จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปิดประชุมสัมมนาผู้นำศาสนาอิสลาม ปี 2554


เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ที่ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีปิดโครงการประชุมสัมมนาผู้นำศาสนาอิสลามจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2554 โดยมีนายบำรุง สำเภารัตน์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต นายจีรศักดิ์ ท่อทิพย์ ที่ปรึกษานายก อบจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จาก อบจ.ภูเก็ต ตลอดจนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ตและผู้นำศาสนาอิสลาม เข้าร่วม
สำหรับโครงการประชุมสัมมนาผู้นำศาสนาอิสลามจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2554 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 16 กรกฎาคม 2554 (จำนวน 12 ครั้ง) ณ ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยมีโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และตัวแทนมัสยิดต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมจนจบหลักสูตร โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรมาให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การบริหารมัสยิด ทักษะในการปราศรัยการบรรยาย การแต่งงาน กฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เป็นต้น เพื่อให้ผู้นำศาสนาอิสลามมีความรู้ในแนวทางและการพัฒนากิจการของมัสยิด และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทางด้านศาสนาอิสลามของแต่ละชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์เพื่อนำไปใช้พัฒนาตนเองและสังคม ซึ่งผู้นำศาสนาและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการความเป็นอยู่ของ ประชาชนในชุมชน ให้มีความผาสุกอยู่ในกรอบของหลักการศาสนาอิสลามต่อไป
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้เน้นนโยบายที่จะทำให้ภูเก็ตเป็น “เมืองน่าอยู่ คู่คุณธรรม” โดยใช้ศาสนาในการบริหารงาน ซึ่งทำให้ อบจ.ภูเก็ต ได้รับรางวัลดีเด่นในหลายๆ ด้าน สำหรับการจัดประชุมสัมมนาที่ผ่านมา จึงถือเป็นการสร้างพลังแห่งความดีที่จะติดอาวุธให้กับผู้นำศาสนาทุกท่าน จึงขอให้นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ปลูกฝังเยาวชนเกี่ยวกับศาสนา และฝึกให้มีระเบียบวินัย และในการสัมมนาในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ คณะกรรมการอิสลามจังหวัดภูเก็ต กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.ภูเก็ต ซึ่งได้วางแผนจัดโครงการนี้ และประสานงานกับวิทยากร ตลอดจนผู้ที่มีส่วนสนับสนุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ทุกองค์กรในการดำเนินการจัดโครงการนี้ จนประสบความสำเร็จ ขอขอบคุณผู้เข้าอบรมทุกท่านที่ให้ความสนใจในการเข้าอบรมจนจบหลักสูตร และอบจ.ภูเก็ต จะจัดโครงการนี้อีกในปีต่อไป

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนุ่มน้อยใจแฟน ใช้ถุงคลุมศีรษะตาย


เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 54 ร.ต.อ.อรรถวัฒน์ สุวรรณรัตน์ ร้อยเวรสภ.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต รับแจ้งว่ามีนักท่องเที่ยวฆ่าตัวตายที่ “เม้าท์เท่นซีวิว” เลขที่ 12/14 ถนนปฎัก ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ขอให้เดินทางไปตรวจสอบด้วย หลังรับแจ้งก็ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นก็ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วย พ.ต.อ.วิชิต อินทรศร ผกก. พ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส. พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ หนูผึ้ง สว.วท.เขต 44 ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่มูลนิธิภูเก็ตร่วมใจกู้ภัย

ที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ทชั้นเดียว มีทั้งหมด 11 ห้อง ที่บริเวณห้องที่ 10 เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางถึงก็ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยภายในห้องรับแขก พบศพนาย JASHUA STVEN WEITZ อายุ 39 ปี สัญชาติอเมริกัน สภาพศพนั่งอยู่บนโซฟาขาเหยียดตรง สวมเสื้อยืดคอกลมแดง นุ่งกางเกงขายาวสีขาว สวมรองเท้าผ้าใบยี่ห้ออาดีดาสสีขาว บริเวณศีรษะมีถุงพลาสติกสีขาวและท่อสายยาง โดยมีสายยางรัดผมพันรอบ ที่บริเวณเท้าทั้ง 2 ข้าง ถูกมัดด้วยเชือกสีน้ำเงินจนแน่น ตรวจสอบที่บริเวณข้างลำตัวด้านซ้ายมือพบถังอากาศดำน้ำขนาดใหญ่วางอยู่ 1 ใบ ใกล้กันพบโต๊ะขนาดเล็ก 1 ตัว บนโต๊ะมีบุหรี่ 1 ซอง น้ำอัดลม 1 ขวด สมุด 2 เล่ม และเอกสารอื่นๆ วางอยู่ คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3 – 5 วัน ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้จัดทำบันทึกสถานที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะมอบศพให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เพื่อนำส่งรพ.วชิระ ภูเก็ต เพื่อให้แพทย์เวรได้ทำการชันสูตรโดยละเอียดอีกครั้ง
จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุนาย JASHUA STVEN WEITZ ได้เดินทางเข้าพักที่รีสอร์ทดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2554 กับแฟนสาว และมีกำหนดเดินทางกลับประเทศวันที่ 25 ก.ค.นี้ ก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ตายได้ทะเละกับแฟนสาวอย่างรุนแรง จนกระทั่งแฟนสาวตัดสินใจขนกระเป๋ากลับประเทศก่อนเวลาที่กำหนด โดยปล่อยให้ผู้ตายพักอยู่ที่ห้องตามลำพัง ซึ่งหลังจากที่แฟนสาวกลับประเทศผู้ตายมีอาการเหงาและเศร้าอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 11 ก.ค.นี้ แม่บ้านของรีสอร์ทยังเห็นผู้ตายเดินอยู่ตามปกติ จนกระทั่งวันนี้ แม่บ้านของรีสอร์ท เดินผ่านหน้าห้องของผู้ตายได้กลิ่นเหม็น จึงเปิดประตูเข้าไปดู เมื่อเปิดเข้าไปพบผู้ตายนอนเสียชีวิตอยู่บนเก้าอี้โซฟาแล้ว จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดังกล่าว

