เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ที่ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเยาวชน ในการรณรงค์ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทางสถาบันประชาคมภูเก็จ จัดขึ้น โดยมีนายสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็จ คณะทำงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ จำนวน 10 สถานศึกษาเข้าร่วม เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีสิ่งยั่วยุค่อนข้างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเยาวชน เพื่อจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขต่างๆ รวมถึงการใช้วันสำคัญทางศาสนาในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมสร้างกุศล ด้วยการลด ละเลิก อบายมุขต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวมีความสุข เจริญ รุ่งเรืองต่อไป
นายสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็จ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถาบันประชาคมภูเก็จ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดภูเก็ต และเครือข่ายทั่วประเทศได้จัดทำ โครงการรณรงค์หยุดเหล้าเข้าษา (พรรษา) พาลูก พาหลานไปวัด เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ เพราะอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ซึ่งทั่วโลกต่างประจักษ์แล้วก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในด้านปัญหาด้านสุขภาพ พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 60 โรค จนองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประมาณการว่าผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์แล้วกว่า 76.3 ล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เสียชีวิต 1.8 ล้านคนต่อปี หรือราวชั่วโมงละหว่า 2,100 คน ในจำนวนนี้ยังไม่ได้นับรวมตัวเลขผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ
ในด้านความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาและผลกระทบทางด้านสังคมตามมาอีกจำนวนมาก ทั้งปัญหาอุบัติเหตุจราจร (เมาแล้วขับ) ปัญหาการทะเลาะวิวาทและการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดจากการขาดสติของแรงงานในการใช้เครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งมูลค่าความสูญเสียในกลุ่มนี้มีไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทต่อปีเช่นกัน ในขณะที่สถิติการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยถูกจัดลำดับว่ามีผู้บริโภคสุรามากเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก เยาวชนและสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 15-19 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50% นายสุพจน์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น