จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พบลูกโลมาลายแถบ เกยตื้นหาดกะตะ



เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ที่บริเวณชายหาดกะตะ ใกล้คลองปากบาง ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไพทูล แพชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการ ประมงชำนาญการ กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน และเจ้าหน้าที่เข้าทำการช่วยเหลือโลมาซึ่งมาเกยตื้นอยู่บริเวณชายหาดดังกล่าว 


หลังจากที่ได้รับการประสานจากทางนายศุภชัย จันทร์เพ็ชร์ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเลเทศบาลตำบลกะรน และหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล ทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งได้รับแจ้งจากพนักงานโรงแรมกะตะบีช รีสอร์ท ว่าพบโลมาอยู่ในสภาพอ่อนเพลีย บริเวณชายหาดหน้าโรงแรม 


แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีคลื่นลมแรงมีความสูงประมาณ 1.5 เมตร เกรงจะเกิดอันตราย จึงได้มีการช่วยกันใช้เจ็ทสกีต้อนมาไว้ที่บริเวณหาดกะตะ ตรงข้ามคลองปากบางดังกล่าว และได้ให้เจ้าหน้านี้ประคองตัวโลมาไว้เพื่อไม่ให้จมน้ำหรือถูกคลื่นซัดออกนอกฝั่ง โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่อยู่บริเวณหน้าชายหาดเป็นอย่างมาก 


ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ไปถึงบริเวณชายหาดดังกล่าว ห่างลงไปทะเลเล็กน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเลเทศบาลตำบลกะรน และหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ทำการพยุงตัวของโลมาไว้ โดยนายก้องเกียรติ พร้อมเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้ลุยน้ำลงไปทำการดูสภาพของโลมาเบื้องต้นด้วยการให้ว่ายน้ำ ซึ่งยังสามารถว่ายได้แต่ไม่แข็งแรงนักเนื่องจากสภาพอ่อนเพลีย จึงทำการฉีดยากันช็อค จากนั้นได้ช่วยกันนำขึ้นฝั่งและบรรทุกใส่รถกระบะของเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปฟักฟื้นที่บ่ออนุบาลของสถาบันฯ และจะได้ทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง


นายก้องเกียรติ กล่าวว่า สำหรับโลมาดังกล่าว เป็นโลมาลายแถบ เพศเมีย อายุประมาณ 2 ปี และน่าจะยังอยู่กับแม่ น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรับ ยาวประมาณ 1.20-1.30 เมตร ตรวจสอบสภาพภายนอกไม่พบบาดแผล มีเพียงรอยช้ำที่เกิดจากเชือกบริเวณหัวเล็กน้อย ยังสามารถว่ายน้ำได้โดยมีตะแคง แต่ค่อนข้างอ่อนเพลีย พบมีพยาธิบริเวณหาง แต่อาจจะมีความผิดปกติภายใน ซึ่งจะต้องมีการตรวจเลือดเพื่อยืนยันอีกครั้ง


“โลมาลายแถบจะพบบ่อยบริเวณฝั่งตะวันตกของ จ.พังงา และภูเก็ต โดยจะอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 50 ตัว ซึ่งโลมาตัวดังกล่าวคาดว่าน่าจะผลัดหลงออกมาจากฝูงเนื่องจากคลื่นลมแรงและมีอาการอ่อนเพลีย แต่โดยปกติตามธรรมชาติแล้วโลมาชนิดนี้หากมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่เข็งแรงก็จะถูกให้ออกจากฝูง หรืออาจจะว่ายน้ำเข้าฝั่ง เพื่อหาที่สงบรักษาตัว และเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวอื่นๆ ในฝูงติดเชื้อตามไปด้วย” 


นายก้องเกียรติ กล่าวว่า สำหรับลูกโลมาลายแถบดังกล่าวนั้นคงต้องใช้เวลาดูอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง ว่าเป็นอย่างไร หากพบอาการไม่ดีขึ้นก็จะทำการเจาะเลือดไปตรวจอย่างละเอียด พร้อมทำการอัลตราซาวน์เพื่อดูอวัยวะภายในว่าเป็นอย่างไร มีความผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีการตรวจพบโลมากินขยะพลาสติก เข้าไปและทำให้เกิดการอุดตันระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามในรอบปีนี้ยังไม่พบโลมาลายแถบเสียชีวิต แต่มีโลมาชนิดอื่น เช่น โลมาหลังโหนก โลมาอิระวดี เป็นต้น เสียชีวิตแล้วประมาณ 7 ตัว ในพื้นที่ จ.พังงา ตรัง สตูล 


ขณะที่นายศุภชัย จันทร์เพ็ชร์ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเลเทศบาลตำบลกะรน กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้รับแจ้งว่ามีโลมาเกยตื้นอยู่บริเวณชายหาดหน้าโรงแรมกะตะบีชรีสอร์ท จึงได้เข้าตรวจสอบและช่วยเหลือร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล ทัพเรือภาคที่ 3 แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีคลื่นลมแรงและสูงประมาณ 1.5 เมตร เกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงได้ช่วยกันทำการไล่ต้อนมาไว้ที่บริเวณชายหาดกะตะหน้าคลองปากบางดังกล่าว และให้เจ้าตัวที่คอยประคองไว้ในน้ำทะเล จากนั้นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ มาทำการช่วยเหลือและนำไปอนุบาลต่อ ซึ่งในแต่ละปีจะพบโลมาเข้ามาเกยตื้นประมาณ 2-3 ตัว ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บป่วยและถูกคลื่นซัดเข้ามา เพราะช่วงนี้เป็นฤดูมรสุม 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น