จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลักลอบจับปลาสวยงามเริ่มมีความถี่ขึ้น

นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ( จ.ภูเก็ต) กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ว่า มีการลักลอบจับปลาสวยงามให้กับนายทุนเพื่อส่งไปจำหน่ายในกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาด ซึ่งล่าสุดได้มีการจับผู้กระทำผิด 2 ราย พร้อมด้วยของกลางเป็นปลาสวยงามจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการสอบสวนทราบว่าได้ถูกว่าจ้างจากนายทุนรายใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตให้ลักลอบจำปลาสวยงามเพื่อนำไปจำหน่ายที่กรุงเทพมหานคร

“พื้นที่ที่มีการลักลอบจับปลาสวยงามมีอยู่บริเวณโดยรอบเกาะภูเก็ต โดยเฉพาะบริเวณเกาะแอล – ต.วิชิต เกาะโหลน - เกาะบอน - เกาะราชาน้อย-ใหญ่ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดที่มีปริมาณปลาสวยงามเป็นจำนวนมาก ส่วนการจับกุมผู้กระทำความผิดขณะนี้ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากผู้กระทำความผิดมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจับปลาสวยงาม เพื่อป้องกันการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จากในอดีตที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดเมื่อจับปลาสวยงามได้ก็จะจับใส่ถุงพลาสติกและวางไว้บนเรือ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมก็จะได้ของกลางจำนวนมาก แต่ปัจจุบันผู้กระทำความผิดเปลี่ยนวิธีมาเป็นการจับใส่ถังแทน เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนกวดขันจับกุม ก็จะเทปลาสวยงามทิ้งลงทะเลทันที แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ท้อโดยจะเข้มงวดกวดขันในการจับกุมอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายไพทูลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า การจับกุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ฯ ร่วมกับทางตำรวจน้ำ กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ จับกุมผู้ลักลอบจับปลาสวยงามได้ที่บริเวณใกล้กับเกาะราชาใหญ่หมู่ที่ 3 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต หลังได้รับแจ้งจากเครือข่ายอาสาสมัครว่ามีผู้ลักลอบจับปลาทะเลสวยงาม ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวท่าเทียบเรือไทยซาโก้-อ่าวมะขาม แต่เมื่อทางเจ้าหน้าที่ไปถึงบริเวณดังกล่าวปรากฏว่าคนร้ายได้แล่นเรืออกไปแล้ว จึงติดตามไปและสามารถจับกุมได้บริเวณใกล้กับเกาะราชาใหญ่ดังกล่าว โดยมีผู้ต้องหา 2 คน คือนายบุญเทียม บางจาก อายุ 58 ปี กับนายวิจิตร มีศิลป์ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 137/1 บ้านไทยใหม่ ม. 2 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต พร้อมยึดของกลางเรือหัวโทง ขนาด 14 ตัวกง 1 ลำ กับปลาสวยงาม 18 ตัว และได้ส่งดำเนินคดีในข้อหาลักลอบจับปลาสวยงาม ตามประกาศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมปี 2553


คณะจากรัฐเกด้า ดูงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ภูเก็ต


เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2553 ที่ห้องประชุมหลังใหม่ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายสรธรรม จินดา รองนายก อบจ.ภูเก็ต คณะสมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ ได้ให้การต้อนรับ พณฯ Dato Haji Ahmad Zaini Bin Japar Presiden MAYC Veteran Negeri Kedah พร้อมคณะจากรัฐเกด้า ประเทศมาเลเซีย จำนวน 45 คน เข้าร่วมฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการของ อบจ.ภูเก็ต ตลอดจนศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ต

นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกอบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า รัฐเกด้า ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของมาเลเซีย ที่มีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยวคล้ายกับภูเก็ต ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำทางด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย การมาเยือนครั้งนี้ จึงเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและรัฐเกด้า สนับสนุนความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีพี่น้องมุสลิมจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ได้จัดทำโครงการต่างๆ ร่วมกับ อบจ.ภูเก็ต พร้อมทั้งผลักดันเรื่องกิจกรรมด้านศาสนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ตได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านสังคมและกิจกรรมอิสลามเป็นอย่างดี

ทางด้าน พณฯ Dato Haji Ahmad Zaini Bin Japar Presiden MAYC Veteran Negeri Kedah กล่าวว่า “การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเลเซียและไทยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ทางด้านศาสนาและสังคม ที่มีความเชื่อมโยงกันดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ ซึ่งในอดีตเกาะภูเก็ต และรัฐเกด้า มีความใกล้ชิดกันมาก แต่หลังจากนั้นความสัมพันธ์ค่อยๆ ห่างไกลกัน และนับจากนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เชื่อมความสัมพันธ์กันอีกครั้ง”

ด้านนายสรธรรม จินดา รองนายกอบจ.ภูเก็ต ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า วิถีชาวมุสลิมภูเก็ตคล้ายคลึงกันกับวิถีชาวมลายูที่รัฐเกด้าอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต ได้เคยไปเยือนรัฐเกด้าแล้ว และหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะไปเยี่ยมเยียนรัฐเกด้าอีกครั้ง