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่าผู้ตายน่าจะน้อยใจแฟนสาวที่มีปากเสียงทะเลาะกันและแฟนสาวเดินทางกลับประเทศก่อนกำหนด ทำให้ผู้ตายน้อยใจ จึงซื้อถังอากาศดำน้ำ โดยมีอากาศเต็มถัง ก่อนที่ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะแล้วใช้สายยางสอดเข้าไปในถุงจากนั้นใช้สายยางรัดผมรัดถุงพลาสติกเพื่อไม่ให้อากาศออกจากถุง ก่อนที่จะเปิดวาล์วถังอากาศ เข้าไปในถุงพลาสติกและสูดดมจนอากาศหมดถัง เมื่ออากาศหมด ทำให้ขาดอากาศหายใจ จนกระทั่งเสียชีวิตดังกล่าว ส่วนสาเหตุที่แท้จริงเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนต่อไป

ตร.ฉลองรวบคนเสพยาอย่างต่อเนื่อง



เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 54 ที่บริเวณด้านหน้าสภ.ฉลอง อ.เมือง ภูเก็ต พ.ต.อ.วิชิต อินทรศร ผกก.สภ.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต พร้อมด้วย พ.ต.ท.จรัล บางประเสริฐ สว.สส.ได้ร่วมกันแถลงวข้าวการจับกุม นายชาญวุฒิ (หรือชาญ) มโนมาศ อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25/1 ม.2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยของกลางยาบ้า 6 เม็ด ยาไอซ์ 2 กรัม เครื่องชั่งแบบดิจิตอล 1 เครื่อง ถุงพลาสติกใสแบบดึงเปิดกดปิดจำนวนมาก กระเป๋าสะพาย 1 ใบ รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ สีขาว หมายเลขทะเบียน บธ – 5154 ภูเก็ต โดยจับกุมได้ที่บริเวณใกล้วงเวียนห้าแยกฉลอง ถนนวิเศษ ม.5 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จึงควบคุมตัวดำเนินคดีในข้อหามีสารเสพติดให้โทษประเภท1 (ยาบ้าและยาไอซ์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมายต่อไป
ทั้งพ.ต.อ.วิชิต อินทรศร ผกก.สภ.ฉลอง กล่าวว่า ในการจับกุมครั้งนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ฉลอง กวาดล้างจับกุมยาเสพติดให้สิ้นซาก ซึ่งทราบว่านายชาญวุฒิ (หรือชาญ) มโนมาศ อายุ 30 ปี อดีตเคยขับรถรับส่งนักเรียน มีพฤติกรรมจำหน่ายยาบ้าและยาไอซ์ ให้นักท่องเที่ยวและพนักงานบาร์เบียร์ มานาน จนกระทั่งสายลับแจ้งว่านายชาญวุฒิ ได้ขับรถยนต์กระบะลักษณะแต่งโหลดเตี้ย สีขาว หมายเลขทะเบียน บธ-5154 ภูเก็ต ออกมาจากบ้านพักที่ตำบลราไวย์ มุ่งหน้าสู่วงเวียนห้าแยกฉลอง และน่าจะมียาเสพติดอยู่ในรถยนต์กระบะดังกล่าว เมื่อนายชาญวุฒิ ขับมาถึงวงเวียนห้าแยกฉลอง เจ้าหน้าที่จึงขอตรวจค้นพบยาบ้า 6 เม็ด ยาไอซ์ 2 กรัม ซุกซ่อนอยู่ที่เก็บเอกสารหน้ารถ จึงควบคุมตัวดำเนินคดีดังกล่าว เบื้องต้นนายชาญวุฒิ ให้การรับสารภาพว่ายาเสพติดทั้งหมดเป็นของตนเอง ซื้อมาจากพนักงานขับรถแท็กซี่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งบริเวณหาดในหาน ม.1 ต.ราไวย์ เพื่อเสพเท่านั้น จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวดังกล่าว

ชาวป่าคลอกปิดถนนหลังไฟถนนดับมาแรมปี



 เมื่อคืนของวันที่ 14 กรกฎาคม 54 ที่บริเวณถนนสายอนุสาวรีย์ เมืองใหม่ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง ภูเก็ต ได้มีชาวบ้านตำบลป่าคลอกประมาณ 200 คน ได้นำถังขยะ – รถจักรยานยนต์ พร้อมเครื่องกีดขวางอื่นๆ นำมาปิดถนน เพื่อไม่ให้รถที่สัญจรไปมาในเส้นทางดังกล่าวผ่านไปมาได้ นอกจากนี้ยังมีป้ายผ้า ที่ได้เขียนข้อความหน่วยงานรับผิดชอบ ว่า “ร้องเรียนเท่าไร ไฟก็ไม่ติด อุบัติเหตุบ่อย ขโมยก็ชุม ขอประจานหน่อยหน่วยงานที่รับผิดชอบ” “มีเสาไฟฟ้า ไม่มีไฟแล้วท่านจะสร้างไปทำไม” “อบต.ป่าคลอก ดีแต่พูดไม่มีประสิทธิ์ภาพ” “ชาวบ้านทนไม่ไหวแล้ว” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการยางรถยนต์มาเผาบนถนนด้วย เพื่อให้เกิดความสว่างแทนไฟฟ้า พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบเข้ามาเจรจาและแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านโดยด่วน ทำให้รถยนต์ทุกชนิด ที่ไม่สามารถสัญจรไปมาในเส้นทางดังกล่าวได้

