จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

คณะสาวงาม Miss Slovakia มาเก็บตัวที่ภูเก็ต


เมื่อวันที่ 14 มกราคม 54 ที่บริเวณหาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ภูเก็ต คณะสาวงามผู้เข้าประกวด Miss Slovakia ที่ได้เดินทางมาเก็บตัวและทำกิจกรรมในจังหวัดภูเก็ต ได้แบ่งชุดจำนวน 6 คน เดินทางมาถ่ายทำ วีทีอาร์ เพื่อนำไปฉายในการประกวด Miss Slovakia ในรอบตัดสิน โดยผู้เข้าประกวดทั้ง 6 คน อยู่ในชุดว่ายน้ำ ได้เดินเล่นน้ำทะเล พร้อมทั้งนั่ง บานาน่าโบ๊ท โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน

ทั้งนี้สำหรับการเดินทางมาเก็บตัวและทำกิจกรรมของคณะสาวงามผู้เข้าประกวด Miss Slovakia ที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ ด้วยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้รับการประสานจากกองการประกวด เพื่อที่จะนำผู้เข้าประกวดมาทำกิจกรรมและเก็บตัวในประเทศไทยในระหว่างวันที่ 6 – 21 มกราคม 54 และเดินทางมามาจังหวัดภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 11 – 21 มกราคม 2554

สำหรับกิจกรรมคณะผู้เข้ารอบสุดท้ายของการประกวด Miss Slovakia ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 12 คน จะเดินทางไปเก็บภาพและทำกิจกรรมตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่มีศักยภาพ ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา อาทิเช่น การทำกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำที่หาดป่าตอง เช่น พาราเซล, ดำน้ำ และบานาน่าโบ๊ท เป็นต้น, เที่ยวชมความงดงามของอ่าวพังงา, ศึกษาวิถีชีวิตชุมชนที่เกาะยาว, เดินชมความงามและเก็บภาพที่ย่านตึกชิโนโปรตุกีสเมืองเก่าภูเก็ต

ด้านนางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า การเดินทางมาเก็บตัวของ Miss Slovakia ที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในประเทศสโลวาเกีย นอกจากนี้ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดภูเก็ตในแง่ของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกเลือกในการใช้เก็บตัวการประกวดสาวงามจากนานาประเทศ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อีกทั้งยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตได้ต้อนรับคณะการประกวดนางงามจากหลากหลายประเทศ เช่น Miss Belgium, Miss Poland และ Miss France เป็นต้น

เพื่อไทยเดินสายประกาศความพร้อมรับเลือกตั้ง


เมื่อวันที่ 14 มกราคม 53 ที่ห้องประชุมร้านอาหารกันเอง 1 อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายพิเชษฐ สถิรชวาล รองประธานคณะกรรมการภาคใต้ พรรคเพื่อไทย กล่าวในโอกาสเดินทางมาประชุมร่วมกับคณะกรรมการพรรคเพื่อไทยในฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง ระนอง) เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดภายในปีนี้ทั้งเรื่องของการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรค และการคัดสรรรายชื่อผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่า เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การเมืองของเรามีความไม่แน่นอนด้วยปัจจัยที่เป็นสิ่งบอกเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงปัญหาอื่นๆ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา แม้ว่าวาวะของสภาฯ จะหมดในเดือนธันวาคมก็ตาม

“ภาพรวมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างความชัดค่อนข้างมากสำหรับรายชื่อของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีการกำหนดไว้ได้เกินกว่าครึ่งแล้ว และคาดว่าจะสามารถคัดสรร รวมทั้งการประกาศรายชื่อทั้งหมดได้ไม่เกินเดือนมีนาคมนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความพร้อมเต็มที่แล้ว ส่วนที่เหลือทั้งจังหวัดฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย อยู่ระหว่างการคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม ซึ่งในบางจังหวัดมีการเสนอรายชื่อเข้ามาค่อนข้างมากทั้งคนเก่าและคนใหม่”

นายพิเชษฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดอันดามันซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตนนั้น การคัดเลือกผู้สมัครได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเกือบทั้งหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นกระบี่ พังงา ระนอง และตรัง โดยแต่ละจังหวัดก็มีความชัดเจนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 เขต ยกเว้นจังหวัดภูเก็ตเนื่องจากมีผู้สนใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก จึงจะต้องมีการพิจารณากันเป็นพิเศษ เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ดังนั้นผู้ที่จะลงสมัครก็จะต้องมีความรู้ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวควบคู่กันไปด้วย เพราะนโยบายที่จะนำเสนอกับพี่น้องประชาชนนั้นจะเน้นการให้ภูเก็ตเป็นเมืองพิเศษ ซึ่งอาจจะมีการทำให้เป็นเมืองปลอดภาษี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องเชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียงได้ด้วย และคงจะปล่อยให้ภูเก็ตเติบโตเพียงลำพังไม่ได้จะต้องกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตามนายพิเชษฐ ยังกล่าวแสดงความมั่นใจด้วยว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้พื้นที่ภาคใต้ทางพรรคเพื่อไทยจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถที่จะระบุจำนวนได้ เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าประชาชนยังพอใจนโยบายที่มีการดำเนินการมาในอดีต และนโยบายใหม่ๆ ที่จะเป็นการสานต่อ ดังนั้นการจะวัดความศรัทธาของประชาชนที่สำคัญ คือ การจัดการเลือกตั้ง


ตร.เมืองภูเก็ตพร้อมชุดฉก.ผวจ.รวบผู้ค้า ผู้เสพ ได้ผู้ต้องหา 18 ราย


เมื่อวันที่ 14 มกราคม 54 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สภ.เมือง ภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงษ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต, พ.ต.อ.โกมล วัตรากรณ์ รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.อ.วันไชย เอกพรพิชญ์ ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติด ตามแผนปฎิบัติการปิดล้อมตรวจค้นตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย

นายนิมิตร แซ่ข้อ อายุ 25 ปี พร้อมของกลาง ยาไอซ์ น้ำหนัก 2.74 กรัม ยาบ้า 21 เม็ด โทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครือง เครื่องชั่งดิจิตอล จำนวน 1 เครื่อง

นายเดชณรงค์ สังข์แก้ว อายุ 26 ปี พร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 14 เม็ด

และจากการตรวจค้นบ้านเลขที่ 5/246 ซ.ยุพยงค์อุทิศ 4 ถ.เจ้าฟ้าตะวันตก ต.ตลาดเหนือ ตามหมายค้นที่ 34/2554 พบบุคคลในบ้านดังนี้
นางสาวหนิง ( พม่า ) 30 ปี นำมาตรวจหาสารเสพติดพบปัสสาวะมีผลบวก
นางสาวปิยะพร บุญสะโต อายุ 30 ปี พบปัสสาวะมีผลบวก
นางสาวพิสุทธิศรี หวังสม อายุ 32 ปี พบปัสสาวะมีผลบวก
นางสาวศิริพร ขันวงษ์ 20 ปี พบปัสสาวะมีผลบวก

นอกจากนี้ชุดเฉพาะกิจของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตยังจับกุมผู้ต้องหา ดังนี้

นายรชานนท์ ถิรวิริยาภรณ์ 23 ปี, นายสุธี กลิ่นเมฆ พร้อมด้วยของกลาง ยาไอซ์ 0.6 กรัม ยาบ้า 1 เม็ด

นายนำโชค มาทอง 26 ปี ของกลาง ยาบ้า 30 เม็ด

นายณัฐพงส์ แซ่ตัน 28 ปี, นายเจตนิพิฐ ณ ระนอง 28 ปี, นายจิรายุท สกุลชิต อายุ 17 ปี, น.ส.นงราม รินดา 28 ปี, น.ส.ศศิประภา วิสูทธิ 25 ปี พร้อมด้วยของกลาง ยาไอซ์ 74.2 กรัม, ยาบ้า 70 เม็ด

นายราชิก สุไมยรา 17 ปี, นายสิริวัฒน์ คีชัยยะ อายุ 28 ปี, นายจิรวัฒน์ เสรีถวัลย์ อายุ 34 ปี พบปัสสาวะมีผลบวก

นายรุ่งแสง สุขกาย 24 ปี, นายอรรถพล ทองขาว 27 ปี, นายภัทรชรินทร์ คงทน 27 ปี

ทูตเวียดนามหารือความร่วมมือการท่องเที่ยว การค้า กับภูเก็ต


เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554 ที่ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต นายกรณ์ สุวรรณาศรัย หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางฯ จังหวัดภูเก็ต นายภูริต มาศวงศ์ศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนจากสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา การทำงาน ปัญหาแรงงาน และความร่วมมือระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กับนายโง ดึ๊ก ทั๋ง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะ ซึ่งมีชมรมคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตร่วมด้วย

