เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สังคม วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อกะทู้-ป่าตอง เพื่อชี้แจงผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อกะทู้-ป่าตอง ในรายละเอียด รวมทั้งมาตรการในการจัดการกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งทางกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอพซิลอน จำกัด ศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม บางเขน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท แพลนโปร จำกัดจัดขึ้น โดยมีนายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ ข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เข้าร่วมประมาณ 300 คน
ทั้งนี้หลังจากพิธีเปิดนายวิชาญ สวัสดิรักษ์ อดีตกำนันตำบลป่าตอง เป็นตัวแทนของชาวบ้านชุมชนบ้านมอญ ต.ป่าตอง ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าว เนื่องจากบริเวณปากทางเข้า-ออกอุโมงค์ฝั่งป่าตองอยู่บริเวณชุมชนดังกล่าว ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนได้รับความเดือนร้อน และขอเรียกร้องไปยังผู้บริหารเทศบาลเมืองป่าตองว่า เมื่อการจัดทำโครงการกระทบกับประชาชนควรจะยกเลิกและหาแนวทางอื่นแทน
ขณะเดียวกันในส่วนของชาวบ้านที่คัดค้านก็ได้นำแผ่นป้ายผ้าเขียนข้อความว่า “โครงการของท่านแต่บ้านของเรา” “ปู่ย่าตายายให้มาตั้งแต่เกิด อุโมงค์ไปเกิดที่อื่น” มากางในห้องประชุมด้วย
ขณะที่นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า แนวคิดในการจัดทำโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมกะทู้-ป่าตอง เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนเส้นทาง 4029 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเส้นเดียวที่เดินทางไปยังป่าตอง ซึ่งมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากความคดเคี้ยวและลาดชัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก และปริมาณการจราจรก็เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับการท่องเที่ยวด้วย จึงได้มีการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2552 ขณะนี้ผลการศึกษาได้เสร็จสิ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาได้แนวเส้นทาง 4 เส้นทาง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแนวเส้นทางทั้งหมด สรุปว่าแนวทางที่เหมาะสมได้แก่ แนวทางเลือกที่ 2 ซึ่งเริ่มจากทางหลวงหมายเลข 4029 ประมาณ กม.0+850 ม.มาทางด้านซ้าย (ทิศใต้) เป็นถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร ทางแยกบริเวณนี้เป็นทางแยกระดับดิน ควบคุมการจราจรด้วยระบบสัญญาณไฟ อนาคตเมื่อปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้นอาจก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกตามแนวทางหลวงหมายเลข 4029 แนวเส้นทางเบี่ยงตัวลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และลอดใต้ป่าเขานาคเกิด จัดให้มีจุดกลับรถก่อนเข้าอุโมงค์
ซึ่งรูปแบบของอุโมงค์แยกออกเป็น 2 อุโมงค์ วางห่างกัน 25 เมตร ลอดใต้เขานาคเกิด เริ่มต้นที่ กม.0+625 ม. สิ้นสุดที่ประมาณ กม.2+175 ม. ที่ระดับความสูงประมาณ +45.000 ม.รทก.ถึง+50.000 ม.รทก.รวมความยาวของอุโมงค์ 1,550 ม.สำหรับอุโมงค์ฝั่งทิศใต้ และ 1,530 ม.สำหรับอุโมงค์ฝั่งทิศเหนือ จากนั้นจะเป็นโครงสร้างสะพานข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ยาว 504 ม.ความยาวช่วงสะพาน 30-36 เมตร โดยมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่ กม.2 +686 และเชื่อมกับถนนตามผังเมืองรวมสาย ก ที่บริเวณใกล้อาคาร APK Resort ฝั่งเหนือ รวมความยาวประมาณ 3.07 กม.รูปแบบทางแยกจุดบรรจบถนนตามแนวผังเมืองรวมสาย ก มีลักษณะเป็นทางแยกระดับดิน และหากมีปริมาณจราจรสูง อาจก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางแยกตามแนวถนนผังเมืองรวมสาย ก ได้ในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น