จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พบหอยเม่นตายเกลื่อนหาดเกาะโหลน



เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะโหลน หมู่ 3 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่าพบหอยเม่นขึ้นมาตายเกลื่อนบริเวณชายหาดทั้งๆ ที่ไม่มีคลื่นลมแรงหรือลมมรสุมพัดเข้าหาฝั่งแต่อย่างใด จากการสอบถามไปยังนายมานิต โยธารักษ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะโหลน หมู่ 3 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต เล่าให้ฟังว่า ในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมาพบหอยเม่นทยอยมาเกยตื้นตายบริเวณแนวชายหาดของเกาะโหลนซึ่งมีความยาวประมาณ 500 เมตร จำนวนมากกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ไม่คลื่นลมหรือมรสุม
พัดเข้าฝั่งแต่อย่างใด โดยเท่าที่พอจะนับได้ประมาณ 150 ตัว ขนาดตัวละประมาณ 5 – 6 นิ้ว ตั้งแต่อาศัยและประกอบอาชีพประมงอยู่บนเกาะมาเป็นเวลาร่วม 30 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แม้ที่ผ่านมาจะพบหอยเม่นขึ้นมาตายบ้างแต่จะมีจำนวนไม่มากเหมือนกับครั้งนี้ ไม่ทราบว่ามีสาเหตุจากอะไร เพราะน้ำทะเลบริเวณชายหาดก็ไม่มีปัญหายังคงมีสีใส และลงแช่น้ำก็ไม่มีอาการคันแต่อย่างใด ส่วนการจัดการหอยเม่นที่ได้ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เนื่องจากปูลมจะมากัดกินหนามแหลมและตัวหอยก็จะสลายไปตามธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด


จากการสอบถามไปยังนายนิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน (ภูเก็ต) กล่าวว่า จากการลงไปตรวจสอบ พบหอยเม่นขึ้นมาตายอยู่บริเวณทิศตะวันออกของเกาะแต่จำนวนไม่มาก โดยหอยเม่นที่พบน่าจะอยู่ในสายพันธุ์เม่นทะเลหนามสั้น มักอาศัยอยู่บนหญ้าทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ เนื่องจากทำหน้าที่ช่วยกินซากวัตถุบนผืนดิน เป็นเสมือนพนักงานทำความสะอาดในระบบนิเวศน์ จากการสอบถามจากชาวประมงในพื้นที่ทราบว่ามีการพบเม่นทะเลชนิดนี้บ่อยๆ ในช่วงมรสุม บางครั้งก็ติดอวนขึ้นมา และยังพบว่าหอยเม่นทะเลดังกล่าวไม่ได้ตายในทันที สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนหาด ประกอบกับสภาพน้ำบริเวณชายหาดก็ไม่มีปัญหา เพราะบนเกาะโหลนไม่มีลำธารมีเพียงทางน้ำไหลเมื่อฝนตกหนักก็จะไหลลงทะเล เมื่อฝนหยุดตกก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เบื้องต้นจึงน่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่อยากฝากดูแลการทิ้งกระป๋องยาฉีดกันยุงหรือกระป๋องสารเคมีลงไปในน้ำ แม้จะมีปริมาณสารเคมีน้อย แต่จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศน์ค่อนข้างมากและเป็นอันตรายด้วย 

“เนื่องจากเกาะโหลนตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอ่าวฉลองซึ่งเป็นอ่าวปิด ปัญหาที่น่าห่วงจะเป็นเรื่องตะกอนดินที่สะสมทับถมตามแนวปะการังค่อนข้างมากมาตั้งแต่อดีตที่มีการทำเหมืองแร่จนถึงปัจจุบันซึ่งมีการพัฒนาและเปิดหน้าดินก่อสร้างบนฝั่งก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังเป็นวงกว้าง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอ่าวฉลองเป็นอ่าวกึ่งปิดและมีเกาะล้อมรอบ โอกาสที่ตะกอนจะถูกถ่ายเทออกไปค่อนข้างน้อย สังเกตได้จากน้ำทะเลบริเวณอ่าวที่เคยใสสะอาดในอดีต แต่ปัจจุบันมีความขุ่นมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงที่มีคลื่นลมแรงจะเห็นได้ชัดเจน เพราะตะกอนจะถูกพัดขึ้นมา” 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น