จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ตร.เมืองภูเก็ตรวบคดีลักทรัพย์ได้ของกลางเพียบ


เมื่อเวลา 15.00 น.ของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สภ.เมือง ภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พร้อมด้วยพ.ต.อ.โกมล วัตรากรณ์ รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.อ.โชติ ชิดชัย ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต พร้อมด้วยชุดจับกุม ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนายวีระภัทร พิกุลทอง อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 ซ.สะพานหิน ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง ภูเก็ต พร้อมด้วยของกลาง เช่น รถจักรยานยนต์ กล้องถ่ายรูป นาฬิกาข้อมือ แหวน กำไล สร้อยข้อมือ พระเลี่ยมทอง พระเครื่องรวมทั้งสิ้น24 รายการ โดยกล่าวหาว่า ลักทรัพย์ในเคหสถาน โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์สิน โดยเข้าชึ่งทางซึ่งทำขึ้น โดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า โดยใช้ยายพาหนะ โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่บ้านเช่าไม่มีเลขที่ ห้อง ดี 1/134 ซ.โรงโฟม ม.1 ต.รัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต

ทั้งนี้ พล.ต.ต.พิกัด ได้กล่าวว่า ด้วยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมือง ภูเก็ต ได้รับแจ้งมีเหตุเกี่ยวกับคนร้ายได้เข้าไปลักทรัพย์ ตามที่พักอาศัย จำนวนหลายครั้ง จึงได้สั่งการณ์ให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ออกทำการสืบสวน สอบสวน จนกระทั่งทราบชื่อผู้ต้องหารายนี้คือ นายวีระภัทร พิกุลทอง ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้รวบรวมหลักฐานพร้อมทั้งขอหมายจับที่ศาลจ.ภูเก็ต จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าทำการจับกุมตัวนายวีระภัทร ได้ที่บ้านเช่าไม่มีเลขที่ ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจค้นภายในบ้านพัก เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดทรัพย์สินได้หลายรายการ จากนั้นก็ได้นำตัวผู้ต้องหา พร้อมด้วยของกลางมาทำการสอบสวนเพิ่มเติมที่สภ.เมือง

จากการสอบสวนนายวีระภัทร ก็ทราบว่า ได้ก่อเหตุลักทรัพย์ในพื้นที่ อ.เมือง ภูเก็ตมาแล้วจำนวน 13 ครั้ง โดยจะเลือกบ้านที่ไม่มีคนอยู่ เมื่อได้บ้านที่ไม่มีคนอยู่ก็จะใช้ไขควงงัดประตูเข้าไปลักทรัพย์ เมื่อได้ทรัพย์สินมาแล้วก็จะนำไปขายตามโรงรับจำนำ หรือขายต่อให้กับคนอื่น ส่วนทรัพย์สินที่ยังอยู่ภายในบ้านพักนั้น กำลังรอที่จะนำไปจำหน่ายต่อไป


พช.ภูเก็ตกำหนดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องศรีตรัง โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมศักดิ์ สงนุ้ย พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะทำงานโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP : KBO) เพื่อทบทวนบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ และการจัดทำแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปจังหวัดภูเก็ตในปีงบประมาณ 2554 โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนเครือข่ายโอทอปจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับคณะคณะกรรมการบริหารและคณะทำงานโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ มีบทบาทในการให้ความรู้ เพิ่มทักษะแก่กลุ่มผู้ผลิตชุมชนและท้องถิ่นด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป การวิจัยและพัฒนา ให้บริการข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ผลิตชุมชนและท้องถิ่นด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป การให้คำปรึกษาและแนะนำ ตลอดจนการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์โอทอป

ทั้งนี้ในส่วนของกรมพัฒนาชุมชน ได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนงานโอทอปในปีงบประมาณ 2554 จำนวน 5 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.กิจกรรรมการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์ความรู้ เพื่อให้มีการจัดทำแผนการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป 2.กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชน โดยเครือข่ายองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด 3.กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเครือข่ายองค์ความรู้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์โอทอป มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด 4.กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มอาชีพด้านการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด และการจัดการทุน เพื่อให้กลุ่มอาชีพมีความรู้และความสามารถในการบริหารจัดการ การผลิต การตลาดและการจัดการทุน และสามารถจัดทำแผนธุรกิจได้ พร้อมทั้งนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 5.กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพคณะกรรมการเครือข่ายโอทอประดับจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการเครือข่ายโอทอป เกิดพลังสร้างสรรค์ในการสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายและกลุ่มผู้ผลิตชุมชน ผู้ประกอบการโอทอป