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ถลาง นำโดย พ.ต.อ.วิฑูรย์ กองสุดใจ ผกก.สภ.ถลาง พ.ต.ท.พิศิษฐ์ ชื่นเพชร รองผกก.สส. พ.ต.ท.ประสาน โตวอน สวป. ได้เดินทางเข้ามาเจรจากับกลุ่มผู้ประท้วง การเจรจาผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นผล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการให้ชาวบ้านเปิดถนนเพื่อให้รถที่สัญจรไปมาในเส้นทางดังกล่าวผ่านไปมาได้ก่อนแล้วมานั่งเจรจากัน แต่ชาวบ้านไม่ยอม อ้างว่าเดือดร้อนมาแรมปี ร้องเรียนทุกหน่วยงานแต่ไม่มีใครหน่วยงานใด มาเหลียวแล รับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นถนนสี่เลนและไม่มีไฟฟ้าริมถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย และบาดเจ็บนับไม่ถ้วน และอยากจะคุยกับผู้รับผิดชอบโดยตรงทั้ง ผู้บริหารอบต.ป่าคลอก – แขวงการทางภูเก็ต – กรมทางหลวงภูเก็ต เท่านั้น
จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ประสานหน่วยงานที่ทางชาวบ้านเรียกร้อง ประกอบด้วย ประธานสภาอบต.ป่าคลอก สมาชิกสภาอบต.ป่าคลอก ผู้ใหญ่บ้าน และปลัดอำเภอถลาง เพื่อเจรจาขอร้องให้ชาวบ้านดับไฟที่จุดอยู่กลางถนนและยอมเปิดถนนให้ชาวบ้านสัญจรไปมาได้ก่อน เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่สัญจรไปมาบนเส้นทางดังกล่าวจำนวนมาก รวมทั้งนักท่องเที่ยวบางรายก็ไม่ได้กลับที่พักซึ่งอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดได้ โดยเน้นย้ำว่าจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปคุยกับผู้ว่าราชการภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในวันอังคารนี้ (19) ซึ่งทางผู้นำท้องถิ่นได้รับปากชาวบ้านว่าภายใน 7 วัน ถนนสายดังกล่าวจะต้องมีไฟฟ้าส่องสว่างแน่นอน หากไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวบ้านจะกลับมาปิดถนนประท้วงอีกครั้ง จากนั้นชาวบ้านพอใจ และยอมสลายการชุมนุมประท้วง

ด้านนายประคอง พลายกวม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก ม.8 กล่าวว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางสายหลักของด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตใครที่จะลงเรือไปเที่ยวเกาะพีพี จ.กระบี่ เกาะยาวใหญ่-เกาะยาวน้อย จ.พังงา เกาะกระดาน จ.ตรัง รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในฝั่งอันดามันอีกหลาย ทำให้ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวสัญจรไปมาจำนวนมาก ซึ่งตนและชาวบ้านป่าคลอก ก็ได้ยื่นหนังสือต่อนายวิชัย ไพรสงบ (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในสมัยนั้น) เพื่อให้ขยายเส้นทางจาก 2 เลน เป็น 4 เลน รองรับการท่องเที่ยว และเพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว รวมทั้งลดปัญหาอุบัติเหตุอีกด้วย จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2553 ก็มีการสร้างถนนสายดังกล่าวจุดเริ่มต้นการขยายเส้นทางตั้งแต่วงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ถึง หน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก รวมระยะเส้นทางทั้งสิ้น 5.5 กิโลเมตร งบประมาณ 80 ล้านบาท หลังจากที่มีการก่อสร้างถนนเสร็จ รถที่สัญจรไปมาบนเส้นทางดังกล่าว ก็ขับเพิ่มความเร็วขึ้น ทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกิโลเมตรที่ 3 – 4 ของการก่อสร้าง ไฟฟ้าริมถนนไม่เคยติด ในช่วงเวลากลางคืนจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนั้นขโมยก็ชุกชุมแอบย่องลักทรัพย์ชาวบ้านแล้วหลายราย
นายประคอง กล่าวอีกว่า ตนได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าไปพูดในสภาอบต.ป่าคลอก แต่ผู้บริหารอบต.ก็ไม่เคยเหลียวแล หรือแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจในการจัดการดูแล ให้ไปร้องเรียนแขวงการทางหรือกรมทางหลวง เมื่อตนไปร้องเรียนแขวงการ ก็บอกว่าไม่มีอำนาจ ให้ไปร้องเรียนผู้รับเหมาเอาเอง ซึ่ง 3 หน่วยงานนี้ จะโยนลูกปัดความรับผิดชอบ จนชาวบ้านสุดทน ก็ได้ออกมาปิดถนนและจุดยางรถยนต์กลางถนน เพื่อประชดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ที่ไม่เคยเหลียวแล แก้ไขปัญหาชาวบ้าน ซึ่งจากนี้ตนจะนำเรื่องเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้กำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบลงมาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน เพราะหากปล่อยไปแบบนี้จะเกิดอุบัติเหตุ-อาชญากรรม เพิ่มสูงขึ้น อาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต ซึ่งวอนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านโดยด่วน ส.อบต.ป่าคลอก กล่าว

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทำแผนแม่บทโครงข่ายทางหลวงภูเก็ต


เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศ (ครั้งที่ 1) การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดภูเก็ต ซึ่งกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วยบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัดบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของแผนการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ นำไปพิจารณาวิเคราะห์จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในจังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชนและประชาชน เข้าร่วมประมาณ 100 คน
ดร.ประภัทรเผ่า อาวะกุล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักแผนงาน กรมทางหลวง กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว แต่เส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวมีสภาพคดเคี้ยว และโครงข่ายทางหลวงไม่สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนเส้นทางและจุดตัดทางแยกต่างๆ
กรมทางหลวงตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต จึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ดำเนินการศึกษา เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงที่มีอยู่เดิมและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเส้นทางแนวใหม่ รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในจังหวัดภูเก็ตขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับกรมทางหลวงในการดำเนินโครงการพัฒนาทางหลวงในพื้นที่ภูเก็ต และสามารถตอบสนองต่อความต้องการและแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ตของหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป โดยมีระยะเวลาศึกษา 15 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา
ขณะที่นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการจราจรถือเป็นปัญหาสำคัญของภูเก็ต ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ ขึ้นมาดูแล แต่ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการให้สำเร็จได้ทั้งหมด เนื่องจากภูเก็ตมีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งประชาชนตามทะเบียนราษฎร์ ประชากรแฝง และนักท่องเที่ยว ประกอบกับขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายสนามบินนานาชาติภูเก็ต และการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ ซึ่งหากทั้งสองส่วนเสร็จก็จะทำให้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามขณะนี้จังหวัดภูเก็ตมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาการจราจรทั้งระบบด้วยการผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟฟ้าจากสนามบินนานาชาติภูเก็ตถึงตัวเมืองภูเก็ต ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างแน่นอน แม้จะมีบางกลุ่มออกมาคัดค้านก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอย่างเป็นระบบจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของการจราจรภายในจังหวัดภูเก็ตเป็นไปอย่างสะดวก และปลอดภัย ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายสมเกียรติกล่าว