โดยนายโง ดึ๊ก ทั๋ง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยกับสาธารณรัฐสังคมเวียดนามมีความสัมพันธ์ร่วมมือที่ดีต่อกัน ซึ่งการเดินทางมาหารือร่วมกับทางจังหวัดภูเก็ตนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นจุดขายสำคัญของเวียดนาม และประเทศไทย รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อต้อนรับการเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนในปี 2015 นี้ ดังนั้นประเทศสมาชิกซึ่งรวมทั้งไทยและเวียดนามมีสิ่งที่ต้องทำร่วมกันมากมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกการเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้อยากเห็นความร่วมมือทางด้านการศึกษาโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภาษาระหว่างกันและกัน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกและดูแลด้านแรงงานเวียดนามที่เข้ามาทำงานที่ภูเก็ต โดยเฉพาะที่หาดป่าตอง เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทำสัญญาข้อตกลงด้านการนำเข้าแรงงานมาทำงาน

อย่างไรก็ตามนายโง ดึ๊ก ทั๋ง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ที่ภูเก็ตมีชุมชนไทยเชื้อสายเวียดนามที่ป่าตอง ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการผลักดันเพื่อให้เกิดการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและอื่นๆ ระหว่างกันในอนาคต โดยอาจจะเริ่มต้นจากการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาเวียดนาม เพื่อจะได้มีการติดต่อกันสะดวกมากยิ่งขึ้น

ขณะที่นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า รัฐบาลไทยและจังหวัดภูเก็ตได้ให้การดูแลคนทุกชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพในภูเก็ตอย่างเสมอภาคกัน หากชุมชนคนไทยเชื้อสายเวียดนามต้องการให้จังหวัดเข้าไปช่วยเหลือด้านใด ก็ขอให้ทำเรื่องเสนอเข้ามายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีของแรงงานหากเข้าเมืองมาอย่างถูกต้องก็สามารถที่จะออกใบอนุญาตทำงานให้ได้เช่นกัน และไม่น่าจะเป็นปัญหา ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวจะต้องมีการพัฒนาร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะการเดินทางไปมาระหว่างกันซึ่งยังไม่สะดวก


วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ทน.ภูเก็ตเตรียมจัดงาน ตรุษจีน-ย้อนอดีตภูเก็ต


เมื่อวันที่ 12 มกราคม 54 ที่บริเวณย่านเมืองเก่า ซ.รมณีย์ ถนนกลาง อ.เมือง จ.ภูเก็ต น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต นายแพทย์โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน ผศ.ปราณี สกุลพิพัฒน์ อุปนายกสมาคมเพอรานากัน นางยินดี มโนสุนทร ประธานชุมชน OLD PHUKET TOWN (ย่านเมืองเก่าภูเก็ต) ได้ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงาน "งานตรุษจีน-ย้อนอดีตเมืองเก่าภูเก็ต ครั้งที่ 12" ซึ่งจัดโดยเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต สมาคมเพอรานากัน ชุมชน OLD PHUKET TOWN (ย่านเมืองเก่าภูเก็ต) มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต และชาวภูเก็ตร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ด้วยทางเทศบาลนครภูเก็ตได้เล็งเห็นว่าย่านการค้าใจกลางเมืองภูเก็ตมีอาคารตึกแถวที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นรูปแบบจีนผสมยุโรป อาคารเหล่านี้มีอายุร่วมร้อยปีแล้ว มีประวัติศาสตร์ที่ส่งผลมาถึงความมั่งคั่งของชาวภูเก็ตในปัจจุบัน อาคารเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร แต่ก็ยังมีปัญหาที่สำคัญคือได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปอาคารเป็นแบบสมัยใหม่ ควรค่าในการอนุรักษ์ไว้ให้ชาวภูเก็ตและผู้มาเยือนได้ชื่นชมกับมรดกทางวัฒนธรรม

สำหรับงานจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 10 ก.พ.2554 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี และพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถนนถลาง ซอยรมณีย์ ถนนกระบี่ ถนนพังงา และถนนเทพกระษัตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูการท่องเที่ยวตลอดจนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันล้ำค่าของเมืองภูเก็ตไว้ให้ชาวภูเก็ตและผู้มาเยือนได้ชื่นชมกับมรดกทางวัฒนธรรม

โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประกวดภาพถ่าย "วิถีชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ต" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล กิจกรรมถนนคนเดิน การนำเสนอสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสด้วยระบบแสง และเสียง การจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นเมือง ศิลปินเปิดหมวก การแสดงบนเวที นิทรรศการ การละเล่นพื้นเมืองภูเก็ต ล่องเรือกอจ๊าน จัดทำแสตมป์ที่ระลึกย้อนยุค การสาธิตพับกระดาษทอง และนั่งรถโพถ้องสักการะศาลเจ้าในเขตเมืองภูเก็ต

นอกจากนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ได้นำการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากมณฑล ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มาแสดง ณ เวทีหลัก ให้พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมฟรีตลอด 3 วันของการจัดงาน


ทัพนักกีฬา“เวสสุวัณเกมส์” ภูเก็ต รับโอวาทนายก อบจ.


เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีให้โอวาทแก่นักกีฬาและมอบธงให้แก่ผู้นำทีมนักกีฬา เข้าร่วมแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ครั้งที่ 28 ประจำปี 2553 “เวสสุวัณเกมส์” โดยแข่งขันในระหว่างวันที่ 21-30 มกราคม 2554 ณ จังหวัดอุดรธานี

สำหรับการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 28 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดความรักความสามัคคี และมีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ได้มีนักกีฬาโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภาคใต้ “เมืองทุ่งสงเกมส์” ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ เซปักตะกร้อชาย-หญิง เปตองหญิง และกรีฑาชาย เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมดจำนวน 27 คน และเจ้าหน้าที่จำนวนประมาณ 19 คน

นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนักกีฬาทุกคนที่ได้เป็นตัวแทนจังหวัดภูเก็ต ในการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย ขอให้ทุกคนตั้งใจฝึกซ้อม มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของจังหวัดภูเก็ตให้ดีที่สุด ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการแข่งขัน และขอขอบคุณผู้นำทีม และคณะอาจารย์ ที่เอาใจใส่ทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จก้าวสู่ระดับประเทศต่อไป


รับรางวัลไปแล้วสำหรับบ้านกาชาด ประจำปี 2554‏


เมื่อวันที่ 12 มกราคม 54 ที่ผ่านมา ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางนลินี อัครเดชา นายกเหล่ากาชาด จังหวัดภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ และนายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายศิริพัฒ พัฒกุล นายอำเภอกะทู้ นายจุฑา ดุมลักษณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา นายไพฑูรย์ เลิศไกร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และสมาชิกเหล่ากาชาด จังหวัดภูเก็ต ร่วมมอบรางวัลที่ 1 บ้านทาวน์เฮาส์พร้อมโฉนดที่ดินมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ให้แก่นายอธิพล วงษ์มหา ผู้จัดการ เดอะบลู มารีน รีสอร์ท แอนด์สปา ผู้โชคดีจากการออกรางวัลสลากกาชาด งานเทศกาลของดีภูเก็ตและงานกาชาดจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2554

ทั้งนี้นายอธิพล ได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ สำหรับการซื้อสลากในครั้งนี้ ด้วยทางเทศบาลเมืองป่าตอง ได้นำสลากกาชาดมาขายที่ทำงาน จึงได้ซื้อมา 1 ใบ ซึ่งที่ได้เป็นเลขตรงกับเลขทะเบียนรถ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ จนกระทั่งวันจันทร์ที่ผ่านมา 10 ม.ค. 54 มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลฯ ได้โทรมาว่าได้รับบ้านฯ รางวัลที่ 1 ตอนแรกไม่เชื่อนึกว่าแกล้งกัน แต่สุดท้ายก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง บ้านที่ได้นี้คาดว่าจะเข้าไปอยู่เอง ก็ขอขอบคุณทางจังหวัดที่ได้จัดงานดีๆ แบบนี้ขึ้นมา

ด้านนายตรี กล่าวว่า ต้องการให้ประชาชนได้มีโอกาสได้รับรางวัลมากขึ้น ไม่นึกว่าพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ตจะให้ความสนใจมาก ส่วนในปีหน้าจะพิจารณาดูอีกทีหนึ่ง ในขณะเดียวกันรางวัลที่ทางสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดได้มานั้น รางวัลทุกรางวัลออกทั้งหมด ทั้งนี้ทางจังหวัด จัดงาน เทศกาลของดีภูเก็ตและงานกาชาดจังหวัดภูเก็ต 1 ปี เพียงครั้งเดียว ทางจังหวัดจึงต้องจัดอย่างเต็มที่และยิ่งใหญ่ขึ้นทุกๆ ปี พร้อมมอบความสุข สนุกสนานให้แก่ประชาชนชาวภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงาน สำหรับรายได้ในปีนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการสรุปทั้งหมดและแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรายได้นั้นคาดว่าไม่น้อยกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน

