จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

กาชาดภูเก็ตมอบทุนการศึกษากว่า 2 แสนบาท

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 53 ที่บริเวณเวทีชั่วคราว หน้าสำนักงานกาชาดจังหวัดภูเก็ต นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางไทศิกา ไพรสงบ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการและสมาชิกเหล่าการชาดจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันแจกทุนการศึกษาเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต โดยมีนักเรียนจำนวน 106 ราย ผู้ยากไร้จำนวน 2 ราย เข้ารับทุนในวันนี้

ทั้งนี้นางไทศิกา ไพรสงบ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการแจกทุนการศึกษาในครั้งนี้ว่า ด้วยทางสำนักงานเหล่ากาชาด ได้มอบหมายให้สำนักเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดภูเก็ตได้ทำการสำรวจ และพิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดี แต่ยากจน เพื่อขอรับทุนการศึกษาจากเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต และจากการสำรวจปรากฏว่า มีนักเรียนที่ยากจนและขาดแคนขอรับทุนการศึกษาประจำปี พ.ศ.2553 มีจำนวนทั้งนี้ 106 ราย โดยแบ่งเป็นระดับประถมศึกษาจำนวน 56 ราย 56 ทุน โดยได้มอบทุนการศึกษาทุนละ 2,000 บาท เป็นเงิน 112,000 บาท ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปจำนวน 50 ราย 50 ทุน ทุนละ 3,000 บาท เป็นเงิน 150,000 บาท

นอกจากนี้ทางเหล่ากาชาดยังได้มอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้รายละ 2,000 บาท พร้อมถุงยังชีพ จำนวน 2 ราย คือ นายฉุน สันทอง และนางเพ็ญศรี ทองเดช และในโอกาสเดียวกัน ทางเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ตยังได้มอบเงินสนับสนุนชมรมอาสายุวกาชาด โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมค่ายอาสายุวกาชาด นำโดยนางสาวสดศรี ตันสุธัญลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย พร้อมสมาชิกชมรมเข้ารับมอบจำนวนเงิน 17,500 บาท โดยในการทุนการศึกษาพร้อมทั้งเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ และเงินสนับสนุนชมรมยุวกาชาดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 283,500 บาท

อบจ.ภูเก็ตร่วมเอกชนจัดโครงการร่วมใจดูแลสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 53 ที่บริเวณอ่าวฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการ ร่วมใจดูแลสิ่งแวดล้อม “Beautiful Ocean Forever in Phuket” ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาภูเก็ต ร่วมกับบริษัท วัชรมารีน จำกัด โดยมีผู้ประกอบการเรือในพื้นที่ฉลองเข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการเรือในพื้นที่ตำบลฉลอง เกี่ยวกับการดูแลและจัดการน้ำมันที่ไม่ใช้แล้วให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้น้ำมันส่งผลกระทบต่อทะเล พร้อมกันนี้ยังได้มีการส่งมอบถังที่ใช้รองรับน้ำมันที่ไม่ใช้แล้วจากเรือต่างๆ ในพื้นที่ฉลอง จำนวน 4 ถัง เพื่อเก็บรวบรวมน้ำมันที่ใช้แล้วนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้นางสาวกษิรา คู่อรุณ ผู้จัดการ บ.วัชรมารีน จำกัด ได้กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก และเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการการท่องเที่ยวทางทะเลเนื่องจากการทิ้งขยะ หรือน้ำมันลงทะเล และเมื่อสิ่งแวดล้อมเกิดเสียหายขึ้นมา นักท่องเที่ยวก็จะไม่เดินทางเข้ามา ก็จะเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบทุกด้าน ฉะนั้นเพื่อลดปัญหาและผลกระทบที่ต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทิ้งน้ำมันลงทะเล ทางบริษัทจึงได้เข้ามาให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกให้กับทางผู้ประกอบการเรือ ในการกำจัดน้ำมันที่ไม่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง โดยการนำน้ำมันที่ถ่ายออกจากเรือมาใส่ในถังรองรับที่ทางบริษัทจัดหาให้ ซึ่งในส่วนของท่าเทียบเรือฉลองนั้นตั้งไว้ 2 จุด ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และหลังจากนั้นทางผู้เกี่ยวข้องจะนำน้ำมันดังกล่าวไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป


เพิ่มความรู้ด้านการเมืองและส่งเสริมประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 53 ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง ภูเก็ต นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ สส.ระบบบัญชี จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติงานการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนจังหวัดภูเก็ต ปี 2553 กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้อ การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีนางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขานายกรัฐมนตรี นายทศพร เทพบุตร นายเรวัต อารีรอบ สส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมการอบรมจำนวน 350 คน

ทั้งนี้นายสมศักดิ์ สงนุ้ย พัฒนาการจังหวัดภูเก็ตได้กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติงานการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนจังหวัดภูเก็ต ปี 2553 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต ในด้านการพัฒนาการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้ยังให้ประชาชนชาวภูเก็ต มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในบทบาทหน้าที่ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การปกครอง ตลอดจนการสร้างความรัก ความสามัคคีและการปรองดองของคนในชาติและมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาการเมืองที่สุจริตธรรมในทุกระดับ

โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนจังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายของอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต จากทุกหมู่บ้านของจังหวัดภูเก็ตใน 90 หมู่บ้าน และอาสาพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ต, เทศบาลเมืองป่าตอง, เทศบาลเมืองกะทู้ จำนวนทั้งสิ้น 350 คน โดยหลักสูตรได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการบรรยายกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบบประชาธิปไตย และการแบ่งกลุ่มระดมสมองจากผู้เข้าร่วมประชุม ถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งรูปแบบ แนวทาง และวิธีการในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบบประชาธิปไตยในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดภูเก็ต สมาคมอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต ที่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้

ด้านนายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพ.ศ.2550 ได้บัญญัติให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนทุกภาคส่วน จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกด้าน ซึ่งถือว่าเป็นฐานรากสำคัญในการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข อีกทั้งการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนาประเทศ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเกิดความรักความสามัคคีในหมู่ประชาชนมีความปรองดอง นอกจากนี้จะเป็นการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ในด้านการพัฒนาการเมือง การบิหารจัดการบ้านเมืองที่ดี บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบุคลากร การเลือกตั้งอย่างสุจริตปราศจากการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐด้วย


ทน.ภูเก็ตจัดกิจกรรมครอบครัวผาสุก

ทน.ภูเก็ตจัดกิจกรรมครอบครัวผาสุก

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2553 ณ ห้องประชุมศูนย์ไอซีที นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ครอบครัวผาสุกรักษ์ป่าชายเลน ปี 2553” กิจกรรม Walk Rally ปลูกป่าชายเลน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล ผู้อำนวยกากอง ผู้ปกครองและเด็ก ร่วมในพิธี

นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้กล่าวว่า สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการหล่อหลอมชีวิตมนุษย์ให้เติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ปัจจุบันสถาบันครอบครัวไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่นสืบเนื่องมาจากค่านิยมทางวัตถุได้เข้ามาแทรกซึมในวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบัน แตกต่างจากสังคมและครอบครัวไทยในอดีต ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย จำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและพัฒนาส่งเสริมศักยภาพของครอบครัวสมัยใหม่ให้กลับมาเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง อันจะส่งผลให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ เป็นทรัพยากรที่สำคัญ ทรงคุณค่าของสังคมต่อไป

เทศบาลนครภูเก็ต เล็งเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว จึงได้จัดโครงการ “ครอบครัวผาสุกรักษ์ป่าชายเลน ปี 2553” โดยจัดให้มีกิจกรรม Walk Rally กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านครอบครัว และกิจกรรมครอบครัวปลูกป่าชายเลนขึ้น ณ บริเวณปลายแหลมสะพานหิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่งเสริมกิจกรรมการใช้เวลาว่างในครอบครัวให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับสมาชิกในครอบครัว และให้แต่ละครอบครัวได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนและสังสรรค์กับครอบครัวอื่นๆ โดยมีกิจกรรมที่มีประโยชน์เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์


วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

เสธ.หนั่นรับปากเร่งผลักดันสะพานคลองเกาะผี


เมื่อวันที่ 24 กันยายน 53 หอประชุมประดู่แดง โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทร์ภูเก็ต พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้างถนนสายหลักด้านใต้ ระยะทาง 600 เมตร โดยมี นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง นางธัญรัศม์ อัจฉริยะฉาย สว.ภูเก็ต นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายทศพร เทพบุตร สส.ภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายกรีฑา แซ่ตัน นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการเกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมให้การต้อนรับ และร่วมแสดงความคิดเห็น

โดยก่อนที่จะร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้างถนนสายหลักด้านใต้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ได้พร้อมด้วยนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ได้เดินทางไปที่ลานจอด เฮลิคอปเตอร์ สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต เพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินตรวจสภาพพื้นที่โครงการฯ ทางอากาศ

สำหรับโครงการก่อสร้างถนนสายหลักด้านใต้ เป็นโครงการสำคัญที่สามารถแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณถนนสายศักดิเดช และโรงเรียนหลายแห่ง นอกจากนั้น บริเวณสะพานหินยังเป็นสถานที่จัดงานรัฐพิธีและงานประจำปีต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ตอยู่เป็นประจำ ทำให้การสัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวคับคั่ง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการจราจรติดขัด โครงการก่อสร้างถนนสายหลักด้านใต้ได้ดำเนินการเสร็จแล้วไปส่วนใหญ่ คงเหลือระยะทางเพียง 600 เมตร ที่ต้องตัดผ่านป่าชายเลนคลองเกาะผี พื้นที่ หมู่บ้าน 1 ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าชายเลนยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม พล.ต.สนั่น ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของการมีถนนสายดังกล่าว ภายหลังบินสำรวจสภาพพื้นที่โครงการฯ ทางอากาศ และหลังจากที่ได้มีการร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ว่า ตอนนี้ประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เปิดโอกาสให้แล้ว โดยได้แก้ไขประกาศฉบับนี้ให้เป็นของจังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะ ซึ่งก็แสดงว่ากระทรวงฯ ก็เห็นชอบด้วยแล้ว ดังนั้นตอนนี้ก็ติดอยู่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจะต้องไปชี้แจงท่านให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะให้โครงการฯ ดังกล่าวเกิดขึ้น

นอกจากนี้ พล.ต.สนั่น ยังได้กล่าวย้ำถึงความเป็นไปได้ต่อไปด้วย จากสภาพพื้นที่ที่ลงไปดูเป็นป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม แล้วพื้นที่ป่าชายเลนก็เหลือน้อยมาก ดังนั้นถ้าเราให้ทำถนนเส้นนี้ก็สะดวกต่อพี่น้องชาวภูเก็ตอย่างมาก ซึ่งตนมั่นใจ 99.9% ว่าโครงการฯ นี้จะเกิดขึ้นได้แน่นอน

“ทางผู้ว่าฯ ก็ต้องรีบเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไป ก็ตามขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1.คือเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม 2.ให้ผ่าน EIA แล้วขั้นตอนที่ 3.ก็นำเข้าคณะรัฐมนตรี ถ้าทางจังหวัดทำไปเร็วก็น่าจะได้ ไม่เป็นไรผมจะไปเร่งให้” พล.ต.สนั่น กล่าว


กรุงศรีฯเสริมความรู้ลูกค้ารับมือสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน


เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน ภูเก็ต บีช รีสอร์ท อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนา “KRUNGSRI Journey of Opportunities : เส้นทางแห่งโอกาส” โดยมี ผู้บริหารของธนาคารฯ นำโดยนายพิริยะ วิเศษจินดา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเครือข่ายการขาย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผู้ประกอบการ นักธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียงเข้าร่วม ทั้งนี้มี ดร.วรพล โสคติยานุกรักษ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บรรยายเรื่อง กระจกส่องเศรษฐกิจไทย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) บรรยาย เรื่อง เส้นทางแห่งความสุข บนถนนธุรกิจ และการเสวนาหัวข้อ “เปิดมุมมองเศรษฐกิจไทยพุ่งแรงแจ้งเกิด จริงหรือ” โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงิน การท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนการรับมือและการสร้างโอกาสให้แก่ลูกค้าของธนาคารได้รับแง่คิดจากหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับมหภาคและจุลภาค

นายพิริยะ วิเศษจินดา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเครือข่าย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคใต้ถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระแสความต้องการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตและการส่งออก จากความสำคัญดังกล่าว ทางธนาคารจึงได้ปรับการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งการเพิ่มจำนวนสาขา และตั้งศูนย์ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอี ส่งผลให้ธนาคารเป็นหนึ่งในผู้นำในการให้บริการทางการเงินในพื้นที่ดังกล่าว

นอกเหนือจากการให้บริการด้านการเงินโดยตรงแล้ว ธนาคารยังได้จัดกิจกรรมให้ความรู้และกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง และการจัดสัมมนา“KRUNGSR Jourent of Opportunities : เส้นทางแห่งโอกาส” เป็นกิจกรรมหนึ่งในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนมุมมองจากธนาคาร ภาครัฐและภาคเอกชนให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถวางแนวทางในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความตั้งใจของเครือกรุงศรีที่พร้อมเคียงข้างลูกค้าบนเส้นทางแห่งโอกาสสู่ความสำเร็จร่วมกัน นายพิริยะกล่าว


7 หมู่บ้าน/ชุมชนภูเก็ตรับเงินกองทุนแม่ของแผ่นดิน ปี 53

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงผู้นำหมู่บ้าน – ชุมชน ที่ได้รับคัดเลือกเข้ารับพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ปี 2553 จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ารับพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดิน ปี 2553 และผู้นำชุมชนที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ดีเด่นปี 2553 และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินของจังหวัด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่การขยายผลเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบศูนย์การเรียนรู้เอาชนะยาเสพติด ปัญหาสังคมและปัญหาอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน โดยกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ องค์กร ชมรม และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

นายพีรบูรณ์ ทองศิริเศรษฐ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหา โดยมีการคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับพระราชทานเงินกองทุนไปใช้เป็นทุนแรกเริ่มในการร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เรียกว่า “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” และได้กำหนดให้มีพิธีพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินขึ้นเป็นประจำทุกปี

สำหรับในปี 2553 ได้กำหนดขึ้นประมาณเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้มีการคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยมีปัญหาด้านยาเสพติดและสามารถแก้ไขปัญหาจนอยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมได้แล้ว เพื่อรับพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินประจำปี 2553 ตามที่สำนักงานคระกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนด จำนวนทั้งสิ้น 6 หมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่ บ้านบางชีเหล้า หมู่ที่ 2 ต.รัษฎา บ้านบางลา หมู่ที่ 3 ต.กะรน บ้านป่าสัก หมู่ที่ 4 บ้านลายัน หมู่ที่ 6 ต.เชิงทะเล บ้านบางหวาน หมู่ที่ 1 ต.กมลา อ.กะทู้ และชุมชนน้ำตกกะทู้ เทศบาลเมืองกะทู้ และได้คัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน ที่เคยได้รับพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินและสามารถดำเนินกิจกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดินจนประสบความสำเร็จ มีความเข้มแข็ง ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนด ให้ได้รับพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2553 จำนวน 1 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านโคกมะขาม เทศบาลตำบลป่าตอง อ.กะทู้ นายพีรบูรณ์ กล่าวในที่สุด


ภูเก็ตใช้งบ 4 ล. พัฒนาค่ายลูกเสือ

ภูเก็ตใช้งบ 4 ล. พัฒนาค่ายลูกเสือ
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ที่ค่ายลูกเสือจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีเปิดป้ายค่ายลูกเสือจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายทศพร เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต นายณรงค์ หงษ์หยก ประธานชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.โกมล วัตรากรณ์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายประไพ รัตนไพจิต ผู้อำนวยการสำนักการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต ผู้บริหารสถานศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ลูกเสือ เนตรนารี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปลูกต้นยางนาบริเวณค่ายลูกเสือจังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่นให้แก่ค่ายลูกเสือแห่งนี้อีกด้วย

