นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์กรณีการลงตรวจสอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่ามีการปลูกสร้างโรงแรมและรีสอร์ทในพื้นที่อุทยานฯ จำนวนประมาณ 10 โครงการ และมีการสั่งตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิของโครงการต่างๆ โดยเริ่มจากโครงการภูเก็ต
อาเคเดียในทอน รีสอร์ท หมู่ที่ 4 ต.สาคู อ.ถลาง และได้นำข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากการยื่นหลักฐานในการขอจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ว่า
จากการติดตามข่าวการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถของอธิบดีกรมอุทยานฯ ทราบว่าได้มีการมอบอำนาจให้หัวหน้าอุทยานฯ สิรินาถแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้ว ในการตรวจสอบเอกสารสิทธิ นส.3 ก, นส.3 และโฉนด รวม 9 ฉบับ เนื้อที่รวมประมาณ 39 ไร่เศษของโครงการดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร แต่จากที่ได้รับรายงานเบื้องต้นจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของอธิบดีกรมอุทยานฯ ทราบว่าน่าจะมีส่วนหนึ่งประมาณ 13 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานฯ ซึ่งมีการร้องทุกข์กล่าวโทษตามวิธีพิจารณาความคดีอาญา ซึ่งในการพิสูจน์สิทธิ์ก็ว่ากันไปตามกระบวนการของกฎหมาย โดยทางเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็จะต้องไปพิสูจน์ว่าเอกสารได้มาถูกต้องหรือไม่
“เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ หากเป็นที่ดินของหลวงและได้มามิชอบก็จะต้องมีการถอนสภาพ แต่หากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สามารถพิสูจน์ได้ว่าเอกสารได้มาถูกต้องตามกฎหมาย ผู้เป็นเจ้าของก็สามารถดำเนินการได้ต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบ”
นายตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตนั้นได้มีการตรวจสอบอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ จากส่วนกลางก็ได้เข้ามาทำการตรวจสอบด้วย ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบความเป็นมาของการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิว่าได้มาโดยชอบหรือไม่ ซึ่งหากที่เอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิตามกฎหมาย แต่หากได้มาโดยไม่ชอบก็เป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินในการเพิกถอนตามมาตรา 60
“การยื่นขอออกเอกสารสิทธิที่ดินในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมาของภูเก็ตมีน้อยมาก เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่มีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีการถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ซึ่งก็ได้มีการกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ว่าในการออกแอกสารสิทธิแต่ละแปลงนั้นจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องของแนวเขตติดต่อของที่ดินแต่ละแปลง ซึ่งกรณีของ สค.1 ของภูเก็ตจะมีปัญหามาก เช่น กรณี สค.1 ในพื้นที่ป่าเขารวกป่าเขาเมือง
ซึ่งมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ในปัจจุบันนั้นได้หมดไปตั้งแต่ปี 2507 แล้ว ดังนั้นหากจะมีการนำหลักฐานดังกล่าวมาออกเอกสารสิทธิก็ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้เน้นย้ำหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยเฉพาะสำนักงานที่ดินทั้งที่ดินจังหวัด ส่วนแยกถลางและ อ.กะทู้ เข้าใจว่าเอกสารที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะมีการออกมานานแล้ว ซึ่งอาจจะมีทั้งที่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนซึ่งก็ต้องพิสูจน์กันต่อไป”
นายตรี กล่าวด้วยว่า กรณีการอนุญาตของคณะกรรมการพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการบุกรุก ซึ่งจะดูเฉพาะการก่อสร้างโครงการว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่อย่างไร ส่วนเรื่องการอนุญาตก่อสร้างจะเป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาสภาพพื้นที่ในการก่อสร้างว่าเป็นอย่างไร เป็นที่สูงหรือที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ และได้มีการกำชับท้องถิ่นต่างๆ มาโดยตลอดในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมาส่งหนังสือกำชับไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ฉบับ
โดยเฉพาะการสร้างบ้านเรือนในพื้นที่สูงหรือมีความลาดชัน เพราะท้องถิ่นย่อมที่จะทราบเป็นอย่างดี และในการอนุญาตต่างๆ ก็มีกฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด ขณะที่การอนุญาตของคณะกรรมการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็จะมีการติดตามโดยคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งว่าผู้ประกอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ รวมทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้ท้องถิ่นได้รับทราบด้วย ซึ่งหากในการอนุญาตท้องถิ่นได้ไม่ควบคุมดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะมีการดำเนินการอย่างเฉียบขาดทันที ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการกับท้องถิ่นที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างไม่ถูกต้องประมาณ 2-3 ราย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น