ด้านนางนิลินี กล่าวว่า 2 – 3 วันที่ผ่านมาผู้โชคดีได้มารับรางวัลที่สำนักงานกาชาดจังหวัดภูเก็ตเกือบทุกรายการ อาทิ รถยนต์กระบะตอนเดียว จักรยานยนต์ โทรทัศน์สี LCD 32 นิ้วตู้เย็น 6 คิว เป็นต้น เหลือเพียงบางส่วน ที่ไม่ได้ติดต่อมยังสำนักงานกาชาดจังหวัดภูเก็ต สำหรับในครั้งนี้มีการมอบบ้านให้แก่นายอธิพล วงษ์มหา ผู้โชคดีในปีนี้ ส่วนปีนี้รายได้เกินคาด เท่าที่รวบรวมดูอยู่ที่ 2 ล้าน 8 แสน กว่าบาท ส่วนรางวัลทุกรางวัลออกหมด สำหรับรถจักรยานยนต์นั้นออกเป็นประจำทุกคืน อย่างไรก็ตามเงื่อนไขในการรับรางวัลในครั้งนี้ ผู้ที่ถือสลากเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์รับรางวัลโดยสามารถติดต่อรับรางวัลได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ที่สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต หากพ้นกำหนดถือว่าบริจาคสิ่งของรางวัลให้กับสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต และสามารถตรวจผลการออกสลากกาชาดได้ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต โทรศัพท์ 076-211766 ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตและที่ ที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต โดยผู้ที่ถูกรางวัลที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ตเสนอ 16 ชายหาด รับการประเมินหาดติดดาว


เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โครงการชายหาดติดดาว ปี 2554 ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต ส่วนแหล่งน้ำ สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ การปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว โดยมีคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เข้าร่วม เช่น นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต นายองอาจ ชนะชาญมงคล ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิสุทธิ์ หัวหน้าเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต ตัวแทนอุทยานแห่งชาติสิรินาถ หาดในยาง หอการค้าจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น

นางสาวจุฑามาศ รัตติกาลสุขะ รักษาการผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำทะเล กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินโครงการประเมินดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว หรือโครงการชายหาดติดดาวมาตั้งแต่ปี 2545 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบ่งชี้ระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาด และสนับสนุนข้อมูลในการแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่พบ และในปี 2551 ได้ปรับรูปแบบการดำเนินงานที่เน้นความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการประเมินและแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดในพื้นที่ โดยเน้นการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐในส่วนกลางและท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี จนทำให้ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ดำเนินการล่าสุด มีชายหาดที่ได้รับการติดดาว จำนวน 229 แห่ง

“สำหรับในปี 2554 จึงมีเป้าหมายในการดำเนินการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดที่เคยเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 230 แห่ง เพื่อติดตามผลการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยลักษณะการดำเนินงาน ยังคงการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลางที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาชายหาด นอกจากนี้ยังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน นักท่องเที่ยว และสถานประกอบการในพื้นที่ โดยใช้ผลจากการประเมินเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ให้ภาคีเหล่านี้ให้ความร่วมมือในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดในพื้นที่ของตนเองอีกทางหนึ่ง”


ห่วงการท่องเที่ยวภูเก็ตเหตุจากปัจจัยลบหลายด้าน



นายแพทย์จิระชัย อมรไพโรจน์ นายกสมาคมโรงแรมหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าตอง ว่า ขณะนี้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของฤดูการท่องเที่ยวหรือไฮซีซันก็ตาม แต่อัตราการจองห้องพักยังถือว่าน้อย โดยอยู่ที่ประมาณ 60 – 70% หายไปประมาณ 20% จากปกติในช่วงไฮซีซันจะอยู่ที่ประมาณ 80 – 90% ส่วนช่วงหน้าโลว์ซีซั่นที่จะถึงกลางปีนี้ (ประมาณเดือนพฤษภาคม) คาดว่าสถานการณ์ยิ่งไม่น่าจะดี เพราะยังมีปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น รวมไปถึงหากการเมืองภายในประเทศไม่นิ่ง อาจจะส่งผลให้การท่องเที่ยวในปีนี้ไม่ดีเท่าใดนัก แม้ว่าจะมีตลาดใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตามนายกสมาคมโรงแรมหาดป่าตอง ยังแสดงความเป็นห่วงถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่หาดป่าตอง ว่า ในปีนี้มีการเพิ่มจำนวนห้องพักมากขึ้นประมาณ 1,000 ห้อง ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันด้านราคาและการเข้าพักที่ลดน้อยลงไปด้วย นอกจากนี้การเพิ่มของจำนวนนักท่องเที่ยวจะไปกระทบกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำทะเล ชายหาด และการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่สูง ที่จะมาทำลายทัศนียภาพทางการท่องเที่ยว ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องควรจะคำนึงถึงเรื่องนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าตองมีความยั่งยืนตลอดไป

