จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

องคมนตรีรับฟังปัญหาชาวเลมอเกล็นภูเก็ต




เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่ห้องประชุมสโมสรวิทยุการบินภูเก็ต สนามบินภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พร้อมด้วยพล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ประชุมหารือและรับฟังปัญหาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลมอเกล็น ชุมชนแหลมหลา ชุมชนหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และชาวเลในพื้นที่ จ.พังงา ร่วมกับนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประยูร รัตนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 


ทั้งนี้นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงข้อมูลชาวเลมอเกล็นหินลูกเดียว –แหลมหลา ว่า ทั้งสองชุมชน มีจำนวนครัวเรือนรวม 167 ครัวเรือน ประชากร 566 คน ทั้ง 2 ชุมชน เป็นคนกลุ่มเดียวกันเคยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ชายฝั่งในจังหวัดพังงา และอพยพมาเรื่อยๆ จนถึงชายฝั่งช่องแคบปากพระ 


จึงได้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม และตั้งถิ่นฐานในชุมชนดังกล่าว ปัจจุบันมีการพิสูจน์เป็นสัญชาติไทยแล้ว ทางด้านการศึกษา มีเยาวชนศึกษาในระดับอนุบาลและประถมศึกษา จำนวน 72 คน ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 27 คน เด็กทุกคนในวัยเรียนเข้าเรียนภาคบังคับ ส่วนผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับแต่สามารถสื่อสารภาษาถิ่นและภาษาไทยได้ 


ในส่วนของสุขภาพอนามัย โรคที่พบมา ได้แก่ อ้วน ผิวหนัง เบาหวาน ความดัน หอบ หัวใจ และอัมพฤกษ์ (น้ำหนีบ) ซึ่งความเสี่ยงของโรคในบางช่วง คือ ไข้เลือดออก ส่วนของการประกอบอาชีพ ได้แก่ อาชีพประมงพื้นบ้าน/ชายฝั่ง, อาชีพรับจ้าง/พนักงาน(ทำงานนอกหมู่บ้าน), อาชีพแกะหอยติบ/หอยทะเล(แม่บ้าน) ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ใช้จ่ายจัดซื้ออาหารอุปโภคบริโภคและให้ลูกไปโรงเรียน มีกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้านแหลมหลา และกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนหินลูกเดียว 


ส่วนของหนี้สิน มีการกู้เงินจากกองทุนบทบาทสตรีในการพัฒนาอาชีพ ส่วนเงินกู้จากแหล่งอื่นๆ ไม่มี เพราะชาวเลส่วนใหญ่ไม่ต้องการเป็นหนี้สิน ด้านที่อยู่อาศัย ชาวมอเกล็นแหลม อาศัยในพื้นที่ราชพัสดุเป็นที่อยู่อาศัยและอยู่ระหว่างขอโฉนดชุมชน ส่วนชาวเลมอเกล็นหินลูกเดียว อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัยและอยู่ระหว่างขอโฉนดชุมชน 


ส่วนเรื่องของความเชื่อ/ศาสนา/วัฒนธรรม ทั้ง 2 ชุมชน มีการนับถือผีตายายและวิญญาณ มีประเพณีลอยเรือและนอนหาด มีการแสดงและขับร้องรองเง็ง ใช้ภาษามอเกล็นเป็นภาษาพูดใช้สื่อสารกันในกลุ่ม แต่ไม่มีภาษเขียน 


อย่างไรก็ตามข้อเสนอในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้มีการปรับปรุงพักอาศัยให้ถูกสุขลักษณะ ให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง จัดให้มีกองทุนเพื่อการศึกษา โดยให้ทุนการศึกษาจนจบระดับชั้นปริญญาตรี และส่งเสริมอาชีพ เพื่อมูลค่าผลผลิตด้านการประมง สืบสานสืบทอดวัฒนธรรมมอเกล็นเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน 


ด้านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวภายหลังการรับทราบข้อมูลจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในส่วนของพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเลนั้นอยากฝากไว้ 2 เรื่อง คือ การศึกษาของเยาวชน นอกจากการเรียนในภาคบังคับแล้วควรจะส่งเสริมเรื่องของวิชาชีพที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น ช่างยนต์ เป็นต้น กับเรื่องของการดูแลด้านสาธารณสุข เพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ซึ่งในการเข้ามาดูแลนั้นจะต้องมีการทำความเข้าใจว่าทำไมจะต้องปรับเปลี่ยน 


แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องรักษาวิถีชีวิตของเขาไว้ด้วย และให้เขามีความภาคภูมิใจความเป็นตัวตนของตนเอง รวมทั้งการรักษาจุดแข็งด้านวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวตามแนวทางที่จังหวัดได้วางไว้ นอกจากนี้การที่ทางคนในชุมชนไม่มีหนี้สินนอกระบบถือเป็นเรื่องที่ดี และจะต้องเฝ้าระวังไม่ส่งเสริมเรื่องของการบริโภคนิยมเพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดหนี้สินขึ้นได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น