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2554 ระหว่างเดือนมกราคม- มีนาคม 2554 จะมีการดำเนินการใน 4 กิจกรรรม ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มอาชีพด้านการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด และการจัดการทุน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพคณะกรรมการเครือข่ายโอทอประดับจังหวัด

ร.ร.สตรีภูเก็ตจัดประกวดตั้งโต๊ะไหว้เทวดา


เมื่อเช้าของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 บริเวณด้านหน้าอาคารฉลองราชกุมารี โรงเรียนสตรีภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทางโรงเรียนสตรีภูเก็ต ได้จัดให้มีการประกวดการจัดโต๊ะไหว้เทวดา เป็นการภายใน เนื่องในวันไหว้เทวดา เพื่อร่วมสืบสวนประเพณีอันเก่าแก่ของจังหวัดภูเก็ต โดยมีตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายโรงเรียนสตรีภูเก็ต จำนวน 60 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 5 คน ร่วมประกวดการจัดตั้งโต๊ะไหว้เทวดา โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ปิลวาสน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีภูเก็ต ฝ่ายบริหาร และอาจารย์โรงเรียนสตรีภูเก็ต ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติร่วมถ่ายทอดความรู้ประเพณีการไหว้เทวดาให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม

นางดวงกมล เอช ครูที่ปรึกษาชุมชนบ้าบ๋าภูเก็ต โรงเรียนสตรีภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากศูนย์สืบค้นและเผยแพร่ข้อมูลบ้าบ๋าภูเก็ต โรงเรียนสตรีภูเก็ต ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสืบสานประเพณีอันดีงาม และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชุมชนที่อยู่ใกล้โรงเรียน จึงได้จัดให้มีการประกวดจัดโต๊ะไหว้เทวดาขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนช่วยสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นภูเก็ต รวมทั้งเพื่อจะได้เกิดการเรียนรู้วิธีการและสามารถนำไปขยายผลให้กับครอบครัว ในการร่วมกิจกรรมประเพณีไหว้เทวดาของชาวจีนบ้าบ๋าภูเก็ต ในช่วงเทศกาลตรุษจีน (วันโช้ยเก้า)

“ปัจจุบันนี้วัฒนธรรมท้องถิ่นของภูเก็ตใกล้ที่จะสูญหาย ฉะนั้นหากไม่ช่วยกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีและถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับทราบวัฒนธรรมท้องถิ่นอาจจะสูญหายไปได้ จึงได้จัดตั้งศูนย์สืบค้นและเผยแพร่ข้อมูลบ้าบ๋า โรงเรียนสตรีภูเก็ตขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นของ จ.ภูเก็ต”

นางดวงกมล กล่าวว่า กิจกรรมที่ดำเนินการหลังการจัดตั้งศูนย์ฯ ได้แก่ กิจกรรมการแสดงละครความเป็นมาของคำว่า “บ้าบ๋า” เพื่อเด็กๆ และทุกคนจะได้รู้ว่าบ้าบ๋าคืออะไร โดยบ้าบ๋า หมายถึง คนภายนอกเข้ามาแล้วแต่งงานกับคนท้องถิ่นภูเก็ต กิจกรรมที่ 2 คือ กิจกรรมการตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์ การไหว้เทวดา เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนในการจัดโต๊ะไหว้ ตลอดจนสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทม.ป่าตอง เปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กศูนย์ที่ 2


เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองป่าตอง ศูนย์ 2 บริเวณถนนพระบารมี ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดใช้อาคาร ซึ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลเมืองป่าตอง เพื่อแปรนโยบายด้านการศึกษาที่ว่าการศึกษาต้องมาเป็นที่หนึ่งของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองป่าตองสู่การปฏิบัติ และเพื่อใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้เป็นช่องทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาของเด็ก เยาวชน ชาวป่าตองที่มีอายุ 3 ปี โดยมีนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า เทศบาลเมืองป่าตองมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนที่อยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองป่าตอง ในการขับเคลื่อนหน้าที่ไปสู่การปฏิบัติ โดยได้มีการรับถ่ายโอนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจากกรมการศาสนามาสังกัดเทศบาลเมืองป่าตอง และได้จัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองป่าตองศูนย์ที่ 2 ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 โดยใช้อาคารศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลเมืองป่าตองเป็นสถานที่ดำเนินการ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินธรณีสงฆ์วัดสุวรรณคีรีวงก์ เนื้อที่ประมาณ 2 งาน 13.1 ตารางวา