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

พม.ภูเก็ตแก้ปัญหาสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม


เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554 ที่ห้องประชุมมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีเปิดเวทีประชาคมระดับจังหวัด เพื่อกำหนดประเด็นปัญหาสังคม สู่แนวทางการแก้ไข โดยมี นางสาวพรรณี สิทธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นางสาวพรรณี กล่าวว่า การจัดเวทีประชาคมระดับจังหวัด ในการกำหนดประเด็นปัญหาสังคมในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาสังคมของจังหวัดภูเก็ต และแนวทางการแก้ไขปัญหา มุ่งขับเคลื่อนงานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ตามโครงการกระจายกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมสู่ภูมิภาคท้องถิ่น โดยการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสังคม คุณภาพชีวิต และโครงการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม ส่วนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ประกอบด้วยการแบ่งกลุ่มรับฟังความคิดเห็นต่อปัญหาสังคมหลักของจังหวัด ซึ่งต้องเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการลุกลามขยายตัวก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข้อย่างเร่งด่วน และปัญหาดังกล่าวต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัด พร้อมทั้งการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจัดระดับความสำคัญ ทั้งนี้จะได้นำประเด็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วน 1 ประเด็น ตามที่เวทีเสนอไปกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไข โดยการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนส่งเสริมจัดสวัสดิการสังคม ตามโครงการกระจายเงินกองทุนสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น โดยนำประเด็นปัญหาดังกล่าวมา ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสังคม คุณภาพชีวิต และ การเฝ้าระวังเตือนภัยทางด้านสังคม

ด้านนายสมเกียรติ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีปัญหาสังคมหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ ปัญหาเด็กและเยาวชน, ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวเปราะบาง, ปัญหาความอ่อนแอของชุมชนและสังคม, ปัญหาเศรษฐกิจ, ปัญหาค่านิยม, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาการบุกรุกสถานที่สาธารณะ และปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้พลังทางสังคมและชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาสังคมของจังหวัดนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่หรือปัญหาที่ได้พบเห็นนำมาเสนอต่อเวทีสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน สำหรับการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ต่อปัญหาสังคมของจังหวัด เพื่อการคัดเลือกประเด็นปัญหาหลักของจังหวัด โดยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นรูปธรรม ที่ชัดเจนต่อไป

ภูเก็ตเข้มจัดระเบียบสังคมตามนโยบายของรัฐบาล


เมื่อวันที่ 11 มกราคม 54 ที่ห้องประชุมศาลางกลางจังหวัดภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการรั้วชุมชนจังหวัดภูเก็ต โดยมี พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สำหรับการประชุมในครั้งนี้มีเรื่องเพื่อพิจารณา ในเรื่องแนวทางการกำหนดเป้าหมาย ปี 2554 ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต โดยดำเนินการตามโครงการจัดระเบียบสังคมปี 2554 เป้าหมายสถานบริการ/สถานบันเทิง 150 แห่ง เป้าหมายสถานประกอบการใกล้สถานศึกษา 50 แห่ง เป้าหมายร้านเกมส์/อินเตอร์เน็ต 50 แห่ง เป้าหมายหอพัก/ที่พักเชิงพาณิชย์ 50 แห่ง เป้าหมายร้านค้าแอบแฝงที่จำหน่ายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย 50 แห่ง เป้าหมายพื้นที่เชิงบวก/กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ 100 แห่ง ศตส.จว.ภก.สนับสนุนงบประมาณ 150,000 บาท

นายวีระวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเพสติดจังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ตามปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็งชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 3 (พ.ย.53 - ก.ย.54) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ผู้ค้า ผู้เสพ ผู้ติด ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมถึงการสร้างกลไกเฝ้าระวังในสถานประกอบการ แหล่งมั่วสุม ในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