ทั้งนี้นายประไพ รัตนไพจิต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากเดิมค่ายลูกเสือแห่งนี้มีอาคารอยู่ 7 หลัง ปลูกสร้างเมื่อปี 2507 และขณะนี้อาคารทั้งหมดได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และมีอาคารหลังใหม่ปลูกสร้างขึ้นทดแทน นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด โดยได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาซึ่งในแต่ละปีมีเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถปรับปรุงพัฒนาได้ทั้งระบบ โดยค่ายลูกเสือแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดการเรียน การสอนและกิจกรรมกระบวนการทางลูกเสือมาโดยตลอด

จนกระทั่งในปี 2552 นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ตได้เล็งเห็นความสำคัญ ถึงความจำเป็นในการปรับปรุงพัฒนาค่ายลูกเสือแห่งนี้ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ในการใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย ยึดมั่นในชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 4 ล้านบาท ทำการปรับปรุงและพัฒนาค่ายลูกเสือจังหวัดภูเก็ตแห่งนี้จนแล้วเสร็จดังกล่าว

ปัจจุบันค่ายลูกเสือจังหวัดภูเก็ตมีเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ 2 งาน มีอาณาเขตติดต่อทิศเหนือ จรดเขาโต๊ะแซะ ทิศตะวันออก จรดสำนักบริหารยุทธศาสตร์และสำนักงานบูรณาการการศึกษาที่ 10 ทิศตะวันตก จรดเขาโต๊ะแซะ ทิศใต้ จรดเขาโต๊ะแซะและที่ราชพัสดุ


วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ที่ดินเปิดอาคารสถานที่ละหมาด

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีเปิดอาคารสถานที่ละหมาด สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต พร้อมมอบโล่ให้กับ ส.ต.อ.โกมล ดุมลักษณ์ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต ที่ได้บริจาคเงินก่อสร้างอาคารสถานที่ละหมาดดังกล่าวจนแล้วเสร็จ เป็นมูลค่า 1,150,000 บาท โดยมีนายจุฑา ดุมลักษณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา นายมาโรช ทองย่อน รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต นายไพฑูรย์ เลิศไกร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต นางวรางคณา สุจริตกุล รองผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ภาค 8 ตลอดจนอิหม่าม และพี่น้องมุสลิมในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมในพิธี

ทั้งนี้นายไพฑูรย์ เลิศไกร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเพื่อสร้างอาคารสถานที่ละหมาดดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากในการให้บริการของสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตในแต่ละวันจะมีพี่น้องมุสลิมมาติดต่อราชการเป็นจำนวนมาก และจากการประชุมสัมมนาของเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ได้มีผู้เสนอให้จัดสถานที่ละหมาดไว้ให้กับผู้รับบริการที่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งตรงกับความต้องการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ตที่ได้มีการร้องขอ และประกอบกับบริเวณใกล้เคียงสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไม่มีมัสยิด

สำนักงานที่ดินจึงจัดทำโครงการสร้างอาคารสถานที่ละหมาดขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก ส.ต.ท.โกมล ดุมลักษณ์ บริจาคก่อสร้างทั้งหมดจนแล้วเสร็จ เป็นมูลค่า 1,150,000 บาท และส่งมอบเพื่อใช้ในราชการสำนักงานที่ดิน

ด้านนายมาโรช ทองย่อน รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวขอบคุณกับทางราชการที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของหลักปฏิบัติของพี่น้องชาวมุสลิม ได้จัดสร้างอาคารสถานที่ละหมาดหลังนี้ขึ้นมา ซึ่งได้รับการบริจาคก่อสร้างจาก ส.ต.อ..โกมล ดุมลักษณ์ เป็นเงินจำนวน 1,150,000 บาท ซึ่งตรงกับความต้องการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ตที่ได้มีการร้องขอ

อย่างไรก็ตามตนขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เจ้าพนักงานจังหวัดภูเก็ต และ ส.ต.อ.โกมล ดุมลักษณ์ ที่ได้ช่วยกันผลักดันให้เกิดอาคารสถานที่ละหมาดหลังนี้ขึ้นในสถานที่ราชการอย่างสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องมุสลิมที่มาติดต่อราชการ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในแต่ละวันมีจำนวนมาก