ส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์


 
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน ปี 2554 ซึ่งกรมพลังงานทะแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการ จัดขึ้น เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีระบบผลิตพลังงานความร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน และการชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การสนับสนุนการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครับและผู้ประกอบการเอกชนต่างๆ เข้าร่วม กำหนดดำเนินการทั่วประเทศ 8 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5
นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านพลังงานมีความผันผวนและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังมีความต้องการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งหามาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการความต้องการใช้พลังงานให้มีดุลยภาพและเกิดความมั่นคง ด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งนอกจากการหาแหล่งพลังงานที่เหมาะสมและพอเพียงกับความต้องการแล้ว การพัฒนาและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ จะเป็นวิธีลดปัญหาดังกล่าวได้วิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำร้อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้ผลและสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมากิจกรรมหลายประเภทที่จำเป็นต้องใช้น้ำร้อน อาทิ โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน เป็นต้น โดยการผลิตน้ำร้อนได้มีการใช้พลังงานหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้มโดยใช้พลังงานจากก๊าซและไฟฟ้า หรือหากเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่จะใช้หม้อต้มที่ใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง
“เพื่อให้เกิดการทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ อันเป็นการทดแทนการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ทาง พพ. จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณร้อยละ 30 สำหรับผู้ยื่นเสนอขอรับการสนับสนุนฯ ตามหลักเกณฑ์ที่ พพ. กำหนดไว้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และปีนี้เป็นปีที่ 4 มีการติดตั้งระบบคิดเป็นพื้นที่แผงทำน้ำร้อนแสงอาทิตย์รวมแล้วจำนวน 16,000 ตารางเมตร และในปี 2554พพ. มีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนติดตั้งระบบฯ จำนวน 10,000 ตารางเมตรของแผงทำน้ำร้อนแสงอาทิตย์ คิดเป็นเงินให้การสนับสนุนประมาณ 45 ล้านบาท ทั้งนี้สถานประกอบการจะได้ประโยชน์ในด้านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และยังเป็นการลดการก่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานสิ้นเปลือง อีกทั้งเป็นการลดภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาของประเทศและของโลกในปัจจุบัน” นายไกรฤทธิ์ กล่าวและว่า สำหรับโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายดำเนินการถึงปี 2556 คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางเมตร ใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน


ชาวกะรนอนุรักษ์ประเพณี จัดแห่เทียนพรรษา



เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 54 ที่วัดสุวรรณคีรีเขต หรือวัดกะรน ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตนายขันตี ศิลปะ นายอำเภอเมืองกะทู้ ได้เป็นประธานปล่อยขบวนแห่เทียนพรรษาของวัด เนื่องในวันเข้าพรรษาประจำปี 2554 โดยมีนายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน ประชาชน นักเรียนในพื้นที่ตำบลกะรน ร่วมในขบวนแห่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้นายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน ได้กล่าวว่า ด้วยในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จะเป็นวันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น โดยในการจำพรรษานี้ พระสงฆ์ จำเป็นที่จะต้องใช้แสงสว่างจากเทียนไข ที่จะส่องสว่างในการปฏิบัติธรรมตลอดระยะเวลา 3 เดือน จึงต้องอาศัยเทียนพรรษาจากชาวบ้านที่นำมาถวาย
ทางชาวบ้านตำบลกะรน จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดทำ และตกแต่งเทียนพรรษาขึ้น เพื่อนำไปถวายวัดสุวรรณคีรีเขต ซึ่งเป็นวันประจำตำบล ในการจัดขบวนแห่เทียนพรรษาครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่ยิ่งที่สุดของตำบลกะรนที่เคยจัดทำมา เนื่องจาก ทางชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมแรง ร่วมใจกันจัดทำเทียนพรรษาโดยการแกะสลักเทียนพรรษาให้สวยงาม พร้อมทั้งตกแต่งรถแห่เทียนให้สวยงาม โดยมีพิธีเปิดขบวนแห่ได้กำหนดไว้เป็นเวลา 3 วัน คือวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 54 โดยในวันนี้จะแห่ไปรอบตำบลกะรน จากนั้นในวันรุ่นขึ้นก็จะนำไปแห่รอบเมืองภูเก็ต เพื่อให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันอนุโมทนาบุญกันในครั้งนี้
ด้านนายขันตี ศิลปะ นายอำเภอเมืองกะทู้ ได้กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลกะรน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก รองลงมาจากป่าตองเท่านั้น หากทางชุมชนมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็คงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพักผ่อน และร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นขบวนแห่เทียนพรรษาที่งดงาม ก็จะเป็นการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เข้ามาถ่ายภาพต้นเทียน หลังจากนี้นักท่องเที่ยวก็จะกลับไปบอกเล่าให้ชาวต่างชาติด้วยกัน ว่าภูเก็ตนอกจากนี้มีทะเลที่สวยงามแล้ว ก็ยังมีประเพณีที่งดงาม ที่ชาวภูเก็ตได้ช่วยกันอนุรักษ์ และปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานอีกด้วย ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นมาอีกจำนวนมาก

