เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ประจำปี 2555 “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนางานวิจัยสู่ประชาคมอาเซียน” พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนางานวิจัยสู่ประชาคมอาเซียน” มีคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ตลอดจนประชาชนที่สนใจ กว่า 100 คน
ทั้งนี้รศ.ประภา กาหยี อธิการบดี ได้กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำหรับอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยในการเผยแพร่ผลงานวิจัย เป็นแหล่งเรียนรู้ รูปแบบและกระบวนการวิจัยที่หลากหลายสำหรับอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป เพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยของนักวิจัย ในครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอผลงานวิจัย ที่มีกิจกรรมหลายรูปแบบรวมไว้ด้วยกัน ตั้งแต่กิจกรรมการบรรยาย ซึ่งได้รับเกียรติจากรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษามาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์มากมายให้ผู้เข้าประชุมได้รับฟัง การนำเสนอในรูปแบบของโปสเตอร์ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยนำเสนอผลงานวิจัยใน 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาการศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เช่น สัมฤทธิผลของนโยบายการปฏิรูปการศึกษามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในการทำงานของครูในสถานศึกษา สังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษาภาคใต้ ยุทธวิธีขบวนการทางสังคมของบ้านยามู และผลงานวิจัยอีกหลายเรื่องที่มีการนำเสนอ ตลอดทั้ง 2 วันของการจัดประชุม คือระหว่างวันที่ 21- 22 พฤษภาคม นับว่าผู้ที่สนใจงานวิจัยจะได้รับองค์ความรู้และประโยชน์มากมายจากการจัดประชุมครั้งนี้”
ด้านรศ.ดร.พินิติ กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การวิจัยนับเป็นพันธกิจที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา ในฐานะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น งานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องตอบสนองความต้องการในการพัฒนาและการแก้ปัญหาให้สังคมท้องถิ่น รวมทั้งการวิจัยสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และทันสมัยให้กับคณาจารย์สามารถนำมาบูรณาการกับการเรียนการสอน นำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะสอดคล้องกับที่สังคม หรือตลาดต้องการ ดังกล่าวนี้ การจัดประชุมนำเสนอผลงานวิจัย จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมนักวิจัยของนักวิจัย เป็นแหล่งสำหรับเผยแพร่งานวิจัย รวมทั้งเป็นโอกาสที่ดีในการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการวิจัยในรูปแบบที่หลากหลายระหว่างนักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น