จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Seaside Seafood ณ หาดราไวย์

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 54 ที่บริเวณหัวสะพานราไวย์ อ.เมือง ภูเก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ร่วมกับเทศบาลตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จัดกิจกรรม Seaside Seafood ณ หาดราไวย์ ซึ่งเป็นในกิจกรรมพิเศษของงาน เทศกาลอาหารทะเลภูเก็ต 2554 หรือ Phuket Seafood Fiesta 2011 เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม เน้นครอบครัวสุขสันต์ “ลูกพาแม่เที่ยวชิมอาหารทะเลภูเก็ต ณ หาดราไวย์” ชูเมนูอาหารทะเลของภูเก็ตที่โดดเด่น ทั้งความสด ความหลากหลายของร้านอาหารในพื้นที่เป็นจุดขาย เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยว พร้อมเชิญ “พล ตัณฑเสถียร” เชฟที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมาร่วมปรุงอาหารทะเลให้นักท่องเที่ยวได้ชิมด้วย
นางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า งาน Seaside Seafood ที่หาดราไวย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคมนี้ ระหว่างเวลา 17.00-22.00 น. ภายในงานมีกิจกรรมพิเศษสนุกสนานต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะวันที่ 12 สิงหาคม ตั้งแต่ 18.00 น.เชฟพล ตัณฑเสถียร จะปรุงเมนูหมี่ภูเก็ตผัดต้มยำลอปสเตอร์และเมนูหมี่หุ้นล๊อบสเตอร์สลัดสูตรพิเศษด้วยกุ้งมังกร ให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกันด้วย นอกจากนี้ทางชมรมหัวหน้าพ่อครัวภูเก็ตจะโชว์เมนูเด็ดเมนูดังของภูเก็ตวันละ 8 เมนู โดยเฉพาะเมนู “Phuket Lobster Thermidor” ที่ปรุงจากกุ้งมังกรเจ็ดสีถือเป็นสุดยอดอาหารที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวที่ได้เคยลิ้มลองมาแล้ว และในวันที่ 13 สิงหาคม จะมีการแสดงสดจากวงโฟร์กัสซั่มโดยฟอร์ด สบชัย ไกรยูรเสน, อู๋ ธรรพ์ณธร, เดียร์ A Cappella 7 และต้าร์ มิสเตอร์ทีม
“โดยตลอดทั้งสองวันผู้ที่เข้าร่วมชมงานยังจะได้อิ่มท้องกับอาหารทะเลราคาพิเศษจากร้านร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการเทศกาลอาหารทะเลภูเก็ตและร้านอาหารทะเลในชุมชนหาดราไวย์กับเมนูต่างๆ อาทิ ปลาเผาด้วยกาบมะพร้าว,BBQ กุ้ง ปลาหมึก ปลาสดๆ เป็นต้น รวมทั้งจะได้ตื่นตากับการแสดงผสมเครื่องดื่มประกอบลีลาและจัดโต๊ะอาหารแบบไทยและแบบตะวันตกโดยชมรมอาหารและเครื่องดื่มภูเก็ต รวมทั้งในส่วนของร้านอาหารบริเวณชายหาดยังพร้อมใจกันมอบส่วนลดอาหารให้นักท่องเที่ยวทั่วไปในช่วงวันงานด้วย เพื่อต่อยอดความสุขในวันพักผ่อนแก่นักท่องเที่ยวของภูเก็ตในช่วงนี้เพิ่มขึ้น” นางบังอรรัตน์กล่าว



ตักบาตรพระสงฆ์ 79 รูปในวันแม่แห่งชาติ


เมื่อเวลา 07.09 น.วันที่ 12 สิงหาคม 2554 ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 79 พรรษา โดยมีพระสงฆ์จำนวน 79 รูป ออกบิณฑบาต และมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน พ่อค้าและประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ พลเรือโทชุมนุม อาจวงษ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นายศุภศักดิ์ เยาว์วิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 8 นายปกรณ์ รัตนพิทย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต เป็นต้น
ต่อจากนั้นในเวลา 09.00 น. ที่ศาลาประชาคม อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการพลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน ได้ร่วมพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 79 พรรษา 12 สิงหาคม 2554