พช.เมืองภูเก็ตติวเข้ม อช./ผู้นำ อช.ตำบลวิชิต

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 53 ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ) หมู่ 2 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นาย กรีฑา แซ่ตัน นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรม/สัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแก่ อช./ผู้นำ อช.ตำบลวิชิต และขยายเครือข่ายอาสาพัฒนาตำบลวิชิต ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองภูเก็ต โดยอาสาพัฒนาชุมชน(อช.)ตำบลวิชิต จัดขึ้น โดยมีผู้นำ อช. และอช.ตำบลวิชิต จำนวน 36 รายเข้าร่วม และมีวิทยากรจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ) ให้ความรู้เกี่ยวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหายาเสพติด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน เช่น นายสุเทพ เอนกธรรมพินิจ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เป็นต้น

นางอุษา สุขประเสริฐ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนตำบลวิชิต กล่าวว่า การจัดทำโครงการฯ เพื่อให้ อช.ผู้นำ อช.ร่วมกันทบทวนบทบาท หน้าที่ที่ได้ปฏิบัติงานร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแผนและกำหนดแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำมาเป็นแนวทางให้กับเครือข่ายอาสาพัฒนาชุมชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมใหม่ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานของอาสาพัฒนาชุมชน และขยายเครือข่ายอาสาพัฒนาชุมชนให้ชุมชนเกิดการยอมรับในการปฏิบัติงานของ อช./ผู้นำอช. รวมทั้งมอบบัตรประจำตัว อช.และผู้นำ อช.เพื่อแสดงตนในขณะที่ปฏิบัติงาน

ทางด้านนายกรีฑา แซ่ตัน นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต กล่าวว่า ผลจากการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างสม่ำเสมอของ อช.ตำบลวิชิต ที่ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจด้วยจิตอาสา เพื่อเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบลให้เกิดความเข้มแข็ง จึงส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของทีมแบบมีส่วนร่วม มีอุดมการณ์ร่วมกัน มีความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ไปในทิศทางเดียวกันที่จะพัฒนาหมู่บ้านชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป


วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พบสาเหตุหลักเต่าทะเลเสียชีวิตมาจากปัญหาเศษอวน

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวว่า จากกรณีชาวบ้านพบซากของเต่ามะเฟืองถูกคลื่นซัดลอยมาเกยตื้นบริเวณชายหาดบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ตเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นเต่าเพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี น้ำหนัก 300 – 400 กิโลกรัม ความยาวลำตัวประมาณ 2 เมตร คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อไปตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง

“เต่ามะเฟืองเพศผู้ถือว่าเป็นเต่าที่หายากที่สุด เพราะที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเพศเมียซึ่งขึ้นมาวางไข่ การสูญเสียเต่ามะเฟืองเพศผู้ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเต่ามะเฟืองที่เสียชีวิตดังกล่าวน่าว่ายน้ำเข้าฝั่งมาหาเต่าตัวเมียเพื่อทำการผสมพันธุ์ และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของเต่ามะเฟืองด้วย เนื่องจากระยะนี้เป็นฤดูของการผสมพันธุ์ของเต่าทะเล และเต่ามะเฟืองก้เป็นเต่าอีกประเภทหนึ่งที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปทุกที”

นายก้องเกียรติ กล่าวด้วยว่า เพื่อลดการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก รวมทั้งเต่ามะเฟืองด้วย จึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง ในการช่วยกันอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยไม่ทิ้งเศษอวน ถุงพลาสติกและวัสดุต่างๆ ที่ย่อยสลายยากลงไปในทะเล เนื่องจากวัสดุประเภทถุงพลาสติกนั้นเต่าทะเล คิดว่าเป็นแพงกะพรุนจึงกินเข้าไป แล้วก่อให้เกิดปัญหาระบบภายในและส่งผลให้เต่าทะเลตายได้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าเต่าทะเลเสียชีวิตจากการกินถุงพลาสติกสูงถึง 5% ส่วนเศษอวนน่าเป็นห่วงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอวนลอยหรืออวนลาก เพราะเป็นเครื่องมือการทำประมงที่ส่งผลกระทบต่อเต่าทะเลมาก ที่สุด และเป็นสาเหตุหลักถึง 60% ที่ทำให้เต่าทะเลได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมกันดูแลอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามนายก้องเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจังแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ การใช้กฎหมายคุ้มครองเต่าทะเล ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอเพื่อขอขยายเขตคุ้มครองเต่าทะเลระหว่างการผสมพันธุ์และวางไข่ จากเดิมมีการคุ้มครองในระยะ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่จะขอขยายออกไปเป็น 6 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เพราะจากการศึกษาวงจรชีวิตของเต่าทะเลโดยการติดสัญญาณดาวเทียม พบว่าเมื่อถึงช่วงฤดูการผสมพันธุ์เต่าทะเลทั้งตัวผู้และตัวเมียจะว่ายน้ำมาหากินอยู่ในพื้นที่บริเวณ 6 กิโลเมตรห่างจากชายฝั่ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ของทุกปี


มอบคอมพิวเตอร์ภ.จว.ภูเก็ต


นางเบญจวรรณ ตัมพานุวัตร ประธานมูลนิธิฯ พร้อมด้วยกรรมการบริหารมูลนิธิกุศลธรรมจังหวัดภูเก็ต ได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมเครื่องปริ้นเตอร์ ให้กับตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต โดยมี พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้รับมอบ เพื่อใช้ในการพัฒนาปรับปรุงศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายอำนวยการตำรวจภธรจังหวัดภูเก็ต


