เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามันประกอบด้วยระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่และตรัง ได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำโดยนายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตัวแทนจากสำนักงบประมาณนำโดยนายอิทธิศักดิ์ อินทรชุบ นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาแผนงาน/โครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต หรือ ครม.สัญจร ในระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคมนี้
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ได้มีการกำหนดงบประมาณให้กับจังหวัดต่างๆ จังหวัดละไม่เกิน 100 ล้านบาท โยเสนอโครงการได้อย่างน้อย 10 โครงการ และในส่วนของกลุ่มจังหวัดมีงบประมาณให้ 100 ล้านบาท ซึ่งโครงการที่จะเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณนั้น จะต้องเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อน และเป็นความต้องการของประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน มีแผนงานโครงการและสถานที่ชัดเจน รวมทั้งเมื่อได้รับการอนุมัติไปแล้วสามารถดำเนินการได้ทันที
“จากที่ได้มีการพิจารณาโครงการซึ่งทางจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามันเสนอมานั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนของโครงการขนาดใหญ่ที่งบประมาณเกิน 100 ล้านบาท นั้นก็จะมีการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญตามภารกิจของกระทรวงทบวงกรมนั้นต่อไป โดยเบื้องต้นแต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรเม็ดเงินในการพัฒนาจังหวัดละ 100 ล้านบาทอย่างแน่นอน รวมถึงงบประมาณของกลุ่มจังหวัดอีก 100 ล้าน ซึ่งโครงการที่ผ่านการพิจารณานั้นจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มจังหวัดในภาพรวม หรือหากดำเนินโครงการที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแล้วจะเกิดประโยชน์กับจังหวัดใกล้เคียงด้วย”
นายชาญวิทย์ ยังได้มีการกล่าวถึงการเสนอโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่จะต้องให้เอกชนมาร่วมลงทุนว่า จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะ ดังนั้นการเสนอโครงการในลักษณะดังกล่าวควรจะเสนอผ่าน กรอ.กลุ่มจังหวัด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ เพื่อจะได้มีการศึกษารายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป ไม่ว่าจะความเป็นไปได้ของโครงการ รูปแบบการลงทุนและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการรถไฟฟ้ารางเบา โครงการขุดเจาะอุโมงค์ป่าตอง เป็นต้น
สำหรับโครงการของกลุ่มจังหวัดอันดามันที่มีการนำเสนอขอรับการสนับสนุน ในส่วนของโครงการที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท มีการเสนอจำนวน 21 โครงการ งบประมาณกว่า 592,384,570 บาท เบื้องต้นลำดับความสำคัญ 10 โครงการแรก อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวบ้านทับละมุ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา งบประมาณ 31.2 ล้านบาท โครงการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนวงท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชประภาไปยังเกาะภูเก็ต งบประมาณ 32 ล้านบาทเศษ โครงการขุดลอกร่องน้ำ บริเวณท่าเทียบแพขนานยนต์ข้ามฟากเกาะลันตา เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทะเลอันดามัน งบประมาณ 18.4 ล้านบาทเศษ โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบ้านอ่าวเตย อ.กะเปอร์ จ.ระนอง งบประมาณ 10 ล้านบาทเศษ เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการที่จะของบประมาณนั้นไม่ควรจะเป็นโครงการของบเพื่อการศึกษา แต่จะต้องเป็นโครงการที่มีการศึกษาไว้แล้ว เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล หากไม่ดำเนินการจะส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน จึงขอให้มีการจัดลำดับความสำคัญใหม่
ส่วนของโครงการที่เกิน 100 ล้านบาทนั้น มีการเสนอไว้ 10 โครงการ งบประมาณ 54,932,505 บาท เช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงอันดามัน งบประมาณ 20,557,820 บาท โครงการเสริมสร้างความเชื่อมมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว 247,900,000 บาท โครงการท่าเทียบเรือสำราญกีฬา (มารีน่า) ระนอง งบประมาณ 110 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่จังหวัดภูเก็ต ได้เสนอของบของจังหวัดไม่เกิน 100 ล้าน จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการแก้มลิงขุมน้ำราชภัฎ 10 ล้านบาท โครงการแก้มลิงขุมน้ำสวนเฉลิมพระเกียรติ 15 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองบางเหนียวดำไปยังท่าอากาศยานภูเก็ต 49,680,000 บาท โครงการพัฒนาระบบควบคุมการจราจรทางน้ำจังหวัดภูเก็ต 20 ล้านบาท และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานบ้านพระยาวิชิตสงคราม ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง 9,109,000 บาท ส่วนของโครงการที่งบประมาณเกินกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ 450 ล้านบาท โครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานเมืองถลาง อ.ถลาง 500 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวหาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน 150 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมสนามบินนานาชาติภูเก็ต 300 ล้านบาทและโครงการก่อสร้างทางลอดทางยกระดับ แก้ปัญหาจราจรในเมืองภูเก็ต บริเวณสามแยกบางคู 500 บาท นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอโครงการเพื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 3 โครงการ งบประมาณ 30,731,040,000 บาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบารอบเกาะภูเก็ตและเส้นทางสนามบิน งบประมาณ 25,000 ล้านบาท โครงการอุโมงค์ลอดเข้าหาดป่าตอง งบประมาณ 5,556,040,000 บาท และโครงการภูเก็ตเขียว (นำพลังงานทดแทนมาใช้ทุกรูปแบบ) งบประมาณ 175,000,000 บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น