จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อบจ.สัญจร เพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2554


 
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 ที่บริเวณโรงเรียนถลางพระนางสร้าง ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการ อบจ.สัญจร เพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2554 ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี และองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี โดยมีนางนลินี อัครเดชา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้มีเกียรติ เข้าร่วม
สำหรับงาน อบจ.สัญจร เป็นงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี แนวทางการบริหารจัดการท้องถิ่นยุคใหม่ โดยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ประจำปี 2554 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นได้พบปะกับคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี และจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้น 29 หน่วยงาน ซึ่งได้นำงานภารกิจในหน้าที่ขององค์กรมาเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และให้บริการแก่ประชาชน โดยเน้นงานบริการด้านสุขภาพ ด้วยการตรวจสุขภาพฟรี และบริการอื่นๆ อีกมากมาย อันเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
นอกจากนั้นในงาน อบจ.สัญจร ครั้งนี้ ได้จัดให้มีกิจกรรมบันเทิง เพื่อเป็นนันทนาการให้แก่พี่น้องประชาชน โดยได้ให้นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวภูเก็ตได้มาแสดงออกถึงความสามารถของการเป็นนักแสดงให้ได้รับชมกัน มีกิจกรรมการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งซูเปอร์แดนซ์ และศิลปินนักร้อง โกไข่กับนายสน มาสร้างความบันเทิงมอบความสุขภายในงาน อีกทั้งยังมี “เวทีเสวนาประชาคม” เพื่อเป็นเวทีเสวนา รับฟังความคิดเห็น และปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับไปเป็นแนวทางจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น และจัดบริการสาธารณะอันเป็นประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชน
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน นำกิจกรรม และงานในภารกิจหน้าที่ขององค์กรออกให้บริการประชาชน ซึ่งในนาม อบจ.ภูเก็ต ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน รวมถึงคณะผู้บริหารสมาชิกสภาฯ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จาก อบจ.ภูเก็ต เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ เหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต คณะแพทย์ บุคลากรจากโรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ และผู้บริหารสถานศึกษา ที่ทุกท่านได้สละเวลามาร่วมกิจกรรมงาน อบจ.สัญจร ในวันนี้ที่ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคฝนก็ตาม แต่ทุกคนก็มาร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งถือว่าทุกท่านเป็นผู้มีจิตอาสาอย่างแท้จริง”

“เมืองจราจรปลอดภัย โตโยต้า ถนนสีขาว”


เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ปลายแหลมสะพานหิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน “เมืองจราจรปลอดภัย โตโยต้า ถนนสีขาว” ซึ่งทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดขึ้น โดยมีนายธีรยุทธ์ ประเสริฐผล ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต นายถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธานคณะทำงานสนับสนุนป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน นายวุฒิกร สุริยะฉันานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทโตโยต้าฯ นายวิบูลชัย ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้าเพิร์ล ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด นายชัยภัทร ณ ระนอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้า เพิร์ล ฯ ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
โดยการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึก สร้างวินัยจราจร แบ่งปันน้ำใจในการใช้รถใช้ถนน เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ 6 ของการจัดคาราวานเมืองจราจรปลอดภัยฯ
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ความปลอดภัยบนท้องถนน ภายใต้โครงการถนนสีขาว เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ทางโตโยต้า ที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกชีวิตในสังคมไทยมีความปลอดภัย และเป็นการขยายเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมไทยไปยังเครือข่ายทางธุรกิจ และชุมชน โดยดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 23 ปี โดยในปีนี้เปิดตัวคาราวานครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และขยายไปสู่ 25 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งภูเก็ตถือเป็นจังหวัดที่ 6
กิจกรรมภายใต้โครงการเมืองจราจรปลอดภัย มีเป็นจำนวน อาทิ การจัดอบรมขับขี่ปลอดภัยทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ประกวดร้องเพลงประจำโครงการถนนสีขาว ภายใต้ชื่อเพลง “แบ่งปันน้ำใจ” เป็นต้น ส่วนกิจกรรมเมืองจราจรปลอดภัย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เมืองแห่งการเรียนรู้ จะเน้นส่วนของคน ในการรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนน รู้จักมีวินัยและขับขี่อย่างถูกกฎจราจร รวมถึงการสอดแทรกความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ร่วมทางบนท้องถนน ส่วนที่ 2 เมืองแห่งวินัยเพื่อความปลอดภัย เน้นทั้งในส่วนของรถ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาของการเกิดอุบัติเหตุ และแนะนำแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทั้งในส่วนของยานพาหนะและสภาพถนน ซึ่งจะช่วยส่งผลให้สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน และส่วนที่ 3 กิจกรรมสร้างสรรค์และความบันเทิง เป็นการสร้างความสนใจให้เกิดการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยผ่านกิจกรรมสันทนาการและความบันเทิง
นายวุฒิกร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้ เป็นการส่งเสริมและช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีปัจจัยเกิดจาก คน รถ และสภาพแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่เน้นการเสริมสร้างจิตสำนึก และการถ่ายทอดเนื้อหาสาระความรู้ เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกๆ กลุ่มของสังคม นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ตามนโยบายการดำเนินงานที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ ได้แก่ การสนับสนุนการสัญจรอย่างปลอดภัย ยานพาหนะปลอดภัย และผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย โดยส่งเสริมให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน ดังปณิธานของโตโยต้า

พัฒนาองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวแนวใหม่


เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมเพิร์ล อ.เมือง ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการอบรมพัฒนาความรู้และศักยภาพของมัคคุเทศก์จังหวัดภูเก็ต หลักสูตร “อบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวแนวคิดใหม่” โดยมีนายพนมพล ธรรมชาตินิยม นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพภูเก็ต นายมานพ ลีลาสุธานนท์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และมัคคุเทศก์ในจังหวัดภูเก็ต จำนวนกว่า 50 คน และเจ้าหน้าที่จาก อบจ.ภูเก็ต เข้าร่วม
นายพนมพล ธรรมชาตินิยม นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพภูเก็ต ได้กล่าวว่า การจัดการอบรมพัฒนาความรู้และศักยภาพของมัคคุเทศก์จังหวัดภูเก็ต ในครั้งนี้เป็นการอบรมหลักสูตร “พัฒนาองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวแนวคิดใหม่” เป็นโครงการอบรมซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ในด้านสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของมัคคุเทศก์จังหวัดภูเก็ตให้มีคุณภาพสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของมัคคุเทศก์อย่างต่อเนื่อง ให้ทันต่อภาวะของโลกและสังคมที่มีการเคลื่อนไหวพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งนอกจากมัคคุเทศก์จะต้องมีความรู้ความชำนาญด้านภาษาเพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังต้องมีความรู้เกี่ยวประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แนวทางและผลกระทบของเศรษฐกิจต่ออาชีพมัคคุเทศก์ และรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวแนวใหม่ เช่น การท่องเที่ยวด้านการอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวได้รับความสนใจและได้รับการผลักดันเป็นอย่างมากในขณะนี้ โดยนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน และเป็นสื่อในการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวต่อไป
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกอบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า “การอบรมในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาความรู้ความ สามารถของมัคคุเทศก์อย่างต่อเนื่อง ให้ทันต่อภาวะของโลกและสังคมที่มีการเคลื่อนไหวพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเสริมความรู้ให้กับมัคคุเทศก์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแนวใหม่ในด้านของการอนุรักษ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนทางการท่องเที่ยวนั้น จังหวัดภูเก็ตถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและโดดเด่นอยู่ในตลาดท่องเที่ยวโลก ซึ่งมัคคุเทศก์เป็นบุคคลากรทางการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมัคคุเทศก์เป็นบุคคลากรคนแรกที่ได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยว และใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นจนกระทั่งส่งนักท่องเที่ยวออกนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้มัคคุเทศก์จึงเปรียบเสมือนทูตทางวัฒนธรรมของประเทศ เพราะเป็นผู้ให้ข้อมูลความรู้ทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ และอีกประการที่สำคัญคือการให้เกียรตินักท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันเพราะการให้เกียรติและให้ความสำคัญจะมีส่วนช่วยสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวและเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอีก อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”

