จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

เชิญชวนร่วมทำบุญพัฒนาศาลเจ้าแสงธรรม.


เมื่อวันที่ 16 กันยายน 54 ที่ศาลเจ้าแสงธรรม ถ.พังงา ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง ภูเก็ต นางอัญชลี วานิช เทพบุตร พร้อมด้วยนายเรวัติ อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ตและคณะศิษย์เก่าโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยรุ่นสะตอ 24 เข้าเยี่ยมชมและกราบไหว้บูชาพระที่ศาลเจ้าแสงธรรม หรืออ๊ามเต่งกองต๋อง โดยมีคณะกรรมการศาลเจ้าให้การต้อนรับ
ทั้งนี้นายเรวัต กล่าวถึงการเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมและกราบไหว้พระที่ศาลเจ้าแสงธรรมครั้งนี้ว่าเพราะต้องการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ฝากไปยังประชาชนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและร่วมเทศกาลกินผักในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้รู้จักศาลเจ้าแห่งนี้ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่มีอายุเก่าแก่แห่งหนึ่งของภูเก็ต

โดยขณะนี้ทางศาลเจ้าได้มีการก่อสร้างซุ้มประตู อาคารอำนวยการ อาคารอเนกประสงค์ที่ออกแบบสไตร์ชิโนโปรตุเกสจึงอยากเชิญชวนประชาชนชาวภูเก็ตและใกล้เคียงรวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาเข้าเยี่ยมชม กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมทำบุญร่วมกันเพื่อนำไปก่อสร้างและบูรณะศาลเจ้าให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
สำหรับอ๊ามเต่งกองต๋อง หรือศาลเจ้าแสงธรรม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2434 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน สายสกุล ตันหล่วนแจ้ เป็นอาคารทรงจีนชั้นเดียว ครั้งหนึ่งทางเข้าด้านหน้าถูกปิดลง ต้องเข้าทางด้านหลังคือบริเวณถนนถลางด้านเดียว ต่อมาเมื่อปี 2534 ศาลเจ้าได้เปิดตัวขึ้นอีกครั้ง โดยการเปิดทางเข้าด้านหน้าถนนพังงา
ในปี 2540 ได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2542 คณะกรรมการศาลเจ้าได้ร่วมกันบูรณะครั้งใหญ่ โดยยังคงสภาพเดิมทุกประการ ปี 2543 ได้จัดงานฉลองศาลเจ้าครบรอบ 109 ปี เป็นเวลา 7 วัน 7 คืนปรากฏว่ามีผู้ศรัทธาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากจึงได้เปิดเป็นศาลเจ้าสาธารณะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและในวันที่ 29 กันยายนนี้ เวลา 17.00 น.ทางศาลเจ้าจะมีพีเปิดซุ้มประตูใหญ่ด้านถนนพังงาอย่างเป็นทางการ จึงขอเชิญชวนชาวภูเก็ต ได้ร่วมกันเปิดซุ้มประตูในวันนั้นด้วย

ม.จุฬาถวายปริญญา(หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล)