อบจ.ภูเก็ตร่วมมูลนิธิฉือจี้ไต้หวันฯ รักษาสิ่งแวดล้อม


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมเพิร์ลภูเก็ต นายชวลิต ณ นคร รองนายกองค์การบริหารภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันและคัดแยกขยะ การรักษาความสะอาดของถนนและบริเวณศาลเจ้าในช่วงประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 8-16 ตุลาคม 2553 ซึ่งทาง อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับมูลนิธิฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย และบริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด สาขาภูเก็ต จัดขึ้น โดยมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานและคณะกรรมการศาลเจ้า และสมาชิก อบจ.ภูเก็ต เข้าร่วม

นายชวลิต ณ นคร รองนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับศาลเจ้า และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต กำหนดจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 8-16 ตุลาคมนี้ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่เก่าแก่ของชาวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาขยะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาความสะอาดของถนนและบริเวณศาลเจ้า ตลอดจนมาตรการในการป้องกันและคัดแยกขยะในช่วงดังกล่าว

อย่างไรก็ตามการจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและความสะอาด การคัดแยกขยะที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและศาลเจ้าต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ให้สามารถนำไปประชาสัมพันธ์และเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเข้าใจและใส่ใจในการปฏิบัติตาม เกิดการปรับเปลี่ยนในการทิ้งขยะต่อไป นายชวลิตกล่าว



ททท.สมุทรสงครามส่งเสริมเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค


นางสาวอังคณา พุ่มพกา ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสมุทรสงคราม (สมุทรสงคราม นครปฐม สมุทรสาคร) กล่าวภายหลังการจัดงานโรดโชว์ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค : เส้นทางภาคใต้ (สมุทรสงคราม นครปฐม สมุทรสาคร –ภูเก็ต) เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเมโทรโพล จ.ภูเก็ตว่า จังหวัดสมุทรสงคราม นครปฐม สมุทรสาคร ถือได้ว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ด้วยบรรยากาศการท่องเที่ยวเพื่อตอบแทนสังคม นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว มีความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ และสปา ที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญมีการเดินทางที่สะดวกสบายไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคม

“การจัดงานโรดโชว์ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคฯ มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม นครปฐม สมุทรสาคร ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน ห้างร้าน บริษัท โรงงานอุตสาหกรรม ที่สามารถจัดการท่องเที่ยวเป็นรางวัล และประชาชนที่สนใจทั่วไปในจังหวัดภูเก็ต เพื่อดึงดูดให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค และเดินทางเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคมากขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการกระจายรายได้ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้นด้วย”

นางสาวอังคณา กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมโรดโชว์ครั้งนี้ มีจำนวน 35 ราย ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ชุมชน สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสงคราม นครปฐม และสมุทรสาคร และมีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ จ.ภูเก็ตเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเจรจาธุรกิจ จำนวนประมาณ 70 ราย

อย่างไรก็ตามนางสาวอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของจังหวัดสมุทรสงคราม นครปฐมและสมุทรสาคร จะเป็นกลุ่มคนไทยจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง และในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดชอบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากการตั้งสำนักงานมาเป็นเวลา 2 ปี การจัดโรดโชว์ในภูมิภาคครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก และเหตุที่เลือก จ.ภูเก็ต เนื่องจากมองว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง และหวังจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกลุ่มของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ เนื่องจากความแตกต่างและจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวใน 2 ภูมิภาค เช่น ตลาดน้ำ โฮมสเตย์ วิถีชีวิตชุมชน เป็นต้น


 

ผู้เลี้ยงหอยมุกโอดเจอวิกฤตน้ำอุ่น หอยตายหมดฟาร์ม


นายอมร อินทรเจริญ ประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ตไข่มุก จำกัด อ.เมือง จ.ภูเก็ต ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์จากมุกแบบครบวงจรรายใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเพาะเลี้ยงหอยมุกในทะเล โดยในส่วนของบริษัทฯ ได้มีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยมุกในทะเลบริเวณบ้านเกาะมะพร้าว ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต และทุกปีในช่วงระหว่างเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หอยมุกที่เพาะเลี้ยงไว้ในฟาร์มได้รับความเสียหายเฉลี่ยปีละประมาณ 60% แต่ในช่วงเดียวกันของปีนี้ปรากฏว่าระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าทุกปีทำให้หอยมุกที่เพาะเลี้ยงไว้ได้รับความเสียหายทั้งหมด 100% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 50 – 60 ล้านบาท


แนวทางการแก้ปัญหาที่ทางบริษัทฯ วางไว้เบื้องต้น คือ จะต้องปรับปรุงช่วงเวลาในการเพาะเลี้ยงและเก็บผลผลิต ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนจะถึงเดือนเมษายน เพื่อเป็นการเพิ่มทางรอดให้กับหอยมุกและลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เชื่อว่าสามารถหากกำหนดระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงหอยมุกให้ลงช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ ก็จะทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนหมดไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการขาดช่วงของผลผลิต แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่กระทบกับจำนวนวัตถุดิบที่มีอยู่ แต่หากไม่แก้ไขก็จะส่งผลกระทบได้ นายอมรกล่าว



วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมภูเก็ต ออกตรวจร้านเกมส์

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 คณะกรรมการประเมินโครงการร้านเกมส์สีขาวเพื่อเยาวชน ประจำปี 2553 ของจังหวัดภูเก็ต นำโดยนางพวงผกา เชาว์ไว นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เพื่อประเมินร้านเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่ให้บริการในจังหวัดภูเก็ต ที่เข้าร่วมโครงการ “ร้านสีเกมส์ขาว” ซึ่งในจังหวัดภูเก็ตมีร้านเกมส์เข้าร่วมจำนวน 15 ร้าน ในเขตอำเภอเมืองภูเก็ตจำนวน 10 ร้าน ในเขตอำเภอกะทู้จำนวน 1 ร้าน และในเขตอำเภอถลางจำนวน 3 ร้าน

สำหรับเกณฑ์การประเมินจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนแรก ด้านลักษณะของสถานที่ประกอบการ เช่น ทำเลที่ตั้ง แสงสว่างภายในร้านว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีป้ายแสดงราคาและใบอนุญาตอย่างชัดเจน เป็นต้น ส่วนที่สอง คือ การให้บริการและข้อห้าม เช่น มาตรการในการห้ามเด็กอายุ 18 ปี เข้าใช้บริการในช่วงเวลาก่อน 14.00 น. ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ สารเสพติดทุกชนิดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่บริการ เป็นต้น

ส่วนที่สาม คือ การควบคุมเนื้อหา/เกมส์ที่ให้บริการ เช่น การให้บริการเฉพาะเกมส์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ขัดต่อวัฒนธรรม ศีลธรรมอันดี หรือไม่มีสื่อลามกอนาจารในสถานที่บริการ และข้อสุดท้าย คือ การควบคุมวินัยของผู้ใช้บริการ เช่น สอดส่องดูแลตักเตือนและห้ามปรามผู้ใช้บริการมิให้เปิดดูเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมหรือมีลักษณะยั่วยุ/ลามกอนาจาร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ร้านที่ผ่านการประเมินได้ประกาศเป็นร้านเกมส์สีขาว เพื่อเยาวชนต่อไป ส่วนร้านอื่นๆ ก็ต้องมีการปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป

สภาอบจ.ภูเก็ตอนุมัติกันเงินและขายาเวลาเบิกจ่าย

  
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 53 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง ภูเก็ต นายประดิษฐ์ แสงจันทร์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สมัยวิสามัญ ประจำปี 2553 สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) โดยมีนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา คณะที่ปรึกษา หัวหน้าส่วนราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญคือ การขอญัตติขออนุมัติกันเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2553 กรณียังมิได้ก่อหนี้ผูกพัน และญัตติขออนุมัติขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2551 และประจำปีงบประมาณ 2552 กรณีก่อหนี้ผูกพันแล้ว

ทั้งนี้นายไพบูลย์ ได้ขอญัตติต่อสภาเพื่อขออนุมัติกันเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2553 กรณียังมิได้ก่อหนี้ผูกพัน ว่า ด้วยทางอบจ.ภูเก็ต มีรายจ่ายยังมิได้ก่อหนี้ผูกพันและมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินประกอบด้วย หมวดค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวน 24 รายการ หมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ จำนวน 4 รายการ รวม 28 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 54,876,785 บาท โดยรายจ่าย หมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ลำดับที่ 24 – 27 ทางอบจ.ภูเก็ต ได้ขออนุมัติกันเงินงบประมาณต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแล้ว และที่ผู้ว่าราชการจังหวีดภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่าเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายการที่ทางอบจ.ภูเก็ตมีความจำเป็นต้องจ่ายเพื่อให้การพัฒนาโรงพยาบาลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรและประชาชนโดยรวม

ส่วนญัตติขออนุมัติขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2551 และประจำปีงบประมาณ 2552 กรณีก่อหนี้ผูกพันแล้ว นายไพบูลย์ ได้กล่าวว่า ด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษา และการตรวจเงินของอปท.พ.ศ.2547 ได้กำหนดว่ากรณีอปท.ได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปี โดยสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง หรือการเช่าทรัพย์สิน ถ้าเห็นว่าการเบิกเงินไปชำระหนี้ผูกพันไม่ทันสิ้นปี ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติเงินไว้เบิกในปีถัดไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี และหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ให้ขอขยายเวลาเบิกจ่ายเงินต่อสภาท้องถิ่นได้อีกไม่เกินหกเดือน ซึ่งในงบประมาณ 2553 ทางอบจ.ภูเก็ตมีโครงการที่มีความจำเป็นจะต้องขออนุมัติขายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 เป็นเงิน 2,000,000 บาท และประจำปีงบประมาณ 2552 เป็นเงิน 128,999 บาท จำนวน 1 โครงการ คือโครงการสวนพฤกษศาสตร์ รวมเป็นเงิน 2,128,999 บาท ซึ่งทั้ง 2 ญัตติ ทางสภาได้อนุมัติให้กันเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2553 กรณียังมิได้ก่อหนี้ผูกพัน และอนุมัติขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2551 และประจำปีงบประมาณ 2552 กรณีก่อหนี้ผูกพันแล้ว


