เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์
ประธานอนุกรรมการคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
(ป.ป.ช.) คณะที่ 1 สภาผู้แทนราษฎร ใน คณะ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ
ได้ตรวจสอบพื้นที่บริเวณแหลมไม้ง้าว ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต
เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนชาวภูเก็ตว่า
ที่ดินบริเวณดังกล่าวได้มีการออกโฉนดเลขที่ 89530 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ 26
ตารางวา ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้อง
เนื่องจากบริเวณที่ระบุเป็นพื้นที่เขาหรือภูเขาซึ่งยื่นลงไปในทะเล สภาพเป็นป่าไม้
และเป็นรอยต่อกับพื้นที่ของหาดฟรีด้อมซึ่งเคยมีการตรวจสอบการออโฉนดเนื้อที่
65 ไร่ มาก่อนหน้านี้ โดยมีนายสมเกียรติ สังข์สุทธิรักษ์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไชยผดุง พรหมสวัสดิ์
ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต
ปลัดอำเภอเมืองภูเก็ต ตัวแทนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงข้อมูล
นายพร้อมพงศ์ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ ว่า
เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนขอให้ตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินแปลง
โฉนดเลขที่ 89530 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ว่าอาจจะมีการออกโดยไม่ชอบ
และอาจจะมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง
ซึ่งจากการลงพื้นที่และได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบก่อนนี้พบความผิดปกติ
หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการยื่นขอออกโฉนดโดยใช้หลักฐานส.ค.1 เลขที่ 131
หมู่ 1 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เนื้อที่ 8 ไร่ เมื่อเดือนธันวาคม 2549
แต่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากเป็น ส.ค.1 บินจึงยกเลิกคำขอเมื่อเดือนมิถุนายน
2551
ต่อมาได้มีการขอยื่นใหม่อีกครั้ง
โดยยื่นคำร้องสวมสิทธิของผู้ที่เคยยื่นขอไว้รายแรกเมื่อปี 2532
โดยมิแจ้งการครอบครอง แต่ได้มีการยกเลิกคำขอไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน
2534 โดยไม่ทราบสาเหตุ
แต่มีการตรวจพบเหตุการณ์ขอเลิกคำขอเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีระวางโฉนด
ซึ่งกรมที่ดินให้ความเห็นว่า
หากมีการครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากผู้ยื่นขอรายแรก รายที่สอง
สามารถมีสิทธิยื่นขอได้ตามมาตรา 59 ทวิ
ในประเด็นของการอ้างว่าไม่มีระวังที่ดิน
แต่จากการตรวจสอบพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีระวางศูนย์กำเนิดโฉนดที่ดิน
ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2533
ดังนั้นการที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตขณะนั้นรายงานกรมที่ดินว่าไม่มี
ระวางโฉนดจึงเป็นการรายงานเท็จ
ขณะที่ช่างรังวัดที่ดินตรวจสอบว่าอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าไม่ถาวร
แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีหนังสือถึงสำนักงานดินฯ
ว่าไม่อยู่ทั้งในเขตป่าไม้และเขตป่าถาวร จึงเป็นการรายงานเท็จ
ประกอบกับที่ดินมีสภาพเป็นภูเขา มองจากที่ดินไปทะเลมีสภาพสูงชันประมาณ 70%
ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามออกโฉนดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5
และยังมีการตรวจสอบแล้วน่าเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์
ควนแหลมเตย เนื้อที่ 140 ไร่ ที่ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2480
เพราะทั้งสี่ทิศมีความสัมพันธ์กัน
“ดังนั้นเชื่อได้ว่า เหตุที่มีการยกเลิกคำขอออกโฉนดเมื่อปี 2534
น่าจะมาจากต้องห้ามมิให้ออกโฉนด
เพราะที่ดินอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด
และเขตป่าไม้ถาวร
และน่าเชื่อว่าเป็นพื้นที่ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ควนแหลมเตยด้วย
ซึ่งจะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ตรวจการกระทรวงยุติธรรม
ผู้ชำนาญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบในเชิงลึกอีกครั้ง”
นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ทราบว่านอกจากการออกโฉนดที่ดิน 20 ไร่ดังกล่าวแล้ว
ยังมีความพยายามจะออกเอกสารสิทธิที่ดินอีก 90 ไร่ในพื้นที่ติดต่อกัน
และเชื่อมไปถึงที่ดินบริเวณหาดฟรีดอม ซึ่งมีการออกโฉนดภายหลัง
และใช้วิธีการที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งยังพบข้อพิรุธเพิ่ม คือ
ลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ตรงกัน
จึงคิดว่าอาจจะมีการปลอมแปลงลายเซ็ฯด้วย ก็จะได้มีการตรวจสอบในเชิงลึก
โดยเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูล เพราะนี่คือ
การดำเนินการทวงคืนสมบัติชาติให้แผ่นดินและคนภูเก็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น