เตรียมมอบรถวีลแชร์ให้แก่คนพิการ


เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมชั้น 3 โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นพ.วิวัฒน์ คีตมโนชญ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายสงวน คุณาภร ผู้แทนสโมสรโรตารี่ทุ่งคา นายไวทฑ อุปัติศฤงค์ ผู้แทนสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และนายธนัช อุปัติศฤงค์ ร่วมกันแถลงข่าว “พิธีมอบรถวีลแชร์ให้แก่คนพิการ” โดยมีสมาชิกสภาอบจ.ภูเก็ต ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต มูลนิธิพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และสโมสรโรตารี่ทุ่งคา ดำเนินการจัดหารถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์สำหรับคนพิการที่ได้มาตรฐาน และสามารถวัดตัวเพื่อเลือกขนาดรถเข็นได้ จึงถือเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งของระบบการดูแลคนพิการ โดยเกิดจากความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้เล็งเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ของคนพิการ โดยได้จัดทำโครงการภูเก็ตแคร์ และโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในชุมชน ซึ่งได้เชื่อมต่อไปยังภาคีเครือข่ายอื่นๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่เข้ามาช่วยเหลือและเสริมสร้างสมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขณะเดียวกัน ทางองค์กรเอกชนได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยการบริจาครถเข็นแบบวีลแชร์ ตลอดจนสร้างทางลาดในที่สาธารณะต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ พร้อมทั้งพัฒนาภูเก็ตให้เป็นจังหวัดอินเตอร์ด้านการให้บริการผู้พิการต่อไป
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2554 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการค้นหาผู้พิการที่ต้องการรถวีลแชร์ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์และสโมสรโรตารี่ทุ่งคา 2 ประเภท คือ รถเข็น สำหรับคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ซึ่งต้องรัดตัวผู้พิการเป็นรายบุคคล ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จำนวน 30 ราย และรถวีลแชร์ชนิดหัวลาก สำหรับคนพิการที่ช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่ทุ่งคา จำนวน 27 ราย โดยกำหนดจัดพิธีมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทาน ในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ณ โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ซึ่งการมอบรถเข็นพระราชทานในครั้งนี้ ประกอบด้วย การประเมินเด็กและคนพิการที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ จากแพทย์และนักกายภาพบำบัด พร้อมทั้งคัดเลือกอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นเหมาะสมกับความพิการ โดยทีม RICD Wheelchair project อาสาสมัครต่างชาติ และเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ร่วมกันปรับอุปกรณ์รถเข็น เพื่อการใช้อุปกรณ์ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีความประสงค์ขอรับรถเข็น สามารถแจ้งได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งศูนย์ประสานงานอยู่ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ ในการนี้ จะต้องมีการวัดตัว ประเมินคนพิการ ถ่ายภาพประกอบ แล้วส่งไปยังสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มอบป้ายสนามเด็กเล่น


มอบป้ายสนามเด็กเล่น

คุณรักชนก อิทธินันทวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัทในเครือพนาสนธิ์ กรุ๊ป พร้อมด้วยคุณเจือจันทร์ พันธุ์วิกย์การ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทในเครือพนาสนธิ์ กรุ๊ป ให้การสนับสนุนป้าย “สนามเด็กเล่นบ้านชิดเชี่ยวหมู่5 ตำบลวิชิต” โดยมี นายกรีฑา แซ่ตัน นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต เป็นผู้มอบ เพื่อส่งมอบต่อให้แก่คณะกรรมการหมู่บ้านชิดเชี่ยว โดยมี นายอนุชา เอกวานิช ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนรับมอบ โดยการจัดทำป้ายในครั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงสถานที่สำหรับใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมกีฬาหมู่บ้าน กิจกรรมสันทนาการ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้ความรื่นรมย์ และนอกจากนี้ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2554 วันแม่แห่งชาติ ประชาชนหมู่บ้านชิดเชี่ยวร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต, โรงพยาบาลสิริโรจน์, โฮมเวิร์ค, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต ได้ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยร่วมแรงร่วมใจพัฒนาความสะอาดปรับปรุงภูมิทัศน์สนามเด็กเล่นให้สวยงามมากยิ่งขึ้น

อบต.เชิงทะเลปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ


เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 54 ที่สวนสาธารณะหาดสุรินทร์ หมู่ที่ 3 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต นายบำรุง สำเภารัตน์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ฝ่ายบริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 79 พรรษา
ทั้งนี้นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดินในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 79 พรรษา 79 แสนต้น ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสทรงพระชนมพรรษาครบรอบ 79 พรรษา
อบต.เชิงทะเล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของโครงการดังกล่าว จึงได้ให้มีการปลูกต้นไม้ ได้แก่ จิกทะเล หูกวาง ตะเคียนทอง แคนา จำปา ตำเสา พยอม และต้นหลุมพอ รวมทั้งหมด 500 ต้น ส่วนประชาชนที่ร่วมปลูกต้นไม้ ในโอกาสนี้ ประมาณ 500 คน ได้แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานโลตัส นักเรียน รวมทั้งสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในเขตพื้นที่ตำบลเชิงทะเลและศูนย์ประสานงานป่าไม้ภูเก็ต นายมาโนช กล่าว