จึงได้จัดทำโครงการจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือดำเนินการอย่างเข้มแข็งร่วมกันสอดส่องดูแล และสร้างกระแสให้สังคมเห็นผลเสียที่ผู้ประกอบการฝ่าฝืนกฎหมาย และการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด โดยเน้นขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2553 พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย อำนาจหน้าที่เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป้าหมายบูรณาการร่วม และให้หน่วยงานเจ้าภาพหลักแต่ละกิจกรรมรายงานผลการดำเนินการให้ฝ่ายเลขานุการ (ที่ทำการปกครองจังหวัดภูเก็ต กลุ่มงานความมั่นคง) ทราบในทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไป

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

แรงงานจังหวัดพัฒนาทักษะฝีมือนวดแผนไทย


เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 ที่โรงเรียนการนวดไทยภูเก็ต นายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ แรงงานจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแก่ผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ หลักสูตรการนวดไทยด้วยน้ำมันหอม 60 ชั่วโมง โดยมีผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นนี้จำนวน 16 คน

ทั้งนี้นายสุทธิพงศ์ แรงงานจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า ด้วยสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต ตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบอาชีพให้บริการนวดแผนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ อาชีพบริการสุขภาพ ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแก่ผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพด้านนี้ โดยหลักสูตรเสริมความรู้สำหรับผู้ให้บริการนวดไทยด้วยน้ำมันหอม ระยะเวลาการฝึกอบรมจำนวน 60 ชั่วโมง เป็นการฝึกอบรมแบบให้เปล่าและจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นตอบแทนให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว โดยมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการนวดให้มีความรู้ความสามารถปฏิบัติการนวดในขั้นใช้การได้จริงตามหลักการของศาสตร์และศิลปะการนวด มีทักษะการนวดโดยเฉพาะการนวดไทยที่สามารถให้บริการนวดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

โดยผู้เข้ารับการอบรม จะเป็นผู้ประกอบอาชีพให้บริการนวด หรือผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้างและไม่มีรายได้ จำนวน 64 คน แบ่งเป็น 4 รุ่นๆ ละ 16 คน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป วุฒิการศึกษาสามัญ อ่านออก เขียนได้ สุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อาจแพร่เชื้อโรคต่อผู้อื่น อยู่ในระหว่างประกอบอาชีพนวด โดยทำหนังสือรับรองตนเอง เป็นผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน หรือผู้ประสบความเดือดร้อนด้านอาชีพ ที่มีผู้รับรอง

นายสุทธิพงศ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแก่ผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 กระทรวงแรงงานได้จัดสรรงบประมาณ ให้จังหวัดภูเก็ต 1 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการระดับจังหวัดได้อนุมัติให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการต่อไปแล้ว สำหรับผู้ที่ประสบความเดือดร้อนด้านอาชีพ มีความประสงค์ที่จะเข้ารับการฝึกในรุ่นต่อไป สามารถสมัครได้ที่ สำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต โทร 076-354035

กำชับ กอ.รมน.อย่าละเลยหน้าที่


เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุม 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมกำลังพล กอ.รมน.จว.ภก.เพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติ ตามภารกิจและซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติงานของกลุ่มงานต่างๆ ประกอบด้วย งานอำนวยการและบริหารงานบุคคล งานยุทธศาสตร์ความมั่นคง งานข่าว งานปฏิบัติการด้านความมั่นคง และงานกิจกรรมมวลชน โดยมีส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โอกาสเดียวกันนี้ยังได้ยังได้มอบเงินช่วยเหลือในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการและมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ และได้รับเงินช่วยเหลือฯ รายละ 225,000 บาท จำนวน 4 รายด้วย

