รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโลห์ รางวัลที่ 3 รับเงินรางวัล 10,000 บาท โดยผู้เข้าแข่งขันจะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วมแข่งขันทุกคน โดยทีมที่ได้อันดับ 1 – 5 จะได้งบสนับสนุนไปแข่งขัน ACM – ICPC ระดับเอเชียที่ประเทศเวียดนามด้วย


วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รวบสินค้าก๊อบปี้ป่าตองกว่า 30,000 ชิ้น


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 พ.ต.อ.นรศักดิ์ เหมนิธิ รอง.ผบก.ป./ผอ.ศปลป.ป.(ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการปราบปราม) พร้อมด้วย พ.ต.ท.ธราดล เหมพัฒน์ พงส.(สบ.3) กก.6 บก.ป.หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 1 ศปลป.ป. และ พ.ต.ท.สกล บัณฑิตศักดิ์ สว.สส.สภ.กะทู้ จ.ภูเก็ตนำกำลังตำรวจกองปราบปราม-ชุดสืบสวน สภ.กะทู้ และผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก บ.ฮาร์ดิ้ง ไฟล์ แอล แอลซี จำกัด กับพวกรวม 11 บริษัท เช่น บิลลาบอง เอดฮาร์ดี้ ควิกซิลเวอร์ อดิดาส ร็อก ไนกี้ โอดเลย์ เรย์แบน เป็นต้น เข้าตรวจสอบร้านค้าแผงลอยซึ่งตั้งอยู่ในตลาดโอทอป ถ.ราษฏร์อุทิศ 200 ปี ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จำนวน 21 ร้าน พบเสื้อผ้า กางเกง หมวก เข็มขัด กระเป๋า แว่นตา รองเท้า ซึ่งมีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดังกล่าวข้างต้น ปลอมและเลียนแบบเครื่องหมายค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรจำนวนรวมกว่า 30,000 ชิ้น มูลค่าความเสียกว่า 15 ล้านบาท จึงได้ทำการควบคุมตัวผู้ต้องหา 21 ราย พร้อมของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ส่งพนักงานสอบสวน สภ.กะทู้ ทำการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยกล่าวหาว่า มีการกระทำผิดฐาน เสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร และเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร ซึ่งในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพว่า มีสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมไว้เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจริง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการขยายผลการจับกุมแหล่งผลิตหรือโกดังในพื้นที่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.นรศักดิ์ เหมนิธิ รอง ผบก.ป./ผอ.ศปลป.ป. กล่าวว่า การกวาดล้างจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว สืบเนื่องจากนโยบายของนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ซึ่งมุ่งเน้นปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทาง พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก.ได้สั่งการให้พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤบาล รักษาราชการแทน ผบก.ป. กำชับสั่งการให้ทีมงานออกสืบสวนจับกุมในพื้นที่ซึ่งมีการลักลอบจำหน่ายสินค้าละเมิดดังกล่าว โดยเฉพาะบริเวณหาดป่าตองซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง เนื่องจากในวันที่ 12 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ จะมีตัวแทนจากทางสหรัฐฯ เดินทางมาติดตามความคืบหน้าของรัฐบาลไทยต่อการแก้ไขปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา อันจะมีผลต่อการกำหนดท่าทีในการกีดกันสินค้าการเกษตรของไทยในอนาคตต่อไป


ฟังความเห็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบกลุ่มอาคาร


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา (อบต.กมลา) อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตนายสันติ อรรถทรัพย์ รองนายก อบต.กมลา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) โครงการการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของอบต.กมลา ครั้งที่ 2 ซึ่งได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.สิทธิชัย ตันธนะสฤษดิ์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการศึกษา เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามความต้องการและเหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ เสนอประกอบการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

นายสันติ อรรถทรัพย์ รองนายก อบต. กมลา กล่าวว่า ด้วย อบต.กมลา กำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียแบบกลุ่มอาคารที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 3,550 ลบ.ม./วัน เพื่อรองรับการขยายตัวของประชาชนและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ เพราะจากแนวโน้มการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ปริมาณของเสีย ได้แก่ น้ำเสียและขยะมูลฝอยต่างๆ เพิ่มตามไปด้วย อันจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทรัพยากรชายฝั่งทะเล แหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และนักท่องเที่ยว โดยปัจจุบันในพื้นที่ ต.กมลาซึ่งมีขนาด 18.9 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำเสียเกิดขึ้นประมาณ 3,200 ลบ.ม./วัน ทาง อบต.ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียขึ้น เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางน้ำ และให้การจัดการน้ำเสียของ อบต.กมลาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ รศ.ดร.สิทธิชัย ตันธนะสฤษดิ์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ความเหมาะสมและออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย กำหนดจุดในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียครอบคลุมทั้งพื้นที่จำนวน 7 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 พื้นที่ด้านหลังองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 600 ลบ.ม./วัน จุดที่ 2 พื้นที่ด้านข้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกมลาสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 600 ลบ.ม./วัน จุดที่ 3 พื้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี สามารถบำบัดน้ำเสียได้ ด 1,000 ลบ.ม./วัน จุดที่ 4 พื้นที่ถนนสาธารณประโยชน์หน้าสำนักสงฆ์เจริญธรรม สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 50 ลบ.ม./วัน จุดที่ 5 พื้นที่ถนนข้างหอเตือนภัยสึนามิ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ ด 1,000 ลบ.ม./วัน จุดที่ 6 พื้นที่ริมถนนด้านฝั่งตรงข้ามโรงแรมกมลาบุรี สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 150 ลบ.ม./วัน และจุดที่ 7 พื้นที่ริมคลองเก็ตหนีตรงข้างซอยกมลา 12 สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 150 ลบ.ม./วัน ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด โดยจากการประมาณการค่าใช้จ่ายคาดว่าจะต้องใช้งบในการก่อสร้างประมาณ 1.5 ล้านบาท