เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 ที่ห้องประชุมอาคารศุภนิมิต ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน (CEIA) และมูลนิธิศูนย์สังคมพัฒนา ภูเก็ต (DISAC) จัดเสวนา ในหัวข้อ “บทบาทของวิทยุชุมชนกับทิศทางการนำเสนอปัญหาแรงงานข้ามชาติในยุคประชาคมอาเซียน” โดยมีนางเจนจิณน์ เอมะ ผู้จัดการโครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน นายสุทธิพงษ์ ลายทิพย์ ผู้ประสานชาติพันธุ์อันดามัน นายธนู แนบเนียน ผู้ประสานงานฯ พร้อมด้วย ผู้แทนจากวิทยุชุมชน แรงงานข้ามชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสุทธิพงษ์ ลายทิพย์ ผู้ประสานชาติพันธุ์อันดามัน เปิดเผยว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามา โดยเฉพาะแรงงานพม่า ซึ่งเป็นแรงงานหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเข้ามาขายแรงงาน ในภาคส่วนธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจประมง ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ธุรกิจภาคบริการ แม่บ้าน แรงงานก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลักสำคัญ คือ 1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน 2.ประชาคมเศรษฐกิจ และ 3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ทำให้แรงงานข้ามชาติต่างๆ ที่เข้ามา จำเป็นจะต้องเรียนรู้ วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ เพราะการเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติ จะเป็นการอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงจำเป็นที่จะต้องให้สิทธิเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน
“วิทยุชุมชนมีบทบาทสำคัญ เป็นอย่างมาก ในฐานะสื่อมวลชนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารให้กับประชาชนในพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับผู้ฟังในพื้นที่มากที่สุด บทบาทของวิทยุชุมชนจึงมีความสำคัญในการนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยน เข้าใจ เท่าทันสถานการณ์และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของประชาชนในประเทศอาเซียน เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาตินั้น จะเป็นเรื่องของการที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นๆ
อีกทั้งยังได้รับการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างและนายหน้า หรือแม้แต่การทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ และปัญหาบางเรื่องก็ไม่ได้เคยมาจากการกระทำของกลุ่มแรงงานข้ามชาติแต่อาจจะเกิดมาจากหน่วยงานภาครัฐและนายหน้า นอกจากนี้ยังเกิดจากทัศนคติของคนไทยเองที่มองแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงาน จึงจำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบสุขและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน”
อย่างไรก็ตามนายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า การอยู่รวมกันในกลุ่มอาเซียนเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะต้องมีการเรียนรู้ระหว่างกันให้มากขึ้น และให้รู้จักกันมากขึ้น ทั้งแรงงานที่เข้ามาและคนในพื้นที่ เพื่อสังคมที่สันติสุข นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับสื่อมวลชนท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้มากขึ้น การจัดทำทำเนียบสื่อภาคเครือข่าย เพื่อให้กลุ่มแรงงานได้เข้าถึง
โดยเอื้อในเรื่องของภาษา และการประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ เป็นต้น การให้ความรู้ปรับทัศนคติให้เข้าใจตรงกัน ทั้งประเพณี วัฒนธรรม โดยหน่วยงานภาครัฐหรือท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง และหากไม่มีการจัดการที่ดีประเทศไทยก็จะต้องเป็นผู้แบกรับกับปัญหาแรงงานข้ามชาติ เพราะในอนาคตการเคลื่อนย้ายแรงงานจะเพิ่มจำนวนขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของประชาคมอาเซียนอย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น