เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ที่ห้องประชุม 2 ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน เปิดการสัมมนาแนวทางป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ “สึนามิ” ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งทางคณะนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตจัดขึ้น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดอันดามันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมกันนี้ได้เชิญนายสมิทธิ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติและนายชัยรัตน์ สุขบาล อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ร่วม เป็นวิทยากร โดยมี รศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต คณาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนประมาณ 250 คน
ร้อยตำรวจตรีจักร์กฤษณ์ พลยศ คณะกรรมการจัดการสัมมนาฯ กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์โลกได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติและสร้างความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาธรณีพิบัติภัย สึนามิ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ส่งผลให้จังหวัดทางภาคใต้ในฝั่งทะเลอันดามันได้รับผลกระทบอย่างหนัก เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว ในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นอย่างมาก
และการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันภัยธรรมชาติ สึนามิ ได้อย่างถูกต้องและทันเหตุการณ์ เพื่อให้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เมื่อประสบภัยสึนามิ รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอันอาจจะเกิดขึ้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต่อผู้เข้ารับฟังการสัมมนา ว่า ต้องขอขอบคุณคณะนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่สนับสนุนการจัดการสัมมนาทางวิชาการในเรื่องที่สำคัญต่อบ้านเมืองให้เกิดขึ้น และยังทันต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภาคเหนือของประเทศไทย
และเมื่อเวลา 08.02 น.วันที่ 18 พ.ค.57 ได้มีแผ่นดินไหว ขนาด 6.1 ริกเตอร์ ในทะเลนอกชายฝั่งตะวันตกพื้นที่ทางเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ความลึก 10 กิโลเมตร และห่างจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเกาะภูเก็ต ไป 746 กิโลเมตร ซึ่งก็ไม่มีรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบแต่เราก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางจังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนต่างๆ พยายาม จัดประชุมและฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจัดฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัย แผ่นดินไหวหรือสึนามิ มาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการตรวจสอบ
และทดสอบหอเตือนภัยทั้ง 19 แห่ง ที่ติดตั้งบริเวณพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถใช้การได้ตามปกติเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น