เมื่อวันที่ 16 กันยายน 54 ที่วัดสิริสีลสุภาราม(วัดหลวงปู่สุภา) ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พระธรรมวิมลโมลี เจ้าคณะภาค 17 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมพระเถรนุเถระ นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานฝ่ายฆารวาส นายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต นายอรรถการ ฟูเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการ มีประชาชนจากทั่วสารทิศ ได้ร่วมงานมุฑิตาสักการะ พระมงคลวิสุทธิ์(หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) จำเริญอายุวัฒนะ 116 ปี และพิธีถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจริยศึกษา จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรราชวิทยาลัย
สำหรับพระมงคลวิสุทธิ์(หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) นั้นอายุครบ 116 ปี และย่าง 117 ปี ในวันที่ 17 กันยายน 54 ถือเป็นพระสงฆ์ที่มีอายุมากที่สุดของประเทศไทยและอายุมากที่สุดของโลก
สำหรับพิธีถวายปริญญาพุทธศาตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจริยศึกษา และประกาศสดุดีเกียรติคุณ แด่ พระมงคลวิสุทธิ์(หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) นั้น ถวายโดยพระธรรมสิทธินายก จากนั้นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เจริญชัยมงคลคาถา พระราชวรมุนี คณบดีคณะพุทธศาสตร์ ถวายพัดรองแสดงวิทยฐานะ พระสุธีธรรมานุวัตร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ถวายผ้าไตรีจีวร และย่าม พระครูสุตกิจบริหาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ถวายหนังสือที่ระลึกฯลฯ
พระศรีคัมภีรญาณ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ได้อ่านประกาศเกียรติคุณ ปริญญาพุทธศาตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจริยศึกษา ว่า ในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ครั้งที่ 2/5554 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศว่า พระมงคลวิสุทธิ์(หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) 116 พรรษา 96 วิทยฐานะมูลกัจจายน์ วิทยาคม ธุดงควัตร เจ้าอาวาสวัดสิริสีลสุภาราม อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นพระมหาเถระผู้รัตตัญญู ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรงดงาม ในด้านจริยาวัตรส่วนตน เป็นผู้เอาใจใส่ต่อปริยัติสัทธธรรม ปฏิบัติสัทธธรรม และปฏิบัติเวธสัทธธรรม เอาใจใส่ต่อคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ทัตต์ที่วัดท่าอุเทน หลวงปู่ศุขแห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้สนธนาศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อชา สุภทฺโท แห่ง วัดหนองป่าพง หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงพ่อโอภาสี หลวงปู่ขาว หลวงพ่อเดิม ถือปฏิบัติเคร่งครัดมั่นคงในธุดงควัตรจาริกไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังถือธุดงควัตรจาริกไปยังประเทศลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย จีน อาหรับ และฝรั่งเศส ได้ทำการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ประชาชนทั้งด้านร่างกายและจิตใจในถิ่นต่างๆ ที่ถือธุดงควัตรจาริกไป ศึกษาวิทยาคมกับเกจิอาจารย์ ผู้ทรงวิทยาคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญในวิชากำลังภายใน และวิทยาคม ใช้วิทยาคมบริกรรมคาถาชินบัญชรทำน้ำพระพุทธมนต์รักษาผู้เจ็บป่วยด้วยวิธีสร้างขวัญและกำลังใจ สร้างวัตถุมงคลอันเป็นเครื่องรางของขลังแจกจ่ายและเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
พระมงคลวิสุทธิ์(หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) ได้ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประโยชน์แก่คณะสงฆ์ สังคม ประเทศ และพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่เผยแพร่พุทธธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ อบรมสั่งสอนชาวเลที่เกาะสิเหร่ให้กันมาถือพระพุทธศาสนา สร้างศาสนวัตถุศาสนสถานไว้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เช่นสร้างวัดที่เขาหมอน วัดเกาะสิเหร่ สำนักสงฆ์เทพขจรจิตร นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้สร้างวัดไว้จำนวน 33 วัด สร้างตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต สร้างพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางประทานพรขนาดใหญ่ นำว่านที่เก็บสะสมไว้จากประเทศลาว กัมพูชา และพม่าออกแจกจ่าย แก่ศิษย์ยานุศิษย์ พร้อมกันนั้น ก็สร้างวัตถุมงคลจากว่านวัสดุธรรมชาติ เพื่อมอบให้แก่ศิษย์ยานุศิษย์ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์ในการสร้างปูชนียสถานและปูชนียวัตถุทางพระพุทธศาสนา อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป รวมทั้งสงเคราะห์อนุเคราะห์ทั้งในยามปกติ และในยามที่มีความทุกข์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้ถือปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีสงฆ์ เป็นแบบอย่างด้านศีลจารวัตร ให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา
จากการที่ได้ปฏิบัติศาสนกิจ มีผลปรากฏเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวมา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตจึงได้มอบถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน
นับได้ว่าพระมงคลวิสุทธิ์(หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล) เป็นพระมหาเถระที่ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่คณะสงฆ์ สังคม ประเทศชาติ พระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการควรแก่การยกย่องประกาศเกียรติคุณ สภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจริยศึกษา เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏไพศาลเป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชนสืบไป

ประภัสร์พร้อมดันด้านคมนาคมภูเก็ต


เมื่อวันที่ 17 กันยายน 54 นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยถึงจากการที่ได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใน จ.ภูเก็ต ทราบว่า อยากเห็นการดำเนินงานด้านการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมามักจะลงพื้นที่มารับฟัง แต่เมื่อกลับไปส่วนกลางเรื่องก็เงียบหายไปทั้งๆ ที่ในแต่ละปีภูเก็ตจะทำรายได้ให้กับประเทศปีละนับแสนล้านบาท แต่งบประมาณที่จัดสรรลงมาพัฒนาค่อนข้างน้อยในขณะที่มีปัญหาต้องการงบประมาณมาจัดการค่อนข้างมาก เช่น ปัญหาขยะ เป็นต้น 
ส่วนการแก้ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งก็เช่นเดียวกัน ซึ่งมีการพูดคุยกันมานานแล้วเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดทำระบบขนส่งมวลชน ซึ่งทราบว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ได้ศึกษารายละเอียดไว้เรียบร้อยแล้ว ความเห็นส่วนตัวมองว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งควรจะเป็นการลงทุนของภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน แต่ควรต้องมองว่าเป็นการจัดทำเพื่ออำนวยความสะดวกและประโยชน์ให้กับประชาชน เป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานภาครัฐ และยังจะก่อให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ตามมา เช่น เศรษฐกิจ แก้ปัญหารถติด มลภาวะ ความปลอดภัย เป็นต้น นายประภัสร์ กล่าวและว่า
กรณีที่ภาคเอกชนสนใจจะเข้ามาลงทุนก็สามารถทำได้ แต่ก็มักจะติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติร่วมทุน ปี 2535 ซึ่งเป็นอุปสรรคค่อนข้างมาก และมีความพยายามที่จะแก้ไขแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งต้องยอมว่าเอกชนเมื่อลงทุนแล้วก็ต้องหวังกำไร แต่ทางภาครัฐต้องดูด้วยว่ากำไรที่ได้นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร ส่วนของภูเก็ตทราบว่ามีเอกชนยื่นความจำนงไว้แล้ว ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่าเป็นอย่างไรบ้างไร
นายประภัสร์ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการที่จะต้องเร่งดำเนินการผลักดันต่อนั้นคงต้องเป็นโครงการที่ได้มีการจัดทำรายละเอียดโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการจัดสรรงบประมาณ เช่น โครงการทำทางลอดทางข้ามบริเวณสี่แยกไทนานกับสี่แยกโลตัส โครงการถนน 600 เมตร คลองเกาะผี เป็นต้น โดยจะไปดูว่าติดขัดในส่วนไหนอย่างไร รวมทั้งจะได้มีการนำเสนอปัญหาต่างๆ ที่ได้รับแจ้งจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ให้กับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

รวบยาบ้า - ยาไอซ์มูลค่ากว่า 13.5 ล.


เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พร้อมด้วยพ.ต.อ.พีระยุทธ์ การะเจดีย์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.อ.เอกวุฒิ เสน่ห์ ผกก.กก.สส.ภ.จว.ภูเก็ต ชปส.ภ.จว.ภูเก็ตและนปส.ภูเก็ต ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนายวิชัย สัปรส อายุ 26 ปี นายสุพรรณ จันทร์แดง อายุ 40 ปี นายอดุลย์ ทองกลาย อายุ 22 ปี และน.ส.สุนารีย์ บุดสีสวย อายุ 23ปี พร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 25,905 เม็ด ยาไอซ์น้ำหนัก 1,040 กรัม อาวุธปืน 4 กระบอก เงินสด 163,850 บาท พร้อมทั้งตรวจยึดรถยนต์จำนวน 2 คัน ไว้เพื่อตรวจสอบ โดยแจ้งข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย, มียาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 (ยาไอซ์) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ได้กล่าวว่า สำหรับการจับกุมในครั้งนี้ ด้วยเจ้าหน้าที่ได้รับจากแจ้งจากสายว่า นายวิชัย มีพฤติกรรมในการจำหน่ายยาบ้า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด กก.สส.ภ.จว.ภูเก็ต ร่วมกับ นปส.ภูเก็ต ได้วางแผนเพื่อทำการล่อซื้อ โดยให้สายทำการล่อซื้อ จนสามารถจับกุมตัวนายวิชัยได้ พร้อมของกลางยาบ้าจำนวน 12 เม็ด ยาไอซ์ 0.95 กรัม ปืน 1 กระบอก เงินสด 9,380 บาท โดยจับได้ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งในตัวเมืองภูเก็ต
ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการขยายผล โดยให้นายวิชัยได้ทำการสั่งซื้อยาบ้าจนสามารถจับกุมตัว น.ส.สุนารีย์ ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับนายสุพรรณ พร้อมยึดของกลางยาบ้าได้ จำนวน 643 เม็ด ยาไอซ์ 21.3 กรัม ปืน 2 กระบอก เงินสด 159,060 บาท ซึ่งน.ส.สุนารีย์ ให้การรับสารภาพว่ารับยาบ้า-ยาไอซ์ มาจากนายอดุลย์ ซึ่งจะขนยาเสพติดจำนวนมากมาจาก จ.พังงา ด้วยเรือหางยาว โดยจะมาส่งให้กลุ่มพ่อค้าและเอเย่นต์ใน จ.ภูเก็ตที่บริเวณท่าเรือบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยนายสุพรรณ จะมีหน้าที่ไปรับนายอดุลย์ที่ท่าเรือ
จากนั้นชุดจับกุมได้นำกำลังไปดักซุ่มจนสามารถจับกุมนายอดุลย์ ได้พร้อมยาบ้าจำนวน 25,240 เม็ดและยาไอซ์อีก 1,017.8 กรัม โดยยาไอซ์ได้ซ่อนอยู่ในซองชาจีนสีทอง ซุกซ่อนอยู่ใต้ท้องเรือหางยาว มูลค่ารวมกว่า 13.5 ล้านบาท นับเป็นการจับกุมยาไอซ์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตได้มีการจับกุมและตรวจยึดได้ในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นการลักลอบขนทางทะเล พล.ต.ต.พิกัดกล่าว

พบระเบิด - เสื้อผ้า ของคนร้ายปล้นแบ็งค์


เมื่อวันที่ 15 กันยายน 54 ที่สวนยางพาราบ้านแหลมหงา ม.1 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ตพล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พร้อมด้วย พ.ต.อ.โชติ ชิดไชย ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสอบเก็บกู้วัตถุระเบิดจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ภ.จว.ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่สายตรวจตำบลรัษฎา ได้เดินทางไปตรวจสอบ หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิดภายในสวนยางดังกล่าว
โดยที่บริเวณป่าละเมาะใต้ต้นยางพารา พบแท่งแป๊ปแหล็ก 3 แท่ง ยาวประมาณ 1.30 ฟุต แต่ละแท่งมีเทปพันสายไฟพันอยู่บริเวณรอบหัวท้ายของแป๊ป นอกจากนี้ยังมีเสื้อสีน้ำเงิน 1 ตัว กางเกงลายพรางแบบทหาร 1 ตัว วางทับอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องนำเครื่องสแกนระเบิดมาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นระเบิดปลอม เจ้าหน้าที่จึงนำออกมาตรวจสอบภายในแป๊ปแต่ละอันมีปูนพลาสเตอร์บรรจุไว้จนเต็มและมีน้ำหนักมาก ซึ่งคล้ายกับวัตถุระเบิดจริงมาก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำไปตรวจสอบเพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ได้กล่าวว่า เสื้อผ้าและวัตถุระเบิดดังกล่าวที่เจอในครั้งนี้ ตรวจสอบพบว่าเป็นเสื้อผ้าที่คนร้ายสวมใส่ ไปก่อเหตุพยามยามชิงทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย สาขาติลกอุทิศ ต.ตลาดใหญ่ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 54 ที่ผ่านมา ซึ่งการก่อเหตุครั้งนั้นคนร้ายได้นำระเบิดปลอดดังกล่าวเพื่อเข้าไปชิงทรัพย์ภายในธนาคาร แต่ปรากฏว่าธนาคารได้ปิดทำการแล้ว เมื่อคนร้ายชิงทรัพย์ธนาคารไม่ได้ ก็กลับชิงรถจักรยานยนต์ของนางสาวกรอุไร เรือนวิน อายุ 46 ปี หลบหนีไป
พล.ต.ต.พิกัด ยังกล่าวว่า คนร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้น่าจะอาศัยอยู่ในละแวกนี้ เมื่อก่อเหตุเสร็จแล้วก็นำเสื้อผ้ารวมทั้งระเบิดปลอมที่ทำขึ้นมาทิ้งไว้ และคาดว่าน่าจะไม่มีคนเห็นเพราะสถานที่พบสิ่งของทั้งหมดเป็นสถานที่เปลี่ยว ซึ่งคนร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้น่าจะเป็นคนสติไม่สมประกอบแต่ก็พอมีความรู้ในการทำระเบิดอยู่บ้าง จึงได้ตัดสินใจทำระเบิดปลอมก่อเหตุดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนออกหาตัวคนร้ายรายนี้แล้ว หากญาติของผู้กระทำความผิดจะนำตัวผู้ก่อเหตุมามอบต่อเจ้าหน้าที่จะให้ความเป็นธรรมที่สุด
ด้านนายไชยกมล สิงห์ดวง อายุ 24 ปี อาชีพรับจ้างกรีดยาพารา ผู้ที่พบเสื้อและระเบิดปลอมดังกล่าว ได้กล่าวว่า ตนได้กรีดยางอยู่ในละแวกดังกล่าวอยู่เป็นประจำ โดยในวันนี้ได้ออกกรีดยางเมื่อเวลา 06.30 น หลังจากกรีดยางไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็พบว่าใต้ต้นยางพาราพบเสื้อและกางเกงวางอยู่ ตนก็หยิบขึ้นมาตรวจสอบดู และเมื่อดึงเสื้อออกมาพบว่าด้านล่างเป็นแท่งระเบิด 3 แท่ง ด้วยความตกใจจึงรีบวิ่งลงไปบอกญาติที่อยู่ด้านล่างภายในหมู่บ้านมาตรวจสอบ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบดังกล่าว

