จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สภาป่าตองจ่าย 8 ล.ศึกษาอุโมงค์ใต้ดินถนนผังเมือง ก.


นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองป่าตองได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการโครงการนำสายไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ลงใต้ดินบริเวณถนนผังเมืองรวมสาย ก.ไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงชนบทได้อนุมัติงบประมาณผูกพัน 3 ปี ระหว่างปี 2554-2556 จำนวน 250 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนสายดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนของเทศบาลเมืองป่าตองจะต้องทำการศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการอุโมงค์ใต้ดินสาธารณูปโภครวมถนนผังเมืองรวมสาย ก. และทางสภาเทศบาลเมืองป่าตองได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมจำนวน 8 ล้านกว่าบาท เพื่อเป็นค่าศึกษาดังกล่าว ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 8 เดือน จากนั้นก็จะได้ดำเนินการผลักดันหางบประมาณในการก่อสร้างไปพร้อมๆ กับการทำถนน

“ปัจจุบันถนนผังเมืองรวมสาย ก.นับเป็นถนนเศรษฐกิจสายใหม่ของหาดป่าตองที่มีการขยายตัวด้านการลงทุนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พักอาศัย และการประกอบการค้าต่างๆ จึงทำให้ขณะนี้ความเจริญเติบโตขยายจากย่านถนนทวีวงศ์ซึ่งเป็นถนนหน้าชายหาดป่าตอง และย่านถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี มายังบริเวณถนนผังเมืองรวมสาย ก.มากขึ้น นอกจากนั้นยังส่งผลให้ราคาที่ดินขยับเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยบริเวณติดถนนผังรวมเมืองสาย ก. ราคาประมาณไร่ละ 60 ล้านบาท และหากระยะถัดไปจากริมถนนราคาไร่ละ 15-30 ล้านบาท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับทำเลของที่ดินแต่ละแปลงด้วย ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าธุรกิจต่างๆ ในป่าตองจะขยายมายังถนนสายดังกล่าวเพิ่มขึ้น”

นายเปี่ยน กล่าวด้วยว่า ในการนำสายไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ลงใต้ดินบริเวณถนนผังเมืองรวมสาย ก. จะใช้วิธีก่อสร้างอุโมงค์สำหรับรวบรวมระบบสาธารณูปโภคทั้งสายไฟฟ้า โทรศัพท์ และระบบการเดินสายอื่นๆ เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบในการดำเนินการประมาณ 460 ล้านบาท

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เส้นทางสายไหมนครชัยบุรินทร์ ที่โฮมเวิร์คภูเก็ต


เมื่อบ่ายของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ที่บริเวณชั้น 1 อีเว้นท์ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าโฮมเวิร์ค จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน “เส้นทางสายไหม นครชัยบุรินทร์ ผ้าไหมมรดกทางวัฒนธรรมอีสานใต้” โดยมีนายสมศักดิ์ สงนุ้ย พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต นางสายพิรุณ น้อยศิริ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา นางวิไลวรรณ ไกรโสดา พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ แขกผู้มีเกียรติ รวมถึงนักท่องเที่ยว ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ร่วมในพิธีเปิด และร่วมชมแฟชั่นโชว์ ชุดผ้าไหมอินเทรนด์ จากนางแบบมืออาชีพ และร่วมเยี่ยมชมการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ภายในงาน ซึ่งจะมีการจัดแสดงและจำหน่ายไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 นี้

นางสายพิรุณ น้อยศิริ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มียุทธศาสตร์ การพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ไหม เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดฯ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด มีอาชีพดั้งเดิมในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน สืบทอดกันมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และได้สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย ที่จำหน่ายในตลาดในประเทศ และตลาดสากล โดยในปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับไหม จำนวนมากกว่า 32,129 กลุ่ม และมีมูลค่าการจำหน่ายในปี 2553 จำนวน 4,697 ล้านบาท และมีเป้าหมายในปี 2554 ไม่ต่ำกว่า 4,800 ล้านบาท

การจัดงานเส้นทางสายไหมนครชัยบุรินทร์ ผ้าไหมมรดกทางวัฒนธรรมอีสานใต้ ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ซึ่งกำหนดให้มีการจัดงานและร่วมแสดงสินค้าระดับภาค 4 ครั้ง ในรูปแบบ Road Show 4 จังหวัดๆ ละ 5 วัน

โดยครั้งแรก จังหวัดชลบุรี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา บีช อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในระหว่างวันที่ 19-23 มกราคม 2554 ครั้งที่สอง จังหวัดพิษณุโลก ณ ลานหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี วันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ ครั้งที่สาม กรุงเทพมหานคร ณ ห้องเอ็มซีซีฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค วันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ และครั้งสุดท้าย ณ ชั้น 1 อีเว้นท์ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าโฮมเวิร์ค จ.ภูเก็ต จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2554