“พร้อมพงศ์” พร้อมผลักดันศูนย์ประชุมฯ ภูเก็ต


เมื่อวันที่ 10 กันยายน 54 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว (อบต.ไม้ขาว) อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาหารือร่วมกับนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กรณีปัญหาการก่อสร้างโครงการศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต ที่ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ผ่านความเห็นชอบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นโครงการดังกล่าว โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ภูเก็ตและพังงา เข้าร่วม
จากนั้นได้มีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา ได้ยื่นหนังสือผ่านนายพร้อมพงศ์ เพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ทบทวนถึงเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาของจังหวัดภูเก็ตและพังงา ทั้งนี้นายพร้อมพงศ์ ก็ได้กล่าวกับตัวแทนองค์กรต่างๆ ว่ายินดีที่จะรับหนังสือทั้งหมด พร้อมทั้งจะนำหนังสือเหล่าไปส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โอกาสเดียวกันนี้นายพร้อมพงษ์ พร้อมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เดินทางลงไปตรวจสถานที่ก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ ที่บริเวณที่ราชพัสดุแปลงที่ ภก.153 หมู่ที่ 5 บ้านท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว อ.ถลาง ภูเก็ต ซึ่งอยู่ห่างจากชายหาดทรายแก้วประมาณ 400 – 500 เมตร โดยมีนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.ชลิต แก้วยะรัตน์ รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ชาวบ้านบ้านท่าฉัตรไชยจำนวนหนึ่งได้ให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านได้นำป้ายผ้า สนับสนุนให้มีการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต พร้อมทั้งให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าโครงการศูนย์ประชุมฯ ต่อไปด้วย
นายพร้อมพงษ์ กล่าวภายหลังการหารือและพูดคุยกับชาวบ้าน ว่า ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าทีมดูแลพื้นที่ภาคใต้จะผลักดันโครงการนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ต่อไป โดยจะประสานกับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เพราะโครงการนี้จะเกิดประโยชน์กับประชาชนชาวภูเก็ตและพังงาโดยรวม ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะนี้ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลที่จะยกเลิกโครงการ แต่ติดปัญหาที่ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาสิ่งแวดล้อม สผ.ยังไม่อนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม อาคารของโครงการนี้อาจจะกระทบกับการวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณดังกล่าวเป็นป่าที่สมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภูเก็ต และทะเลมีความลาดชันสูง รวมไปถึงไม่คุ้มค่าการลงทุน และจะมีผลกระทบไปถึงชุมชนบ้านท่านุ่น จ.พังงา
“ปัญหาทั้งหมดที่มีมติออกมา ทางจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนภาคเอกชน และประชาชนจะต้องร่วมกันชี้แจงข้อทาง สผ.ให้ได้ และคิดว่าทาง สผ.เอง ก็ควรที่จะต้องลงมาดูสภาพพื้นที่จริงว่าขณะนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่นั่งพิจารณาแต่เพียงข้อมูลหรือนั่งเทียนพิจารณา
นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข่าวลือว่ารัฐบาลจะยกเลิกโครงการศูนย์ประชุมฯ นั้น ตนในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทยที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่พร้อมและยินดีที่จะผลักดันให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการฯ นี้ต่อไป เพราะถือว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับคนภูเก็ตและคนพังงา
ขณะที่นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามแผนงานที่กรมธนารักษ์ได้วางไว้นั้นการก่อสร้างโครงการศูนย์ประชุมฯนั้น จะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2555 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 26 เดือนและจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2557 เพราะขณะนี้การออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันเรื่องของงบประมาณก็มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่เมื่อติดปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม อาจทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากจะต้องชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่ทาง สผ.ระบุไว้ ดังนั้นอาจทำให้ไม่เสร็จทันตามกำหนดการเดิมที่วางไว้