เมื่อเทศบาลเมืองป่าตองได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองป่าตอง ศูนย์ 2 ขึ้นแล้ว ได้เปิดดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับเด็กที่มีอายุ 3 ปี เข้ารับการศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งในระยะเวลาต่อมา คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองป่าตองได้พิจารณาเห็นว่าอาคารของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองป่าตองอยู่ในสภาพที่ชำรุด คับแคบ ไม่เหมาะสมที่จะใช้จัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กเล็ก คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองป่าตอง จึงได้มีนโยบายรื้อถอนอาคารเดิมและสร้างอาคารใหม่ขึ้นทดแทนโดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ในวงเงินจำนวน 29.4 ล้านบาท และการก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งในระหว่างการก่อสร้าง เทศบาลเมืองป่าตองได้ย้ายเด็กนักเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ไปเรียนอยู่ ณ อาคารชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังสำนักงานเทศบาลเมืองป่าตอง โดยหลังจากการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จได้เคลื่อนย้ายนักเรียนเข้าเรียนในอาคารหลังนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2553 เป็นต้นมา นายเปี่ยนกล่าว

สำหรับอาคารเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองป่าตอง ศูนย์ที่ 2 เป็นอาคาร 4 ชั้น แต่ละชั้นจะมี 4 ห้องเรียน รับนักเรียนห้องเรียนละประมาณ 21 คน ในแต่ละห้องเรียนจะมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย เรียกว่าห้องเรียนอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมีห้องเรียนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ รวมถึงห้องประชุมและห้องกิจกรรมสันทนาการด้วย

เติมความรู้เทคโนโลยีมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว



เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องสยามบอลรูม โรงแรมโนโวเทล ภูเก็ต ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายอภิชัย สกุลสุรียเดช ประธานสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “แนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเทคโนโลยีปี 2012” ซึ่งทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ นำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 200 คน

นายอภิชัย สกุลสุรียเดช ประธานสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการพบปะและให้ความรู้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากฐานลูกค้าของประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก่อนที่จะมีการเดินทาง และปัจจัยเรื่องของเทคโนโลยีก็ทำให้ตลาดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก แต่ผู้ประกอบการยังมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวค่อนข้างน้อยอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาความรู้เพื่อให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจุบันระบบของโซเซียลเน็ตเวิร์คนั้นมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย โดยเฉพาะในลักษณะของโมบาย จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจที่มีอยู่

“แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาใช้อยู่บ้างแต่ไม่มากนัก หรือมีการนำมาใช้แต่ก็ยังไม่เต็มที่ เฉลี่ยแต่ละปีจะมีการเติบโตประมาณ 20-25% จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ และตอบสนองตลาดได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างให้บริษัทเอเจนซี่ในต่างประเทศดำเนินการเหมือนกับที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในแต่ละปีรวมแล้วไม่ต่ำกว่า หมื่นล้านบาท เพราะในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีนั้นเราสามารถที่จะดำเนินการได้เอง เพราะในแง่ของค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคลากรและการบริหารจัดการต่างๆ ของบ้านเราจะถูกกว่าในยุโรปหรืออเมริกาค่อนข้างมาก”

นายอภิชัย กล่าวด้วยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวหากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบก็จะยังคงมีอัตราการเติบโตปีละประมาณ 9-10% แต่ในปีที่ผ่านมาอาจจะไม่เติบโตตามเป้าหมายดังกล่าว แม้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามานั้นจะมีจำนวนมาก แต่เมื่อมาเปรียบเทียบในเรื่องของรายได้พบว่ามีจำนวนลดน้อยลง ผลมาจากการลดราคาและลดต่ำกว่าแหล่งท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้อัตราเรื่องของราคาเพิ่มสูงขึ้น

