เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555ที่บริเวณเทือกเขากมลา ต.กะทู้ อ.กะทู้ ภูเก็ต พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา ได้รับการร้องเรียนว่ามีผู้พยายามขอออกเอกสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์โซนซี สภาพเป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม่ขนาดใหญ่ และเป็นป่าต้นน้ำ
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวห่างจากถนนทางเข้าน้ำตกกะทู้แยกตรงบริเวณซอยน้ำตกกะทู้ ร.6 ไปกว่า 10 กิโลเมตร สภาพถนนแคบคดเคี้ยวและลาดชัน โดยมีการลาดยางไว้เป็นระยะๆ ก่อนที่จะไปถึงพื้นที่ที่ถูกระบุว่ามีการขอออกโฉนดจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ บางส่วนเป็นสวนยาง สวนผลไม้ อาทิ ทุเรียน ลองกอง หมาก สะตอ เป็นต้น มีการตั้งที่พักอาศัยประปราย เมื่อไปถึงพื้นที่ที่ถูกระบุพบสภาพเป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่นานาชนิด และไม้ป่าทั่วๆ ไป พื้นที่มีความลาดชันค่อนข้างมาก ไม่มีการทำประโยชน์ใด หากในช่วงที่ท้องฟ้าโปร่งจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของชายหาดป่าตองได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบการปักเสาปูและข้างๆ จะมีมุดบอกระวางพื้นที่ด้วย
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า การเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว เป็นความร่วมมือของ ป.ป.ท. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เพื่อตรวจสอบว่าจะมีการประทุษกรรมผืนแผ่นดินของส่วนรวม เพื่อป้องกันไม่ให้ไปตกอยู่ในมือของนายทุนหรือกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนใด และจากการตรวจสอบเบื้องต้นก็พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าที่มีความสมบูรณ์มาก เป็นป่าต้นน้ำสำคัญ และมีความลาดชันมาก จึงไม่น่าที่จะออกโฉนดได้
“จากข้อมูลที่ทาง ป.ป.ท.ได้รับจากประชาชนที่ร้องเรียนและข้าราชการบางส่วนที่ยังหวงแหนแผ่นดินนั้น โดยในการทำงานจะมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะดูจากสภาพของพื้นที่ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ เป็นป่าดิบชื้นและมีความลาดชันค่อนข้างมาก จึงไม่น่าจะออกโฉนดได้แต่กลับยังมีความพยายามที่จะออก ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ร่วมมือก็คงไม่สามารถทำได้ เท่าที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้พยายามที่จะขอออกเอกสารสิทธิ์เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่”
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า ในกรณีที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีระดับใดบ้างคงต้องขอดูหลักฐานที่ชัดเจนก่อน ขณะนี้ทราบชื่อซึ่งมีส่วนพ้องอยู่แล้วแต่ยังมีทราบนามสกุลเพราะพึ่งได้รับรายงาน โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบ ซึ่งหากข้าราชการระดับสูงทำผิดเองโทษก็จะหนักกว่าเจ้าหน้าที่ระดับอื่นๆ และเมื่อพ้นจากอำนาจของ ป.ป.ท.แล้วก็จะส่งต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบต่อ และในระดับนี้หากมีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจจะต้องขอให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินด้วย
“แนวทางที่ ป.ป.ท.ดำเนินการในเบื้องต้นจะต้องไม่ให้มีการออกเอกสารสิทธิ และจะต้องเอาผืนแผ่นดินกลับคืนมา เพราะคนที่เข้ามาครอบครองอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีความผิดสำเร็จแล้วจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้เขาออกจากพื้นที่ ซึ่งในส่วนของ ป.ป.ท.คงเน้นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะลักษณะเช่นนี้คงทำได้ยากหากไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง”
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณชาวภูเก็ตและข้าราชการบางส่วนที่ให้ข้อมูลกับ ป.ป.ท. เพราะหากทำเพียงลำพังคงไม่สำเร็จแต่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นด้วย โดยในการลงมาทำงายระยะ 4-5 เดือนแรกนี้ คงจะทำให้ทราบได้ว่าในพื้นที่ จ.ภูเก็ตมีที่ดินแปลงใดและบริเวณใดบ้างที่น่าเชื่อว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้อง และเตรียมที่จะมีการออกเอกสารสิทธิอยู่มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วภูเก็ตไม่ใช่เป็นสมบัติของเฉพาะคนไทยเท่านั้นแต่เปรียบเหมือนเป็นสมบัติของโลกด้วยซ้ำไป เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนรู้จักดีไม่น่าจะตกเป็นคนใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยหากยังมีการทำผิดเช่นนี้เรื่อยๆ ต่อไปก็จะไม่เหลืออะไร
ส่วนมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า คงไม่สามารถตอบได้แน่ชัด แต่ที่เคยเจอลักษณะเช่นนี้ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พบว่าเมื่อทำสำเร็จแล้วจะมีการเปิดต้นไม้ออกเพื่อให้มองเห็นทะเล และมีการก่อสร้างบ้านหรูๆ ขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต และจะมีชาวต่างชาติเข้ามาครอบครองในลักษณะการจัดตั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในเมืองไทยโดยถือหุ้นเกิน 51 % เมื่อเป็นเช่นนั้นคนไทยก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาในพื้นที่ได้ เหมือนๆ กับที่ดินซึ่งติดชายหาดหลายๆ แห่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น