จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ต้อนรับคณะ Universiti Teknologi MARA
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธี สรรพานิช รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต ให้การต้อนรับ Prof. Dr. Abdullah Mohamad Said, Duputy Vice-Chancellor (Student Affairs), Universiti Teknologi MARA พร้อมคณะ ซึ่งเดินทางมาเยือนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือสร้างความกระชับมิตรกับมหาวิทยาลัย พร้อมนี้ ผู้บริหารและบุคลากรทั้งสองมหาวิทยาลัยได้ร่วมแข่งขันกีฬากระชับมิตร 3 ประเภทด้วยกัน คือ การแข่งขันแบดมินตัน ฟุตบอล และเปตอง ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและส่งเสริมสุขภาพอีกด้วย

อบจ.ภูเก็ตปฐมนิเทศครูโรงเรียนในสังกัด



เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องจามจุรี 1 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานและมอบนโยบายโครงการปฐมนิเทศครูโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหาแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนสังกัด อบจ.ภูเก็ต รวมทั้งเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ พนักงานข้าราชการ ตลอดจนครู คศ.1 ครูผู้ช่วย ครูช่วยสอนและพนักงานจ้างตามภารกิจโรงเรียนในสังกัด อบจ.ภูเก็ต เข้าร่วมประมาณ 160 คน
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจาก อบจ.ภูเก็ต ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจัดการศึกษา ซึ่งปัจจุบันรับถ่ายโอนโรงเรียนจำนวน 4 โรงเรียน และได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ 1 โรงเรียน รวมมีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 5 โรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.ภูเก็ตได้ให้ความสำคัญในด้านการจัดการศึกษาเป็นอย่างมาก ได้พัฒนาโรงเรียนในสังกัดทุกๆ ด้าน ทั้งทางด้านกายภาพและคุณภาพ ภายใต้นโยบายด้านการจัดการศึกษาที่จะมุ่งเน้นสู่สังคมความรู้อย่างมีคุณภาพ โดยสมาชิกในสังคมต้องคิดเป็น คิดชอบ ทำเป็น ทำชอบ และแก้ปัญหาเป็น แก้ปัญหาชอบ และต้องรู้อย่างมีคุณภาพ อยู่ดีมีสุข ในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตามนายไพบูลย์ กล่าวว่า อยากเน้นย้ำและฝากคุณครูได้นำเรื่องคุณธรรมจริยธรรม การทำความดีและความสำเร็จที่ดีๆ ไปสอนให้กับเด็กนักเรียน เพื่อเด็กจะได้จำในเรื่องของการทำความดีต่างๆ และนำไปประพฤติปฏิบัติ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ครูโรงเรียนในสังกัด อบจ.ภูเก็ตได้มาร่วมรับฟังแนวทาง ความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนโรงเรียนในสังกัด อบจ.ภูเก็ตให้เป็นคนดีควบคู่กับคนเก่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองน่าอยู่ คู่คุณธรรมต่อไป
พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกครูท่านมั่นใจว่า อบจ.ภูเก็ต ซึ่งอาสารับใช้พี่น้องประชาชน จะนำ อบจ.ภูเก็ต เป็นองค์กรแห่งความก้าวหน้า และเป็นตัวอย่างของประเทศไทย โดย อบจ.ภูเก็ต ได้เน้นนโยบายการพัฒนาบุคลากรครู และมุ่งเน้นการแก้ปัญหาครูขาดแคลน ซึ่งได้มีการเพิ่มครูอัตราจ้างในทุกพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต นอกจากนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าในปีนี้ มีโครงการอบรมบุคลาครูจำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต จึงขอให้คุณครูทุกท่านได้มีขวัญกำลังใจ และมีความภูมิใจในความเป็นครู หวังว่าในการอบรมครั้งนี้ คุณครูจะได้รับความรู้อย่างมากมาย และนำสิ่งดีๆ ไปปฏิบัติและสั่งสอนให้แก่นักเรียน