สรส.ภูเก็ตยื่นหนังสือทวงสัตยาบันอนุสัญญา ILO

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สาขาภูเก็ต นำโดยนายโสภณ มิ่งเมือง เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์สาขาภูเก็ต ยื่นหนังสือทวงสัญญาในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีนายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้รับหนังสือ สมาพันธ์แรงงานสัมพันธ์ฯทั่วทั้งประเทศได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีแรงงานพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ

นายโสภณ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องหลักขององค์กรแรงานต่างๆ ในประเทศไทย คือการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลัก 2 ฉบับ ในทั้งหมด 8 ฉบับ ที่ประเทศสมาชิกของ ILO ต้องให้สัตยาบันรับรอง (Core Labour Standard) อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ใช้แรงงานทั่วโลก คือ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่อง การรวมตัวร่วมเจรจาต่อรอง แต่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาสองฉบับดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดในการสร้างความยุติธรรม และสันติสุขในการเกิดขึ้นแก่คนทำงานทุกภาคส่วน และจะส่งผลให้สังคมนี้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เคยให้คำมั่นสัญญากับผู้ใช้แรงงานว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการให้สัตยาบันโดยเร็วแต่จนถึงวันนี้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างล่าช้ามีการประวิงเวลา เพื่อดึงให้กระบวนการการให้สัตยาบันล่าช้าออกไป เช่น พยายามเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อนที่จะให้สัตยาบัน ทั้งๆ ที่ ILO ได้ชี้แจงและให้คำแนะนำอย่างชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้วว่าสามารถให้สัตยาบันก่อนแล้ว จึงค่อยปรับแก้กฎหมายภายหลังได้ พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงานไทยในการร่วมรณรงค์เรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 มาอย่างต่อเนื่อง จึงขอแสดงจุดยืนร่วมกับขบวนการแรงงานไทยในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับโดยด่วนที่สุด ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องประกาศจุดยืนในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับให้ชัดเจนว่า จะให้สัตยาบันอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับก่อนการแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องประกาศกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้มีความชัดเจนติดตามตรวจสอบได้ แต่หากยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ออกมาทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จะรวมตัวกันในวันที่ 7 ตุลาคม 2553 นี้ ในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง


วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

สส.ภูเก็ต เตรียมร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพมัคคุเทศก์

สส.ภูเก็ต เตรียมร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพมัคคุเทศก์

นายทศพร เทพบุตร รองประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการเติบโตด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหากระทบกับวิชาชีพมัคคุเทศก์เป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะกรรมาธิการฯ ได้รับการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทัวร์ศูนย์เหรียญ ซิตติ้งไกด์ เป็นต้น ทำให้มีการแย่งอาชีพคนไทยจากคนต่างชาติ ปัญหาค่าจ้างมัคคุเทศก์ที่ไม่เพียงพอ และนำไปสู่การหารายได้เสริมด้วยการพานักท่องเที่ยวไปซื้อของราคาแพง หรือรับเงินค่าที่จอดรถตามร้านค้าที่นำนักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้า

“จากประเด็นปัญหาต่างๆ ดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จึงเตรียมจัดทำร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพมัคคุเทศก์ ซึ่งสาระสำคัญ ประกอบด้วย การจัดตั้งสภาวิชาชีพมัคคุเทศก์ลักษณะเหมือนกับสภาทนายความ หรือสภาวิชาชีพพยาบาลในการออกใบรับรองวิชาชีพ การจดทะเบียนมัคคุเทศก์ เพื่อจัดระเบียบ การสร้างมาตรฐาน รวมไปถึงคุ้มครองอาชีพมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นอาชีพสงวนของคนไทยด้วย ทั้งนี้อยู่ในกระบวนการศึกษา คาดว่าภายในระยะเวลา 3 เดือนจะมีความชัดเจน โดยจะบูรณาการกับร่างของสมาคมมัคคุเทศก์ จากนั้นจะได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์คนไทย เพื่อให้กฎหมายเกิดความครอบคลุม”

นายทศพร กล่าวว่า ปัจจุบันนักศึกษาเมื่อเรียนจบด้านการท่องเที่ยวหรือการโรงแรมจากมหาวิทยาลัย ก็ได้ใบประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ แต่ปรากฏว่ายังขาดความรู้ในอาชีพมัคคุเทศก์จริงๆ บางคนไม่ได้รักในการทำหน้าที่ สุดท้ายก็ไปทำหน้าที่ซิตติ้งไกด์ หรือคนแจกน้ำแจกผ้าเย็นในรถ ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่ ทำลายภาพลักษณ์ของมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยว จึงต้องทำให้วิชาชีพมัคคุเทศก์ มีศักดิ์ศรี

รองประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวฯ ระบุด้วยว่า พ.ร.บ.วิชาชีพมัคคุเทศก์ ยังคงจะให้มัคคุเทศก์เป็นอาชีพสงวนของคนไทยเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างเด็ดขาด และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายวิชาชีพมัคคุเทศก์สำเร็จ จะปิดโอกาสการมาทำงานของมัคคุเทศก์ต่างชาติได้ดีกว่าที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ประการที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เราต้องผลิตมัคคุเทศก์คนไทยที่มีคุณภาพมาให้บริการนักท่องเที่ยวให้มาก และต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจมาทำหน้าที่มัคคุเทศก์จริงๆ และจะต้องดูแลบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมาเมื่อผู้ประกอบการต้องการสิ่งที่ดีกว่าเขาจึงต้องยอมจ่ายแพงในการจ้างมัคคุเทศก์ต่างชาติมาทำหน้าที่แม้จะรู้ว่าผิดกกฎหมายก็ตาม


นายกป่าตองยืนยันทำอุโมงค์ป่าตองมีความจำเป็น


นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กล่าวถึงเหตุผลที่จะต้องมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา จัดทำโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อกะทู้ – ป่าตอง หรือที่เรียกกันว่า อุโมงค์ป่าตอง ว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการที่จะหาทางเพิ่มเส้นทางการจราจรเข้าออกพื้นที่ป่าตองมาอย่างต่อเนื่อง และการสร้างอุโมงค์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ด้วยปัจจุบันเส้นทางหลักในการเข้าออกป่าตองมีเพียงทางเดียวคือ ถนนสาย 4209 ซึ่งเป็นถนนที่มีความลาดชันและคดเคี้ยว จึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้งเฉลี่ยปีละประมาณ 400 – 500 ครั้ง ในจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการท่องเที่ยวด้วย


ทางเทศบาลฯ จึงได้มีแนวคิดในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สังคม วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อกะทู้-ป่าตอง โดยใช้งบประมาณ 39 ล้านบาท และทุกอย่างก็ดำเนินการตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด เบื้องต้นได้มีการเสนอทางเลือกของการจัดทำอุโมงค์และทางต่างระดับจำนวน 4 ทางเลือก โดยบริษัทที่ปรึกษาได้จัดรับฟังความเห็นและเสนอแนวคิดว่าทางเลือกที่เหมาะสมคือมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณสนามโกคาร์ดฝั่งกะทู้ และทางออกของอุโมงค์อยู่ที่บริเวณบ้านมอญ ฝั่งป่าตอง ส่งผลให้มีประชาชนบางส่วนคัดค้าน เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นทางเลือกในการก่อสร้างแล้ว แต่ความจริงยังไม่ใช่ เพราะผลการศึกษาสุดท้ายยังไม่สรุป ซึ่งอาจจะมีการเบี่ยงไปทางอื่นได้ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือวิถีชีวิตของประชาชนที่จะมีถนนตัดผ่านน้อยที่สุด ส่วนเรื่องของอัตราค่าเวนคืนปัจจุบันกฎหมายได้ให้สิทธิสามารถที่จะซื้อได้ในอัตราราคาท้องตลาด ตามความเหมาะสม

นายเปี่ยน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแม้จะไม่มีการเวนคืนแต่ก็มีการซื้อขายกันอยู่โดยปกติอยู่แล้ว ส่วนเมื่อผลการศึกษาออกมาแล้วนั้นก่อนที่จะมีการก่อสร้างจริงๆ ก็จะต้องมีการรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่อีก ซึ่งรูปแบบการลงทุนก็อาจจะเป็นลักษณะของเอกชนลงทุนทั้งหมด หรือเอกชนลงทุนกับภาครัฐ หรือภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนเอง ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตที่จะต้องมีการศึกษากันต่อหลังจากที่มีผลการศึกษาออกมาแล้ว

ขณะที่นางกนกวรรณ ลาภทวีพงษ์พันธ์ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 112 บ้านมอญ เทศบาลเมืองป่าตอง กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวซึ่งจะทำให้สามารถแก้ปัญหาการจราจร และนำมาซึ่งความเจริญ ส่วนผู้ที่คัดค้านไม่เห็นด้วยนั้นก็มีเช่นกันและคงจะมีเหตุผลส่วนตัวของเขาเอง


อบจ.ภูเก็ตติวเข้มบุคลากรส่งเสริมจริยธรรม

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 ที่ศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา “ส่งเสริมจริยธรรม เสริมสร้างสมานฉันท์องค์กร” สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทาง อบจ.ภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะผู้บริหารท้องถิ่นและที่ปรึกษา, ผู้ทรงคุณวุฒิ, สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต, ข้าราชการ ลูกจ้างประจำและพนักงานจ้างในสังกัด อบจ.ภูเก็ต

นายมานพ ลีลาสุทธานนท์ ปลัด อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานขององค์กรได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกัน มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการทำงานเป็นทีม เพื่อสนองนโยบายการบริหารงานของนายก อบจ.ให้ดียิ่งขึ้นด้วย

ขณะที่นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการเข้ารับตำแหน่งมาประมาณ 2 ปีเศษ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังกัดของ อบจ.ภูเก็ตเป็นอย่างดี จนเป็นที่ประจักษ์และส่งผลให้ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ทั้งในส่วนขององค์กรเองและในส่วนบุคคล โดยเฉพาะรางวัลด้านการปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส จนทำให้ได้รับเลือกเป็นท้องถิ่นนำร่องในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาผู้นำคุณธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย เช่น รางวัลนวัตกรรมท้องถิ่นดีเด่น โครงการรถขนส่งประจำทาง (รถโพถ้อง) เป็นต้น


วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

ตรี ผงาดนั่งพ่อเมืองภูเก็ต ธีระยุทธขึ้นสุราษฎร์ตามโผ

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 53 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งข้าราชการระดับสูง และผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 48 ราย ทั้งนี้ การแต่งตั้งดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย.ก่อนที่นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะเกษียณอายุราชการ โดยมีรองผู้ว่าฯ และรองอธิบดีระดับนักปกครองต้น ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ว่า 21 ตำแหน่ง ขณะที่ข้าราชการระดับ 10 ในตำแหน่งผู้ว่าฯ และผู้ตรวจ ย้ายสลับกันจำนวน 21 ตำแหน่ง

ในส่วนตำแหน่งสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ปรากฏว่า นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคนใหม่ แทนนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 53

สำหรับประวัตินายตรี อัครเดชา เกิดวันที่ 7 ตุลาคม 2494 การศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตร์, ปริญญาโทบริหารรัฐกิจ M.P.A (U.S.A) เคยผ่านหลักสูตรนายอำเภอรุ่น 32 หลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่น 33 และหลักสูตรเสธ.อส.รุ่น 13 ประวัติการรับราชการ ปลัดอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ปี พ.ศ. 2519 นายอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปี พ.ศ.2544 ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด ปี พ.ศ.2548 รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ.2549 ก่อนที่จะรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตต่อไป

ส่วนนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตอีกคนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นครั้งแรกของจังหวัดภูเก็ตที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดถึง 2 คนพร้อมกัน นอกจากนี้ นายวินัย บัวประดิษฐ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู นายธำรง เจริญกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายพินิจ เจริญพาณิชย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรและนายจรินทร์ จักกะพาก รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อดีตหัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ



กอ.รมน.ภูเก็ตดึงผู้นำชุมชนสร้างเครือข่าย

 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 53 ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเพื่อตรวจสอบข้อมูลมวลชนและพัฒนาสัมพันธ์ กอ.รมน.จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มมวลชนภาคประชาชน ผู้นำหมู่บ้านและแกนนำในพื้นที่ เข้าร่วม
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ด้วยในปัจจุบันส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดตั้งกลุ่มเครือข่ายมวลชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้น ๆ เป็นจำนวนมาก การสร้างเครือข่ายกลุ่มพลังมวลชนมีความซ้ำซ้อนและบางส่วนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง มักถูกชักนำไปในแนวทางที่ไม่สร้างสรรค์ได้โดยง่าย
 ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติการด้านมวลชนของส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ ได้มีการบูรณาการด้านมวลชนทุกกลุ่มทุกประเภท สร้างเครือข่ายภาคมวลชนให้มีความเข้มแข็ง มีอุดมการณ์รักชาติ มีความสามัคคี ร่วมกันปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สามารถเข้าร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ข้อมูลมวลชนที่ถูกต้อง ทันสมัย สามารถนำไปใช้อย่างแท้จริงและพัฒนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้กิจการด้านเครือข่ายมวลชนเข้มแข็ง ประชาชนปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ดีมีสุข


อบจ.ภูเก็ตร่วมสสจ.ภูเก็ตช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังต่อเนื่อง



เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 ที่ห้องพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติฤศงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินงาน โครงการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในชุมชน จังหวัดภูเก็ต (ต่อเนื่อง) ปี 2553 ซึ่งทาง อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตจัดทำขึ้น เพื่อพัฒนางานการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในจังหวัดภูเก็ต โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย บุคลากรทางด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข หมอนวดพื้นบ้าน จำนวน 160 คน



นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) กล่าวว่า ทาง อบจ.ภูเก็ต ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จัดทำโครงการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในชุมชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 จนถึงเดือนกันยายน 2553 พบว่าได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ อาสาสมัครสาธารณสุขได้ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในชุมชน จำนวน 126 คน และหมอนวดพื้นบ้าน จำนวน 3 คน มีผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการที่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จำนวน 356 คน

“กิจกรรมในช่วงที่ผ่านมาทางนายก อบจ.ภูเก็ต พร้อมด้วยทีมงานได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อที่นอนลม เครื่องดูดเสมหะ ผ้าอ้อมอนามัย และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันอีกด้วย ทำให้ญาติและผู้ดูแลมีกำลังใจดูแลผู้ป่วย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเกิดเครือข่ายในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในชุมชนอีกด้วย” นพ.วิวัฒน์กล่าว

ขณะที่นายไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า จากการที่ได้จัดแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข หมดนวดพื้นบ้าน ออกดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการที่นอนติดเตียงอยู่ที่บ้านอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจากการที่ตนได้ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยและผู้พิการเรื้อรังในชุมชนหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ป่วย/ญาติ และผู้ดูแลมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้พิการในชุมชนได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและต่อเนื่อง มีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน รวมทั้งเพื่อให้เกิดเครือข่ายในการดูแลผู้พิการในชุมชน ดังนั้นในปีงบประมาณ 2554 อบจ.ภูเก็ต จึงยังคงร่วมมือกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ในการดำเนินโครงการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในชุมชน จังหวัดภูเก็ตต่อเนื่องต่อไป นายไพบูลย์กล่าว


วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

วางมาตรการการเลี้ยงสัตว์น้ำลดกีดกันทางการค้า


นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม คณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (5th Session FAO COFI Sub committee on Aquaculture) ซึ่งประเทศไทย โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ FAO เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับ FAO เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการที่ประเทศไทยจะได้แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าประมงจากการเพาะเลี้ยงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก

“การประชุมครั้งนี้มีเนื้อหาการประชุมทั้งสิ้น 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการการทำประมงอย่างรับผิดชอบ ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศสมาชิก 2.แนวทางปฏิบัติในการตรวจรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ Guidelines on Aquaculture Certification 3.ความปลอดภัยทางชีวภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 5.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณนอกเขตชายฝั่ง และ 6.กระบวนการจัดทำสถิติด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”

นายธีระ กล่าวด้วยว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยและ FAO ได้ดำเนินการร่วมมือกับประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการผลิตอาหารและการเกษตร กิจกรรมด้านการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นสิ่งที่ FAO ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกิจกรรมหลักที่เอื้อต่อการผลิตสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคของประชากรโลก จากรายงานในปัจจุบันของ FAO อัตราการจับสัตว์น้ำและการผลิตสัตว์น้ำที่ได้จากการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อบริโภคในปี 2549 มีปริมาณ 110 ล้านตัน สัดส่วนการผลิตที่มาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ร้อยละ 47 โยในร้อยละ 89 ของผลผลิตมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของผลิตสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง หากพิจารณาถึงการผลิตกุ้งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 มาเกือบสองทศวรรษ

ขณะที่ ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวเสริมว่า 1 ใน 6 ประเด็นที่มีการหารือนั้น ที่สำคัญคือ แนวทางการปฏิบัติในการตรวจสอบรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งได้มีการริมเริมมาตั้งแต่ปี 2549 และหวังว่าครั้งนี้จะสามารถทำการรับรองได้ เพื่อประเทศสมาชิกจะได้นำไปใช้ ลดผลกระทบจากปัญหาการกีดกันทางการค้า และจะทำให้เกิดความโปร่งในการปฏิบัติในการตรวจสอบ ตลอดจนการปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์ของทางด้านผู้ผลิต เพราะที่ผ่านมาแต่ละประเทศต่างก็จะมีการรับรองมาตรฐานที่แตกต่างกันจึงก่อให้เกิดปัญหาตามมา

ด้านนาย KEVEM COCHRANE ผู้อำนวยกองการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการอนุรักษ์การใช้ทรัพยากร สำนักงาน FAO กล่าวว่า การประชุมของอนุกรรมการฯ เพื่อให้สมาชิกฯได้มาร่วมหารือในประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน และเสนอแนะนโยบายต่อกรรมาธิการของ FAO ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิก ซึ่งก่อนที่จะลงมติใดๆ ออกมาก็จะมีการประชุมหารือร่วมกันเช่นเดียวกับการอออกแนวทางเพื่อตรวจสอบรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งได้มีการหารือกันจนได้ข้อสรุปแล้ว และหวังว่าจะสามารถลงมติรับรองแนวทางดังกล่าวได้ในการประชุมครั้งนี้

ส่วนนาย Jia Jiason หัวหน้าส่วนการบริการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ในเรื่องของการจัดทำแนวทางออกใบตรวจสอบรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ข้อสรุปหมดแล้ว เหลือเพียง 1 ประเทศที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของเขา ซึ่งนั้นเป็นการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เดือนกันยายนแล้วก็น่ามีข้อสรุปออกมาในทางที่ดี แต่คงยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนักว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนหากยังคงเป็นเช่นเดิมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คงต้องรอผลสรุปจากการประชุมร่วมกันก่อน



กรมประมงร่วม FAO จัดประชุมด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

กรมประมงร่วม FAO จัดประชุมด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 53 ที่โรงแรม ฮิลตัน ภูเก็ตอาเคเดีย รีสอร์ทแอนด์สปา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (5th Session FAO COFI Sub committee on Aquaculture) ซึ่งประเทศไทย โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ FAO เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น

โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้แทนระดับบริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรเอกชนและองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และผู้แทนจากประเทศสมาชิก FAO เข้าร่วมจากประมาณ 60 ประเทศ จำนวน 250 คน โดยการประชุมดังกล่าวจะจัดไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2553 นี้ ในโอกาสเดียวกันนี้จะมีการเยี่ยมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยใน จ.ภูเก็ตและพังงาด้วย

ทั้งนี้การจัดประชุมดังกล่าว เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2490 โดยในด้านการประมง FAO ได้จัดตั้งคณะกรรมการประมง หรือ Committee on Fisheries (COFI) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาและปรึกษาหารือในด้านการประมงของโลก และมีอนุกรรมการ 2 คณะ คือ ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและด้านการค้าสัตว์น้ำ ซึ่งคณะอนุกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคและนโยบายทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงภารกิจที่ FAO ควรดำเนินการให้แก่คณะกรรมการประมง ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาประเด็นด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญในระดับโลกเป็นประจำสม่ำเสมอในทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิก FAO จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ซึ่งครั้งก่อนจัดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่ประเทศสาธารณรัฐชิลี และครั้งต่อไปในปี 2555 จะจัดขึ้นที่ประเทศแอฟริกาใต้