ทัพเรือภาคที่ 3 จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล


เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 54 บริเวณชายหาด หน้ากองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง ภูเก็ต พลเรือโท ชุมนุม อาจวงษ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.พีรยุทธ การเจดีย์ รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ได้ร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติ ฯ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหา โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้นำองค์กรต่างๆ ประชาชน นักเรียน เข้าร่วมจำนวนมาก
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การปล่อยลูกเต่าทะเล จำนวน 80 ตัว พันธุ์ปลากะพงขนาด 4 นิ้ว จำนวน 2,009 ตัว และพันธุ์กุ้ง จำนวน 1 ล้านตัว นอกจากนี้ภายในบริเวณงานยังได้มีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องทะเลไทย นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดกำลังพลไปร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ณ พลับพลาที่ประทับพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บริเวณสะพานหิน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านอีกด้วย

อบจ.ภูเก็ต จัดงานวันแม่แห่งชาติ 2554


เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ที่ห้องพระพิทักษ์แกรนบอลรูม โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2554 และกิจกรรมวันแม่แห่งชาติประจำปี 2554 โดยมีนางนลินี อัครเดชา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต คณะผู้บริหารอบจ.ภูเก็ต สมาชิกสภาอบจ.ภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ และประชาชนทุกหมู่เหล่า เข้าร่วม
สำหรับงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2554 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตได้มีส่วนร่วมในการเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งให้บุตรหลานได้แสดงถึงความกตัญญูต่อแม่ผู้มีพระคุณ ส่งเสริมความรักและความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว รวมถึงยกย่องและประกาศเกียรติคุณแก่แม่ดีเด่นในจังหวัดภูเก็ต
โดยมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และกล่าวอาเศียรวาท เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ร้องเพลงสดุดีมหาราชา กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมด้านความกตัญญูของบุตรต่อบุพการี โดยลูกล้างเท้าให้คุณแม่ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “แม่ดีเด่น ประจำปี 2554” และปิดท้ายด้วยการแสดงของกลุ่มสตรีในจังหวัดภูเก็ต

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผวจ.ย้ำการทำหน้าที่คู่กับนักปกครอง


เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลาประชาคม จังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ประจำปี 2554 โดยมีนายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม โดยในช่วงเช้าได้มีการประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมทั้งมีการมอบเกียรติให้กับผู้ใหญ่บ้านและกำนันดีเด่นประจำปี 2554 ด้วย
จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันมอบนโยบายให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า วันนี้ 10 สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปีนี้ เป็นปีที่ 119 ปี ในวันนี้เมื่อ 119 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานกำเนิดสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยให้ราษฎรในหมู่บ้านเป็นผู้เลือกผู้ใหญ่บ้านของตนเองขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นตำแหน่งที่มีความเป็นมาอยู่คู่กับการปกครองและสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ และเป็นหัวหน้าราษฎรในตำบล หมู่บ้าน ช่วยปฏิบัติงานในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยการอำนวยความเป็นธรรม และการประสานดูแล ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความทุกข์ยาก และความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ซึ่งเป็นภารกิจที่ กว้างขวางและสำคัญยิ่ง
นายตรี กล่าวอีกว่า 36 ปี ในการทำงานของตน ตั้งแต่ปลัดอำเภอ นายอำเภอ จนกระทั่งเป็นรองผู้ว่าฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด หลายเรื่องของนักปกครองท้องที่ ปกครองจังหวัด เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาโดยตลอด ตั้งแต่ยังไม่มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สมัยก่อนมีสภาตำบล เราก็ทำงานคู่กันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นก็จะรู้ว่า เวลาพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนสิ่งแรกที่เขานึกถึงคือพวกเรา เพราะฉะนั้นเนื่องในวันครบรอบของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่คู่กับเรามาถึง 119 ปี สิ่งที่ตนอยากจะเห็น คือการที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่คู่กับนักปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอำเภอ ทำงานในลักษณะเป็นหูเป็นตา เป็นปากเป็นเสียง เป็นมือเป็นแขน เป็นเท้าแล้วก็เป็นมันสมองให้กับนายอำเภอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
กำนัน ผู้ใหญ่บ้านถือว่าเป็นนักปกครองท้องที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ในหมู่บ้านไม่มีใครที่จะรู้เท่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สิ่งที่เป็นนโยบายของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของยาเสพติด เป้าหมายการนำยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ในขณะนี้ คือเส้นทางสนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งเป็นสนามบินที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เพราะฉะเรื่องของสนามบินจะต้องให้ความสำคัญ อยากจะให้ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยเป็นหูเป็นตาแก่นายอำเภอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จังหวัดภูเก็ต ในส่วนของตนเองก็พร้อมที่จะประสานช่วยเหลือทุกเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้านสามารถเดินทางมาพบตนเพื่อนำเรียนปัญหาต่างๆ ได้ตลอดเวลา