กีฬาสีโรงเรียนวัดศรีสุนทร

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 53 ที่ โรงเรียนวัดศรีสุนทร (มิตรภาพที่ 15) นายธำรง ตันติวิรัชกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุนทร อ.ถลาง ภูเก็ต เป็นประธานเปิดในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬายุวชนต้านยาเสพติด “ชมพูเทาเกมส์” ครั้งที่ 15ของโรงเรียนวัดศรีสุนทร โดยมี นายประสิทธิ์ สนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดภูเก็ต นายศุภกร ทัพเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีสุนทร รวมทั้งครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักเรียน นักกีฬาเข้าร่วมในพิธีเปิดในครั้งนี้

ทั้งนี้นายธำรง ตันติวิรัชกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุนทร กล่าวว่า การจัดการแข่งขันกีฬายุวชนต้านยาเสพติดในครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ในด้านการกีฬา ทักษะในการแข่งขันกีฬา กรีฑา การฝึกสอน การตัดสินและการเชียร์กีฬา สร้างเสริมความรักความสามัคคีเป็นหมู่คณะ เสริมสร้างความมีระเบียบ วินัย ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา และที่สำคัญเพื่อให้นักเรียนและเยาวชนได้ใช้กีฬาเป็นเกราะป้องกันต่อต้านยาเสพติดซึ่งเป็นมหันตภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติในปัจจุบัน

สำหรับประเภทของกีฬาในการแข่งขันครั้งนี้ประกอบด้วย ฟุตบอล เซปัค – ตะกร้อ เปตอง และกรีฑา โดยมีหน่วยงานร่วมทำการแข่งขันประกอบด้วย นักศึกษานอกโรงเรียน กลุ่มอสม.ตำบลศรีสุนทร นอกจากนี้การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นั้นเป็นการคัดเลือกนักกีฬาเป็นตัวแทนของโรงเรียนเป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันกรีฑานักเรียน เยาวชนและประชาชนจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย


พลังงานติวเข้มผู้ประกอบการก๊าซ LPG

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 ที่ห้องใบเรือ โรงแรมโบ๊ทลากูน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายจิรศักดิ์ ธรรมเวช พลังงานจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา เรื่อง ความปลอดภัยในการใช้ก๊าซ LPG ณ สถานที่ใช้ก๊าซในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากพนักงานโรงแรม โรงงาน ห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลซึ่งมีการใช้ก๊าซในการประกอบการเข้าร่วมจำนวนประมาณ 150 ราย

นายจิรศักดิ์ ธรรมเวช พลังงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก มีธรรมชาติที่สวยงาม นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวปีละหลายล้านคน ทำให้ภูเก็ตมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามภาวการณ์เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้ก๊าซ LPG ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในโรงแรม โรงงาน ห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาล

สำหรับสำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลความปลอดภัยในการใช้ก๊าซ LPG ในสถานประกอบการต่างๆ หากเกิดการรั่ว เกิดเพลิงไหม้ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตด้วย ดังนั้นจึงได้มีการจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการที่ใช้ก๊าซ LPG มีความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจในระเบียบข้อกฎหมาย การขออนุญาต การป้องกันและระงับอัคคีภัย ตลอดจนให้ประชาชนผู้ใช้บริการมีความปลอดภัยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน นายจิรศักดิ์กล่าว


บรรยากาศงานวันเดือนสิบวัดพระทอง


เมื่อวันที่ 23 กันยายน 53 ที่บริเวณวัดพระทอง ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันประกอบพิธีเนื่องในงานประเพณีวันสารทเดือนสิบหรือบุญแรก โดยในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หรือวันพระใหญ่ของเดือน อีกทั้งเพื่อต้อนรับการเข้าสู่งานประเพณีเดือนสิบ (วันแรม 1 ค่ำ-15 ค่ำข้างแรม เดือน 10) โดยในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างก็ได้นำอาหารคาว หวานมาถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรดาญาติๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว

แต่ที่ขาดไม่ได้นั้นก็คือ ขนมที่ใช้ในงานเดือนสิบ เช่น ขนมท่อนใต้ ขนมเทียน ขนมรา ขนมต้ม นอกจากนี้ภายในวัดยังได้มีการออกร้านจำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องใช้ และอาหารประเภทต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ทางวัดยังได้จัดสถานที่ให้กับชาวไทยใหม่ หรือชาวเล ที่เดินทางมารับทานซึ่งเมื่อชาวบ้านได้ทำบุญแล้วได้ทำทานด้วย ทำให้บรรยากาศงานวันสารทเดือนสิบภายในวัดคึกคักเต็มไปด้วยประชาชนที่เดินทางมาทำบุญ

สำหรับประเพณีวันสารทเดือนสิบของภาคใต้ เป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง และบุคคลอื่นๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับในจังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดงานวันสารทเดือนสิบ ขึ้น 3 ครั้ง โดยในครั้งแรก ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 โดยที่จะใหญ่ก็จะเป็นที่วันพระทอง ต.เทพกระษัตรี ส่วนครั้งที่ 2 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 หรือวันที่ 1 ตุลาคม 53 โดยจะจัดใหญ่ที่วัดเทพกระษัตรี หรือวัดบ้านดอน ต.เทพกระษัตรี จากนั้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะเป็นวันสารทเดือน 10 ใหญ่

โดยทุกวันจะจัดให้มีงานบุญอันยิ่งใหญ่ทุกวัด ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 53 โดยวันสารทเดือนสิบจะถือคติว่า พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรกหรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ใน


วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

รพ.มิชชั่นซ้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากอัคคีภัย


เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 22 กันยายน 2553 ที่ตึกผู้ป่วยในโรงพยาบาลมิชชั่น ภูเก็ต ได้จัดโครงการฝึกอบรมการป้องกันและระงับอัคคีภัยและเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจากอาคารแก่พนักงานโรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต ประจำปี 2553 มีนางสาวสุจิตรา เสมอมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต เป็นประธานในการฝึกอบรม และมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของทางโรงพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครภูเก็ต นำรถดับเพลิงเข้าร่วมการฝึกซ้อมในครั้งนี้

ทั้งนี้นางสาวสุจิตรา ได้กล่าวว่า อัคคีภัยไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ ล้วนเป็นภัยที่ร้ายแรงเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมก่อให้เกิดอันตรายและความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ประกอบกับโรงพยาบาลเป็นสถานประกอบการประเภทบริการสาธารณะ ที่มีพนักงานและผู้มาใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ทางคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงภยันตรายหรือความสูญเสียแก่ชีวิตร่างการและทรัพย์สิน จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมการป้องกันและระงับอัคคีภัย และเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจากอาคารแก่พนักงานโรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต ประจำปี 2553 ขึ้น

โดยได้สมมุติเหตุการณ์ว่าเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นที่ห้องควบคุมระบบไฟฟ้า ชั้นที่ 4 ตึกผู้ป่วยใน ทำให้มีไฟลุกไหม้ขึ้น โดยทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งแจ้งไปยังหน่วยป้องกันและบรรเทาสาถารณภัยเทศบาลนครภูเก็ต เพื่อขอเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยรถดับเพลิง เพื่อมาดับเพลิงในครั้งนี้ นอกจากนี้ในบริเวณดังกล่าวได้มีผู้ป่วยอยู่ภายในห้องหลายห้อง จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำเวรเปล และหน่วยงานอื่นเข้าทำการช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากห้องไปยังที่ที่ปลอดภัย


เพิ่มทักษะงานคุ้มครองผู้บริโภคให้จนท.รัฐและ อปท.



เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ที่โรงแรมโบ๊ทลากูน รีสอร์ท แอนด์สปา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มทักษะการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคแห่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยมี นายพีรบูรณ์ ทองศิริเศรษฐ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในระดับอำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และพนักงานเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หน่วยงานที่ดำเนินงานในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าร่วม

นายพีรบูรณ์ กล่าวว่า นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานในเชิงรุก เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม หากทุกภาคส่วนมีการประสานความร่วมมือกันในการดำเนินงานก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม และมีนโยบายเชิงรับในการสนับสนุนกลไกต่างๆ เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภค โดยการกระจายอำนาจให้กับกลไกต่างๆ ในจังหวัดและท้องถิ่น เพื่อดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ พิจารณาช่องทางที่จะสนับสนุนกลไกต่างๆ