ภูเก็ตเจริญพระพุทธมนต์เพื่อสิริมงคลของประเทศ
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 54 ที่ศาลาวิชิตธรรมสภา วัดวิชิตสังฆาราม(วัดควน) อ.เมือง ภูเก็ต พระครูปริยัตยานุยุต (แนบ จิตตกาโร) เจ้าอาวาสวัดวิชิตสังฆาราม เป็นประธานมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตตภาวนาเพื่อความเป็นสิริมงคลของแผ่นดิน ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์
นอกจากนี้ยังมีพล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายฉัฏฐ์ปวิชญ์ จินาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ตภูเก็ต นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนภูเก็ต ร่วมในพิธี
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้กำหนดจัดโครงการเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตตภาวนาเพื่อความเป็นสิริมงคลของแผ่นดิน เนื่องจากเห็นว่าจากการที่ประเทศไทยต้องประสบอุทกภัยในหลายจังหวัด ทำให้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ที่ประสบอุทกภัย จึงเห็นว่าควรมีการเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนชาวไทย รวมทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล และสันติสุขของประเทศด้วย
โดยพิธีดังกล่าว มีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 54 เวลา 09.09น.พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนกลางจัดที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในเขตกรุงเทพรวม 184 รูป เข้าร่วมพิธีนี้ ขณะที่ในส่วนภูมิภาค ได้ให้แต่ละจังหวัดได้จัดขึ้น 





ทน.ภูเก็ตจัดทำแผนชุมชนในเขตเทศบาล



เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 54 ที่ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้เป็นประธาน เปิดโครงการจัดทำแผนชุมชน ซึ่งทางกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อบอรมให้ความรู้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในการจัดทำแผนชุมชน พร้อมทั้งจัดเวทีประชาคมเพื่อจัดทำ ปรับปรุง ทบทวนแผนชุมชน โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ พนักงาน ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการชุมชน 18 ชุมชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ตเข้าร่วมประมาณ 220 คน
นางสาวสมใจ กล่าวว่า คณะผู้บริหารเทศบาลนครภูเก็ต ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำแผนชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะการจัดทำแผนชุมชนนั้น เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ยังคงให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาคมที่มุ่งให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
โดยมีเป้าหมายการพัฒนาชุมชนและการแก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้นเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมการชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานระดับชุมชนที่ใกล้ชิดกับประชาชน จึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการจัดทำแผนชุมชน เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
“การจัดทำแผนชุมชนนั้นเป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดทำแผนชุมชนและพัฒนาคุณภาพแผนชุมชน สำหรับเป็นรากฐานและแนวทางการพัฒนาภายใต้กระบวนการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย”
นางสาวสมใจ กล่าวด้วยว่า การจัดทำแผนชุมชนเป็นกิจกรรมพัฒนาที่เกิดขึ้นจากคนในชุมชนที่มีการรวมตัวกันเพื่อจัดทำแผนขึ้นมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเองให้เป็นไปตามความต้องการและสามารถแก้ปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกันได้ โดยคนในชุมชนได้เขามามีส่วนร่วมกัน คิด ร่วมกำหนดแนวทาง และกิจกรรมการพัฒนาของชุมชน โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพิงภายนอก ด้วยการคำนึงถึงศักยภาพ ทรัพยากร ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นหลัก
ทั้งนี้การจัดทำแผนชุมชน ยังจะทำให้สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดทำแผนชุมชน พร้อมทั้งสะท้อนปัญหา ความต้องการของชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลนครภูเก็ตในการแก้ไขปัญหา ความต้องการของประชาชนในชุมชนได้อย่างแท้จริง นางสาวสมใจกล่าว
 


