จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กาชาดภูเก็ตรวมพลคนพันธุ์ Rh-

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ที่โรงแรมคาทีน่าภูเก็ต นางไทศิกา ไพรสงบ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานรวมพลคนพันธุ์ Rh- จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภาการชาดไทย จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกด้วยกัน เป็นการส่งเสริมความสามัคคีและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโลหิตหมู่พิเศษเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอปีละ 4 ครั้ง ในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้มีการมอบเหรียญ Rh-Champions for life แก่ผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอทุก 3 เดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2552 จำนวน 18 ราย

นางไทศิกา ไพรสงบ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยโลหิตหมู่พิเศษ (Rh negative) ยังคงเป็นปัญหาสำหรับงานบริการโลหิตในประเทศไทย ทั้งในเรื่องของความรู้และการเชิญชวนให้มาบริจาค เนื่องจากพบน้อยมากในคนไทย คือ ประมาณ 0.3% หรือ 1,000 คน พบเพียง 3 คนเท่านั้น เมื่อผู้ป่วยที่มีโลหิตหมู่พิเศษมีความจำเป็นต้องรับโลหิตเพื่อช่วยในการรักษาพยาบาล จึงมักประสบปัญหาในการจัดหาโลหิตให้เพียงพอและทันเวลาต่อความต้องการใช้ของผู้ป่วย ดังนั้นศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย จึงได้จัดตั้งชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ (Rh negative Club) ขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2532 โดยถือว่าผู้บริจาคโลหิตที่มีโลหิตหมู่พิเศษทุกคนเป็นสมาชิกของชมรมฯ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษจนถึงปัจจุบันมีสมาชิกชมรมกว่า 5,000 คน

ตลอดจนระยะเวลาการดำเนินงานของชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบซึ่งเป็นกิจกรรมสนับสนุนการจัดหาผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสารชมรมฯ แผ่นพับ โปสเตอร์ นิทรรศการ การบรรยายให้ความรู้ตามสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด แต่การที่จะทำให้สมาชิกผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นได้นั้น ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ มองว่าจะต้องจัดให้ผู้บริจาคฯ มีโอกาสพบปะสังสรรค์ ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งปลูกฝังแนวความคิดผู้บริจาคโลหิตให้มาบริจาคอย่างสม่ำเสมอ แต่การจัดกิจกรรมให้สมาชิกส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น ดังนั้นในปีนี้จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการขยายการจัดตั้งชมรมผู้บริจาคฯออกมายังส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจากภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่มีการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต ได้แก่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.ชลบุรี จ.อุบลราชธานี จ.ภูเก็ต และจ.สงขลา เพื่อไม่ให้สมาชิกขาดการติดต่อ และสามารถติดตามมาบริจาคโลหิตได้ในกรณีฉุกเฉิน นางไทศิกากล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น