มอบตู้ยาและยาคุณภาพแก่โรงเรียน


เมื่อวันที่ 10 กันยายน 54 ที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์ฯ นายจินต์ดี สันติกยาวกูล ประธานชมรมร้านขายยาจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายสุเทพ เวชกุล ตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต นายชูแรง เวชประสิทธิ์ ประธานชมรมเภสัชกรจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนจากบริษัทยาต่างๆ ร่วมมอบตู้ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 102 ตู้ ให้แก่โรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการ "ตู้ยาอาสาให้ชุมชน" ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ชมรมร้านขายยาจังหวัดภูเก็ต และชมรมเภสัชกรจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู กรรมการชมรม และสมาชิกชมรมร้านขายยาจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมในพิธี
ทั้งนี้นายจินต์ดี สันติกยาวกูล ประธานชมรมร้านขายยาจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ตมีเกือบ 100 โรงเรียนและมีจำนวนเด็กถึงประมาณกว่า 6 หมื่นคน รวมตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับอาชีวศึกษา ไม่นับรวมระดับอุดมศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียนอาจมีเหตุต้องใช้ยาหรือได้รับอุบัติเหตุอาจต้องได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องเหมาะสม และเพียงพอต่อเหตุนั้นๆ จึงจำเป็นต้องมีตู้ยาที่ใช้สำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ดี ครบ และสมบูรณ์ ซึ่งจัดเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง นอกจากนั้นผู้ที่ดูแลนักเรียน หรือผู้ที่รับหน้าที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องมีความรู้เรื่องยา และรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ และสามารถบรรเทาไม่ให้มีอาการรุนแรงเบื้องต้นได้
ทางชมรมร้านยาฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข และชมรมเภสัชกรจังหวัดภูเก็ต จัดโครงการ "ตู้ยาอาสาให้ชุมชน" ขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ยาและชุดปฐมพยาบาลที่มีคุณภาพและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้เรื่องการใช้ยาเบื้องต้น เกิดทักษะ เพิ่มศักยภาพ ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ประสบเหตุ นายจินต์ดี กล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตามกิจกรรมภายในงานนอกจากการรับมอบตู้สามัญประจำบ้านแล้ว ยังมีกิจกรรมในส่วนของการให้ความรู้ โดยวิทยากรเภสัชกรหญิงพุทธชาติ สังข์ประพันธ์ วิทยากรบรรยายพิเศษ จากสำนักงานสาธารณสุข เรื่อง "การใช้ยา และการสาธิตการปฐมพยาบาลและการดูแลบาดแผลเบื้องต้น" และ เภสัชกรบุญสุข วิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง การสาธิตการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จาก บ.สมิท แอนด์เนฟฟิว จก.ให้แก่คุณครูที่เกี่ยวข้องด้านการพยาบาลของโรงเรียน จากทุกโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ส.ส.ภูเก็ต ร่วมกับชาวบ้านหนุนสร้างศูนย์ประชุมฯ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 ที่บริเวณชายหาดไม้ขาว สถานที่ก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต บ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นางอัญชลี วานิช เทพบุตร พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายวิโรจน์ มานะจิตต์ กำนันตำบลไม้ขาว นายสมพร แทนสกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านท่าฉัตรไชย ประชาชนและผู้สนับสนุน จำนวนประมาณ 50 คน เกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมหรือ คชก.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือ สผ.พิจารณาไม่ผ่านผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังมีการเขียนป้ายข้อต่างๆ อาทิ รัฐบาลปูนิ่มห้ามโยกงบศูนย์ประชุมฯ ภูเก็ต, ประชาชนภูเก็ตอยากได้ศูนย์ประชุม เป็นต้น
โดยนางอัญชลี กล่าวว่า ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้มีการอนุมัติงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการใต้เข้มแข็ง จำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อทำการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต บริเวณที่ราชพัสดุ ภก.153 บ้านท่าฉัตรไชย จำนวนประมาณ 141 ไร่ โดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์เป็นเจ้าภาพหลัก และได้มีการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งเสนอการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สผ.พิจารณา ปรากฏว่ามีมติไม่เห็นชอบให้ก่อสร้างศูนย์ประชุมฯบริเวณดังกล่าว โดยให้เหตุผลหลักๆ 3-4 ประการ อาทิ ไม่คุ้มค่าการลงทุน