เตรียมจัดงานสืบสานสัมพันธ์ภูเก็ต-พังงา


เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมเตรียมจัดงานสืบสานประเพณีสานสัมพันธ์ภูเก็ต – พังงา ที่บริเวณสะพานสารสิน ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมกันระหว่าง ภูเก็ต และพังงา โดยมีนายสรธรรม จินดา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต ข้าราชการ อบจ.ภูเก็ต และคณะกรรมการจัดงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลอย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ทั้งนี้นายไพบูลย์ ได้กล่าวว่า สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกันโดยมีสะพานสารสินเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ ซึ่งในอดีตมีวัฒนธรรมประเพณีการแข่งขันเรือยาวเป็นกิจกรรมร่วมกันของคนในท้องถิ่น ถือเป็นวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นอันดีงามที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งควรอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป

ดังนั้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมและสร้างความสามัคคีของคนท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ตามอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว และองค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลอย จึงได้บูรณาการแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ร่วมกันจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการสืบสานประเพณีสานสัมพันธ์ภูเก็ต-พังงา” โดยกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2554 ณ บริเวณสะพานสารสิน ฝั่งท่านุ่น จังหวัดพังงา และฝั่งท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต (ช่องปากพระ)

สำหรับกิจกรรมภายในงาน จะมีการแสดงแสงสีเสียง ม่านน้ำพุดิจิตอล การจัดนิทรรศการบริเวณเชิงสะพานทั้งสองฝั่ง การทำถนนคนเดินบนสะพานสารสิน ลานวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีกิจกรรมกีฬาทางน้ำ และกีฬาประเภทต่าง ๆ เช่น การแข่งขันเรือยาว การแข่งขันเรือพาย การแข่งขันเรือแจว การแข่งขันตกปลา การแข่งขันไตรกีฬา การแข่งขันชกมวย การแข่งขันชกมวยทะเล การแข่งขันปีนเสาน้ำมัน การจัดงานสงกรานต์ย้อนยุควิถีไทย การจัดกิจกรรมแสง สี เสียง ประวัติศาสตร์ภูเก็ต-พังงา การออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP การออกร้านอาหารพื้นเมือง 2 จังหวัด และอื่น ๆ อีกมากมาย

รวบฝรั่งค้ายาหลังถูกสาวไทยทิ้ง


เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องประชุม สภ.ฉลอง อ.เมือง ภูเก็ต พ.ต.ท.ณรงค์ ลักษณะวิมล รองผกก.ป.สภ.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต พร้อมด้วย พ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส.และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนชุดจับกุม ได้ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม นายเดวิด ซีบีช (DAVID SEEBACH) อายุ 31 สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยของกลางยาไอซ์น้ำหนัก 13 กรัม เงินสดจากการล่อซื้อ 11,000 บาท เครื่องชั่งดิจิตอล ยี่ห้อเพาเวอร์ รุ่น 2032 จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง รถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน กฉ-4257 ภูเก็ต 1 คัน จับกุมได้ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองน้ำหาดในหาน ม.1 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า มีสารเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาไอซ์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมายต่อไป เบื้องต้นให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ณรงค์ ลักษณะวิมล รองผกก.ป.ได้กล่าวว่า สำหรับการจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก พ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส. ได้รับแจ้งจากสายลับว่านายเดวิด ซีบีช มีพฤติกรรมจำหน่ายยาเสพติดให้แก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่หาดป่าตอง อ.กะทู้ และตำบลกะรน ตำบลราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต จึงได้ให้สายเข้าทำการล่อซื้อยาบ้า 2 กรัม ในราคา 11,000 บาท โดยนัดส่งยาไอซ์กันที่บริเวณสวนสาธารณะหนองน้ำหาดในหาน ม.1 ต.ราไวย์ เมื่อถึงเวลานัดหมาย นายเดวิด ซีบีช ก็ได้ขับรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวมาส่งยาห้สายลับ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าสายลับได้รับยาไอซ์ จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุมพบเงินสดล่อซื้อ 11,000 บาท และยาไอซ์ 2 กรัม จากนั้นได้ทำการขยายผลเข้าตรวจค้นที่บ้านพักของนายเดวิด ซีบีช ที่ดอนเฮ้า ม.7 ต.ราไวย์ พบยาไอซ์อีก 11 กรัม เครื่องชั่งดิจิตอล ยี่ห้อเพาเวอร์ รุ่น 2032 1 เครื่อง ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการตรวจยึดสิ่งของเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งควบคุมตัวนายเดวิด มาทำการสอบสวนเพิ่มเติม