นายตรี กล่าวว่า ขอให้คณะกรรมการฯ แต่ละฝ่ายที่ได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ให้ถือปฏิบัติภารกิจหน้าที่และบทบาทตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้เกิดผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการมีส่วนร่วมในการปกป้องสถาบันซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล แม้ว่าภูเก็ตอาจจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ในปีงบประมาณที่ผ่านมาการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ยังไม่เต็มที่ ดังนั้นหวังในปีงบประมาณ 2554 จะมีการปฏิบัติที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามนายตรี ยังกล่าวด้วยว่า จากการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตพบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และจากการจัดทำแผนของทางฝ่ายการข่าวพบว่าปัญหาที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคง ประกอบด้วย ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกที่ดินของรัฐ การสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ การบุกรุกป่าชายเลน เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมทั้งอำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้และอำเภอถลาง ปัญหายาเสพติด ซึ่งมีการแพร่ระบาดเบาบางถึงปานกลาง แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่หมดไป เนื่องจากความเป็นเมืองท่องเที่ยว ประกอบกับในระยะนี้ได้มีการเข้มงวดในเรื่องของการตรวจสถานบันเทิงซึ่งยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะภูเก็ตได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งในการแก้ปัญหาหากกำลังของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่เพียงพอก็พร้อมที่จะขอสนับสนุนกำลังจากนอกพื้นที่มาร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ปัญหาหลบหนีศุลกากร ปัญหาความแตกแยกในสังคม ตลอดจนการปลูกจิตสำนึกในการร่วมกันปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งจะต้องดึงมวลชนที่มีอยู่ให้เข้ามามีส่วนร่วม นายตรีกล่าว

ประชุมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 6 จังหวัดอันดามัน


เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาเครือข่ายผู้เสียโอกาสคนจนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการปฎิรูป กรณี กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยมีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล จาก 6 จังหวัดอันดามัน เข้าร่วมประมาณ 100 คน เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มชาติพันธ์ชาวเลอย่างมีระบบมากขึ้น จัดทำข้อมูลและประเด็นปัญหาที่เป็นปัจจุบันนำไปสู่การวางแผนและการทำงานเพื่อพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล รวมถึงการเรียนรู้สถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างในประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

นายสนิท แซ่ซั่ว กรรมการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า หลังเกิดอุบัติภัยสึนามิทำให้กลุ่มพี่น้องชาวเลเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในขณะเดียวกันปัญหาที่มีอยู่ดั้งเดิมและปัญหาใหม่ๆ ก็ยังคงรุมเร้าและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาการร้องเรียนเรื่องที่ดินอยู่อาศัย การทำกินในทะเล รวมถึงวิถีชีวิต จึงได้มีการรวมตัวกันจัดทำข้อมูล ประสานหน่วยงานราชการทนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา กระทั่งล่าสุดได้มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การผ่อนปรนเรื่องการประกอบอาชีพอาชีพ โดยใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมในพื้นที่เกาะแก่งที่เคยทำกิน การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติสำหรับชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน การส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนหลักสูตรท้องถิ่น การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งการให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล

อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมาชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก อ.เมือง จ.ภูเก็ต จำนวน 17 คน ได้ออกทำการประมงในทะเลอันดามัน โดยนำสัตว์น้ำที่จับได้ไปขึ้นที่ท่าเรือชั่วคราวหาดยาว หมู่ที่ 6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ทำการจับกุมพร้อมยึดเรือและของกลาง ประกอบด้วย หอยหน้ายักษ์หรือหอยสังข์หนาม หอยสังข์แดง ถือว่าเป็นการจับกุมที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากสัตว์น้ำที่ชาวเลจับได้มิได้เป็นการจับสัตว์น้ำในเขตอุทยาน รวมถึงหอยทั้งสองชนิดที่ถูกยึดเป็นของกลางก็มิได้เป็นสัตว์สงวนต้องห้ามแต่อย่างใด ล่าสุดคดีนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและมีการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำสั่งพนักงานอัยการว่ามีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่อย่างไร จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เห็นชัดว่า มติ ครม.เป็นเพียงลายลักษณ์อักษรทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐเองมิได้นำพานำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง นายสนิท กล่าว

ขณะที่นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป กล่าวว่า ชุมชนชาวเลกระจายอยู่ใน 6 จังหวัดอันดามัน จำนวนกว่า 30 ชุมชน ยังคงประสบปัญหาทั้งด้านความไม่มั่งคงในที่อยู่อาศัย เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ปัญหาที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยาน เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และถูกเอกชนกำหนดเขตท่องเที่ยว ปัญหาสุสานและสถานที่ประกอบพิธีกรรมถูกรุกรานจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และอื่นๆ เนื่องจากชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักความสงบ มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีความรู้และมักถูกเอาเปรียบ จึงเป็นกลุ่มที่เปราะบาง หากไม่มีการปกป้องจากสังคมอาจมีโอกาสสูญเสียความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่อันดามันได้