“ภายในงานมี การจำหน่ายผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ไหมพรีเมี่ยม และสินค้า OTOP ระดับ 4-5 ดาว ในราคาพิเศษ จาก จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ และ จ.สุรินทร์ มีการเดินแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมรูปแบบทันสมัย การแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการและการสาธิตการทอผ้าไหม ที่ผู้ร่วมงานสามารถสัมผัสถึงความวิจิต สวยงาม ของเส้นไหม และลายผ้าไหมได้อย่างใกล้ชิด”นางสายพิรุณ กล่าว และว่า

สำหรับการจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาส และช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการไหม อีกทั้งเพื่อส่งเสริมภูมิปัญญา และประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้า/ผลิตภัณฑ์ไหม และสินค้า OTOP ของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเพื่อเป็นการสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าการจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์ไหม นางสายพิรุณ กล่าวในที่สุด


สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องประชุมชั้น 12 โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต นาย ตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต และการบรรยายพิเศษ เรื่อง การส่งเสริมการลงทุน โครงการ SME (ฉบับใหม่ล่าสุด) โดยนาย สุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นางอรอนงค์ สุวัณณาคาร ประธานสภาฯ คณะกรรมการสภาฯ สมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีนาย ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และนางสาว สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ร่วมเป็นเกียรติด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการรับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต วาระปี 2553-2555, การกำหนดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 ในวันที่ 24 มีนาคม 2554 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ สรุปผลการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ในปี 2553 และการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี และกำหนดประโยชน์ทดแทน

นาย ตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีต่อคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ที่ได้ดำเนินการบริหารสภาอุตสาหกรรมอย่างเต็มความสามารถ ทุ่มเทเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับภาครัฐที่สนองตอบนโยบายรัฐบาลในหลายๆด้าน ที่ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคราชการมากขึ้น

สำหรับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 มีวัตถุประสงค์เข้าร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดภูเก็ตให้เจริญยิ่งขึ้น มีที่ทำการอยู่ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ถนนดำรง ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต ปัจจุบันมีสมาชิกสามัญจำนวน 41 ราย และสมาชิกสมทบ จำนวน 7 ราย


วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทน.มอบป้าย Clean Food Good Taste 28 แห่ง

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เป็นประธานในพิธีมอบป้าย CLEAN FOOD GOOD TASTE ตามโครงการสุขาภิบาลอาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนเศรษฐกิจไทย อาหารสะอาด รสชาติอร่อย ของเทศบาลนครภูเก็ต โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารในเขตเทศบาลที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 28 ร้าน เช่น ร้านโกตี๋สังกะสี, ร้านข้าวแกงเมืองลุง, ร้านจินฟ๊ะ เป็นต้น และยังมีโรงอาหารในโรงเรียนที่ผ่านมาตรฐานจำนวน 8 โรงเรียน

ทั้งนี้นางสาวสมใจ กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตมีภารกิจหลักในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคแก่ประชาชนโดยเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักสุขาภิบาลอาหาร ส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมสถานที่ปรุงประกอบจำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้รับอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ดั้งนั้นเทศบาลนครภูเก็ตจึงดำเนินการโครงการอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (CLEAN FOOD GOOD TASTE) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการบริโภคอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ซึ่งมีสาเหตุมาจากร้านจำหน่ายอาหาร เพื่อส่งเสริมการจัดบริการอาหารในแหล่งท่องเที่ยวให้ถูกสุขลักษณะ โดยมีการบริการอาหารที่สะอาด ปลอดภัย แก่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เทศบาล จัดบริการด้านอาหาร และสิ่งแวดล้อม ในแหล่งท่องเที่ยวให้ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

สำหรับการดำเนินงานตามโครงการอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (CLEAN FOOD GOOD TASTE) กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครภูเก็ต ดำเนินการโดยจัดให้มีบุคลากรตรวจประเมินร้านจำหน่ายอาหารในเขตเทศบาลนครภูเก็ต โดยมีหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ในการตรวจประเมิน ดังนี้ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานทางกายภาพ ตามข้อกำหนดสถานที่ปรุง ประกอบ จำหน่ายอาหาร จำนวน 15 ข้อ และเกณฑ์มาตรฐานทางแบคทีเรีย โดยการตรวจโคลิฟอร์มแบคทีเรียอย่างง่าย ด้วยน้ำยา SI-2 จำนวน 10 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ตัวอย่างอาหาร 5 ตัวอย่าง ตัวอย่างภาชนะ 3 ตัวอย่าง ตัวอย่างมือผู้สัมผัสอาหาร 2 ตัวอย่าง โดยผลการตรวจ จะต้องไม่พบสารปนเปื้อนของแบคทีเรีย ร้อยละ 90 ขึ้นไปจึงจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จากนั้นเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการมอบป้ายสัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (CLEAN FOOD GOOD TASTE) ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร และทางเทศบาลจะดำเนินการตรวจประเมินทุก 2 เดือน