ประมงปล่อยพันธ์สัตว์น้ำวันแม่แห่งชาติ

ประมงภูเก็ตปล่อยพันธ์สัตว์น้ำวันแม่แห่งชาติ
 
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ที่บริเวณท่าเทียบเรือคลองมุดง หมู่ที่ 6 ต.วิชิต อ.เมือง ภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผวจ.ภูเก็ต เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธ์สัตว์น้ำ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหามหาราชินี โดยมีนายกะวิ สารณาคมณ์กุล ประมงจังหวัดภูเก็ต, นายกรีฑา แซ่ตัน นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน นักเรียน-นักศึกษา เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้นายกะวิ สารณาคมณ์กุล ประมงจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหามหาราชินี ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลวิชิต ที่เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ทุกวันจะลดน้อยลงด้วยการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ มีจิตสำนึกร่วมกันที่จะอนุรักษ์ รักษาทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองจึงร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้นในครั้งนี้ โดยปล่อยพันธ์กุ้งแชบ๊วย จำนวน 2 ล้านตัว และพันธุ์ปลากะพงขาวจำนวน 1 หมื่นตัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต

ร่างจรรยาบรรณวิชาชีพผู้ประกอบการสัก

ร่างจรรยาบรรณวิชาชีพผู้ประกอบการสัก
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางหลังใหม่ จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมผู้ประกอบการวิชาชีพการสัก หรือ (Tattoo) ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างจรรยาบรรณวิชาชีพ ผู้ประกอบการสักให้เป็นลายลักษณ์อักษรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อกำหนดเป็นกฎระเบียบในการควบคุมดูแลผู้ประกอบการสักให้ดำเนินกิจกรรมตามจรรยาบรรณที่ร่วมกันกำหนด รวมทั้งจะได้นำข้อเสนอเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปฏิบัติในการออกใบประกอบอาชีพต่อไป โดยมีผู้ประกอบการสักเข้าร่วม
นายประยูร หนูสุก วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการร้องเรียนกรณีชาวต่างชาติสักสัญลักษณ์เกี่ยวกับศาสนาบนร่างกายในจุดที่ไม่เหมาะสม เช่น เศียรพระพุทธรูปบนข้อเท้า น่อง เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่พบเห็น จึงมีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมดูแลในส่วนของผู้ประกอบการสักไม่ให้สักสัญลักษณ์ทางศาสนาในจุดที่ไม่เหมาะสมให้กับนักท่องเที่ยว และที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือไปแล้วครั้งหนึ่งเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ส่วนการร่างจรรยาบรรณวิชีพผู้ประกอบการสักนั้นถือเป็นความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหา และภูเก็ตนับเป็นจังหวัดแรกที่กำหนดให้มีการจัดทำร่างจรรยาบรรณวิชาชีพผู้ประกอบการสักขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการให้บริการและป้องกันการนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสัญลักษณ์ทางศาสนาอื่นๆ ด้วย โดยจรรยาบรรณที่กำหนดนั้นจะต้องคำนึงถึงตัวผู้ประกอบการเป็นหลัก นอกจากนี้จะได้มีการจัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ประกอบการสักในจังหวัดภูเก็ต เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป นายประยูรกล่าว
ขณะที่นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในการร่างจรรยาบรรณนับเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมความประพฤติ ฉะนั้นผู้ประกอบการสักจะต้องคำนึกถึงเรื่องความถูกต้องและความเหมาะสมเป็นหลักด้วยในการประกอบวิชาชีพ เพราะบางเรื่องคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องในบ้านเรา ในขณะที่บางส่วนโดยเฉพาะชาวต่างประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของการสักสัญลักษณ์เกี่ยวกับศาสนาในจุดที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีในการให้บริการในภาพรวมด้วย