บริเวณดังกล่าวยังเป็นป่าที่สมบูรณ์ควรเก็บรักษาไว้ โครงการอาจจะกระทบต่อการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล เป็นต้น ซึ่งคิดว่าเป็นเหตุผลเดิมๆ ที่สผ.จะใช้กับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งในความเป็นจริงพื้นที่หาดไม้ขาวพื้นที่ติดกันปัจจุบันมีโรงแรมรีสอร์ทขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหาก โครงการศูนย์ประชุมฯ กระทบกับการวางไข่ของเต่าทะเล โครงการก่อสร้างอื่นๆ ที่มีอยู่ก็ย่อมมีผลกระทบด้วยเช่นกัน แต่ทำไมสามารถก่อสร้างได้
ส่วนกรณีที่บอกกว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนนั้น ไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะมีผลการศึกษาวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ กับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมที่ภูเก็ตมีความคุ้มค่าสูงสุด ประกอบกับในอีก 4 ปีข้างหน้าอาเซียนจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งประเทศไทยก็จะได้อานิสงค์สูงสุดด้านการท่องเที่ยวด้วย เพราะมีการสำรวจพบว่าประชากรในอาเซียน 15% หรือประมาณ 30 ล้านคนจะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ฉะนั้นการมีศูนย์ประชุมฯเกิดขึ้นที่ภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ จะทำประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนา ที่จะสามารถดึงตลาดกลุ่มกลุ่มประชุมสัมมนาเข้ามาภูเก็ตและประเทศไทยได้อีกมาก นางอัญชลีกล่าว
“ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่มีการโยกงบศูนย์ประชุมเชียงใหม่ฯ มาให้ภูเก็ต แต่หันไปใช้งบไทยเข้มแข็งแทน เพราะมองว่าหากมีศูนย์ประชุมฯ เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ภูเก็ตและกรุงเทพมหานครก็จะเกิดประโยชน์ในภาพรวม และสามารถที่จะช่วยดึงดูดตลาดการประชุมสัมมนาได้เพิ่มขึ้น”
นางอัญชลี กล่าวด้วยว่า เนื่องจากกรมธนารักษ์เป็นเจ้าของเรื่องซึ่งก็คงจะต้องมีการหารือกับทางสผ.เพื่อแก้ไขประเด็นที่ยังเป็นกังวลอย่างไร รวมทั้ง สผ.ควรจะลงมาดูพื้นที่จริง เชื่อว่าหากไม่มีอคติก็น่าจะมีการทบทวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อที่จะได้จัดทำรายงานผลระทบสิ่งแวดล้อม( EIA) ต่อไป ทั้งนี้ตนและนายเรวัติ จะผลักดันศูนย์ประชุมฯ ต่อไป ซึ่งขณะนี้เองทางผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวและสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้มีแนวคิดที่จะไปหารือกับ สผ. เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม และหากสผ.ยังยืนยันไม่เห็นชอบ IEE ทางภาคเอกชนก็จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะโครงการนี้คนภูเก็ตรอคอยมานานร่วม 20 ปีแล้ว และขณะนี้ทุกอย่างพร้อมหมดแล้วทั้งแบบการกอ่สร้างและงบประมาณ ดังนั้นหากไม่ติดปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะสามารถทำการจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างไปเป็นบริเวณอื่นนั้น นางอัญชลี กล่าวว่า น่าจะเป็นการยื้อเวลาออกไปมากกว่าอีก เพราะขณะนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว น่าที่จะเลิกคิดเช่นนี้ได้แล้ว และหากต้องการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อสภาฯ ในการที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 2 ล้านล้านบาท ก็ไม่ควรที่จะโยกงบประมาณไปทำอย่างอื่น และตนก็พร้อมที่จะตั้งกะทู้ถามในสภาฯ หากมีการโยกงบดังกล่าวไปที่อื่น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณสื่อออกมาว่าจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง และภาวนาว่าผู้บริหารประเทศในยุคนี้ที่ผ่านประสบการณ์การบริหารงานมามากน่าที่จะคิดได้ไกล ไม่เอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในวันพรุ่งนี้ (10ก.ย.54) นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง จะพร้อมด้วยนายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะเดินทางมาดูพื้นที่และรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่บ้านท่าฉัตรไชยด้วย