ทต.รัษฎารับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสุรทิน เลี่ยนอุดม นายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นประธานการประชุมประชาคม เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลรัษฎา ตามแนวทางที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ พนักงานข้าราชการ และประชาชนในเขตเทศบาลตำบลรัษฎาเข้าร่วมประมาณ 300 คน

สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้ได้โครงการ/กิจกรรมที่มาจากปัญหาและความต้องการของประชาชนสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2554-2557) และเพื่อให้เทศบาลตำบลรัษฎา สามารถจัดบริการสาธารณะต่างๆ ให้สนองตอบปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

นายสุรทิน เลี่ยนอุดม นายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา กล่าวว่า ด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนสามปี สำหรับใช้เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันเป็นการกำหนดรายละเอียดแผนงานโครงการพัฒนาที่จัดทำขึ้น สำหรับปีงบประมาณแต่ละปี ซึ่งมีความต่อเนื่องและเป็นแผนก้าวหน้าครอบคลุมระยะเวลาสามปี โดยมีการทบทวนเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดให้จัดทำและทบทวนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนก่อนงบประมาณประจำปี และให้นำปัญหาและความต้องการของประชาชนมาพิจารณาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“แผนพัฒนาถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารงานเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่วางไว้ เนื่องจากการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถปฏิบัติงานและให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้นการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นที่ดี จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหา และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนในท้องถิ่น โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ และเต็มศักยภาพ”

นายสุรทิน กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่ประชาชนนำเสนอนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการตั้งที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ป่าชายเลนทำให้ทางเทศบาลฯ ไม่สามารถที่จะจัดสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ได้เนื่องจากติดมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำเรื่องของโฉนดชุมชน ซึ่งในส่วนของเทศบาลฯ พร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณเขามาแก้ปัญหาให้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของไฟฟ้าและนำประปาแม้ว่าในแต่ละปีก็จะมีการจัดสรรงบประมาณในการขยายเขตน้ำประปาไว้ 3-4 ล้านบาท และการขยายเขตไฟฟ้าปีละประมาณ 4-5 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอเนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในส่วนของปัญหาที่มีการนำเสนอในที่ประชุมส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องของไฟฟ้า ประปาไม่เพียงพอ ปัญหาขยะ ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของรัฐ ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาอุบัติเหตุจราจร และอื่นๆ ซึ่งล้วนต้องการให้เทศบาลได้เข้าไปดูแลและแก้ไขอย่างจริงจัง

อบจ.ภูเก็ต ใช้งบ 7.9 ล.ทำแนวปะการังเทียม


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ที่บริเวณอ่าวบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานเปิดโครงการจัดสร้างแนวปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2 บริเวณอ่าวบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง และบริเวณอ่าวกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ ซึ่ง อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ. ภูเก็ต) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทัพเรือภาคที่ 3 กรมประมง กรมขนส่งทางน้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับการวางแนวปะการังเทียมในครั้งนี้ใช้งบประมาณในการดำเนินการ 7,996,000 บาท จัดสร้างแท่งคอนกรีต จำนวน 1,630 แท่งวางในเขตพื้นที่อ่าวบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และพื้นที่อ่าวกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต รอบแนวชายฝั่ง 3,000 เมตร เพื่อป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการังและระบบนิเวศชายฝั่ง ลดความเสียหายของแนวปะการัง จากอวนลาก อวนปั่นไฟและฟื้นฟูแนวปะการัง รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สำหรับให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ ซึ่งการดำเนินดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งประกอบอาชีพประมง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งดำน้ำของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต

นายไพบูลย์ กล่าวว่า โครงการจัดวางแนวปะการังเทียม ระยะที่ 2 จัดทำขึ้นเพื่อร่วมกันฟื้นฟูและรักษาแนวปะการังธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกจนได้รับสมญานามว่าไข่มุกอันดามัน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีชายหาดสวยงาม มีน้ำทะเลที่ใสสะอาด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจ สัตว์สวยงาม และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจำนวนมาก แต่เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมายังขาดการจัดการวางแผน ควบคุมใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ทำให้การรักษาความสมดุลทางธรรมชาติไม่ดีพอ จนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวปะการังชายฝั่งทะเลที่ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง

“แนวคิดในการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งทำการประมง และยังจะช่วยยืดระยะเวลาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำไปสู่การรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและได้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืน และเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน สร้างความมั่นคงและหลักประกันในด้านความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนในจังหวัดภูเก็ตได้เป็นอย่างดี” นายไพบูลย์กล่าว