จากการสอบสวนนายเดวิด ได้ใก้การรับสารภาพว่า ได้เดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 8 ปี โดยมีอาชีพนายหน้าค้าที่ดิน ระยะหลังถูกแฟนสาวไทยตีจาก จึงได้หันมาจำหน่ายยาไอซ์ โดยยาไอซ์ที่นำมาจำหน่ายได้ซื้อมาจากนักท่องเที่ยวคนหนึ่งไม่ทราบชื่อ สัญชาติแอฟริกาใต้ ซึ่งพักอยู่ที่ตำบลป่าตอง อ.กะทู้ ครั้งละ 20 – 30 กรัม ในราคากรัมละ 3,000 บาท แล้วมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวในพื้นที่หาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ต.กะรน และ ต.ราไวย์ จนกระทั่งถูกจับกุมตัวดังกล่าว

เริ่มแล้วงานตรุษจีน ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต


เมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 54 ที่บริเวณเวทีกลาง ภายในสวนเฉลิมพระเกียรติ์ 72 พรรษา มหาราชินี อ.เมือง ภูเก็ต นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ตรุษจีน-ย้อนอดีตเมืองเก่าภูเก็ต" ซึ่งจัดโดย เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต สมาคมเพอรานากัน ชุมชน OLD PHUKET TOWN (ย่านเมืองเก่าภูเก็ต) มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต และชาวภูเก็ต ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 10 กุมภาพันธ์ 54

ซึ่งในพิธีเปิด ทางเทศบาลนครภูเก็ต โดยนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ โดยมี นายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ ประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เทศบาลนครภูเก็ต ได้ใช้พื้นที่ประกอบด้วย สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี และพื้นที่ย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถนนถลาง ซอยรมณีย์ ถนนกระบี่ ถนนพังงา ถนนภูเก็ต และถนนเทพกระษัตรี เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูการท่องเที่ยวตลอดจนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันล้ำค่าของเมืองภูเก็ตไว้ให้ชาวภูเก็ตและผู้มาเยือนได้ชื่นชมกับมรดกทางวัฒนธรรม

โดยกิจกรรมบนเวทีหลักภายในสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ได้นำการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาแสดง และการแสดงของนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีเวที รองต่างๆ บนถนนถลาง ถนนกระบี่ ถนนพังงา กิจกรรมถนนคนเดิน การนำเสนอสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสด้วยระบบแสง และเสียง การจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นเมือง ศิลปินเปิดหมวก การแสดงบนเวที นิทรรศการ การละเล่นพื้นเมืองภูเก็ต ล่องเรือกอจ๊าน จัดทำแสตมป์ที่ระลึกย้อนยุค การสาธิตพับกระดาษทอง และนั่งรถโพถ้องสักการะศาลเจ้าในเขตเมืองภูเก็ต

ส่วนเวทีการแสดงของทางสมาคมเพอรานากัน ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน โดยเฉพาะในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 54 จะมีการแสดงของศิลปินเช่น โก้ แซกแมน, เจนนิเฟอร์ คิม, อ.ธนิต ศรีกลิ่นดี ที่จะมาบรรเลงอันไพเราะให้ได้รับฟังกัน พร้อมกันนี้ ยังมีการนำอาหารที่ชาวบาบ่าจากประเทศมาเลเซียมาจำหน่ายให้ได้รับประทานกัน นอกจากนี้ยังได้นำภาพจากช่างภาพต่างๆ ที่ได้นำภาพถ่าย "วิถีชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ต" เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล มาโชว์ให้กับผู้ที่มาเที่ยงงานได้ชมกันด้วย

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ภูเก็ตบังคับใช้ค่าโดยสารรถรับจ้างไม่เกิน 200 บาทต่อเที่ยว


เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดค่าโดยสารรถรับจ้าง เขตพื้นที่ป่าตอง ครั้งที่ 2/2554 เพื่อพิจารณาร่างประกาศอัตราค่าโดยสารรถรับจ้างในเขตพื้นที่ป่าตอง และอัตราค่าโดยสารรถรับจ้างจากป่าตองไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายศิริพัฒ พัฒกุล นายอำเภอกะทู้ นายกนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต นายชัยรัตน์ สุขบาล รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง นายมานะ พันธุ์ฉลาด สมาชิกสภาเทศบาลเมืองป่าตอง นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ประธานสหพันธ์รถบริการป่าตองสัมพันธ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะทำงานครั้งที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ให้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถรับจ้างในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองป่าตอง สำหรับผู้โดยสารไม่เกิน 4 คน สูงสุดเฉลี่ยเที่ยวละ 200 บาท หากเกิน 4 คน ให้คิดเพิ่มได้ไม่เกินคนละ 50 บาท พร้อมทั้งได้กำหนดอัตราค่าโดยสารจากพื้นที่เทศบาลเมืองป่าตองไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ตด้วย เช่น ป่าตอง-สนามบิน เที่ยวเดียว 800 บาท ไปกลับ 1,500 บาท ป่าตอง-โบ๊ทลากูน เที่ยวเดียว 550 บาท ไปกลับ 1,000 บาท ป่าตอง-อ่าวฉลอง เที่ยวเดียว 500 บาท ไปกลับ 900 บาท ป่าตอง-กะรน เที่ยวเดียว 300 บาท ไปกลับ 600 บาท ซึ่งก็จะได้ออกเป็นประกาศจังหวัด และมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง

ทางด้านนายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ถือการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่นำเสนอเข้ามานั้นมีความชัดเจนแล้ว และจะได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตลงนามและประกาศใช้ต่อไป ซึ่งก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในส่วนของการบริการมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และจะเป็นประโยชน์กับในส่วนของผู้ประกอบการเองด้วย เนื่องจากจะสามารถลดปัญหาการร้องเรียนในด้านการบริการ

นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ประธานสหพันธ์รถบริการป่าตองสัมพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนของอัตราค่าบริการที่กำหนดขึ้นนั้น เป็นการรวบรวมจากข้อมูลที่มีการปฏิบัติอยู่จริง แม้ว่าอาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ทำให้มีมาตรฐานในด้านการบริการมากขึ้น รวมทั้งยังจะเป็นการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วย แม้ว่าอาจจะมีความกังวลบ้างแต่ไม่มากนัก แต่จากจะมีบางพื้นที่ซึ่งเป็นเนินเขาและค่อนข้างห่างไกลจากชุมชนไป แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะคิวรถส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะอยู่ในย่านชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันอยู่แล้ว และสามารถที่จะพูดคุยกันได้ ซึ่งในส่วนของรถรับจ้างในพื้นที่ป่าตองทั้งรถแท็กซี่และรถตุ๊กๆ มีประมาณ 2,000 – 2,500 คัน

ดึงต่างชาติจัดทำแผนจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล


เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา นำนักวิชาการต่างประเทศ ผู้จัดทำโครงการจัดการระบบนิเวศน์ทางทะเลอ่าวเบงกอล ( BOBLME) ชี้แจงการดำเนินโครงการฯ แก่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน สนับสนุนระบบนิเวศทางทะเลในอ่าวเบงกอล ที่มีอาณาเขตครอบคลุม 8 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เมียนมาร์ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์ รวมเนื้อที่ 6.2 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 4.3 ล้านตารางกิโลเมตร รวมความยาวชายฝั่งทะเล 14,000 กิโลเมตร และมีประชากรอาศัยรอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวมกว่า 450 ล้านคน

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในอ่าวเบงกอล พบว่าทุกประเทศประสบปัญหาการทำประมงเกินศักยภาพการผลิต ปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าชายเลน และปัญหามลภาวะจากแผ่นดิน จากเรือและคราบน้ำมัน โดยมีปัจจัยมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดการองค์กรและกฎระเบียบ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก โดยปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบร่วมกันทั้งระดับโลกและระดับพรมแดน ขณะที่บางปัญหาเกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ

“โครงการจัดการระบบนิเวศน์ทางทะเลอ่าวเบงกอล ทุกประเทศสมาชิกได้เห็นพ้องที่จะมีแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จัดการทรัพยากรประมงชุมชน การทำประมงข้ามพรมแดน รวมไปถึงการเจรจาระหว่างประเทศ การทำความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งโครงการฯ นี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2552 มีแผนการทำงานระยะ 5 ปี มีโครงการย่อยทั้งหมด 16 โครงการ

