นายอรรถการ ฟูเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต ทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงการจัดทำโครงการขยายเร่งรัดการพิจารณาคดี (Night Court) หลังเวลาราชการ และวันหยุดราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และแก้ไขปัญหาการพิจารณาคดีล่าช้า ว่า สืบเนื่องจากปริมาณคดีที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ตมีเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นหากยังคงมีการจัดการพิจารณาในรูปแบบเดิมก็จะส่งผลให้มีคดีค้างพิจารณาในศาลจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนานเพิ่มขึ้น จึงหารือกับคณะผู้พิพากษา และคณะผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดภูเก็ต และวางแนวปฏิบัติในการรับฟ้องคดีแพ่งทุกประเภท คดีอาญาและคดีผู้บริโภคใหม่ โดยจัดให้มีโครงการเร่งรัดการพิจารณาคดี ด้วยการพิจารณานอกเวลาราชการ และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเรียกว่า Night Court เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความเสมอภาค รวดเร็ว ถูกต้อง ตลอดจนเป็นการเร่งรัดการการพิจารณาคดี และเพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเป็นไปด้วยความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
“จากการตรวจสอบคดีที่ค้างพิจารณาของศาลจังหวัดภูเก็ตทั้งคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีคุ้มครองผู้บริโภครวมกันที่ค้างพิจารณาจากปีก่อนๆ ปีละประมาณ 3,000 เรื่อง ส่วนคดีที่เกิดใหม่ทุกประเภทเฉลี่ยปีละประมาณ 8,000 -9,0000 เรื่อง รวมทั้งปีจะมีคดีที่ต้องพิจารณาประมาณ 12,000-13,000 เรื่อง ในขณะที่ผู้พิพากษามีจำนวนเพียง 20 ท่าน ซึ่งถือว่าค่อนข้างวิกฤต และนับเป็นศาลที่มีปริมาณคดีสูงสุดในภาคใต้ โดยคดีอาญาส่วนใหญ่จะเป็นคดียาเสพติด รองลงมา คือ คดีเกี่ยวกับทรัพย์ ชีวิตและร่างกาย ส่วนคดีแพ่ง เป็นคดีลักษณะคุ้มครองผู้บริโภค บัตรเครดิต เช่าซื้อ การกู้ยืมเงิน และคดีเกี่ยวกับที่ดิน เนื่องจากที่ดินภูเก็ต มีมูลค่าค่อนข้างสูงถึงสูงมาก”
นายอรรถการ กล่าวว่า หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟ้องและนัดคดีที่ยื่นคำฟ้อง กรณีการนัดคดีแพ่งสามัญ นัดแรกจะกำหนดนัดไกล่เกลี่ย /ชี้สองสถาน/พิจารณา คดีมโนสาเร่ นัดแรกจะกำหนดไกล่เกลี่ย/พิจารณา คดีแพ่งสาขา เช่น ร้องเฉลี่ยทรัพย์ ขอรับชำระหนี้จำนอง เป็นต้น นัดแรกกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันจันทร์ถึงศุกร์ ตามโครงการ Night Court คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องกันเอง คดีร้องจัดการมรดก กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้อง ไต่สวนคำร้อง วันเสาร์และอาทิตย์ กำหนดนัดไม่เกิน 10 คดีต่อวัน แบ่งเป็นนัดช่วงเช้าเวลา 09.00 น.ไม่เกิน 5 คดี และช่วงบ่ายเวลา 13.30 น.ไม่เกิน 5 คดี
และคดีผู้บริโภคทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ยื่นคำฟ้อง กำหนดนัดแรกกำหนดไกล่เกลี่ย/พิจารณา วันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 16.30 น. กำหนดนัดวันละไม่เกิน 20 คดี โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้มีเป้าหมายว่า เมื่อถึงสิ้นเดือนกันยายน 2555การนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องของศาลจังหวัดภูเก็ตจะต้องไม่เกิน 1 ปี คือ เมื่อถึงเดือนกันยายน 2555 การนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องของศาลจังหวัดภูเก็ตจะไม่เกินเดือนกันยายน 2556 ส่วนของคดีที่จำเลยต้องโทษขัง คือ ไม่ได้รับการประกันตัวจะต้องมีการพิจารณาต่อเนื่องภายใน 6 เดือน
ขณะที่นายวรวงศ์ อัจฉราวงศ์ชัย ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เหตุที่จังหวัดภูเก็ตมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลค่อนข้างมาก ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เนื่องมาจากภูเก็ตเป็นจังหวัดเศรษฐกิจ ในขณะที่ศาลมีทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัด โดยมีบัลลังก์ในการพิจารณาคดีเพียง 10 บัลลังก์ และมีผู้พิพากษาเพียง 20 อัตรา แต่หากมีผู้พิพากษามากกว่านี้บัลลังก์ก็มีไม่เพียงพอ จากสภาพการดังกล่าวจึงทำให้มีคดีเข้าสู่การพิจารณาและคดีค้างค่อนข้างมาก แต่จากการที่มีคณะไกล่เกลี่ยประจำศาลภูเก็ตมาช่วยดูแลทำการไกล่เกลี่ย ทำให้ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลลดลง
โดยคดีที่สามารถยุติได้ในขั้นการไกล่เกลี่ย แบ่งเป็นประเภทคดีคุ้มครองผู้บริโภค เช่น บัตรเครดิต กู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน เป็นต้น ประสบความสำเร็จถึง 90% หากเป็นคดีสามัญ ซึ่งมีการต่อสู้กันและเป็นคดีค่อนข้างซับซ้อน ความสำเร็จไม่เกิน 50% และหลังจากมีการนำโครงการ Night Court มาใช้ เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณคดีแล้วเสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วและลดปริมาณคดีคั่งค้างได้ตามลำดับ รวมทั้งยังคงได้รับความร่วมมือจากคณะไกล่เกลี่ยฯ จัดเวรมาให้บริการในช่วงดังกล่าวด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น