ศปป.4 กอ.รมน.ติดตามการทำลายป่าไม้


 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 54 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พล.ท.เอกนันท์ รัตนโสภา ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4 กอ.รมน.) กล่าวภายหลังเข้าพบนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์การทำลายทรัพยากรป่าไม้และการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติของจังหวัดภูเก็ต ว่า ในส่วนของปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจังหวัด แต่จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของพื้นที่ ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นพบว่ามีปัญหาการบุกรุกป่าไม้ไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ แต่ด้วยภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมหาศาล โดยมีความเป็นธรรมชาติเป็นจุดขายหลัก ดังนั้นหากไม่ช่วยกันดูแลรักษาก็ย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและรายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับพบว่าผู้ทำการบุกรุกนั้นมีทั้งประชาชนทั่วไป และการแอบแฝงของกลุ่มนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลที่ว่าจ้างให้ประชาชนบุกรุกพื้นที่ซึ่งเป็นของรัฐ
ส่วนของภัยธรรมชาติส่วนหนึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าไม้ โดยเฉพาะพื้นที่บนภูเขา ดังนั้นเมื่อปริมาณน้ำฝนมีเป็นจำนวนมากก็จะก่อให้เกิดปัญหาดินสไลด์หรือดินถล่มเหมือนกับหลายๆ จังหวัดใกล้เคียงที่ประสบปัญหามาก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่มีต้นไม้ที่จะไปดูดซับน้ำไว้ แม้ว่าครั้งที่ผ่านมาภูเก็ตอาจจะโชคดี แต่ก็ไม่เสมอไป ซึ่งหากยังคงปล่อยปละละเลยและไม่มีการเข้าไปดูแลอย่างจริงจังก็จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตได้ และย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับภัยพิบัติขนาดใหญ่ซึ่งภูเก็ตเคยประสบมาแล้วเมื่อปี 2547 และปัจจุบันภูเก็ตก็ยังเป็นพื้นที่เสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าในส่วนของจังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ จัดทำแผนและฝึกซ้อมอพยพหนีภัยให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่หมุนเวียนเดินทางเข้ามานั้นจะไม่ทราบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะอพยพไปยังจุดใด โดยเฉพาะหากเกิดเหตุในช่วงเวลากลางคืน จึงจำเป็นที่พนักงานในโรงแรมที่พักหรือสถานประกอบการต่างๆ จะต้องเข้ามาให้การดูแลช่วยเหลือนำพาไปยังจุดปลอดภัย รวมทั้งในการฝึกซ้อมนั้นควรมีการตั้งสมมติฐานที่ค่อนข้างวิกฤตและเวลาค่อนข้างสั้นก่อนคลื่นที่จะมาถึง เพื่อให้มีความชำนาญอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนของ ศปป.4 กอ.รมน.พร้อมเป็นกำลังเสริมเพื่อเติมในส่วนที่ยังขาดอยู่ นอกจากนี้ยังฝากในเรื่องการจัดตั้งศูนย์บัญชาการการทำงานเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นระบบ รวมทั้งการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเกาะ เนื่องจากเมื่อเกิดขึ้นระบบโทรศัพท์จะไม่สามารถใช้การได้ ทั้งนี้หากมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือจากส่วนกลางทาง ศปป.4 กอ.รมน.ก็พร้อมที่จะเป็นผู้ประสานงานให้ เพราะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท.เอกนันท์

ภูเก็ตจ้างบริษัทแก้ไขปัญหาน้ำ


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 54 ที่ห้องประชุมโรงแรมเพิร์ลภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายชัยพร พัฒนรักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนา สำนักงานจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ส่วนภูมิภาค อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม

นายประเจียด กล่าวว่า สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตได้ประสบปัญหาการใช้น้ำมาอย่างต่อเนื่องและที่ผ่านมาจะใช้การแก้ไขปัญหาทีละจุด ทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้จัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีและคำของบประมาณจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 วงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษา บริษัทแสปม คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อจัดการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทการบริการจัดการน้ำจังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้การจัดทำโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำจังหวัดภูเก็ต เพื่อจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัย และปัญหาคุณภาพน้ำครอบคลุมทั้งจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นกรอบดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ การตั้งถิ่นฐาน สภาพสังคม กิจกรรมการใช้น้ำ ตลอดจนสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัด รวมถึงเพื่อการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำของจังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นระบบ โดยให้มีแผนแม่บทเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาภัยจากน้ำและปัญหาคุณภาพน้ำอย่างบูรณาการให้ครอบคลุมเชิงพื้นที่ทั้งเกาะภูเก็ต รวมทั้งครอบคลุมกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อการดำเนินการเสร็จสิ้นจะทำให้จังหวัดได้แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำจังหวัดภูเก็ตที่สามารถแก้ไขน้ำได้ทั้งระบบ ซึ่งทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างทั่วถึง และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน นายประเจียดกล่าว

ขณะที่นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของชุมชนเมืองและกิจกรรมต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพ และการประกอบอาชีพ การอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว การเกษตรกรรมและการอุตสาหกรรม จากข้อจำกัดด้านกายภาพของภูเก็ต ทำให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ได้ จึงทำให้ภูเก็ตประสบกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำตลอดมาในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูเก็ต

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำระบบจัดการน้ำที่ผ่านมาของภูเก็ตยังไม่การศึกษาและจัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าและเฉพาะแห่ง การศึกษาจัดทำแผนแม่บทเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาภัยจากน้ำ ตลอดจนปัญหาคุณภาพน้ำอย่างบูรณาการให้ครอบคลุมเชิงพื้นที่ทั้งเกาะภูเก็ต นับเป็นแผนดำเนินงานที่ดี ที่จะเป็นตัวกำหนดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

ศปป.3 กอ.รมน.ติดตามสถานการณ์ก่อการร้าย



เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พล.ต.วีระศักดิ์ ล้อมวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 กองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.3 กอ.รมน.) พร้อมคณะ รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวเข้าร่วม อาทิ ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ป้องกันจังหวัดภูเก็ต ฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต ว่า ประกอบด้วย การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยาเสพติด คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความแตกแยกในสังคม/และการปกป้องสถาบัน รวมถึงภัยคุกคามอื่นๆ ตามสถานการณ์
ในส่วนของการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาตินั้น ได้มีการรายงานว่า จากการประเมินสถานการณ์การข่าวและสถานการณ์แวดล้อมของการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก และการขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายขึ้นได้จากกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกลุ่มมิตรประเทศของสหรัฐอเมริกาที่อาจตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย อีกทั้งยังเป็นแหล่งหลบซ่อนของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติและเครือข่าย ซึ่งภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท และจากการขยายตัวทางธุรกิจการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะเป็นเหตุให้มีอาชญากรรมแฝงตัวเข้ามาหลากหลายรูปแบบ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ นักค้ายาเสพติด การก่อการร้าย เป็นต้น ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ที่ผู้นำของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาประชุม และท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเช่นกัน จึงอาจเป็นเป้าหมายของกลุ่มหัวรุนแรงจะกระทำได้ พื้นที่เสี่ยงภัย เช่น สนามบิน โรงแรมขนาดใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมเลือกไปพักผ่อน คลังน้ำมัน ท่าเทียบเรือ เป็นต้น ซึ่งก็ได้มีการกำหนดมาตรการและแผนรับมือไว้แล้ว
พล.ต.วีระศักดิ์ กล่าวภายหลังรับฟังบรรยายสรุป ว่า ด้วย ศปป.3 กอ.รมน.เป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติและติดตามการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ มีภารกิจในการตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์ วางแผนอำนวยการประสานความร่วมมือในลักษณะการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากปัจจัยเกี่ยวกับการเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งมีการวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสื่อสารและคมนาคม ประกอบประเทศไทยติด 1 ใน 36 ประเทศทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงของการเกิดการก่อการร้าย เนื่องจากมีบุคคล สถานที่ และแหล่งผลประโยชน์ต่างๆ ที่กลุ่มก่อการร้ายมุ่งที่จะก่อความรุนแรงหรือวินาศกรรม รวมถึงการเป็นประเทศเสรีด้านการค้าและการส่งเสริมท่องเที่ยวทำให้มีผู้คนเดินทางเข้ามาจากหลากหลายประเทศ รวมทั้งยังมีรายงานว่าเป็นแหล่งที่มีการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน เพื่อจะได้ไม่เกิดความตื่นตระหนก รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังหรือแจ้งข้อมูลข่าวสารกรณีพบความผิดปกติ
“ในส่วนของภูเก็ตขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไรน่าเป็นห่วง แต่ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งมีความเสี่ยงในการเข้ามาแฝงตัวของกลุ่มคนร้าย จึงจำเป็นที่จะต้องมาสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหากเกิดเหตุการณ์ความผิดปกติขึ้น ถือเป็นการป้องกันไว้ดีว่าที่จะมาแก้ไขในภายหลัง ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลทางจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการมาเตรียมความพร้อมไว้แล้วในระดับหนึ่ง ส่วนของ กอ.รมน.ก็จะมาเติมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” พล.ต.วีระศักดิ์ กล่าว

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมถวายเทียนพรรษา


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 54 ที่วัดวิชิตสังฆาราม หรือ วัดควน ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต หน่วยงานกรมประชาสัมพันธ์ในจังหวัดภูเก็ต นำโดยนางวันเพ็ญ อัพตัน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต นางจิรดา ดีชัยยะ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต นายโสภณ เคี่ยมการ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต และสื่อมวลชนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันถวายเทียนพรรษาก่อนเทศกาลเข้าพรรษา ตามโครงการสร้างความผาสุกและความพึงพอใจของบุคลากรกรมประชาสัมพันธ์
นางวันเพ็ญ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญท่ามกลางการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ส่งผลให้บุคลากรต้องเผชิญกับความเครียดทั้งเรื่องหน้าที่การงานและส่วนตัว กลายเป็นภาระที่หนักอึ้งที่เข้ามารบกวนจิตใจจนทำให้ชีวิตไม่สำราญ การปฏิบัติงานไม่ประสบผลสำเร็จ ขาดแรงบันดาลใจและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องดำเนินกิจกรรมเพื่อกระตุ้น/สร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร เพื่อจักได้เดินหน้าสู่การพัฒนางานและกรมประชาสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน
กรมประชาสัมพันธ์ เป็นองค์กรหลักด้านการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ รวมทั้งผลิตและสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ อีกทั้งบุคลากรในสังกัดยังเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรที่ปรากฏต่อสายตาประประชาชน การสร้างความสุข และความผาสุกแก่บุคลากรในสังกัดจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กรต่อประชาชนทั่วไป รวมทั้งยังจะส่งผลต่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนางานด้านประชาสัมพันธ์ด้วย
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 จังหวัดภูเก็ต สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นตัวแทนของกรมประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ มีภารกิจสนับสนุนสำคัญคือการปฏิบัติงานราชการในเชิงบูรณาการ จำเป็นต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน ส่วนราชการ และองค์กรต่างๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างขวัญกำลังใจเพื่อให้มีความแข็งแกร่ง อดทน และมีทักษะเพียงพอต่อการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับ

สัมมนาพืชปลอดภัย เรียนรู้กระบวนการ


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาพืชปลอดภัย จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรกรปลอดภัย และเจรจาธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและจูงใจให้กับเกษตรกรผู้ผลิต รวมถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรกรปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคด้วย โดยมีนายวินัย ขวัญแก้ว เกษตรจังหวัดภูเก็ต นายสมพงษ์ อ่อนประเสริฐ พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคธุรกิจ โรงแรม ร้านค้า ตัวแทนเครือข่ายการผลิตและการตลาด เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรปลอดภัย เข้าร่วมจำนวนประมาณ 150 คน
ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ การอภิปราย เรื่อง การผลิตพืชปลอดภัยสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยวิทยากรจากสำนักงานเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตตัวแทนเครือข่ายการผลิตและการตลาด กิจกรรมการเจรจาธุรกิจเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด การนำเสนอและแสดงผลผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจากเกษตรกรจากกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น
นาย วินัย กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินงานตามนโยบายอาหารปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยในปีงบประมาณ 2554 สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตได้รับงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัดให้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชปลอดภัยสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชปลอดภัย และการสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและบริโภค
ขณะที่นายสมเกียรติ กล่าวว่า การดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยจะต้องดำเนินการในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้มีความปลอดภัยตลอดเส้นทางห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร โดยกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านควบคุมกระบวนการผลิตให้มีความปลอดภัยจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปรับขบวนการผลิต ทั้งในด้านทรัพยากร วิธีการปฏิบัติและการใช้สารเคมีให้มีการปลอดภัยทั้งด้านมาตรฐาน เป็นไปตามข้อกำหนดข้อบังคับของระบบมาตรฐาน ตลอดจนต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยจนได้รับสัญลักษณ์ความปลอดภัย เครื่องหมาย Q ด้านการจัดผลผลิตและการตลาด จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรกรปลอดภัย
เนื่องจากที่ผ่านมาราคาผลผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยไม่แตกต่างจากราคาผลผลิตสินค้าเกษตรโดยทั่วไปจะต้องส่งเสริมพัฒนารูปแบบการนำเสนอสินค้า การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันต้องมีการสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายและการต่อรอง และด้านควบคุมตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าและอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการตรวจสอบสารพิษตกค้างและคุณภาพของผลผลิตในแหล่งจำหน่ายก่อนถึงผู้บริโภค ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารแก่ผู้บริโภคเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสนับสนุนการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้อีกทางหนึ่งด้วย

ลงพื้นที่ให้บริการตรวจสุขภาพแก่ประชาชน


 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ที่ ศาลาอเนกประสงค์บ้านดอน (โรงเรียนวัดเทพกระษัตรี) และศาลาอเนกประสงค์ มัสยิดบ้านพรุจำปา นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายศานิต สิริวัฒน์ นายศักดิ์ชาย เชาวน์ไวย สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต ได้ลงพื้นที่จ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับคนชรา คนพิการฯ ประจำเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2554 ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมี คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ร่วมให้บริการตรวจสุขภาพแก่ประชาชนที่มารับเบี้ยยังชีพในครั้งนี้ด้วย
การจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับคนชรา คนพิการฯ ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง ในครั้งนี้ มีผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ จำนวน 163 ราย โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล เข้าสำรวจประชาคมท้องถิ่นถึงจำนวนของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่อยู่ในเกณฑ์ คือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยของแต่ละครอบครัว ซึ่งในจังหวัดภูเก็ต ได้ให้ทาง อบต.ของแต่ละตำบลเป็นผู้เข้าไปสำรวจ รวมทั้งพิจารณาเกณฑ์ของผู้ที่มีสิทธ์ดังกล่าว โดยมอบให้เป็นรายเดือน คนละ 500 บาท และจะจ่ายให้ทุกๆ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง
สำหรับการลงพื้นที่จ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ คนชรา คนพิการฯ ครั้งนี้ ทาง อบจ.ภูเก็ต ได้นำบุคลากรทางการแพทย์มาให้บริการตรวจรักษาสุขภาพฟรีแก่ประชาชน พร้อมทั้งให้บริการแนะนำด้านสุขภาพ ซึ่ง อบจ.ภูเก็ต ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยในโอกาสต่อไป จะมีการให้บริการตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องตลอดทุกๆ 3 เดือน ทั้งนี้ หากพบเหตุกรณีฉุกเฉิน สามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ที่ โทร.1669 ส่วนโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต โทร.076-358888

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สืบภาค 8 บุกอู่เรือพบน้ำเขียวกว่าหมื่นลิตร


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 54 พ.ต.อ.สุริศักดิ์ วิชัยดิษฐ์ ผกก.สส.2 บก.สส.ภ.8 พร้อมด้วย พ.ต.ท.ศุภณัฐ รัตนภิรมย์ สว.สส.2 บก.สส.8 และพวก ได้เข้าตรวจสอบภายใน อู่ซ่อมเรือสปีดโบ๊ทของ บริษัท นนทศักดิ์ มารีน ถนนวิเศษ ม.2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ว่า ที่อู่ภายในบริษัทดังกล่าว มีการกักเก็บน้ำมันที่มิได้เสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าอู่ซ่อมเรือสปีดโบ๊ทดังกล่าว อยู่หลังธนาคารไทยพาณิชย์สาขา ราไวย์ เป็นอู่ซ่อมเรือสปีดโบ๊ทของบริษัทนนทศักดิ์ มารีน ทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยวทางทะเล พบพนักงานจำนวนหนึ่งกำลังซ่อมเรืออยู่ ที่บริเวณลานจอดรถพบรถบรรทุกน้ำมัน 6 ล้อ จำนวน 1 คัน โดยภายในรถมีน้ำมันบรรจุอยู่ในรถประมาณ 3,000 ลิตร นอกจากนั้นยังพบถังบรรจุน้ำมันขนาด 3,000 ลิตร วางอยู่ใกล้กันอีก 1 ถัง จาสกการตรวจสอบมีน้ำมันอยู่ด้านในจำนวน 2,700 ลิตร นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบพบ บริเวณลานหน้าอู่ซ่อมเรือพบบ่อน้ำมันใต้ดินขนาดใหญ่อีก 1 บ่อ ซึ่งบรรจุน้ำมันได้ 5,000 ลิตร ทางเจ้าหน้าที่จึงอายัดน้ำมันทั้งหมดรวม 10,700 ลิตร ไว้ตรวจสอบ โดยมีนายศุภกิตติ แก้วประดิษฐ์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 92 ถนนบางกอก ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง จ.ภูเก็ต รับเป็นเจ้าของอู่ดังกล่าว จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนสภ.ฉลอง ดำเนินคดีในข้อหามีไว้ในครอบครอง ซึ่งสินค้า (น้ำมัน) โดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี ตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตตรา 161 ซึ่งต้องโทษระหว่าง 2 – 10 เท่า ของอัตราภาษีน้ำมัน
พ.ต.ท.ศุภณัฐ รัตนภิรมย์ สว.สส.2 บก.สส.8 กล่าวว่า ในการตรวจสอบครั้งนี้ เนื่องจากชุดจับกุมได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าที่อู่ซ่อมเรือบริษัทนนทศักดิ์ มารีน ซื้อน้ำมันที่มิได้เสียภาษีเก็บไว้จำนวนกว่าหมื่นลิตร ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียภาษีที่จะนำไปพัฒนาประเทศอย่างมหาศาล จึงได้เข้าตรวจสอบ พบว่าเจ้าของบริษัทไม่มีใบเสียภาษีมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ จึงควบคุมตัวและอายัดน้ำมันทั้งหมดเป็นของกลางเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ใช้เรดาห์ทุติยภูมิควบคุมจราจรทางอากาศ


พลอากาศเอกสมชาย เธียรอนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ จ.ภูเก็ต ภายหลังเป็นประธานพิธี เปิดอาคารสำนักงานศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต (แห่งใหม่) บริเวณถนนสายสนามบินนานาชาติภูเก็ต ว่า ศูนย์วิทยุการบินภูเก็ต เป็น 1 ใน 9 ศูนย์วิทยุการบินในความรับผิดชอบของบริษัทวิทยุการบินฯ และในปีนี้เป็นปีที่ 23 ของการเปิดให้บริการซึ่งผลการปฏิบัติงานมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ต ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และยังทำให้มีจำนวนเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20 % มีเที่ยวบินขึ้นลงเฉลี่ยเดือนละกว่า 4,200 เที่ยวบิน
“ในด้านปฏิบัติงานถือเป็นแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีดาวเทียมระบบเรดาห์ทุติยภูมิ (Secondary Surveillance Radar) มาใช้ดำเนินงานด้านปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยรับผิดชอบการให้บริการบริเวณเขตท่าอากาศยาน (Aerodrome Control Service) และเขตประชิดสนามบิน (Approach Control service) ของท่าอากาศยานภูเก็ต กระบี่และระนอง มีรัศมีโดยรอบไม่เกิน 30 ไมล์ทะเล ที่ความสูงไม่เกิน 11,000 ฟุต จนกระทั่งได้พัฒนานำเครือข่ายโทรคมนาคมการบิน (Aeronautical Telecommunication Network :ATN) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมจราจรทางอากาศและนักบินมาใช้ เพื่อก่อให้เกิดความ รวดเร็ว แม่นยำเที่ยงตรง และปลอดภัยสูง โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมโยงเครือข่าย ATN ณ ศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ตด้วย”
อย่างไรก็ตามพลอากาศเอกสมชาย ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากที่ภูเก็ตแล้วก็จะมีการเพิ่มระบบดังกล่าวให้กับศูนย์วิยุการบินอื่นๆ ด้วย ซึ่งได้รับการการอนุมัติงบประมาณจำนวน 4,460 ล้านบาท ในการติดตั้งระบบดาวเทียมดังกล่าว คาดว่าจะแล้วทุกศูนย์ฯ เสร็จทั่วประเทศในช่วงปลายปี 2557 ซึ่งจะทำให้การขนส่งทางอากาศยานในธุรกิจการบินของประเทศไทยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศเทียบเท่ากับในประเทศยุโรปและอเมริกา

ศูนย์วิทยุการบินภูเก็ตเปิดสำนักงานใหม่


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 54 ที่สำนักงานศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ตแห่งใหม่ นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย พลอากาศเอกสมชาย เธียรอนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เป็นประธานพิธีเปิดอาคารสำนักงานศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต (แห่งใหม่) บริเวณถนนสายสนามบินนานาชาติภูเก็ต โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ พนักงานศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ตเข้าร่วม
ทั้งนี้นายสมพร เพ็ชรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต เปิดเผยว่า ศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต ได้ก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ พร้อมระบบสาธารณูปโภค มีอาคาร 3 หลัง ได้แก่ อาคารบริหาร อาคารวิศวกรรม อาคารสัมมนา และห้องอาหาร รวมพื้นที่ใช้สอย 2,420 ตารางเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 78 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณงาน และบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่สายการบิน ให้ได้รับบริการแบบครบวงจร One Stop Service โดยมุ่งเน้นความพึงพอใจสูงสุดของสายการบินผู้ใช้บริการจากการให้บริการของศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต
ในด้านการบริการเครื่องช่วยการเดินอากาศ ณ ศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวก แก่อากาศยานที่ทำการขึ้น - ลงได้อย่างปลอดภัย ประกอบด้วย เครื่องช่วยการเดินอากาศบอกทิศทางจากสนามบิน (DVOR) หรือ (Doppler Very High Frequency Omni-directional Range), เครื่องช่วยการเดินอากาศบอกระยะทางระหว่างสถานีเครื่องช่วยการเดินอากาศกับตำแหน่งที่เครื่องบินกำลังบินอยู่ (DME) หรือ (Distance Measuring Equipment) และเครื่องช่วยในการนำเครื่องบินลงสู่สนามบิน (ILS) หรือ (Instrument Landing System) อุปกรณ์ดังกล่าวได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ตลอดเวลา