เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 ที่ห้องจามจุรี 2 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2554 จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ แก่ผู้สมัครฯ และเพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความสมานฉันท์ สุจริตและเกิดความเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ที่สำคัญเป็นการลดจำนวนเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้งและให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ.2550 ด้วย
โดยมีผู้สมัครรับเลือกรับเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตเลือกตั้งที่ 1ได้แก่ นายจตุพงศ์ เลิศศิลป์จิรดา จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กับนายวีรศักดิ์ วรเนติวงศ์ จากพรรคแทนคุณแผ่นดิน ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 ได้แก่ นายสมาน เก็บทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย กับนายเรวัต อารีรอบ พรรคประชาธิปัตย์ และผู้สนับสนุน ตลอดจนเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 เข้าร่วม ทั้งนี้ได้มีการให้ผู้สมัคร ส.ส.ซึ่งเหลือเพียง 3 คน ยกเว้นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเขต 2 ซึ่งเดินทางกลับก่อน และผู้ให้การสนับสนุนร่วมกันกล่าวคำปฎิญาณตน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ส่วนที่ไม่เข้าร่วมอ้างเหตุติดภารกิจ
นายตรี กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน คือ ผู้เสียสละ ที่มีความตั้งใจอาสาเข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชนมาบริหารท้องถิ่น ต้องอุทิศตนทั้งแรงกาย แรงใจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่สมัครฯ จะได้รับเลือกหรือไม่ก็สามารถที่จะร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนและส่วนรวมได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาหรือนอกสภา เพียงแต่คนละบทบาทหน้าที่โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
“ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ดี ภายหลังการเลือกตั้งก็ดี ผู้สมัครฯ ผู้สนับสนุน ญาติสนิทมิตรสหายมักเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเอารัดเอาเปรียบและฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบการเลือกตั้ง บางแห่งถึงขั้นเอาชีวิตฝ่ายตรงข้ามก็มีบ่อยครั้ง หรือบางกรณีญาติพี่น้องก็มีความขัดแย้งกันเอง นั่นแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยังไม่เข้าใจว่าตนอาสาเข้ามาเป็นตัวแทน ต้องเสียสละทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน หากประชาชนยังไม่เห็นความสำคัญของเรา ทำไมต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมายและทำไมต้องโกรธแค้นกัน”
นายตรี กล่าวด้วยว่า หลังจากการเข้าร่วมโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ฯ แล้วจะทำให้ผู้สมัครฯ และผู้สนับสนุนทุกคน มีความเข้าใจกระบวนการเลือกตั้งได้ดีและเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งได้ และจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น