ไฟไหม้แค้มป์คนงานวอด 2 หลัง บาดเจ็บ 2 ราย


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 54 ร.ต.อ.ธาดา โสดารักษ์ ร้อยเวรสภ.เมืองภูเก็ต รับแจ้งว่ามีเหตุเพลิงไหม้ที่แค้มป์คนงานรักษาความปลอดภัยชื่อ “เพชร รักษาความปลอดภัย” ซอยสามัคคี 1 ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ขอให้เดินทางไปตรวจสอบด้วย หลังจากได้รับแจ้งจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จึงเดินทางไปตรวจสอบพร้อมด้วย พ.ต.ท.จำรูญ พลายด้วง รองผกก.สส.เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเทศบาลนครภูเก็ต 1 คัน เจ้าหน้าที่วิทยาการเขต 44 ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต

ที่เกิดเหตุเป็นแค้มป์คนงาน กั้นด้วยสังกะสี เห็นเพลิงกำลังโหมไหม้อย่างหนัก เจ้าหน้าที่เร่งสกัดเพลิงเพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังบ้านที่เรือนที่อยู่ข้างเคียงแต่ไม่เป็นผล เพลิงได้โหมไหมไปยังบ้านที่อยู่ติดกัน 2 หลัง ได้รับความเสียหายทั้งหลัง นอกจากนั้นยังพบว่ามีคนถูกไฟลวกได้รับบาดเจ็บ สาหัส 2 คน ทราบชื่อคือนายอนุชา ไม่ทราบนามสกุล อายุ 32 ปี (ถูกไฟคลอกทั่วร่าง) นายสงวน ไม่ทราบนามสกุล อายุ 32 ปี (ถูกไฟลวกบริเวณแขนเล็กน้อย) เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงสกัดกั้นเพลิงเอาไว้ได้

ทั้งนี้จากการสอบสวนที่พักดังกล่าวเป็นแค้มป์คนงานของบริษัทเพชรรักษาความปลอดภัย มีคนงานพักอยู่ 6 คน ก่อนเกิดเหตุนั้นทั้งหมดได้นอนหลับอยู่ในแค้มป์คนงานดังกล่าว จากนั้นได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นบริเวณกลางแค้มป์ ซึ่งเพลิงได้โหมไหมอย่างรวดเร็ว ทำให้เพลิงลุกลามไปยังบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ข้างเคียงได้รับความเสียหาย 2 หลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เบื้องต้นสาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดมาจากไฟฟ้าลัดวงจรส่วนสาเหตุที่แท้จริงเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้ให้เจ่าหน้าที่วิทยาการเขต 44 ภูเก็ต มาตรวจที่เกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ตร.ฉลองรวบเครือข่ายยาบ้า ได้ 4 ราย 1,535 เม็ด


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องประชุม สภ.ฉลอง อ.เมือง ภูเก็ต พ.ต.อ.วิชิต อินทรศร ผกก.สภ.ฉลอง พร้อมด้วย พ.ต.ท.ชวลิต เพชรศรีเปีย รองผกก.สส.พ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส.ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนายณัฐวัฒน์ หรือเอ็กซ์ เดชากุล อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44/3 ม.10 ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยของกลางยาบ้า 5 เม็ด นายพิเชษฐ์ หรือเบน ชอบดี อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39/1 ม.10 ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยของกลางยาบ้า 1,520 เม็ด นายอภิชาต หรือแป็ก ชอบดี อายุ 21 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39/1 ม.10 ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยของกลางยาบ้า 5 เม็ด นายวิทวัส เครืออินทร์ อายุ 21 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22/4 ม.10 ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยของกลางยาบ้า 5 เม็ด จึงนำตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการจับกุมในครั้งนี้ พ.ต.อ.วิชิต อินทรศร ได้กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้ระดมกวาดล้างยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในเชิงรุก จนกระทั่งพ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส. พร้อมด้วยชุดสืบสวน สืบทราบว่า นายณัฐวัฒน์ มีพฤติกรรมจำหน่ายยาเสพติด ซึ่งอยู่ในเครือข่ายรายใหญ่ของซอยยอดเสน่ห์ ม.10 ต.ฉลอง จึงได้ให้สายเข้าทำการล่อซื้อ จำนวน 5 เม็ด โดยนัดหมายส่งของบริเวณถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ต.ฉลอง หลังจากที่จับกุมนายณัฐวัฒน์ ได้แล้ว เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวมาสอบสวนและให้การรับสารภาพว่า ยาบ้าทั้งหมดได้รับมาจากนายพิเชษฐ์ เมื่อได้ข้อมูล ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ขอหมาย พร้อมทั้งเข้าทำการจับกุม ในขณะที่นายพิเชษฐ์ กำลังทาสีบ้านอยู่ในซอยยอดเสน่ห์ ต.ฉลอง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้นำตัวไปค้นบ้านพักเลขที่ 39/1 ม.10 ต.ฉลอง พบยาบ้า ซุกซ่อนอยู่ในบ้านจำนวน 1,520 เม็ด และในระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจค้นภายในบ้าน นายอภิชาต และนายวิทวัส ก็ได้เดินทางเข้ามาหานายพิเชษฐ์ ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าทำการตรวจค้น พบยาบ้าซุกซ่อนอยู่ในกางเกงในอีกคนละ 5 เม็ด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวทั้งหมดไปสอบสวนเพิ่มเติม ทราบว่าทั้งหมดเป็นเครือข่ายจำหน่ายยาบ้า โดยนำยาบ้ามาจากเมืองภูเก็ต มาจำหน่าย ในราคาเม็ดละ 350 – 400 บาท โดยจำหน่ายให้แก่วัยรุ่นมานานแล้ว