ฝึกอบรม ทสม.น้อย รุ่นที่ 6 ประจำปี 2554


เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 ที่โรงเรียนบ้านฉลอง ตำบลฉลอง อ.เมือง ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมโครงการขยายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รุ่นที่ 6 ประจำปี 2554) ซึ่งดำเนินการฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 8 – 9 กันยายน 2554 ณ โดยมีผู้ผ่านการอบรมจากโรงเรียนบ้านฉลอง และโรงเรียนวัดลัฏฐิวนาราม รวมจำนวนทั้งสิ้น 75 คน
สำหรับการจัดกิจกรรมฝึกอบรมขยายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) จังหวัดภูเก็ต และประชาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกและพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของสังคมในการดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2554 โดยจัดการฝึกอบรมขยายเครือข่าย ทสม.จำนวนทั้งสิ้น 6 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 ขยายเครือข่ายในพื้นที่ตำบลรัษฎา รุ่นที่ 2 ขยายเครือข่ายในตำบลวิชิต รุ่นที่ 3 ขยายเครือข่ายในตำบลป่าตอง รุ่นที่ 4 ขยายเครือข่ายในตำบลกะรน รุ่นที่ 5 ขยายเครือข่ายในตำบลป่าคลอก รุ่นที่ 6 ขยายเครือข่ายในตำบลฉลอง โดยมีสมาชิกเครือข่ายผ่านการอบรม ประกอบด้วย แกนนำภาคประชาชนและแกนนำภาคเยาวชนจำนวนทั้งสิ้น 450 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และหลังจากการฝึกการอบรมทั้ง 6 รุ่นแล้ว ทางเครือข่าย ทสม.จังหวัดภูเก็ต จะได้ขยายผลต่อยอดการดำเนินกิจกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ ในชุมชนและโรงเรียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยในเบื้องต้นจะเน้นการนำขยะอินทรีย์ไปแปรสภาพเป็นปุ๋ย และทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้ประโยชน์ในชุมชนเพื่อลดรายจ่ายจากการต้องซื้อปุ๋ย และลดการนำขยะอินทรีย์เข้าสู่เตาเผา
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนทุกคนที่มาร่วมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ทสม.น้อย) โดยการอบรมดังกล่าว ได้มีการจัดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้เนื่องจากพบว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของจังหวัดภูเก็ตในขณะนี้ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ใหญ่จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และเยาวชนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นตั้งแต่การคัดแยกขยะ สำหรับการจัดอบรมตลอดทั้ง 2 วันนี้ นักเรียนจะได้เห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะ พร้อมทั้งคุณประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ที่ได้จากขยะ จึงขอให้นักเรียนทุกคนที่เป็นเครือข่าย ทสม.ได้นำความรู้จากการฝึกอบรมนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไป”

ทูตสหรัฐให้ความสนใจซอร์แวร์พาร์คภูเก็ต


วันที่ 9 กันยายน 2554 ซอร์แวร์พาร์ค ภูเก็ต ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ต.วิชิต อ.เมือง ภูเก็ต นางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเพื่อพบปะกับหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า และนักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกันที่ลงทุนในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีงามที่มีต่อกันมายาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยมีนายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ คุณปิยะนุช หงษ์หยก และนางรัตนา เวชประสิทธิ์ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งนำชมภายใน
ทั้งนี้นายแพทย์ ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ได้กล่าวต้อนรับและได้อธิบายการเจริญเติบโตของจังหวัดภูเก็ตว่าในแต่ละปีนั้นมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังภูเก็ตปีละหลายล้านคน และมีสายการบินที่เข้ามายังภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ทางภูเก็ตได้มีการจัดตั้ง ซอร์ฟแวร์พาร์ค ภูเก็ต ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการรองรับการเติบในด้านด้านท่องเที่ยว การตลาดอีคอมเมอร์ช และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจบนซอร์ฟแวร์ ซึ่งผลตอบรับจากการเปิดศูนย์ซอร์ฟแวร์พาร์คนั้น ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากกลุ่มลูกค้าคนไทย และชาวต่างชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจในภูเก็ต นอกจากนี้ทางภูเก็ตซอร์ฟแวร์จะมีการขยายโครงการในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพอีกด้วย
ด้านนางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกประทับใจกับจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก ซึ่งเห็นได้ว่าซอร์ฟแวร์พาร์คนั้น เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง และเป็นผลดีกับภูเก็ตโดยตรง เนื่องจากภูเก็ตนั้นเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ภูเก็ตถือว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวสูงมาก นอกจากนี้ นางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยยังได้เดินทางมามอบทุนการศึกษากับเด็กนักเรียนในจังหวัดภูเก็ต และพบปะผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว เพื่อสอบถามลักษณะการทำงาน และการดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย