จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สวดมนต์ถวายพระพรในหลวง ในประเพณีถือศีลกินผัก



เมื่อเวลา 18.30 น.ของวันที่ 9 ตุลาคม 2553 ที่บริเวณเวทีกลางสะพานหิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประกอบพิธีสวดมนต์ (ซงเก้ง) ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2553 ซึ่งทางชมรมอ๊ามภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น เพื่อถวายพระชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา ในปี พ.ศ.2553


กิจกรรมประกอบด้วยพิธีสวดมนต์ พิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียบชัยถวายพระพร และกล่าวคำราชสดุดี รวมทั้งการจุดประทัดและพลุด้วย โดยมีอ๊าม (ศาลเจ้า) ต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่เข้าร่วม จำนวน 22 อ๊าม นอกจากนี้ยังมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครู นักเรียน นิสิตนักศึกษา พ่อค้า และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายประเสริฐ ฝักทองผล ประธานชมรมอ๊ามภูเก็ต กล่าวว่า ประเพณีถือศีลกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) เกิดขึ้นครั้งแรก ในจังหวัดภูเก็ตราบปีพุทธศักราช 2368 ซึ่งได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นระยะเวลายาวนานจนกลายเป็นงานประเพณีถือศีลกินผักของชาวจังหวัดภูเก็ตตราบจนถึงปัจจุบัน โดยผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องแต่งกายชุดขาว ถือศีลปฏิบัติธรรม ชำระร่างกาย และจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ถือว่าเป็นการสักการบูชาปวงเทพ และองค์พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ ความเมตตากรุณาที่ปวงเทพ และองค์พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ประทานพร และหยิบยื่นให้ปวงมนุษย์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในการทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ หมดจด

ด้วยคณะกรรมการบริหารชมรมอ๊ามภูเก็ต ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าตลอดระยะเวลาที่ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติแห่งแผ่นดินไทยกว่า 60 ปีที่ผ่านมา จึงร่วมใจกันประกอบพิธีสวดมนต์ (ซงเก้ง) ถวายพระพรชัยมงคล เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี โดยพร้อมเพรียงกัน และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน นายประเสริฐกล่าว












ผู้ว่าฯ ภูเก็ตเยี่ยมศาลเจ้า พร้อมเชิญชวนนทท.เดินทางเข้ามา


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 53 ที่ศาลเจ้าซุ่ยบุ่นต๋อง หรือศาลเจ้าหล่อโรง นาย ตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายทวิชาติ อิทรฤทธ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต, นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้เดินทางไปเยี่ยมในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2553 โดยมีนายสมมาศ ฐานันดรวัฒน์ ประธานอ๊ามซุ่ยบุ่นต๋อง และคณะกรรมการศาลเจ้าให้การต้อนรับ

ทั้งนี้นายทวิชาติ กล่าวว่า ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต วันนี้เป็นวันที่สองแล้ว จากการลงพื้นที่ตามอ๊ามต่างๆ บรรยากาศค่อนข้างคึกคัก มีพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประชาชนส่วนใหญ่จะนำปิ่นโตไปรับอาหารมารับประทานอาหารที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และบางส่วนจะมาเลือกซื้ออาหารตามร้านค้าใกล้ๆ อ๊าม

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจ ราคาอาหารผัก ผลไม้ ปรากฏว่า ราคายังไม่สูงมากนัก และยังไม่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด ทั้งนี้ประชาชน นักท่องเที่ยว หากพบมีการจำหน่ายอาหารที่ราคาสูงเกินไป สามารถร้องเรียนได้มายังสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตหรือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต โดยตรง

ด้านนายตรี กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดนี้ทางจังหวัดภูเก็ต ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนต่างจังหวัด มาร่วมงานประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต ซึ่งนอกจากจะได้เห็นประเพณีที่ดั้งเดิมแล้ว ยังได้รับบุญอันยิ่งใหญ่จากการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ประเพณีถือศีลกินผักด้วย


ตร.ภูเก็ต ปล่อยแถว ช่วงประเพณีถือศีลกินผัก


เมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา บริเวณลานจอดรถหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต เป็นประธานพิธีปล่อยแถวกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร, สายตรวจเดินเท้า, สายตรวจรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อาสาจราจรมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต รวมทั้งอาสาสมัคร จำนวน 150 นาย เพื่อออกกวาดล้างอาชญากรรมทุกรูปแบบในช่วงการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2553 ที่จะมีต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 ตุลาคมนี้ โดยมี พ.ต.อ.วันไชย เอกพรพิชญ์ ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ร่วมในพิธี

ทั้งนี้พล.ต.ต.พิกัด กล่าวว่า ทางตำรวจภูธรภาค 8 มีคำสั่งมาให้สถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขัน ในช่วงก่อนการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ช่วงวันงานและหลังงาน เพราะมีประชาชน นักท่องเที่ยวและชาวต่างประเทศสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงเวลาต่างๆ ของศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองภูเก็ตจำเป็นจะต้องสนธิกำลังกับหน่วยงานข้างเคียงจัดกำลังออกตระเวนในย่านชุมนุมชน ศาลเจ้า รวมทั้งหมู่บ้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังพิจารณาจัดตั้งจุดตรวจในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสกัดกั้นและป้องปรามไม่ให้มิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ อาศัยจังหวะการจัดงานประเพณีก่อเหตุอาชญากรรม ฉกชิง วิ่งราว ล้วงกระเป๋า ตลอดจนการงัดแงะ สถานประกอบการหรือบ้านเรือนประชาชน

ด้านพ.ต.อ.วันไชย กล่าวว่า ในช่วงประเพณีถือศีลกินผักนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาดหรือมีการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนหรือกลุ่มวัยรุ่นอย่างเต็มที่ เพราะการจุดประทัดอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ได้จุดตามประเพณีอย่างเหมาะสม แต่กลับสร้างความเดือดร้อนรำคาญ แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว เพราะการจุดประทัดขนาดใหญ่หรือบ๊ะจ่าง รวมทั้ง ดอกไม้ไฟชนิดต่างๆ โยนใส่ประชาชน บ้านเรือนหรือรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์หรือจุดในที่ชุมชนมีผลทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย


ขบวนแห่พระงานประเพณีถือศีลกินผักวันแรกไม่คึกคักเท่าที่ควร


 

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 53 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของประเพณีถือศีลกินผักประจำปี 2553 ของจังหวัดภูเก็ต บรรยากาศเริ่มที่จะคึกคักขึ้นเป็นลำดับ โดยในวันนี้ทางศาลเจ้าฮุนจงอ๊าม จ้อสู่ก้ง นาคา ซึ่งเป็นศาลเจ้าใหม่ที่ได้จัดให้มีการประกอบพิธีกรรมในการถือศีลกินผักเป็นปีที่ 2 ได้จัดให้มีพิธีอิ้วเก้ง หรือ แห่พระรอบเมืองของ

โดยขบวนพระออกจากศาลเจ้าซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณถนนดาวรุ่งตัดใหม่ ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต มายังถนนเจ้าฟ้าตะวันตก เลี้ยวเข้าถนนนาคา ตรงมายังถนนบางกอก เลี้ยวเข้าถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี มุ่งตรงไปยังปลายแหลมสะพานหินเพื่อประกอบพิธีอัญเชิญไฟศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในอดีตว่ามีผู้รู้รับอาสาไปอัญเชิญเหี่ยวโห้ยหรือเหี่ยวเอี้ยน (ผงธูป) และเลี่ยนตุ่ย (ป้ายชื่อ) พร้อมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ที่ใช้ในพิธีกินผัก จากมณฑลกังไส ประเทศจีน โดยตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่พระผ่านได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวซึ่งต่างแต่งกายด้วยชุดขาวเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เจ้าของอาคารบ้านเรือนตั้งโต๊ะน้ำชาเพื่อถวายให้กับร่างทรง เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย








ทั้งนี้ในส่วนของร่างทรงหรือม้าทรงนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะเป็นม้าทรงที่มีอายุไม่มาก จึงทำให้การใช้ศัตราวุธในการทิ่มแทงร่างกายซึ่งเชื่อว่าเพื่อเป็นการรับเคราะห์แทนผู้ที่มีเคราะห์กรรมหรือเป็นการสะเดาะเคราะห์ไม่ค่อยหวาดเสียวมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กแหลมขนาดต่างๆ กัน ตามตำนาน และบริเวณปลายก็จะมีช่อดอกไม้หรือผลไม้ประดับไว้ด้วย





อย่างไรก็ตามสำหรับการประกอบพิธีอิ้วเก้งหรือแห่พระรอบเมืองนั้น เชื่อว่าเป็นการออกประพาสเพื่อโปรดสัตว์หรือทำนองเดียวกับการออกเยี่ยมราษฎรของพระมหากษัตริย์ โดยมีขบวนธง และป้ายชื่อแห่นำหน้า จากนั้นก็เป็นเกี้ยวหามรูปพระ เรียกว่าไท่เปี๋ยหรือเสลี่ยงเล็ก โดยหามรูปพระบูชาต่างๆ ออกนั่งเกี้ยวไป จัดตามชั้นและยศของพระ เช่น ลิ่น ขึ้นไปเป็นง่วน โส่ย สูงขึ้นไปอีกเป็น ฮุด จากนั้นเป็นขบวนของพระเกี้ยวใหญ่หรือตั่วเหรียญ หรือเสลี่ยงใหญ่ ซึ่งมักใช้คน 8 คนหาม และมีฉัตรจีน หรือนิ่วสั่วกั้นไปด้วย ซึ่งเป็นที่ประทับกิ๊วฮ๋องฮุดโจ้ว และในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและจุดประทัดต้อนรับขบวนเมื่อผ่านมาถึง


วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อบจ.ภูเก็ตสืบสานประเพณีถือศีลกินผักประจำปี 2553


นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตนำคณะสมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนตามศาลเจ้าต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ ศาลเจ้าจ้อสู่กง (นาคา) ศาลเจ้าซุ่ยบุ๋นต๋อง (ศาลเจ้าหล่อโรง) ศาลเจ้าเจ่งอ๋อง (ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต) ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท้ซู่ (สามกอง) ศาลเจ้ายกอ่องเซเก้ง (ซอยพะเนียง) พร้อมสักการบูชาองค์เทพเจ้า และร่วมปิดทองต้นเสาโกเต้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก โดยมีประชาชนชาวภูเก็ตสวมชุดขาวเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้นายไพบูลย์ ได้กล่าวว่า เป็นประจำทุกปี ที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมสืบสานประเพณีถือศีลกินผัก โดยได้สนับสนุนข้าวสารจำนวนทั้งสิ้น 610 กระสอบและน้ำมันพืชจำนวน 161 ถัง เพื่อใช้ในการประกอบอาหารตามศาลเจ้าต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ต นอกจากนั้น ในระหว่างวันที่ 9 – 16 ตุลาคม 2553 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตพร้อมทั้งคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาได้ร่วมขบวนแห่พระร่วมกับศาลเจ้าต่างๆ ด้วย


ท่าอากาศยานภูเก็ต ฉลองครบรอบ 22 ปี


เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2553 ที่อาคารเอนกประสงค์ ท่าอากาศยานภูเก็ต นายประเทือง ศรขำ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นประธานในการจัดงานครบรอบ 22 ปี ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยมีนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสุพาทน์ สุชาตานนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมแสดงความยินดี โดยภายในจัดให้มีพิธีทางศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม มีบุคลากรท่าอากาศยานภูเก็ต หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้นายประเทือง กล่าวว่า แนวโน้มในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 – เมษายน 2554 คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งปริมาณจำนวนผู้โดยสารตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 – กันยายน 2553 มีจำนวน 6,700,000 กว่าคน เมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานกับปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.16 ที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ในช่วงของไฮซีซัน โดยปัจจุบันประเทศที่ตัวเลขผู้โดยสารมาก คือ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี และยุโรป ซึ่งความสามารถในการรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 6 ล้านกว่าคน ถือว่าเกินความสามารถที่จะรองรับได้

แต่อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานภูเก็ตได้เตรียมรองรับจำนวนผู้โดยเพิ่มขึ้นอีก 5% และจะขยายห้องผู้โดยสารขาออกเพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น นอกจากนี้ท่าอากาศยานภูเก็ตได้ประสานงานไปยังเที่ยวบินต่างๆ เพื่อขอให้เช็คอินจำนวนผู้โดยสารก่อน เพราะจะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาในการเช็คอินที่อาคารผู้โดยสารและสามารถรองรับผู้โดยสารที่หนาแน่นให้ดีขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันมีสายการบินทำการบินที่ท่าอากาศยานภูเก็ต นั้นมีจำนวน 38 สายการบิน และจะมีสายการบินใหม่ที่จะทำการบินเข้ามา ในช่วงฤดูหนาว ปี 2553/2554 คือ QATAR AIRWAYS เส้นทางบิน DOHA/KUL/HKT โดยจะเริ่มทำการบิน 12 ตุลาคม 2553 นี้ ซึ่งเป็นสายการบินแรกที่ทำการบินมายังภูเก็ต จึงถือว่าเป็นโอกาสดีของภูเก็ตอีกด้วย



 

งานวันสารทเดือนสิบภูเก็ตคึกคัก

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม 53 ตามวัดต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ได้มีการจัดงานประเพณีวันสารทเดือนสิบ ประจำปี 2553 ขึ้น โดยในช่วงเช้าชาวบ้านได้นำอาหารคาวหวานไปถวายพระ พร้อมทั้งร่วมฟังเทศน์ ฟังธรรม ร่วมกันตักบาตร จากนั้นก็ได้ร่วมกันถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จากนั้นชาวบ้านก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด ไม่ว่าจะเป็นทำทานให้กับชาวไทยใหม่

โดยเทศบาลตำบลรัษฎา ร่วมกับโรงเรียนบ้านกู้กู และสมาชิกสภาวัฒนธรรมตำบลรัษฎา รวมถึงประชาชนในเขตตำบลรัษฎา ได้ร่วมกันแห่หมฺรับออกจากโรงเรียนบ้านกู้กู ต.รัษฎา ไปยังวัดรัษฎาราม และสำนักสงฆ์เขาโต๊ะแซะ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เพื่อสืบสานงานประเพณีวันสารทเดือนสิบ

นอกจากนี้ภายในวัดขจรรังสรรค์ อ.เมือง ภูเก็ต ได้มีการสร้างเปรตจำลองขึ้นมาจำนวนมาก และด้านหน้าเปรตแต่ละตนจะมีโต๊ะวางไว้ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำ ขนมลา ขนมต้ม ขนมเทียน ขนมทอนใต้ หรืออาหารแห้งอื่นๆ ไปวางรวมกันไว้บนร้านเปรต และนอกจากนี้ยังมีร้านเปรตสำหรับวางเสื้อผ้าที่ลูกหลานนำมาวางไว้เพื่อร่วมในพิธีชิงเปรตด้วย

ทั้งนี้ ชิงเปรต เป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ดำรงอยู่บนความเชื่อของการนับถือผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วหากยังมีบาปอยู่จะกลายเป็นเปรตในนรกปีหนึ่งจะถูกปล่อยให้มาเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 (ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 24 ก.ย.53) ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือวันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรตในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (ปีนี้ตรงกับวันที่ 8 ต.ค.53) นั่นคือวันส่งเปรตกลับคืนเมือง เรียกกันว่าวันสารทใหญ่



