เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุม โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการเครือข่ายบริการรักษาโรคหัวใจ (Cardiac Network Forum) ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แนวคิด เครือข่ายคนไทยหัวใจแข็งแรง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกรและนักวิชาการ ได้นำเสนอผลงานเด่นด้านโรคหัวใจของโรงพยาบาลต่างๆ พัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย นำไปพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนประมาณ 1,200 คน
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้รับบริการที่สะดวก อยู่ใกล้บ้านและมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลแพทย์ โดยเฉพาะโรคที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ มะเร็ง เป็นต้น โยได้พัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ที่มีอยู่จำนวน 19 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูงใน 4 สาขา ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ การดูแลทารกแรกเกิด และอุบัติเหตุทุกชนิด เพื่อให้เป็นศูนย์รับดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย ภายในปี 2558
สำหรับโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตใน 3 อันดับแรกติดต่อกันมาเป็นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมาก ซึ่งโรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะต้องได้รับการรักษาที่รวดเร็ว โอกาสการรอดชีวิตจะสูง ดังนั้นทางกระทรวงฯ จึงได้เร่งพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ในสังกัดที่อยู่ในต่างจังหวัดให้เป็นศูนย์รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ และเป็นศูนย์ส่งเสริมป้องกันโรคหัวใจด้วย
โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน สามารถจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจได้แล้ว 46 ศูนย์ จากศูนย์โรคหัวใจของโรงพยาบาลทุกสังกัดที่มี 60 แห่งทั่วประเทศ โดยจัดระบบให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจในเส้นทางด่วนระหว่างโรงพยาบาลศูนย์โรคหัวใจแม่ข่าย กับโรงพยาบาลลูกข่าย สู่ระดับโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน มีการจัดระบบสารสนเทศโรคหัวใจรองรับการดำเนินการ และจะมีการขยายเป้าหมายจนครอบคลุมทุกจังหวัดภายใน 5 ปี นพ.ไพจิตร์ กล่าวและกล่าวด้วยว่า นอกจากการมีศูนย์เครือข่ายแล้วก็ต้องมีการพัฒนาบุคลกรที่เกี่ยวข้องมารองรับให้เพียงพอด้วย ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ขณะที่ พญ.ดวงตา อ่อนสุวรรณ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า การพัฒนาศูนย์โรคหัวใจนั้น จะดำเนินการในรูปของเครือข่ายบริการ มีระบบส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลศูนย์โรคหัวใจที่เป็นแม่ข่ายกับโรงพยาบาลลูกค่ายที่เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ลงตัว ไม่มีปัญหาเตียงไม่ว่างหรือรอคิวนาน โดยจัดระบบการให้คำปรึกษาและทางด่วนส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถเข้ารับการรักษาที่ศูนย์โรคหัวใจได้ทันที ไม่ต้องไปเริ่มที่แผนกผู้ป่วยนอกและแผนกฉุกเฉินเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยลดอันตรายและอัตราการเสียชีวิตลงได้ ระยะแรกนี้นำร่องโครงการคลินิกยาวาร์ฟาริน บริการผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด ป้องกันโรคหัวใจหรือสมองขาดเลือด เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตให้สามารถรับการตรวจรักษาและรับยาละลายลิ่มเลือดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ขณะนี้เริ่มแล้วกว่า 50 แห่ง และจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น