นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงการจัดทำโครงการปรับปรุงผังแม่บทสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หรือสวนหลวง ว่า ตามที่กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการปรับปรุงที่ดินประทานบัตรที่ผ่านการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก 156, แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก 274, แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก 275 และแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก 265 รวมเนื้อที่ 352 ไร่เศษ
ตั้งอยู่บริเวณถนนเจ้าฟ้า ต.ตลาดเหนือ อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งได้มีการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เมื่อปี 2530 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวใช้เป็นสถานที่ในการพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาการบุกรุกของประชาชน และเพื่อส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
“ปัจจุบันสวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะระดับเมืองที่มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางด้านสุขภาวะของประชาชน ด้านการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของเมือง รวมถึงบทบาทด้านเสริมสร้างเศรษฐกิจให้แก่เมือง แต่ด้วยสภาพทางกายภาพ ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ดังกล่าว เทศบาลนครภูเก็ตในฐานะหน่วยงานหลักผู้รับผิดชอบพื้นที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว
จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ใหม่ โดยความร่วมมือจากองค์กรวิชาชีพท้องถิ่น ได้แก่ ชมรมสถาปนิกภูเก็ต และสมาคมการผังเมืองไทย ในการดำเนินโครงการปรับปรุงดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต
เพื่อให้สามารถใช้สวนสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามศักยภาพและความต้องการของเมือง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริเวณโดยรอบและเกิดความประทับใจต่อผู้มาใช้บริการ รวมถึงเพื่อแสดงออกซึ่งภาพลักษณ์ความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของภูเก็ตต่อไป”
นางสาวสมใจ กล่าวด้วยว่า ในการจัดทำโครงการปรับปรุงผังแม่บทฯ นั้นจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียด้วย ซึ่งกำหนดไว้ 3 ครั้ง ครั้งแรกดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ ครั้งที่ 2 กำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2556 เพื่อนำเสนอรูปแบบหลังการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และครั้งที่ 3 กำหนดในเดือนธันวาคม 2556
เพื่อนำเสนอรูปแบบผังการใช้ประโยชน์พื้นที่สวนสาธารณะฉบับสมบูรณ์ และลงมติให้ความเห็นชอบ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีแผนทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ส่วนของงบประมาณต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้บริการและรายละเอียดของการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของความปลอดภัยด้วย เนื่องจากสวนสาธารณะแห่งนี้มีผู้มาใช้บริการที่หลากหลาย และหลายกลุ่มอายุ ในแต่ละวันจะมีผู้มาใช้บริการมากกว่า 3,000 คน
อย่างไรก็ตามสำหรับการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้ในครั้งแรก ได้มอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดทำแผนแม่บทและแบบรายงานละเอียดการปรับปรุงพื้นที่ ประกอบด้วย งานโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ทางเดิน ที่จอดรถ ระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำ ระบบจ่ายน้ำ ระบบไฟฟ้า และโทรศัพท์สาธารณะ งานก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ อาคารสำหรับดูแลบำรุงรักษา เรือนป้อมยาม รั้ว และป้ายต่างๆ งานปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ดอกและไม้ประดับ
ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2530-2532 โดยเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 และในปี 2533 ได้ส่งมอบสวนสาธารณะให้จังหวัดภูเก็ต โดยเทศบาลนครภูเก็ตเป็นหน่วยงานดูแลบำรุงรักษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในท้องถิ่น ต่อมาในปี 2541 ทางเทศบาลฯ ได้มอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจุลจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำแผนแม่บทรายละเอียดและทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้อีกครั้ง จนกระทั่งในครั้งนี้ซึ่งเป็นการปรับปรุงอีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น