ภูเก็ตติวเข้มผู้ประกอบการรองรับการเปิดการค้าเสรี


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องบอลรูม โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารแรงงานเพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรี ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น ให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน

นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาจัดทำ List of Products ระบุประเทศไทยมีการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในการผลิตสินค้ากุ้ง อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานบังคับ แรงงานที่ใช้สัญญาผูกมัด และห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากการค้ามนุษย์ และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จัดทำเผยแพร่ TIP Repost 2010 ปรับลดระดับประเทศไทยจากระดับ 2 เป็นระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) คือ มีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็กในกิจการดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีความพยายามที่เด่นชัดและไม่เห็นว่าจะมีการแก้ปัญหาเพิ่มเติมในปีต่อไป นอกจากนี้ประเทศคู่ค้าของไทยหลายประเทศได้นำประเด็นแรงงานมาเป็นเงื่อนไขการค้า

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีแนวทางในการทำแผนการแก้ปัญหาระยะสั้นและยาว เช่น ประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งอนุสัญญาต่างๆ ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุง ออกกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่น กฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เป็นต้น และเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า จึงได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้ดังกล่าว เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับตัวและเตรียมแนวทางรองรับการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเหมาะสม ตลอดจนเพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานได้รับทราบสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นายกิตติพงษ์กล่าว

ขณะที่นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ (Free Trade Agrement : FTA) นับเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องสำคัญเพราะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการค้าและอาจนำไปสู่แนวโน้มของการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เมื่อมีการแข่งขันย่อมมีการนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้เพื่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น และมาตรฐานแรงงาน ก็คือมาตรการหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อการหยิบยกขึ้นมาใช้ในเชิงของการกีดกันในทางการค้า ซึ่งมาตรฐานแรงงานดังกล่าว คือ มาตรฐานของการจัดการด้านแรงงานที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบกิจการมีความรับผิดชอบทางสังคมมากน้อยเพียงไร

อ.เมืองภูเก็ตดึงนักศึกษาอบรม อส.ปกป้องสถาบัน


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องประชุมอาคารกาญจนาภิเษก อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครปกป้องสถาบัน (อสป.) ซึ่งทางฝ่ายปกครองอำเภอเมืองภูเก็ต จัดขึ้น โดยมีนายสุขสันต์ เสียงเอก ปลัดอาวุโส อำเภอเมืองภูเก็ต พ.ต.อ.โชติ ชิดไชย ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยี จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วม

นายสุขสันต์ เสียงเอก ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการอาสาสมัครปกป้องสถาบัน (อสป.) เพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีของคนไทย ซึ่งมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้รับการเผยแพร่ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอันจะยังประโยชน์แก่ประชาชนคนไทย รวมทั้งเพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมจารีตประเพณี โดยมีอุดมการณ์อาสาสมัครปกป้องสถาบัน ทั้งนี้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต สร้างความสมานฉันท์ รู้รัก สามัคคี เพื่อนำไปสู่ความเป็นปกติสุขของบ้านเมืองอย่างยั่งยืน และน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทั่วทั้งแผ่นดิน ซึ่งมีเป้าหมายในการจัดตั้ง อสป.ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 400 คนภายในปีงบประมาณ 2554

ขณะที่นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตในฐานะหน่วยงานความมั่นคงทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข จึงได้ร่วมกับอำเภอเมืองภูเก็ตจัดทำโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครปกป้องกันสถาบันขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างแนวคิดพื้นฐานที่ถูกต้อง ตามแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รณรงค์สร้างจิตสำนึกและผนึกกำลังคนของคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว

ด้วยการนำพระราชดำริและแนวพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นที่พึ่ง รวมทั้งการยึดถือเอาพระราชปณิธานของพระองค์ มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน การร่วมกันสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อันจะยังประโยชน์แก่ประชาชนคนไทย ให้มีความยินดีอยู่ดีเป็นปกติสุข ประเทศชาติมีแต่ความเจริญมั่นคงยั่งยืน รวมทั้งเพื่อให้ทุกคนร่วมมือเห็นความสำคัญของการปกป้องสถาบันที่ศักดิ์ของคนไทยทุกคน และเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นทท.เมาลงเล่นน้ำในทะเล คลื่นซัดขึ้นอืดชายหาด


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 54 พ.ต.ท.ยศพัฒน์ สุวรรณสิทธิ์ สารวัตรเวร สภ.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบศพชาวต่างชาตินอนเสียชีวิต คาดว่าน่าจะจมน้ำตาย เหตุเกิดที่บริเวณชายหาดบางเทา ม.5 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ภูเก็ต ขอให้เดินทางมาตรวจสอบด้วย หลังรับแจ้งก็ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สายตรวจ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต

ที่เกิดเหตุเป็นชายหาดอ่าวบางเทา มีโรงแรมสร้างเรียงรายจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นบริเวณที่ทางกลุ่มเรือหางยาว นำนักท่องเที่ยวไปตามเกาะแก่งต่างๆ นำเรือมาจอดเทียบท่า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางถึง พบศพผู้เสียชีวิตเป็นชาย นุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ อยู่บนพื้นทราบชายหาด แต่ไม่พบหลักฐานว่าผู้ตายเป็นใคร และไม่พบร่องรอย และบาดแผลจากการถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างไร ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้จัดทำบันทึกสถานที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะมอบศพผู้เสียชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิกุศลธรรม นำส่งรพ.ถลาง เพื่อให้แพทย์เวรได้ทำการชีนสูตรโดยละเอียดอีกครั้ง

ทั้งนี้จากการสอบถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงแรมแห่งหนึ่ง ก็ทราบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศล คือนาย danail medhurst อายุ 35 ปี ก่อนเกิดเหตุนาย danail และเพื่อนได้ออกไปเที่ยวที่บาร์เบียร์แห่งหนึ่ง บริเวณชายหาดบางเทา เมื่อเมาได้ที่ก็ได้เดินทางกลับที่พัก และในระหว่างนั้นนาย danail ได้ลงเล่นน้ำที่บริเวณชายหาด และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้คลื่นซัดจมน้ำไป เพื่อนก็ได้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ รปภ. เพื่อช่วยค้นหา แต่ก็ไม่พบ จนกระทั่งเช้า คลื่นก็ได้ซัดร่างของนาย danail มากองแน่นิ่งอยู่ริมชายหาดดังกล่าว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็จะได้ประสานไปยังสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อแจ้งญาติมารับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลทางศาสนาต่อไป

คนร้ายจี้ชิงทรัพย์แต่ขัดขืนถูกฟันด้วยมีดบาดเจ็บ


เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 54 พ.ต.ท.เอนก มงคล สารวัตรเวร สภ.เมืองภูเก็ต ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รพ.วชิระ ภูเก็ต มีชาวต่างชาติโดนทำร้ายร่างกายอาการสาหัส เหตุเกิดบริเวณถนนพังงา ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง ภูเก็ต ขอให้เดินทางมาตรวจสอบ หลังรับแจ้งก็ได้เดินทางไปตรวจสอบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.เมือง ภูเก็ต

เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางถึง ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ ว่า ทางแพทย์และพยาบาลก็ช่วยกันปฐมพยาบาลอยู่ภายในห้องฉุกเฉิน ทราบชื่อคือนาย Malkki Heikki Antero (มัลคกี้ เฮียกกี้ แอนเทโร) อายุ 59 ปี เป็นนักท่องเที่ยวชาวฟินแลนด์ ถูกฟันด้วยมีดเข้าที่แขนซ้ายได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร แพทย์ได้ทำการเย็บบาดแผลจำนวน 12 เข็ม

จากการสอบถามผู้เสียหายก็ทราบว่า ได้เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย ผ่านอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา มายังภูเก็ตด้วยรถโดยสาร มาถึงสถานีขนส่งจังหวัดภูเก็ต เมื่อเวลา 3 นาฬิกาเมื่อคืนที่ผ่านมา จากนั้นเดินด้วยเท้าจะไปพักที่โรงแรมออน ออน ซึ่งห่างจากบขส.ประมาณ 500 เมตร เมื่อเดินมาถึง 4 แยกถนนภูเก็ต ถนนพังงา ได้มีชาย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ ใช้มีดจี้บังคับจะชิงเอากระเป๋าสะพาย แต่ตนได้ขัดขืนพร้อมใช้ไม้เท้าตีที่คนร้าย ทำให้คนร้ายได้ใช้มีดดังกล่าวฟันเข้าที่แขนด้านซ้ายได้รับบาดเจ็บ จากนั้นคนร้ายขับขี่รถหลบหนีไปโดยที่ไม่ได้ทรัพย์สินไปแต่อย่างใด สำหรับรูปพรรณของคนร้ายที่ขับรถสวมเสื้อสีฟ้า นุ่งกางเกงขายาว สูงประมาณ 170 เซนติเมตร ส่วนคนซ้อนท้ายถือมีด สวมแจ๊คเก็ตดำ ร่างอ้วน สูงประมาณ 170 เซนติเมตร