ตร.ฉลองรวบเครือข่ายยาเสพติดในพื้นที่



เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 54 ที่ห้องประชุมสภ.ฉลอง อ.เมือง ภูเก็ต พ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส.สภ.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต พร้อมด้วย ด.ต.เสถียร แก้วพูล ด.ต.ประยูร สุวรรณรัตน์ ด.ต.บุญเลิศ เผือกผ่อง ด.ต.ชัยวัฒน์ จันทร์น้อย ส.ต.อ.กฤษฎิ์ สุวรรณภาค ส.ต.อ.สมบูรณ์ สาสุธรรม ส.ต.ท.ธนะวัฒน์ บัวแก้ว ส.ต.ท.อรุณ กิมเซียะ ส.ต.ท.ภมรพงษ์ ยังชู ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนายสมเกียรติ เนื้อนุ้ย อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89/1 ม.6 ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ พร้อมด้วยของกลางยาบ้า 150 เม็ด ยาไอซ์ 7.50 กรัม โดยจับกุมได้ที่บริเวณหน้าแคมป์คนงานก่อสร้างภายในซอยนากก ม.5 ต.ฉลอง ต่อเนื่องบ้านเลขที่ 17/13 ซอยข้างร้านอาหารบอนไซ ม.4 ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต และนายอานนท์ ภิรมย์ อายุ 21 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87 ม.1 ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา พร้อมด้วยของกลางยาไอซ์น้ำหนัก 6.50 กรัม โดยจับกุมได้ที่บริเวณริมถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ม.4 ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต จึงนำตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาบ้า-ยาไอซ์ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายต่อไป
สำหรับการจับกุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสภ.ฉลอง นำโดย พ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส.ได้ออกหาข่าวเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่ จนกระทั่งทราบว่านายสมเกียรติ มีพฤติกรรมจำหน่ายยาเสพติดให้แก่วัยรุ่นและคนงานก่อสร้างบริเวณซอยนากก ม.5 ต.ฉลอง จึงได้ตรวจสอบตามแค้มป์คนงานต่างๆ จนกระทั่งพบนายสมเกียรติ ยืนอยู่หน้าแค้มป์คนงานในซอยดังกล่าว เมื่อนายสมเกียรติ เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีท่าทางพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเพื่อตรวจค้นพบยาบ้า 150 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋ากางเกงที่สวมใส่อยู่ เจ้าหน้าหน้าที่จึงนำตัวตรวจค้นที่บ้านพักเลขที่ 17/13 ซอยข้างร้านอาหารบอนไซ ม.4 ต.ฉลอง พบยาไอซ์ 7.50 กรัม ซุกซ่อนอยู่ที่ราวแขวนผ้าในห้อง ทางเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวมาทำการสอบสวนเพิ่มเติม พร้อมทั้งขยายผลจับกุมนายอานนท์ ภิรมย์ อายุ 21 ปี ได้ที่บริเวณถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ม.4 ต.ฉลอง พร้อมด้วยของกลางยาไอซ์ 6.50 กรัม โดยทั้งหมดให้การรับสารภาพว่าได้จำหน่ายยาเสพติดในพื้นที่ตำบลฉลองจริง เพื่อนำเงินมาเที่ยวเตร่ จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวได้ดังกล่าว


วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เร่งหางบบริหารจัดการด่านตรวจภูเก็ต



เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุม 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารด่านตรวจภูเก็ตเพื่อพิจารณาปัญหา อุปสรรค ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ด่านตรวจภูเก็ตให้มีประสิทธิภาพ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ อำเภอถลาง ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สถานีตำรวจท่าฉัตรไชย องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น
นายประเจียด กล่าวว่า ตามที่ได้มีการก่อสร้างอาคารด่านตรวจภูเก็ตขึ้นที่บริเวณที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข ภก 153 บ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการควบคุมดูแลป้องกันอาชญากรรม และภัยต่อความมั่นคงในทุกรูปแบบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและบูรณาการสรรพกำลังทุกภาคส่วนในการดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยได้มอบหมายอาคารให้ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตเข้าไปใช้ประโยชน์ทางราชการตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารด่านตรวจภูเก็ต นั้น แต่ที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการ เนื่องจากขาดงบประมาณ จึงต้องมาหารือและแนวทางการแก้ปัญหา ทั้งการบำรุงรักษาอาคารและระบบสาธารณูปโภค การสนธิกำลังในการตรวจตราป้องกันอาชญากรรม การติดตั้งป้ายโฆษณาในบริเวณพื้นที่ด่านตรวจ ตลอดจนการกำหนดรูปแบบการจัดระเบียบร้านค้าเพื่ออำนวยความสะดวกและบริการประชาชน
พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ลิ้มเจริญ ผกก.สภ.ท่าฉัตรไชย กล่าว ว่า ปัญหาในเรื่องของการดูแลบำรุงรักษาอาคารและระบบสาธารณูปโภค เช่น ห้องสุขาชำรุด พื้นผิวจราจรชำรุด ความสะอาด ไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ เพราะ สภ.ท่าฉัตรไชยจะได้งบประมาณปีละประมาณ 5 ล้านบาท ในการดูแลพื้นที่เขตความรับผิดชอบ สภ.ท่าฉัตรไชยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงด่านตรวจภูเก็ตด้วย ส่วนของความไม่เป็นระเบียบของป้ายโฆษณาต่างๆ นั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีหน่วยงานที่ต้องการจะติดตั้งป้ายเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นเน้นในส่วนของการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งหากมีการกำหนดระเบียบที่ชัดเจนก็จะทำให้สามารบริหารจัดการได้ดีขึ้น