ดึงสถานประกอบการเป็นเครือข่ายดูแล สวล.

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ที่ห้องบอน-ไม้ท่อน โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.ภูเก็ต) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเสริมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สถานประกอบการได้รับทราบสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา รวมทั้งเพื่อยกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานที่กำหนด โดยมีตัวแทนจากสถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมจำนวน 40 แห่ง
นายณฐวรรณ จำลองกาศ หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่สำนักงานทรัพยากรฯ ได้ออกติดตามตรวจสอบ การดำเนินงานด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการต่างๆ โดยการสุ่มตรวจและออกตรวจสอบจากการสมัครเข้าร่วมประกวดสถานประกอบการรักษาสิ่งแวดล้อมดีเด่น เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสถานประกอบการบางส่วนยังดำเนินการในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ชัดเจนและไม่ถูกต้องเท่าที่ควร ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสำคัญระดับโลก จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวปีละประมาณ 5-6 ล้านคน และรัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านคน
จังหวัดภูเก็ตจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านพักของนักท่องเที่ยวที่จะต้องดูแลจัดการให้สวยงาม และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงได้มีการจัดทำโครงการฝึกอบรมเสริมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรักษาสิ่งแวดล้อมขึ้น
นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.ภูเก็ต กล่าวเสริมว่า จากความสวยงามทรัพยากรธรรมชาติ และมีผู้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุม ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมากมาย เช่น ปัญหาขยะมูลฝอยล้นเมือง ปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำเน่าเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ปัญหาการบุกรุกยึดครองพื้นที่ของรัฐ เพื่อแปรสภาพเป็นสถานที่รองรับการท่องเที่ยว ปัญหาประชากรแฝง เป็นต้น
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข่างวิกฤตของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากมีปริมาณขยะโดยเฉลี่ย 550 ตันต่อวัน ในขณะที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ตมีขีดความสามารถในการเผากำจัดขยะอยู่ที่ 250 ตันต่อวัน จึงมีขยะเหลืออีกจำนวน 300 ตันต่อวัน ที่จะต้องนำไปฝังกลบ ณ บ่อฝังกลบ ซึ่งมีอยู่จำนวน 5 บ่อ และสถานการณ์ของบ่อฝังกลบขณะนี้เต็มทุกบ่อ แต่แนวโน้มของปริมาณขยะก็ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี มีอัตราเฉลี่ยปีละ 7% คาดว่าในปี 2560 จังหวัดภูเก็ตจะมีปริมาณขยะอยู่ที่ 900 ตันต่อวัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การจัดการที่ต้นทาง เช่น บ้านเรือน สถานประกอบการ เป็นต้น การจัดการระหว่างทาง เป็นการดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องของการเก็บขน และการจัดการที่ปลายทาง ด้วยการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ย ทำไบโอแก๊ส ทำน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น นายสุเมธ กล่าว