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวด้วยว่า การทำโครงการดังกล่าวมีความคาดหวังให้พื้นที่ได้มีการจัดทำแผนจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อสนับสนุนโครงการฯ และแต่ละปีได้มีแผนงานสานต่ออย่างต่อเนื่อง โดยประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กระบวนการจัดการทางนโยบายในการดูแลสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงทรัพยากรชายฝั่งและระบบนิเวศน์ให้กลับมาสมบูรณ์ ขณะที่ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันมีความเข้มแข็ง ตลอดจนมีกระบวนการจัดการมารองรับปัญหาภูมิอากาศโลกร้อนด้วย

ส.ส.ภูเก็ต ขับเคลื่อนการทำงานศูนย์เสมารักษ์จังหวัดภูเก็ต


เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมหารือร่วมกับนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นางจิรนันท์ เจียมเจริญ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และคณะกรรมการศูนย์เสมารักษ์จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

ทั้งนี้ นายเรวัต ได้กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชน พบว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนของจังหวัดภูเก็ต เริ่มมีปัญหาต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เช่น การมั่วสุม ยาเสพติด การทะเลวิวาท การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น

“ตนและนายทศพร เทพบุตร ในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ มีความเป็นห่วงปัญหาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการหาสถานที่ในการจัดตั้งสำนักงานของศูนย์เสมารักษ์จังหวัดภูเก็ต เพื่อจะได้สามารถขับเคลื่อนและวางแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการจัดหางบประมาณและวัสดุอุปกรณ์มาสนับสนุนด้วย”

นายเรวัต กล่าวด้วยว่า ในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครอบครัว เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ปกครองเลี้ยงลูกด้วยเงิน ขาดการเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ความเจริญเติบโตของสังคม ตลอดจนปัญหาบุคลากรครูซึ่งมีไม่เพียงพอในการดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นปัญหาที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านนางจิรนันท์ เจียมเจริญ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดภูเก็ตพบมากที่สุด ขณะนี้คือปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยเรียน และในวัยเรียน รองลงมา คือปัญหายาเสพติด และการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

อัญเชิญองค์เจ้าแม่กวนอิมและตราประทับเจ้าแม่กวนอิม


เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ที่บริเวณศาลเจ้าปุดจ้อ ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง ภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เป็นประธานรับมอบและอัญเชิญตราประทับเจ้าแม่กวนอิม จากวัดกว๋างเต๋อ เมืองสุ้ยหนิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทางวัดสุ้ยหนิง โดยเจ้าอาวาส กว่างจื้อ ฝ่าซือ และพระซือซี เหยียน ฝ่าซือ จากวัดสุ้นหนิง ร่วมส่งมอบ พร้อมกันนี้ยังได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่กวนอิม จากศาลเจ้าปุดจ้อ มาประดิษฐานร่วมกับตราประทับเจ้าแม่กวนอิม ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ตลอดช่วงของการจัดงานตรุษจีน – ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 10 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับตราประทับเจ้าแม่กวนอิม เป็นตราประทับที่ทำจากหยกขาวบริสุทธิ์ ซึ่งทางวัดสุ้ยหนิงได้จัดทำขึ้นมาเพื่อมอบให้กับทางเทศบาลนครภูเก็ต เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงที่มีการจัดงานตรุษจีน-ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ครั้งที่ 12 ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นงานดังกล่าวแล้ว จะได้อัญเชิญตราประทับเจ้าแม่กวนอิมไปประดิษฐานที่ศาลเจ้าปุดจ้อ ให้ประชาชนได้สักการะต่อไป

นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เปิดเผยว่า การจัดงานตรุษจีน - ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต เป็นงานซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตร่วมกับชาวภูเก็ตจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มจากการเล็งเห็นว่าย่านการค้าใจกลางเมืองภูเก็ตมีอาคารตึกแถวที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นรูปแบบจีนผสมยุโรป อาคารเหล่านี้มีอายุร่วมร้อยปีแล้ว มีประวัติศาสตร์ที่ส่งผลมาถึงความมั่งคั่งของชาวภูเก็ตในปัจจุบัน อาคารเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร แต่ก็ยังมีปัญหาที่สำคัญคือ ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารเป็นแบบสมัยใหม่ มีการปิดกั้นช่องทางเดินที่เป็นลักษณะอาเขต การทรุดโทรมขาดการดูแล เทศบาลนครภูเก็ต เห็นว่าควรจะได้มีการอนุรักษ์ไว้ให้ชาวภูเก็ตและผู้มาเยือนได้ชื่นชมกับมรดาทางวัฒนธรรม