ด้านพ.ต.ท.อเนก ได้กล่าวว่า สำหรับเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ น่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ออกตระเวนหาเหยื่อ เมื่อผ่านมาเจอจึงได้ลงมือดังกล่าว ส่วนบริเวณที่เกิดเหตุคงจะมีพยานที่เห็นเหตุการณ์ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ไปสอบถามในบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่บริเวณ 4 แยกที่เกิดเหตุ โดยผู้เสียหายเคยมาพักที่จังหวัดภูเก็ตมาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งนี้มาภูเก็ตเพื่อจะไปรับเพื่อนที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศที่สนามบิน แต่มาเจอเหตุถูกทำร้ายร่างกายเสียก่อน

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

“ทศพร” ช่วยแก้ต่าง “อัญชลี” กรณีเกี่ยวข้องน้ำมันปาล์ม

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องรับรอง ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายทศพร เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม และมีการออกมาระบุว่า ส.ส.ในส่วนของภาคใต้ รวมทั้งนางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม ว่า ในเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการกล่าวหาที่เลอะเทอะมาก เพราะกรณีครอบครัวคุณอัญชลีนั้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปาล์ม เฉพาะในส่วนที่เป็นเกษตรกรผู้ผลิตและมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เมื่อสกัดแล้วจะต้องรีบส่งให้กับทางโรงกลั่นภายในระยะเวลา 7-10 วัน จึงไม่สามารถเก็บสต็อกไว้ได้นานๆ เพราะจะทำให้มีกลิ่นหืน และหากมีการเติมสารเคมีก็จะเป็นการไปทำให้ต้นทุนในการกลั่นสูงขึ้น ส่วนกรณีที่ว่า ส.ส.ในภาคใต้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องยาก เพราะภาคใต้เป็นเพียงพื้นที่ในการปลูกเท่านั้น แต่ขั้นตอนในการกลั่นจะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง เพราะโรงงานกลั่นส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“เหตุที่น้ำมันปาล์มขาดแคลน เป็นผลต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วซึ่งเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักทำให้ผลผลิตปาล์มออกมาน้อย เนื่องจากเมื่อปลูกปาล์มแล้วจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือน จึงจะได้ผลผลิต ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็น่าจะทราบปัญหาดังกล่าวแล้วล่วงหน้า ส่วนตัวจึงคิดว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากกลไกของหน่วยงานภาครัฐผิดชอบ โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เห็นได้จากกรณีของการขาดแคลนอ้อยทำไมจึงมีการเตรียมรับมือได้”

นายทศพร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เท่าที่ทราบปริมาณน้ำมันปาล์มที่หายไปนั้นไม่น่าจะต่ำกว่า 50,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณมาก ไม่ทราบเหมือนกันว่าหายไปไหน ในส่วนนี้เชื่อว่าหากตรวจสอบกันอย่างจริงจังก็น่าจะทำได้เพราะในการผลิตนั้นมีกระบวนการหรือขั้นตอนอยู่แล้ว ส่วนการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศนั้นเห็นด้วยแต่ปริมาณที่เสนอให้มีการนำเข้า 120,000 ตัน ถือว่าสูงเกินไป ส่วนตัวคิดว่าน่าจะนำเข้าเพียงประมาณ 30,000-50,000 ตันก็น่าจะเพียงพอ เพราะในช่วงประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนี้ จะมีผลผลิตรอบใหม่ออกมา แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือผลผลิตรอบใหม่ในปีหน้าด้วย เนื่องจากขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งแล้วว่าจะเกิดภัยแล้งค่อนข้างยาว และจะตรงกับช่วงที่ปาล์มออกดอก ดังนั้นก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ภูเก็ตดึงงบอปท.จัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ


เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 28 (พ.ศ.2555) “ภูเก็ตเกมส์” โดยมีนายวิรัช พาที ผอ.การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต นายบัวยัญ สุวรรณมณี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต นายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต นายวีระพงษ์ ไวทยวงศ์สกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นายก คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่อปท.ต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้นายตรี ได้กล่าวว่า จากการที่ทางจังหวัดภูเก็ต ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 28 (พ.ศ.2555) หรือ “ภูเก็ตเกมส์” ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตและคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้กำหนดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 28 มีนาคม 2555 โดยมีการแข่งขันกีฬาจำนวน 28 ชนิด ประกอบด้วยกีฬาบังคับ 2 ชนิดกีฬาสากล จำนวน 24 ชนิดและกีฬาสาธิต 2 ชนิด นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ทั้ง 19 ฝ่าย

ส่วนความคืบหน้าของมาสคอตและตราสัญลักษณ์ในการจัดการแข่งขันนั้น ขณะนี้ตราสัญลักษณ์ ได้มีการออกแบบเป็นที่เรียบร้อย ส่วนตัวมาสคอตยังมีปัญหาในการใช้ตัวแบบไหน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอมาแล้ว 2 ชนิด แต่ทางคณะกรรมการยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้ตัวแบบไหนดี ซึ่งให้คณะกรรมการเร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนที่จะเดินทางไปรับธงในวันที่ 31 มีนาคม นี้

