นายวิศิษฎ์ คูทองกุล ผู้จัดการอาวุโสโครงการอันดามันและโครงการอีสาน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวถึงความคืบหน้าในการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานนอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่แปลง A4/48 A5/48 และ A6/48 ที่ จ.ภูเก็ต ว่า หลังจาก ปตท.สผ.ได้รับอนุญาตจากกรมเชื้อเพลิงพลังงานให้ทำการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานนอกชายฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 3 แปลง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนข้อผูกพันที่ทำไว้ ทั้งการศึกษาสำรวจทางธรณีวิทยา การตรวจวัดการเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนแบบ 2 มิติ จนถึงขณะนี้ซึ่งเริ่มเข้าสู่ปีที่ 5 ของการสำรวจ โดยอยู่ในขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินและหินใต้ทะเลห่างจากชายฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตรในบริเวณแปลงที่ทำการสำรวจทั้ง 3 แปลง โดยตัวอย่างจำนวน 34 ชิ้น นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาร่องรอยของปิโตรเลียมคาดว่าจะทราบผลได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะนำผลดังกล่าวไปวิเคราะห์ประกอบข้อมูลที่มีอยู่เพื่อพิจารณาดำเนินการสำรวจในขั้นตอนต่อไป
“ยอมรับว่าการสำรวจหาปิโตรเลียมในฝั่งอันดามันนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากแปลงสำรวจอยู่ในระดับน้ำที่ลึก 2.8-3 กิโลเมตร ดังนั้นก่อนที่จะทำการขุดเจาะหลุมเพื่อหาปริมาณน้ำมันนั้น จะต้องศึกษาให้ชัดเจนก่อนว่ามีปริมาณน้ำมันเพียงพอกับการลงทุนหรือไม่ เพราะการขุดเจาะสำรวจแต่ละหลุมจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ทาง ปตท.สผ.จึงอยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุนที่มีความชำนาญในการสำรวจปิโตรเลียมทะเลลึก”
นายวิศิษฎ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแปลงสำรวจทั้ง 3 แปลงดังกล่าว ก่อนหน้านี้ได้มีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกหลายบริษัทเคยเข้ามาทำการสำรวจและขุดเจาะไปแล้วประมาณ 19 หลุม ซึ่งผลการสำรวจในขณะนั้นระบุว่ามีปริมาณน้ำมันในแปลงสำรวจดังกล่าวแต่ปริมาณไม่มากและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
อย่างไรก็ตามการสำรวจปิโตรเลียมในฝั่งอันดามันนั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธุรกิจทางการท่องเที่ยว เนื่องจากแปลงสำรวจแต่ละแปลงจะอยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตและแหล่งท่องเที่ยว โดยแปลงสำรวจ A6/48 อยู่ห่างจากชายฝั่งภูเก็ตประมาณ 150 กิโลเมตร แปลงสำรวจ A5/48 ห่างจากชายฝั่งภูเก็ตประมาณ 160 กิโลเมตร และแปลงสำรวจ A4/48 อยู่ห่างจากชายฝั่งภูเก็ตประมาณ 320 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่สำรวจรวมทั้งหมดประมาณ 68,820 ตารางกิโลเมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น