เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 ที่ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ท. แถลงผลการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีนายไชยผดุง พรหมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับพื้นป่าประเภทต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีรายงานการบุกรุกพื้นที่ป่าของ จ.ภูเก็ตค่อนข้างเยอะมาก เนื่องจากความเป็นเมืองท่องเที่ยวเศรษฐกิจและที่ดินจำกัด มีราคาแพง ประกอบกับจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางราย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพย์ฯ ด้วย มีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการทำงานต่อจากนี้ในส่วนของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงทรัพย์ฯ, ป.ป.ท. ป.ป.ช. และดีเอสไอ ในการร่วมกันปกป้องและดูแลรักษาป่าต่างๆ ก่อนที่จะถูกทำลายไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้ธรรมชาติถูกทำลายต่อไปภูเก็ตก็จะเปิดปัญหาและไม่มีใครมาท่องเที่ยวอีก
ขณะที่พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีรายงานว่า จ.ภูเก็ตเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยมีแผนประทุษกรรมที่ชัดเจน และมักจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นแนวทางในการตรวจสอบจึงเน้นไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เคยทำผิด เคยรับราชการ เคยออกเอกสารสิทธิและมีปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงมีการออกเอกสารสิทธิเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งเหตุที่ภูเก็ตมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์สินามิ ทำให้ความต้องการที่ดินบริเวณภูเขาหรือพื้นที่สูงมากขึ้น ประกอบราคาที่สูง จึงทำให้เป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติในการเข้าครอบครอง ในลักษณะของนิติบุคคลของไทย แต่จริงๆ แล้วเป็นนอมินี หรืออาจจะด้วยการเช่าในระยะยาว 25-30 ปี มีการปิดกั้นทางลงชายหาดหรือขึ้นภูเขา ซึ่งถือเป็นการเอาแผ่นดินไปขายให้กับต่างชาติ
“ส่วนของ ป.ป.ท.นั้นมีหน้าที่ในการติดตามการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการเข้าไปมีส่วนบุกรุก และการฟอกเงิน ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำกันเป็นเครือข่ายก็จะส่งให้ดีเอสไอร่วมตรวจสอบได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพูดคุยในการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะได้เดินทางไปกับปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อหารือกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินการกับข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิ เพื่อกันให้ออกไปจากกระบวนการดังกล่าว หรือออกไปจากพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่ป่าเขา เพื่อให้สามารถเรียกคืนทรัพย์ของแผ่นดินกลับคืนมา เพราะความเสียหายเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ ซึ่งรวมถึงระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่จะเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลด้วย จึงได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงมาในพื้นที่เพื่อตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิด เพราะเชื่อว่าในการดำเนินการต่างๆ นั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย” พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าว
อย่างไรก็ตามจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบในพื้นที่ จ.ภูเก็ตเมื่อช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีการพยายามออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกกมลา พื้นที่อนุรักษ์โซน C ให้กับทายาทอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการระดับสูงฝ่ายปกครองของจังหวัดภูเก็ต กว่า 260 ไร่ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นได้มีการออกโฉนดที่ดินไปแล้ว 3 โฉนด พื้นที่ประมาณ 45 ไร่ เป็นโฉนดที่ดินที่มีชื่อของอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต 2 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เป็นของบุตรสาวอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย 1 แปลง และอีก 1 แปลง พบว่ากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาออกโฉนดที่ดินอีกประมาณ 18 แปลง เนื้อที่กว่า 200 ไร่ และจากการตรวจสอบพื้นที่พบว่าที่ดินที่มีการออกโฉนดเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา และเป็นพื้นที่อนุรักษ์โซนซี สภาพเป็นป่าดิบชื้น เป็นป่าต้นน้ำ และมีการปลูกต้นยางพาราแซมบ้างเป็นบางส่วน และพบป้ายชื่อว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตติดไว้ที่ทางเข้าบ้าน และกำลังสร้างรีสอร์ท ชื่อว่า Honey พบรถแบ็คโฮกำลังดำเนินการสร้างถนนและรีสอร์ท
สำหรับการออกโฉนดที่ดินทั้ง 4 โฉนด โดยใช้ ส.ค.1 ซึ่งจากการพิจารณาหลักเกณฑ์การออกโฉนดที่ดินในจังหวัดภูเก็ต คือ ต้องมี ส.ค.1 เพราะหากไม่มีส.ค.1จะไม่สามารถออกโฉนดได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขข้อห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดินบนเกาะ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) เมื่อที่ดินมี ส.ค.1 ต้องพิจารณาว่า การแจ้งครอบครองชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ประกอบด้วย มีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (1 ธันวาคม 2497) ซึ่งการพิจารณาว่ามีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ต้องมีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นจริงๆ เช่น ทำเรือกสวนไร่นา ให้เห็นกิจการที่ทำประโยชน์ด้วย เป็นต้น
ดังนั้นแม้จะมี ส.ค.1 แต่จะต้องมีการครอบครองและทำประโยชน์อยู่จริง จากการตรวจสภาพพื้นที่พบว่าที่ดินยังมีสภาพเป็นป่าดิบชื้น แทบจะไม่เห็นสภาพว่ามีการทำประโยชน์เลย แต่ได้มีการออกโฉนดไปแล้ว 4 โฉนด โดยมีการระบุในการออกโฉนดที่ดินว่ามีการปลูกทุเรียน สะตอ เต็มทั้งแปลง ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่างการดำเนินการออกโฉนดที่ดินอีกร่วม 18 แปลง เนื้อที่กว่า 200 ไร่
นอกจากนี้ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ยังมีการตรวจพบอีกว่ามีนายทุนที่มีการปลูกสร้างอาคารอยู่ติดริมทะเล มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 หลายแห่ง โดยมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2553 จำนวนมาก เช่น พื้นที่เขตเทศบาลตำบลราไวย์ พื้นที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา เป็นต้น โดยหน่วยงานที่ดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้างนั้นก็จะเป็นในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทาง สำนักงาน ป.ป.ท.จะได้เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการทั้งทางอาญาและวินัยกับเจ้าหน้าที่อย่างเฉียบขาดต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น