อสส.จับมือ ธกส.ให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชน



เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. บ้านกู้กู หมู่ที่ 3 ต.รัษฏา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงาน เขต 8 เป็นประธานเปิดโครงการอบรม เผยแพร่ความรู้กฏหมายแก่ชุมชน โดยมีนายสมิทธิ์ วิพุธภูมิ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.จังหวัดภูเก็ต และผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 100 คน
นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงาน เขต 8 กล่าวว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ร่วมธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความไม่รู้กฎหมาย ไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของกฎหมายหรือการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั้งสองหน่วยงานได้จัดทำบันทึกความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เกษตรและชุมชนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และน้อมรำลึกในมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554
อีกทั้งเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ตอบข้อหาทางกฎหมายและการจัดทำนิติกรรมสัญญา รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการระงับข้อพิพาทและทางอรรถคดีแก่เกษตรกรและชุมชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเปิดศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริต้นแบบ ธกส. ใน 84 ศูนย์ 85 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ และรับเรื่องราวแก้ปัญหาทางกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
ขณะที่นายสมิทธิ์ วิพุธภูมิ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.ภูเก็ต กล่าวว่า เหตุที่ได้มีการดำริให้มีการเผยแพร่กฎหมายแก่เกษตรกรและชุมชนนั้น เนื่องจากได้เล็งเห็นว่าเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคม ทั้งๆที่เป็นผู้มีบุญคุณอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ เนื่องจากเกษตรกรไม่รู้ ไม่เข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเนื่องจากมีการศึกษาน้อย ดังนั้นการที่สองหน่วยงานมีการร่วมมือในการอบรมเผยแพร่ความรู้กฎหมายแก่ชุมชนก็จะทำให้เกษตรกรและชาวบ้านมีความรู้ และสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนที่ไม่ดีในสังคม จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนทั้งตนเองและครอบครัว สังคม และประเทศชาติ และในกรณีที่มีข้อพิพาทก็สามารถทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จะได้ลดปัญหาความขัดแย้ง และสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติ สงบสุข
หากมีปัญหาถูกฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา สามารถขอคำปรึกษาหารือและขอคำแนะนำได้หรือมีปัญหาในการนิติกรรมสัญญาต่างๆ หรือจะขอความช่วยเหลือในเรื่องอรรถคดีบางอย่าง เช่น การร้องขอให้เป็นสาบสูญ การร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เป็นต้น โดยประชาชนสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต โดยท่านเพียงเสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลเท่านั้น ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าทนาย เป็นต้น นอกจากนี้ประชาชนที่เป็นเกษตรกรลูกค้า ธกส.ที่มีหนี้ค้างชาระมาหลายปีโดยไม่ติดต่อกับธนาคาร ก็มีโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยกันเช่น และช่วยหาทางออกในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และลดดอกเบี้ย และลูกค้าที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วม ก็จะได้รับการยกหนี้ เพื่อไม่ได้เป็นภาระแก่ลูกหลานในอนาคตด้วยนายสมิทธิ์กล่าว 



ส่งมอบEM Ball 100,000 ลูกให้กองทัพภาคที่ 4



เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางสมบูรณ์ศรี โกยศิริพงษ์ นายกสมาคมสตรีอาสารักษาดินแดนจังหวัดภูเก็ต (สอ.รด.) และสมาชิก สอ.รด.ภูเก็ต ส่งมอบลูกจุลินทรีย์ หรือ EM Ball จำนวน 100,000 ลูกให้กับพลตรีชาญประดิษฐ์ แสงนิล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 เพื่อส่งมอบต่อไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯและภาคกลาง พร้อมทั้งมอบเรือท้องแบนจำนวน 3 ลำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 41 ด้วย
นางสมบูรณ์ศรี กล่าวว่า หลังจากที่เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ทางสมาคมฯได้ร่วมกับโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ปั้นลูกจุลินทรีย์ หรือ EM Ball จำนวน 100,000 ลูก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนสามารถปั้น EM Ball ครบตามเป้าหมายที่กำหนด จึงได้ทำการส่งมอบให้ทางกองทัพภาคที่ 4 เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯต่อไปภายใต้โครงการรวมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ในส่วน สมาคมฯ ได้ดำเนินโครงการรวมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้ EM Ball ฟื้นฟูแหล่งน้ำในจังหวัดภูเก็ตมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 และมีศูนย์การเรียนรู้อยู่ที่บ้านพรุเตย ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ปัจจุบันสมาคมฯ ได้จัดโครงการอยู่ที่คลองท่ามะพร้าว หมู่ที่ 10 ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ซึ่งประสบผลเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง นางสมบูรณ์ศรีกล่าว



