จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาชีวะจัดการการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคี



เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องโสต 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือการจัดการการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคี ระหว่างวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตกับสถานประกอบการภาคเอกชนจำนวน 8 แห่งในจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสุนทร พลรงค์ ผู้อำนวยวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต นายปรีดี เกตุทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต คณะผู้บริหารสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดภูเก็ต คณะครู และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม
ทั้งนี้นายสุนทร พลรงค์ ผู้อำนวยวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า การจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในระบบโรงเรียน ดำเนินมากกว่า 70 ปี เริ่มจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา อบรมสั่งสอนนักเรียน นักศึกษาประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม ศิลปกรรม และคหกรรม เพื่อออกไปประกอบอาชีพต่างๆ โดยสถานประกอบการเป็นฝ่ายนำนักเรียนนักศึกษาไปใช้งาน แต่ปัจจุบัน พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษาได้กำหนดให้สถานศึกษาจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้สมารถผลิตกำลังคน ด้านอาชีวศึกษาได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโดยแท้จริง ซึ่งการจัดการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคี เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่แก้ปัญหาการผลิตและการพัฒนากำลังคนของประเทศ ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพได้
ด้วยหลักการและวิธีการจัดการศึกษาดังกล่าว วิทยาลัยอาชีวศึกษา จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อร่วมมือจัดการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคีมาโดยตลอด ปัจจุบันมีสถานประกอบการจำนวนมากร่วมมือกับวิทยาลัยฯ และการร่วมมือจัดการศึกษาที่จะร่วมพิธีลงนามความร่วมมือโดยมีสถานประกอบการทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วยโรงแรมเบสท์เวสเทิร์นอัลลามันดา ลากูน่า ภูเก็ต โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา โรงแรมโบ๊ทลากูน รีสอร์ท บริษัท เอ็ม เค เรสโตรองค์ จำกัด โรงแรมเอ้าท์ริกเตอร์ ลากูน่า ภูเก็ต โรงแรมไอบิส ภูเก็ต บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท ภูเก็ต ซึ่งสถานประกอบการภาคเอกชน ได้แสดงความเจตจำนงที่จะประสานความร่วมมือ ผนึกกำลังส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการการอาชีวศึกษา และผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
ด้านนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การศึกษาเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติ เพราะการศึกษาเป็นระบบและกระบวนการสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถ ออกไปประกอบอาชีพสาขาต่างๆ สร้างบ้าน สร้างเมือง พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า การที่ทั้ง 2 ฝ่ายคือสถานศึกษากับสถานประกอบการได้ทำความร่วมมือกันในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่สถานศึกษาซึ่งมีหน้าที่ฝึกอบรมนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นกำลังคน ได้ตกลงทำพิธีลงนามความร่วมมือกับฝ่ายสถานประกอบการ ซึ่งเป็นฝ่ายการผลิตและบริการ ต้องนำกำลังคนที่สถานศึกษาผลิตไปใช้ จะเป็นการทำงานร่วมกันทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมลงทุน เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนากำลังคนของประเทศ ในด้านปริมาณ และคุณภาพได้อย่างถูกต้อง
การผลิตและพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะระดับฝีมือ ระดับเทคนิคและระดับเทคโนโลยี หรือระดับกลาง ทุกภาคส่วนมีข้อมูล และความเห็นตรงกันว่า สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องจัดการศึกษาร่วมกัน วางแผนร่วมกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด จะทำให้การผลิตและการพัฒนากำลังคนเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้จะส่งผลดีโดยตรงต่อนักเรียน นักศึกษา ที่จะลดปัญหาการว่างงาน จะส่งผลดีต่อการลงทุน การผลิตที่ซ้ำซ้อน และยังส่งผลต่อภาพรวมของประเทศในด้านศักยภาพการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนและเวทีโลกต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น