ทม.กะทู้ เปิดซุ้มงานประเพณีถือศีลกินผักอ๊ามกะทู้

เมื่อคืนของวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดซุ้มประตูงานประเพณีถือศีลกินผัก อ๊ามกะทู้ (ศาลเจ้ากะทู้) เทศบาลเมืองกะทู้ประจำปี 2553 โดยมีนายนิวิทย์ อรุณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายศิริพัฒ พัฒกุล นายอำเภอกะทู้ นายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศนตรีเมืองกะทู้ คณะผู้บริหาร –สมาชิกสภาเทศบาลเมืองกะทู้ ตลอดจนพนักงาน ข้าราชการเทศบาลเมืองกะทู้ และประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกะทู้ ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้นอกจากการเปิดซุ้มประตูงานประเพณีถือศีลกินผักแล้ว ยังมีการแสดงบนเวทีและจุดพลุต่างๆ ด้วย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก

นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของพี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะอ๊ามกะทู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2368 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลาเกือบ 200 ปี จึงถือได้ว่าเป็นประเพณีอันดีงาม ที่ทำให้ประชาชน นักท่องเที่ยว มีความเลื่อมใส ศรัทธา เป็นอย่างมาก จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก

สำหรับการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ในปีนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 -16 ตุลาคม 2553 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นและจังหวัดภูเก็ต สร้างจิตสำนึก ให้ทำความดี เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ รักษาศีล นุ่งขาวห่มขาวตลอดงานประเพณี รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ และสืบทอดประเพณีของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ภูเก็ตตลอดไป นายนิวิทย์กล่าว

ขณะที่นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเพณีถือศีลกินผัก อ๊ามกะทู้ และอ๊ามต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เป็นที่รู้จักกันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งประเพณีถือศีลกินผักของอ๊ามกะทู้นั้นก็ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาที่ยาวนาน นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับจังหวัดภูเก็ต และขอชื่นชมประชาชนในพื้นที่กะทู้ เทศบาลเมืองกะทู้ ที่ช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ และช่วยกันสนับสนุนการจัดงานเพื่อให้ประเพณีถือศีลกินผัก คงอยู่คู่ท้องถิ่นกะทู้ จังหวัดภูเก็ตตลอดไป

อย่างไรก็ตามทราบว่าประเพณีถือศีลกินผักอ๊ามกะทู้ เป็นต้นกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2368 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 200 ปี นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง นับวันพิธีกรรมอ๊ามกะทู้ ยิ่งเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ และความยิ่งใหญ่ของประเพณี ดังเห็นจากประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ได้เข้าร่วมพิธีถือศีลกินผัก นุ่งขาวห่มขาว และเข้าร่วมพิธีกรรมมากขึ้นทุกๆ ปี แสดงให้เห็นว่าประเพณีอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องชาวกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จะไม่มีวันสูญสลายไปอย่างแน่นอน นายสมชายกล่าว


วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ


เมื่อเวลา 17.09 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ที่ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบเก้ง ซอย.ภูธร อ.เมือง ภูเก็ต พลเรือเอก ชุมพล ปัจจุสานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในการประกอบพิธียกเสาโกเต้ง พร้อมทั้งอัญเชิญตะเกียง 9 ดวง ขึ้นสู่ยอดเสา และอัญเชิญองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ และหยกอ๋องซ่องเต่ มาเป็นประธานในพิธีถือศีลกินผัก และเป็นการประกาศว่าเริ่มพิธีถือศีลกินผักอย่างเป็นทางการแล้ว โดยนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายเทศมนตรนครภูเก็ต รวมทั้งประชาชนชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมในพิธีจำนวนมาก 

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้มีผู้เข้าร่วมประกอบพิธียกเสาโกเต้งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปร่วมทำบุญงานสารทเดือนสิบซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ประกอบกับยังมีศาลเจ้าเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีศาลเจ้าในจังหวัดภูเก็ตรวมแล้วประมาณ 20 แห่ง