ในส่วนของกิจกรรมหลัก ๆ ภายในงาน ประกอบด้วย การประกวดภาพถ่าย “วิถีชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล กิจกรรมถนนคนเดิน การนำเสนอสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสด้วยระบบแสงและเสียง การจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นเมือง ศิลปินเปิดหมวก การแสดงบนเวที นิทรรศการ การละเล่นพื้นเมืองภูเก็ต ล่องเรือกอจ๊าน จัดทำแสตมป์ที่ระลึกย้อนยุค การสาธิตพับกระดาษทอง และนั่งรถโพถ้องสักการะศาลเจ้าในเขตเมืองภูเก็ต การแสดงศิลปวัฒนธรรมจาก มณฑล ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มาแสดง ณ เวทีหลัก และในวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายของการจัดงาน ตรงกับวันไหว้เทวดา ซึ่งเป็นประเพณีอันเก่าแก่ของชาวภูเก็ต เทศบาลฯได้จัดให้มีพิธีไหว้เทวดาขึ้นในเวลา 22.30-24.00 น. ที่บริเวณด้านหน้ารูปปั้นพญามังกร (ฮ่ายเหล็งอ๋อง) ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองภูเก็ต และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต และครอบครัวในการต้อนรับปีใหม่จีน รวมทั้งร่วมกันส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่นให้คงไว้สืบไป


วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ถนนสายคลองเกาะผีรออนุมัติครม.


เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมเตรียมการดำเนินการโครงการก่อสร้างถนนสายหลักด้านใต้ (PH-RB-3A) หรือถนนคลองเกาะผี โดยมีนายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจากทางหลวงชนบท ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคมนาคมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน เกี่ยวกับการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการถนนสายหลักทางด้านใต้ (PH-RB-3A) ส่วนถนนยกระดับ (ระยะทางประมาณ 600 เมตร) ตามโครงการพัฒนาเมืองหลัก รอบที่ 2 ระยะแรกของเทศบาลนครภูเก็ต แลการเตรียมรายงานนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาการเตรียมขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีใช้พื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งจะมีการประชุมของคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เมื่อแล้วเสร็จก็จะได้เสนอเรื่องให้กับกระทรวงมหาดไทยนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะเดียวกันให้ทางเทศบาลนครภูเก็ตเตรียมข้อมูลประกอบการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติต่อกรมป่าไม้ เช่น มติให้ความเห็นชอบของสภาเทศบาลตำบลวิชิต มติให้ความเห็นชอบของเทศบาลนครภูเก็ต เป็นต้น เพื่อส่งให้กับทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต สำหรับเสนอต่อขออนุญาตใช้พื้นที่หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว

ในส่วนของการออกแบบรายละเอียดและงบประมาณก่อสร้าง มอบหมายให้ทางหลวงชนบทจังหวัดภูเก็ตดำเนินการ ซึ่งได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของกรมทางหลวงชนบทจะตั้งงบประมาณสำหรับการศึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างจำนวนประมาณ 5-10 ล้านบาท ได้ในปี 2555 แต่หากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคมนี้ ก็อาจจะใช้งบเหลือจ่ายในปีงบประมาณ 2554 ส่วนของงบประมาณในการก่อสร้างจะใช้ประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างสะพานคู่ขนานระยะทาง 500 เมตร (รวม 1,000 เมตร) ยกสูงจากพื้นประมาณ 3 เมตรพร้อมทางจักรยานและจุดกลับรถ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในปี 2555 หรือ 2556

ทั้งนี้นายตรี กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณจะพยายามหางบประมาณเหลือจ่ายเพื่อใช้สำหรับการศึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ในทันภายในปี 2554 เพื่อให้สามารถตั้งงบประมาณก่อสร้างได้ภายในปีงบประมาณ 2555