เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 ที่ห้องประชุมชั้น 3 โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต) นพ.จักร สมณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชน กรณีเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา นายณรงค์พล สุวรรณโมสิ ได้เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต กรณีการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ตในการดูแลรักษาผู้ป่วย ราย นางพา คงจีน ว่า สำหรับผู้ป่วยรายนางพา คงจีน อายุ 75 ปี ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลฯเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2554 ด้วยอาการปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะเกลือแร่ต่ำ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทางโรงพยาบาลและแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยดีตามมาตรฐานวิชาชีพด้วยดีตลอดมา
เดิมผู้ป่วยเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ตามประวัติมี โรคประจำตัว เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและภาวะไตวายเรื้อรัง จนกระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม 2554 มีอาการปัสสาวะออกน้อย แพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะโรคไต จึงย้ายผู้ป่วยเข้าห้องไอซียู เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ดีจากแพทย์เฉพาะ ทางระบบไต ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ทางโรงพยาบาลฯ ได้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไตประจำโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้รับคำแนะนำว่าควรส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เนื่องจากจะได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิดและมีศักยภาพทางการแพทย์ที่สูงกว่า อุปกรณ์เครื่องไม้ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน เนื่องจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นโรงพยาบาลระดับตติภูมิ ในขณะที่โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ตเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ
ทั้งนี้ก่อนที่จะส่งตัวผู้ป่วยทางแพทย์ก็ได้อธิบายให้คุณสุมาลี สุวรรณโมสิ ซึ่งเป็นญาติของผู้ป่วยรับทราบเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อดูแลในสถานพยาบาลที่มี ศักยภาพสูงกว่า เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ซึ่งทางญาติก็รับทราบและยินยอมให้ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ จึงยืนยันได้ว่าทางโรงพยาบาลไม่ได้ขับไสไล่ส่งตามที่มีการร้องเรียน แต่ดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยภายหลังได้รับความยินยอมจากญาติแล้ว และจากการประสานกับทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่ประการใด จึงได้ทำการรวบรวมเอกสารการรักษา ข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยเพื่อส่งมอบให้กับทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่ต้องใช้เวลาเล็กน้อย เนื่องจากผู้ป่วยเข้าออกและรักษากับทางโรงพยาบาลฯ เป็นเวลากว่า 2 เดือน ระหว่างนั้นผู้ป่วยก็ยังอยู่ในห้องไอซียู ไม่ได้อยู่บนรถพยาบาลฉุกเฉินแต่อย่างใด
เมื่อการรวบรวมเอกสารแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 19.00 น. จึงได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากห้องไอซียูขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉิน นำไปส่งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ณ แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติในการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการของทางโรง พยาบาลดังกล่าวต่อไป ซึ่งการนำผู้ป่วยไปยังแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตนั้น ไม่ได้หมายความว่าได้นำผู้ป่วยไปทิ้งไว้ ณ ห้องฉุกเฉินตามที่ญาติผู้ป่วยร้องเรียน แต่เป็นเพราะศูนย์ส่งต่อตั้งอยู่บริเวณแผนกฉุกเฉิน อีกทั้งในขณะที่ส่งมอบผู้ป่วยก็ได้ส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อทราบด้วย และในขณะที่เคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยนั้นก็รู้สึกตัวดี พูดคุยรู้เรื่อง สามารถหายใจได้เอง ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สัญญาณชีพ ชีพจร 120 ครั้ง/นาที หายใจ 22-28 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตอยู่ในระหว่าง 80-100/50-60 มิลลิเมตรปรอท ความเข้มข้นออกซิเจนในกระแสเลือด 100% นั่นเป็นสิ่งซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยยังอยู่ในอาการคงที่ ยังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
นอกจากนี้ขอชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่าการที่ทางโรงพยาบาลฯนำผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเวลา 19.00 น. ไม่ใช่เพื่อรอให้ญาติผู้ป่วยนำเงินมาชำระค่ารักษาพยาบาลก่อน หากแต่อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางโรง พยาบาลวชิระภูเก็ตและการจัดเตรียมเอกสารประวัติ ข้อมูลของคนไข้เพื่อการส่งต่อเท่านั้น นพ.จักรกล่าวย้ำ และย้ำด้วยว่า ประเด็นเรื่องของค่ารักษาไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะทางโรงพยาบาลคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลนั้นแม้ไม่ได้รับในวันดังกล่าว โดยปกติโรงพยาบาลยังสามารถเรียกเก็บจากญาติผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของไข้ได้ในภายหลัง และสำหรับคนไข้รายนี้ที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาในเรื่องการ จ่ายค่ารักษาพยาบาล นับเป็นคนไข้ชั้นดี เพียงแต่ทางญาติของจ่ายเป็นงวดๆ งวดละประมาณ 20,000 บาท ซึ่งก็จ่ายมาโดยตลอด รวมค่าพยาบาลในช่วงที่รักษาตัวอยู่นั้นประมาณ 2 เดือน อยู่ที่ประมาณ 262,000 บาทเศษ และไม่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย 50,000 บาทตามที่มีการระบุในการร้องเรียนแต่อย่างใด รวมที่มีการระบุว่าขอพบตนเพื่อเจรจาขอผ่อนผันค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด
“ก่อนที่ญาติของผู้ป่วยเข้าไปร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมฯ นั้นตนก็ได้มีการไปพูดคุยและอธิบายขั้นตอนต่างๆ แล้ว ซึ่งก็เข้าใจได้ถึงอารมณ์ของญาติผู้สูญเสีย แต่ยืนยันว่าเราได้ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี และดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของการรักษาผู้ป่วย และเรื่องค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ”
นพ.จักร กล่าวด้วยว่า ทางผู้บริหารโรงพยาบาลฯ ขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้ป่วย เพราะรับรู้ถึงความโศกเศร้าเสียใจและความรู้สึกของญาติผู้ป่วยที่ต้องสูญเสียมารดาอันเป็นที่รักไป แต่โรงพยาบาลฯขอเรียนว่าคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลฯ ได้ทุ่มเทความสามารถในการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่แล้ว เพราะตระหนักดีว่าโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ตเป็นที่คาดหวังอย่างสูงจากพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ต ดังนั้นบุคลากรของโรงพยาบาลจึงพร้อมที่จะให้บริการที่ดีแก่พี่น้องชาวภูเก็ต ดุจคนในครอบครัวของเรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น