อย่างไรก็ตามสำหรับประเพณีถือศีลกินผักประจำปี 2553 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-16 ตุลาคม 2553 โดยบริเวณศาลเจ้าต่างๆ ซึ่งมีประมาณ 20 ศาลเจ้าต่างคึกคักไปด้วยร้านจำหน่ายอาหารเจ และเสื้อผ้าสีขาว โดยมีประชาชนมาซื้อหาอาหารเจกันเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภายในศาลเจ้าก็มีประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศซึ่งต่างแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวเข้าไปสักการะองค์เทพต่างๆ ภายในศาลเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว

 

ทต.รัษฎา สืบสานประเพณีเดือนสิบ


เมื่อคืนวันที่ 6 ตุลาคม 53 ที่บริเวณสนามหน้าโรงเรียนบ้านกู้กู ม.3 ต.รัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน “โครงการสืบสานประเพณีเดือนสิบ ครั้งที่ 2” มีนายสุรทิน เลี่ยนอุดม นายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลตำบลรัษฎา ข้าราชการ พนักงานเทศบาลตำบลรัษฎา และประชาชนในตำบลรัษฎา เข้าร่วมงาน

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ชมการจัด หมรับ/จาด เพื่อสืบสานประเพณีงานเดือนสิบ นอกจากนี้ในงานมีการออก ร้านสาธิตและจำหน่ายอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ขนมเดือนสิบ ชมการสาธิตออกร้านสาธิตและจำหน่ายอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ขนมเดือนสิบ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ชมซุ้มนิทรรศการประเพณีเดือนสิบ ชมการแสดงบนเวที การประกวดแข่งขันการแต่งกายพื้นเมืองภูเก็ต การประกวดร้องเพลงไม่จำกัดอายุ เพศ และวัย

จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม 53 ซึ่งตรงกับวันสารทเดือนสิบ จะมีการแห่หมรับ /จาด ไปถวาย ณ วัดรัษฎาราม และที่พักสงฆ์เขากู้กู



SIPA จัดงานสานฝันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์


เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมเมอร์ลิน บีช รีสอร์ท ภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน ASIAN Software Alliance (ASA 2010) ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA จัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ชั้นนำต่างๆ สถาบันการเงิน นักลงทุนต่างชาติ อาจารย์ นักศึกษาและผู้สนใจต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต จำนวนประมาณ 200 คน

ในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาระหว่างนักลงทุน และผู้ประกอบการ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์และนักธุรกิจ กิจกรรมออกบูธจากบริษัทซอฟต์แวร์กว่า 20 บริษัท และนิทรรศการสาธิตให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Android และเทคโนโลยีสุดยอดจากบริษัท Apple iOS4 บนอุปกรณ์ iPhone iPad โดยผู้เชี่ยวชาญบริษัท แอปเปิ้ล เอเชีย อีกทั้งยังมีกิจกรรมสัมมนาเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS4 ให้กับผู้ประกอบการ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้เข้าใจในระบบปฏิบัติการ พร้อมกับแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับ การตลาด แนวโน้มทิศทางเทคโนโลยี ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจ เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ต่อยอดในธุรกิจของตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นเวทีสร้างเครือข่ายและพันธมิตรให้แก่ผู้เข้าร่วมงานในแวดวงซอฟต์แวร์ทั้งในและต่างประเทศด้วย

ทางด้านนาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า การจัดงาน ASIAN Software Alliance (ASA 2010) เพื่อเป็นการตอกย้ำศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่สมบูรณ์ และทัศนียภาพอันสวยงาม พร้อมที่จะรองรับนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการ ทั้งในและต่างประเทศ ในการที่จะมาลงทุน หรือประชุมเจรจาการค้าต่าง ๆ ในด้านเทคโนโลยี เสมือนเป็นเมืองสวรรค์ของนักลงทุนอีกแห่งหนึ่ง