ผู้ว่านำกำลังรื้อเต็นท์บนหาดกะรนรอบสอง



เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 54 ที่บริเวณหน้าหาดกะรน นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยพล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายวิโรจน์ สุวรรณวงศ์ ป้องกันจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.กฤตภาส เดชอินทรศร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรฉลอง และนายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีตำบลกะรน นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอเมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรฉลอง และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลกะรน ประมาณ 50 นาย เข้าทำการรื้อเต็นท์ผ้าใบจำนวนประมาณ 2 – 3 หลัง ซึ่งมีการติดตั้งเพื่อใช้เป็นที่ปรุงอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายบนชายหาดกะรนหน้าโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตามนโยบายจัดระเบียบชายหาดของจังหวัดภูเก็ต หลังจากเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ทางชุดปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ตได้สนธิกำลังจากภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าวทำการรื้อถอนเพิงขายอาหาร พื้นที่ปรุงอาหารและห้องสุขา ลักษณะเป็นอาคารถาวรและเต็นท์จำนวน 10 หลัง ในพื้นที่บริเวณเดียวกันไปแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่มาตรา 122
นายตรี กล่าวภายหลังการนำกำลังไปรื้อถอนเต็นท์ดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาทางจังหวัดได้นำชุดเฉพาะกิจเข้าไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบริเวณพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว 1 ครั้ง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการบุกรุกสร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น เพิงปรุงอาหาร ห้องสุขา เป็นต้น บนชายหาด ทำให้ชายหาดขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รกรุงรัง แต่ปรากฏว่ายังคงได้รับการร้องเรียนอีกว่า ยังมีผู้นำเต็นท์ผ้าใบไปติดตั้งใหม่อีกประมาณ 2-3 หลังในพื้นที่เดิม จึงได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ลงไปทำการรื้อถอน และหลังจากนี้ก็จะได้ดำเนินการจัดระเบียบชายหาดตามนโยบายของจังหวัดต่อไป
“หลังจากนี้ก็จะได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อมาดูแลเรื่องการจัดระเบียบชายหาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเกิดขึ้นใหม่อีก ส่วนกรณีของชาวบ้านที่มีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพอยู่บริเวณชายหาด เช่น นวดชายหาด เป็นต้น ก็จะได้มีการประชุมหารือเพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพต่อไป”
นายตรี กล่าวด้วยว่า การดำเนินการของทางจังหวัดนั้นไม่ได้ดำเนินการเฉพาะชายหาดใดชายหาดหนึ่ง แต่จะเข้าไปดำเนินการในทุกชายหาดที่มีปัญหา แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เบื้องต้นเริ่มด้วยการชี้แจงทำความเข้าใจ แต่หากยังไม่ปฏิบัติตามก็จำเป็นที่จะต้องว่ากันตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากภูเก็ตเราขายความเป็นธรรมชาติโดยเฉพาะหาดทรายชายทะเล
ด้านนายสุวิทย์ พงษ์กฐิน อายุ 44 ปี เจ้าของร้านค้าริมชายหาดที่ถูกรื้อถอน กล่าวว่า ตนและพี่น้องตระกูล “พงษ์กฐิน” ได้เข้ามาทำมาขายของให้แก่นักท่องเที่ยวตั้งแต่ปีพ.ศ.2504 ซึ่งขณะนี้บิดาของตนเป็นคนขาย จากนั้นบิดาของตนได้เสียชีวิตลง ตนก็ได้เข้ามาขายต่อไป จนถึงปัจจุบันนี้กว่า 33 ปี ซึ่งในอดีตตำบลกะรน ยังไม่ได้เป็กนแหล่งท่องเที่ยวเหมือนทุกวันนี้ มีเพียงบังกะโลเล็กๆ 3 แห่ง เท่านั้น ถนนหนทางที่จะไปตำบลป่าตอง ก็ต้องเดินเลาะไปทางชายหาด ไม่มีถนนเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้การท่องเที่ยวของหาดกะรนบูม มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก ธุรกิจโรงแรมก็เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการท่องเที่ยว จนกระทั่งปี 2550 โรงแรมเซ็นท่าร่า แกรนด์บีช รีสอร์ท ต.กะรน มาก่อสร้าง ก็อ้างว่าร้านค้าของตนบดบังทัศนีย์ภาพหน้าหาด
และเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เข้ามาจู่โจมรื้อร้านค้าของตนออกไป โดยไม่มีการเจรจราและไม่มีการพูดคุยกับตนแต่อย่างใด ตนพยายามที่จะขอความยุติธรรม ขอเหตุผล แต่เจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่ยอมพูด ได้แต่ตั้งหน้าตั้งตารื้อ ซึ่งตนก็ได้แจ้งความไว้ที่สภ.ฉลอง ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ แต่ขณะนี้เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า
“ตนไม่รู้จะไปพึ่งใคร เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมารังแกประชาชนเสียเอง” หน่วยงานในจังหวัดภูเก็ตเป็นอัมพาตหมดทุกหน่วยงาน แม้กระทั่งพ่อเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชน เปรียบเหมือนเป็นพ่อของคนในจังหวัด กลับมารังแกประชาชนเสียเอง เป็นคนสั่งการบัญชาการรื้อเองทั้งหมด แบบนี้ตนจะไปพึ่งใคร ตนจะไปทำมาหากินอะไร ตนไม่มีความรู้เรียนจบเพียงชั้น ป.3 ใครจะรับผิดชอบหาอาชีพให้ตนทำ หากมาคุยกันดีๆ ไม่ใช่ใช้วิธีป่าเถื่อนแบบนี้มารังแกชาวบ้าน เพื่อสนองความต้องการของนายทุน หากมาพูดคุยหาทางออก ย้ายพวกตนขายตรงอื่นและจ่ายค่าชดเชยมา ตนก็ยอมนี่ไม่เคยมีใครมาคุย
นายสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนร้านครั้งแรก ตนก็ลงทุนด้วยเงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่เพียง 40,000 บาท ซื้อเก้าอี้ –เต็น-โต๊ะ-ถังใส่น้ำแข็ง มาวางขายที่เดิม ซึ่งตนจะวางขายเฉพาะหน้าไฮซีซั่นในช่วงนี้เท่านั้น ร้านค้าที่สร้างก็ไม่มีสภาพที่ถาวร รื้อออกได้ทุกเวลา กลับถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กินภาษีประชาชน เข้ามารื้อทำลายอีก ตนไม่รู้จะสู้รบกับหน่วยงานของรัฐได้อย่างไร และไม่เคยคิดแม้แต่เป็นศัตรูกับภาครัฐ ตนขอเพียงแต่ความยุติธรรม อยากถามว่าความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้มีบ้างหรือเปล่าหรือกฎหมายมีไว้รังแกคนจน แม้แต่นายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกะรน เป็นคนที่ชาวบ้านเลือกมา ก็ไม่ยอมยืนข้างชาวบ้าน ยังเข้าข้างนายทุน ยังบอกว่าหากสร้างอีกเขาก็มารื้ออีก ตนคิดว่า “ความยุติธรรมมันหายากยิ่งกว่าทองเสียอีก ตนคิดว่าการรังแกแบบนี้มันเลวร้ายกว่าคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเสียอีก เพราะสึนามิถล่มแล้วจากนั้นยังมีความสดใสในวันต่อไป




