เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ที่ห้องประชุมพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการเสวนาการใช้ประโยชน์งานวิจัย เรื่อง “ปลากะรังจุดฟ้า อาชีพทางเลือกใหม่ของคนภูเก็ต : การเพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพและการตลาดที่ยั่งยืน” ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับ กรมประมง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ จัดขึ้น
เพื่อส่งเสริมผลักดัน ผลงานวิจัยดังกล่าวสู่การใช้ดังกล่าวสู่การใช้ประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการอาชีพและรายได้จากงานวิจัย และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย สวก.ให้เป็นที่รับรู้ต่อสังคมต่อไป โดยมีนายพีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร นายธวัชชัย ศรีวีระชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต น.ส.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมงกรมประมง ตลอดจนหน่วยงานภาครับ และผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เข้าร่วม
นายพีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพันธกิจในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยการเกษตรและการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร โดยได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โครงการ “ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์” แก่สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง เป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2553 – วันที่ 17 สิงหาคม 2558
เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปลากะรังมูลค่าสูง 3 ชนิด คือ ปลาหมอทะ ปลากะรังจุดฟ้า และปลากะรังเสือ โดยมุ่งพัฒนาระบบการเพาะพันธุ์ปลากะรัง และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่ออันตรารอดและการเจริญเติบโตของปลากะรัง เพื่อให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลากะรังที่มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอต่อการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ และยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ อีกทั้งช่วยในการอนุรักษ์พันธุ์ปลากะรังในธรรมชาติได้อีกด้วย
จากผลการดำเนินการที่ผ่านมา โครงการสามารถผลิตลูกพันธุ์ปลากะรังได้ทั้ง 3 ชนิด จำหน่ายให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ เพื่อนำไปอนุบาลและจำหน่ายต่อให้ผู้บริโภคแล้วจำนวน 223,930 ตัว คิดเป็นมูลค่า 12,763,140 บาท ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจ และมีการตอบรับที่ดี อย่างไรก็ตามการพึ่งพาตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงผลกระทบชัดเจน
ดังนั้น สวก.เห็นว่าการสร้างความต้องการของตลาดในเชิงรุก โดยการเชื่อมโยงการตลาดกับการท่องเที่ยว ผลักดันให้ปลากะรังทั้ง 3 ชนิด เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงาและกระบี่ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างความต้องการของตลาดให้มีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น
นอกจากการหาช่องทางการตลาดแล้ว การหาแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในอาชีพหรือธุรกิจ เช่น การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อให้เกิดอำนาจการต่อรอง การหาแนวทาง หรือข้อมูลที่จำเป็นในด้านกฎระเบียบทางราชการ เพื่อให้เอื้อในการดำเนินธุรกิจ จะสามารถสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรในการลงทุน และนำไปเป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพ จะเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถยึดเป็นอาชีพที่มั่นคง เติบโต และยั่งยืนต่อไป นายพีรเดชกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น