ความเสี่ยงและท้าทาย...จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ห้องจามจุรี 2 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน สัมมนา “ธุรกิจและการท่องเที่ยวภูเก็ต: ความเสี่ยงและความท้าทาย...จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ได้รับผลกระทบ และเพื่อระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้นหาประเด็นความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายถาวร จิระพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชีย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Asian Cities Climate change Resilience Network -ACCCRN) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (The Rockyfeller Foundation) ซึ่งมีการดำเนินการ ใน 10 เมือง 4 ประเทศ ประกอบด้วย เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซียและไทย เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เมืองเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน โดยการประสานงานกันเป็นเครือข่าย มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและความร่วมมือระหว่างภาคีต่างๆระดับท้องถิ่นในการพัฒนายุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือและจัดการกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเมืองและประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางและมักจะได้รับผลกระทบรวมถึงต้องการความช่วยเหลือเป็นอันดับต้นๆ

ในส่วนของประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการร่วมกับเมืองนำร่อง 2 เมืองหลัก ประกอบด้วย เมืองหาดใหญ่และเมืองเชียงราย และอีก 3 เมืองเครือข่าย คือ เมืองภูเก็ต เมืองสมุทรสาคร และเมืองอุดรธานี โดยภูเก็ตเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามเป็นอันดับต้นๆของประเทศในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมหาศาล แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทีเกิดขึ้นในปัจจุบันย่อมส่งผลต่อการท่องเที่ยวภูเก็ตไม่มากก็น้อย เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในน้ำทะเล ส่งผลต่อปะการังและสิ่งมีชีวิต การเพิ่มระดับของน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งที่ส่งผลกระทบต่อที่ดินติดชายทะเล เป็นต้น เพราะหากไม่มีการดำเนินการใดๆ สถานการณ์ดังกล่าวก็ย่อมส่งผลต่อจังหวัดภูเก็ตทั้งต่อภาคประชาชน และภาคการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นายถาวรกล่าว

อบจ.ภูเก็ตติวเข้มผู้ไปฮัจญ์ ให้พร้อมทั้งกายและจิตใจ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ที่ห้องจามจุรี 1 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งทาง อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น ให้กับบริษัทแซะและผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ของจังหวัดภูเก็ต จำนวนประมาณ 200 คน

นายจีระศักดิ์ ท่อทิพย์ ที่ปรึกษานายก อบจ.ภูเก็ต และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้เพื่อให้ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดในด้านต่างๆ ตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติตน รวมทั้งการช่วยเหลือตนเองในคราวจำเป็นสำหรับการเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ที่กำหนดให้บุคคลที่มีความสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ โดยปราศจากอุปสรรคต่างๆ ได้แก่ เรื่องการเงินต้องไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว และสุขภาพต้องแข็งแรง

ในแต่ละปีมีชาวมุสลิมทั่วโลกไปประกอบพิธีฮัจญ์จำนวนมาก เนื่องจากการประกอบพิธีฮัจญ์ในแต่ละปีมีเวลาเดียวและอยู่ที่ในช่วงเวลาที่จำกัด ฉะนั้นหากผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ไม่ได้เตรียมตัวให้มีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ ความรู้และขั้นตอนในการปฏิบัติศาสนกิจของการประกอบพิธีฮัจญ์ อาจจะทำให้การประกอบพิธีฮัจญ์ไม่สมบูรณ์ นายจีรศักดิ์ กล่าวและว่า การจัดอบรมนั้นเพื่อให้ผู้เดินทางได้มีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทราบถึงขั้นตอนในการประกอบพิธีฮัจญ์ที่ถูกต้อง ได้ทราบแนวทางและวิธีปฏิบัติตนในเรื่องของสุขอนามัยในช่วงของการประกอบพิธีฮัจญ์ เตรียมความพร้อม รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และญาติที่ไปร่วมส่งผู้เดินทาง ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาของชาวมุสลิม

ขณะที่นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นบทบัญญัติหนึ่งของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้มุสลิมที่มีความสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ โดยปราศจากอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเงินต้องไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว และสุขภาพร่างกายต้องแข็งแรง ซึ่งถือว่าเป็นความยุติธรรมของหลักการที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานทรัพย์สินเงินทอง และสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ปีละจำนวนมาก