เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมโรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต นายจินต์ดี สันติกยาวกูล ประธานชมรมร้านขายยาจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับนายเกียรติศักดิ์ ปานรังศรี เลขานุการชมรมเภสัชกรจังหวัดภูเก็ต และ นางสาวดวงใจ ผะสารพันธ์ ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวความร่วมมือเป็นเครือข่ายการป้องกันและเฝ้าระวังการใช้สารเสพติดให้โทษ ระหว่างชมรมร้านขายยาจังหวัดภูเก็ต ชมรมเภสัชกรจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ภายหลังมีการตรวจพบกลุ่มนักเรียนในจังหวัดภูเก็ตนำยาบางชนิดไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของข้อบ่งใช้
นายเกียรติศักดิ์ ปานรังศรี เลขานุการชมรมเภสัชกรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการระบาดของสารเสพติดในวงกว้าง ดังนั้นในการป้องกันและเฝ้าระวังการใช้สารเสพติดมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร โดยชมรมร้านขายยาและชมรมเภสัชกรจังหวัดภูเก็ตเป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้ประกอบการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งพบว่าปัจจุบันมียาบางตำรับถูกนำไปใช้ในทางผิดวัตถุประสงค์ของข้อบ่งใช้ โดยทั้งสองชมรมได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพด้วยการคัดกรองผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้ยาให้ถูกตามหลักวิชาการ และร่วมกันเป็นเครือข่ายการป้องกันและเฝ้าระวังการใช้ยาในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของข้อบ่งใช้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
“ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการคุ้มครองประชาชนจากสารเสพติดนั้น ได้ขอให้เภสัชกรประจำร้านซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมฯ ได้ทำการซักประวัติและอาการของผู้ที่ประสงค์ใช้ยาให้ละเอียดครบถ้วน หาก ต้องส่งต่อให้แพทย์เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ยาได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องก็ให้ทำการส่งตัวไปพบแพทย์ จะต้องไม่ส่งมอบตำรับยาที่มีส่วนประกอบของเมทิลีนบูลให้กับเยาวชน เพราะเสี่ยงที่จะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หากมีผู้ต้องการใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาโรคจริง ก็ขอให้อธิบายถึงข้อควรระวังจากการใช้ยาอย่างละเอียด และทำบันทึกรายชื่อที่อยู่ของผู้ใช้ยาในตำรับที่กำหนดตามประกาศคณะกรรมการอาหารและยา”
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มเยาวชนนำยาที่มีส่วนประกอบของ “เมทิลีนบลู”ไปใช้เพื่อปกปิดสารเสพติด ว่า ยาดังกล่าวไม่สามารถที่จะปกปิดสารเสพติดได้ แต่จะยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยมากขึ้น และเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเยาวชนว่าจะช่วยให้ไม่ตรวจพบปัสสาวะเป็นสีม่วงหรือสารเสพติด เพราะเมื่อรับประทานไปแล้วจะถูกกำจัดออกผ่านทางไตเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ปัสสาวะมีสีเขียว หรือสีฟ้า-เขียว ขึ้นอยู่กับความเข้มของปัสสาวะ เนื่องจากในการสุ่มตรวจจะทดสอบหาสารเสพติดในปัสสาวะ หากผลตรวจเบื้องต้นพบว่าปัสสาวะเป็นสีม่วงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีสารเสพติดในร่างกาย เพราะความจริงแล้วไม่ใช่ เนื่องจากเมื่อมีการเสพสารเสพติดไปแล้ว และมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ว่าปัสสาวะจะเป็นสีใดก็ตรวจพบ ดังนั้นต่อจากนี้หากเจ้าหน้ามีการสุ่มตรวจปัสสาวะ และพบว่ามีสีเขียวหรือสีฟ้าให้ส่งผลตรวจยืนยันได้เลย พร้อมทั้งตั้งขอสงสัยได้ว่าน่าจะมีสารเสพติดไว้ก่อน เพราะยาเหล่านี้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ยังไม่จำเป็นต้องใช้
สำหรับเมทิลีนบลูเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ประมง การเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมยา เป็นต้น โดยนำไปเป็นส่วนประกอบทางยาบางตำรับเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคบางชนิด เช่น การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ กรวยไตอักเสบ หลอดปัสสาวะอักเสบ ขับปัสสาวะ เป็นต้น ตามข้อบ่งใช้แต่ละตำรับยา และจัดเป็นยาบรรจุเสร็จหรือยาอันตรายแล้วแต่ตำรับที่ได้ขอขึ้นทะเบียนไว้กับคณะกรรมการอาหารและยา หากรับประทานไปเป็นจำนวนมากก็จะมีผลต่อไตได้ นายเกียรติศักดิ์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น