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2552 เพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานร้องทุกข์ของหน่วยงานในระดับจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และกำนันผู้ใหญ่บ้านมีศักยภาพในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียนให้คำปรึกษาแนะนำ ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบการธุรกิจและให้ความเป็นธรรมจากผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการธุรกิจ รวมทั้งประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายหน่วยงานในการส่งเสริมประชาสัมพันธ์งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคสู่ชุมชน หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในทุกชุมชนรับรู้ข่าวสาร รับทราบถึงสิทธิของผู้บริโภค และสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับต่างๆ ให้สามารถดำเนินการ เรื่องราวร้องทุกข์ และสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างเต็มความสามารถ รวมถึงเพื่อให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญและบทบาทหน้าที่การดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ


“สืบสาน เล่าขาน ภูมิปัญญาชาวราไวย์ ครั้งที่ 3”

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ที่ศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ราไวย์ วัดสว่างอารมณ์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางสุดาวดี เตชานันท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสวัสดิการสังคม อดีตนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน “สืบสาน เล่าขาน ภูมิปัญญาชาวราไวย์ ครั้งที่ 3” พร้อมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับตัวแทนสมาชิกศูนย์ 3 วัยฯ หมู่ที่1 ถึงหมู่ที่ 7 ตามโครงการสร้างเสริมสุขภาพ 3 วัย 3 มิติ และมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับหมู่ที่ 5 ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการหมู่บ้าน “ครอบครัวผาสุก” ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว งบประมาณแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553 และเยี่ยมชมกิจกรรมของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ โดยมีนายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ นายกรีฑา แซ่ตัน นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต นายวีระ กาวิเศษ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อน ศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ราไวย์ ฝ่ายบริหาร สมาชิกสภาฯ ข้าราชการเทศบาลตำบลราไวย์ หน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง ประชาชนตำบลราไวย์และใกล้เคียงเข้าร่วม

นายวีระ กาวิเศษ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัวราไวย์ กล่าวว่าสืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมรวบรวมภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ และผู้มีภูมิรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในท้องถิ่นของราไวย์ทั้งด้านอาหารพื้นเมือง ศิลปะการแสดง หัตถกรรม แพทย์แผนไทย วิถีชีวิตชาวไทยใหม่ โดยได้มีการถ่ายทอดให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก ซึ่งการจัดงานที่ผ่านมาประชาชนได้ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดกระแสการสรรหา ผู้ที่มีภูมิรู้ในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และสิ่งที่เกิดต่อเนื่องจากกิจกรรมปีที่ผ่านมา คือ สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้เห็นความสำคัญของดีที่มีอยู่ในชุมชน โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการถ่ายทอดของผู้สูงอายุในชุมชน เช่น การรำกาหยง รองแง็ง จักรสาน อาหารพื้นเมืองภูเก็ต เป็นต้น จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของเหล่าผู้สูงอายุซึ่งถือว่าเป็นหลักชัย มีคุณค่าต่อสังคมแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น

สำหรับตำบลราไวย์ มีประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนาร้อยละ 61 ศาสนาอิสลามร้อยละ 36 และอื่นๆ ร้อยและ 3 ด้านการศึกษา มีโรงเรียน 3 แห่ง มีศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน 1 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง ด้านการสาธารณสุขมี 2 แห่ง สถาบันและองค์กรทางศาสนามีวัด 2 แห่ง และมีมัสยิด 4 แห่ง ส่วนการจัดสวัสดิการสังคมและการสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันตำบลราไวย์มีผู้สูงอายุ 915 คน ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 860 คน เบี้ยยังชีพคนพิการ 132 คน และเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ 4 คน รวมถึงมีโครงการและกิจกรรมด้านการพัฒนาสังคมอีกหลายโครงการ

ขณะที่การดำเนินงานของศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ราไวย์ ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง คือ การเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยพ่อแม่ และวัยปู่ ย่า ตา ยาย และมีกิจกรรมที่บูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการให้บริการประชาชนแบบองค์รวม และคาดหมายว่าศูนย์ 3 วัยฯ แห่งนี้ จะเป็นศูนย์ต้นแบบและสามารถขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี