จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กรมน้ำเดินหน้าติดตั้งระบบเตือนภัย


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องแววราไวย์ โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่ม ในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา ปีงบประมาณ 2554 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำจัดขึ้น เพื่อระดมแนวความคิดการพิจารณาพื้นที่ในการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา โดยมีส่วนราชการและประชาชนที่เกี่ยวข้องจาก 2 จังหวัดเข้าร่วม
นายวิวัฒน์ โสเจยยะ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม-ดินถล่มสูง และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงและการตัดทำลายต้นไม้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา จึงจำเป็นที่จะต้องหามาตรการในการป้องกันและลดความเสียหายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจากธรรมชาติ
“มาตรการที่จะลดความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ คือ มาตรการการเฝ้าระวังและการเตือนภัยล่วงหน้า หรือ Early Warning System โดยการตรวจวัดข้อมูลปริมาณน้ำฝนหรือระดับน้ำท่า และนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประกาศเตือนให้ประชาชนทราบและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการติดตั้งระบบดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยการสำรวจจุดติดตั้งระบบเตือนภัยในหมู่บ้านที่มีศักยภาพและสามารถแจ้งเตือนภัยไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันได้ดำเนินการครอบคลุมในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่มจำนวน 1,567 หมู่บ้าน จากจำนวนพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศจำนวน 2,370 หมู่บ้าน และในปีงบประมาณ 2554 กรมทรัพยากรน้ำได้รับงบประมาณในการดำเนินการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าประจำหมู่บ้านเพิ่มเติมจากที่มีการดำเนินการไปแล้วจำนวนกว่า 155 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 803 หมู่บ้าน 263 สถานี”
นายวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ตและพังงานั้นอยู่ระหว่างการระดมความคิดของของคนในพื้นที่ เพื่อกำหนดจุดติดตั้งที่เหมาะสมว่าเป็นบริเวณใด เบื้องต้นในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีเป้าหมายดำเนินการ 3 สถานี จำนวน 15 จุด ส่วนจังหวัดพังงาดำเนินการ 10 สถานี 21 จุด แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ฝนตกชุกหนาแน่นตลอดปี ส่งผลให้สภาพดินมีความเปลี่ยนแปลงจึงจะทำการสำรวจใหม่ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อของบประมาณมาดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งไม่เฉพาะภูเก็ตหรือพังงาเท่านั้น แต่จะดำเนินการทั่วทั้งประเทศ เพื่อลดความสูญเสียจากเหตุการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย เชื่อว่าเมื่อดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงแล้วจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างมาก เพราะตัวเครื่องจะมีการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและแจ้งไปยังศูนย์ข้อมูลทุก 15 นาที จะสามารถแจ้งเตือนประชาชนให้ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้ภายในเวลา 1-3 ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น