ในด้านของงบประมาณที่จะใช้ในการจัดแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 28 “ภูเก็ตเกมส์” นั้นจะต้องใช้งบประมาณจำนวน 130 ล้านบาท โดยงบประมาณในบางส่วนได้รับงบประมาณจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้กระจายให้กับในส่วนต่างๆ ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตยังขาดงบประมาณในการจัดการแข่งขัน จึงต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะมีปัญหาในการโอนงบประมาณ

ด้านนายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวกับที่ประชุมว่า ในการโอนงบประมาณจากท้องถิ่นให้กับส่วนราชการนั้น ทางท้องถิ่นสามารถที่จะให้การอุดหนุนได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เข้าอนุกรรมการ เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ในการอุดหนุนราชการทั่วไป หรือใช้การโอนงบประมาณ ซึ่งจะดูว่าอยู่ในอำนาจของนายก หรืออำนาจของสภา

ส่วนนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้เสนอในที่ประชุมว่า เพื่อป้องกันความผิดที่จะเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้โอนการทำงานในแต่ละส่วนให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบอปท.ต่างๆ เช่น สนามกีฬา หรือการจัดสถานที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้กำหนดการเดินทางไปศึกษาดูงานการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 27 อุตรดิตถ์เกมส์ และเข้าร่วมการแถลงข่าวถึงความพร้อมจัดการแข่งขันและรับธงการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ภูเก็ตเกมส์ ปี 2555 ต่อไป

จี้อบต.สาคู เร่งเก็บขยะ หวั่นขยะล้นเมือง


เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องประชุม 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (อาคารใหม่) ผู้ประกอบการร้านค้าบริเวณหาดในยาง ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวนประมาณ 100 ราย นำโดยนายสุรินทร์ โยธารักษ์ ได้ร่วมประชุมหารือกับนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนฤนาถ สุภัทรประทีป นายอำเภอถลาง นายประพันธ์ ขันท์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่อบต.สาคู ไม่จัดเก็บขยะมาเป็นเวลาร่วม 2 เดือน ส่งผลให้มีขยะตกค้างและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนการประกอบการและนักท่องเที่ยว

นายสุรินทร์ โยธารักษ์ ตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้าหาดในยาง กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการร้านค้าบริเวณหาดในยาง ซึ่งมีทั้งร้านค้าจำหน่ายอาหาร บาร์เบียร์ สินค้าที่ระลึกและอื่นๆ รวมจำนวนประมาณ 100 ราย ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขยะมูลฝอย เฉลี่ยมีขยะเกิดขึ้นวันละประมาณ 500 กิโลกรัม และนับวันจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขยะดังกล่าวไม่ได้รับการจัดเก็บจากองค์การบริหารส่วนตำบลสาคู ซึ่งหากยังปล่อยทิ้งไว้ก็จะส่งผลกระทบต่อการประกอบการและภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวบริเวณชายหาดในยาง

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้มีการจ่ายค่าเก็บขยะให้กับทางอบต.เป็นรายปี แต่มาในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ทางอบต.ไม่ได้เข้ามาจัดเก็บขยะ จึงอยากให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวประสานกับทางท้องถิ่นในการให้เข้าไปทำการเก็บขยะ และให้เพิ่มถังขยะให้เพียงพอกับปริมาณขยะด้วย”

รวมกลุ่ม-เชื่อมโยงอุตฯบาติกภูเก็ต


เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องแววราไวย์ โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเปิดตัว โครงการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมผ้าบาติกจังหวัดภูเก็ต และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานปี 2554-2558 ซึ่งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้บริษัท เอ็น.พี.ชินดังคอนซัลแท็นซ์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีนายสุราษฎร์ ฉิมพลีศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10, นายอภิชัย อมรพิสุทธิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต นายวีระพงศ์ ไวทยวงศ์สกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผ้าบาติกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ จำนวน 20 ราย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือนระหว่างเดือนธันวาคม 2553-สิงหาคม 2554

นายสุราษฎร์ ฉิมพลีศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ได้เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมผ้าบาติกเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้และยึดเป็นอาชีพหลัก รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศไทย ทั้งนี้ยังคงขาดแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการส่งเสริม สนับสนุน จากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นการรวมกลุ่มในลักษณะของคลัสเตอร์จึงเป็นแนวทางและเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผ้าบาติกให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้าบาติก รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาคลัสเตอร์ เกิดความตระหนักถึงความสำคัญและเข้าใจถึงกระบวนการของการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมผ้าบาติก และการดำเนินการของคลัสเตอร์ มีการกำหนดทิศทาง เป้าหมายและกลยุทธ์ รวมทั้งแผนปฏิบัติการ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม โดยการหาแนวทางร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ด้านการเพิ่มผลิตภัณฑ์และเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้วิสาหกิจสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นายสุราษฎร์กล่าว