ทัพเรือภาคที่ 3 จัดพิธีบวงสรวงในวันกองทัพเรือ




เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 54 ที่กองบัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 3 หมู่ที่ 8 ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พลเรือโท ธราธร ขจิตสุวรรณ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็นประธานในพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ และพิธีประกาศเกียรติคุณ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาผู้ทรงสถิตสถาพรอยู่ในใจของทหารเรือไทย และประชาชนชาวไทย เนื่องในวันกองทัพเรือ โดยมีข้าราชการทหารในสังกัดกว่า 260 คน เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว
ต่อจากนั้น พลเรือโท ธราธร ขจิตสุวรรณ พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัดร่วมกัน ร้องเพลงพระราชทาน ดาบของชาติ เดินหน้า และดอกประดู่ เพื่อถวายสักการะแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และรับฟังสารจาก พลเรือเอก สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือ
นอกจากนี้ทางทัพเรือภาคที่ 3 ยังได้จัดกิจกรรม พร้อมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ พัฒนา ปรับปรุงพื้นที่บริเวณพลับพลาที่ประทับ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ บริเวณสวนสาธารณะสะพานหินภูเก็ตด้วย
ทั้งนี้ กองทัพเรือไทย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน หากย้อนไปในสมัยโบราณที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มมีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก เมื่อครั้งเริ่มแรกตั้งกรมทหารเรือนั้น กิจการทหารเรือบางประเภทยังขาดบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ จำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อาทิ ผู้บังคับการเรือ และผู้บัญชาการป้อมต่างๆ
ต่อ มาในปี พ.ศ.2443 เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับได้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทาน พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2443 เป็นต้นมา กับได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน ความว่า วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ.125 เรา จุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า ทางราชการทหารเรือ จึงได้ถือเอาวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน