เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า) นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียน เรื่อง ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงนกนางแอ่น ครั้งที่ 1/ 2555 เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน โยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน เข้าร่วม อาทิ นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต นายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต นายผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์ สาธารณสุขอำเภอเมืองภูเก็ต นายสุรชัย ชัยวัฒน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น
นายสมเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครับและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.จังหวัด) ครั้งที่ 2/2554 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยหอการค้าจังหวัดภูเก็ตได้เสนอปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างอาคารเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่น ซึ่งมีสมาชิกหอการค้าฯ ร้องเรียนว่า ปัจจุบันมีการสร้างคอนโนนกนางแอ่นขึ้นหลายแห่ง แต่ด้วยภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลกและทำรายได้ให้แก่ประเทศจากธุรกิจท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งการสร้างคอนโดนกนางแอ่นนั้นจะขัดกับธุรกิจท่องเที่ยว เพราะทำให้เกิดมลพิษทางเสียง อากาศ บดบังทัศนียภาพที่สวยงาม และมีเชื้อโรคที่มากับนกซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่เกิดกับมนุษย์อย่างน้อย 11 โรค จึงอยากให้มีการกำหนดโซนในการเลี้ยง หาวิธีการป้องกันโรคระบาด เช่น ไว้หวัดนก เป็นต้น เพื่อไม่ให้กระทบกับการท่องเที่ยว และท้องถิ่นที่อนุญาตจะต้องรับผิดชอบต่อการใช้อาคารผิดประเภทเนื่องจากมีการดัดแปลงการใช้งาน ดังนั้นทาง กรอ.จังหวัดจึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียน และศึกษาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานให้กับผู้ว่าฯ และ กรอ.จังหวัดทราบเป็นระยะๆ
ด้านนายวงศกร นุ่นชูคันธ์ โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับผังเมืองฯ นั้น ในเรื่องของการแบ่งโซนตามกฎหมายผังเมือง ซึ่งมีพื้นที่ 4 โซนกำหนดไว้ชัดเจน ไม่สามารถจะเลี้ยงนกนางแอ่นและนกแอ่นได้เลย เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประกอบด้วย โซนสีแดง เขตพาณิชยกรรมหนาแน่นมาก โซนสีส้ม เขตพาณิชยกรรมหนาแน่ปานกลาง โซนสีเหลือง ที่อยู่อาศัย และโซนสีเขียวอ่อน พื้นที่นันทนาการ แต่หากเป็นพื้นที่นอกโซนดังกล่าวก็จะต้องไปพิจารณาตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายสาธารณสุข เรื่องก่อเหตุรำคาญ เป็นต้น
ขณะที่นายผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์ สาธารณสุขอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของโรคที่เกิดจากนกนางแอ่นนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ หืด เป็นต้น ระบบผิวหนังและเยื่อบุ เช่น เยื่อบุตา เชื้อราในหูชั้นนอก เป็นต้น ระบบไหลเวียนเลือด ปัญหาสุขภาพจิต เกิดจากความเครียดที่มาจากเสียงของนก กลิ่นหรือมูลนกที่ถ่านลงในน้ำนิ่งก็จะกลายเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงและนำมาซึ่งโรคสมองอักเสบ รวมทั้งยังสร้างความเดือนร้อนรำราญให้กับผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลของสาธารณสุขโดยให้ทางท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดและบังคับใช้ด้วยการออกเป็นเทศบัญญัติ ได้แก่ เรื่องของเหตุรำคาญ กิจการเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ
หลังจากมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง นายสมเกียรติ กล่าวสรุปว่า ให้ทางเลขาฯ แจ้งไปยังทุกท้องถิ่นกรณีที่มีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารให้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายผังเมือง เป็นต้น และให้แต่ละท้องถิ่นทำการสำรวจจำนวนผู้ประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่นเพื่อให้ทราบจำนวนที่ชัดเจน รวมถึงโซนที่เป็นที่ตั้งของอาคาร จากนั้นให้นำมารายงานต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินการควบคุม และเสนอผู้ว่าฯ ทราบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น