ปปง.เผยแพร่ความรู้กฎหมายฟอกเงิน


เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน เปิดโครงการเผยแพร่ความรู้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแก่ประชาชน ตามโครงการเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จ.ภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือของประชาชน เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยมีนายอรรณพ ลิขิตจิตถะ รองเลขาธิการสำนักงาน ปปง. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมจำนวนประมาณ 200 คน
นายวีระวัฒน์ กล่าวว่า โครงการเผยแพร่ความรู้กฎหมายฯ มีหลักการสำคัญ คือ เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และการให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และสามารถสนับสนุนภารกิจหรือการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของสำนักงาน ปปง.อันจะส่งผลให้อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศลดน้อยลงจนหมดไปในที่สุด
“กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ และจะเป็นผู้รู้เรื่องราวความเคลื่อนไหวต่างๆ ของคนในชุมชนเป็นอย่างดี ประกอบกับปัจจุบันการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินนั้นมีหลากหลายฐานความผิด เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และการที่เครือข่ายต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฐานความผิดต่างๆ นั้นก็จะทำให้สามารถช่วยแจ้งเบาะแสและความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ผิดปกติให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้รับทราบและเข้าไปตรวจสอบ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตก็มีกระแสข่าวและถูกจับตามองว่ามีการเข้ามาของผู้ที่ต้องการฟอกเงินด้วยการทำธุรกิจ ซึ่งในอดีตกฎหมายอาจจะเข้าไปไม่ถึง หรือมีกฎหมายแต่การตรวจสอบทำได้ยาก เนื่องจากระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยยากที่จะเข้าถึง ดังนั้นการที่ภาคประชาชนมาช่วยกันเป็นหูเป็นตาก็จะทำให้สามารถตรวจสอบได้มากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับทราบถึงบทบาทและหน้าที่ของตัวเองด้วย เพราะจะทำให้การประสานงานต่างๆ ง่ายขึ้น อันจะช่วยให้สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดนำเงินไปใช้ประโยชน์ได้” นายวีระวัฒน์ กล่าว

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ฟื้นฟู ส่งเสริมภาคประชาชน เป็น ทสปช.


เมื่อวันที่ 14 กันยายน 54 ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมจัดตั้งไทยอาสาป้องกันชาติ ประจำปี 2554 โดยมีนายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายวิโรจน์ สุวรรณวงศ์ ป้องกันจังหวัดภูเก็ต และราษฏรอาสาที่อุทิศตนเพื่อส่วนร่วมในจังหวัดภูเก็ต พื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน กว่า 200 คน เข้าร่วม
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า จากอดีตการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามาข่มขู่ปลุกระดมคนหนุ่มสาวเข้าไปเป็นแนวร่วมในการต่อสู้กับรัฐโดยในปี 2521 รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ. 2521 ให้มีการฝึกอบรมสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ เพื่อเป็นการรวบรวมอาสาสมัครเข้าต่อสู้กับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ จวบจนปี 2540 ก็ไม่มีการฝึกจัดตั้งทดแทนสมาชิกรุ่นเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเสียชีวิตเป็นส่วนมาก ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยและการแตกความสามัคคีของมวลชนในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ขยายมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน ที่จะต้องมีมวลชนที่อาสาสมัคร ที่เสียสละบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อสร้างพัฒนาท้องถิ่น ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
จึงได้มีการฝึกอบรมจัดตั้งสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติเพิ่มเติม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทดแทนสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ จัดตั้งทดแทนในอดีต อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ในความรักชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมกิจกรรมปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมกิจกรรมความมั่นคงและกิจกรรมศาสนา และเพื่อเร่งกระตุ้นเตือนให้ราษฎรเกิดความสามัคคี เกิดพลังในการพัฒนาตนเอง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎร เกิดความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ

จัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดภูเก็ต (GPP)


เมื่อวันที่ 14 กันยายน 54 ที่ห้องจามจุรี 2 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันพิจารณาผลและเผยแพร่ผลการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดภูเก็ต (GPP) ประจำปี 2552 ซึ่งทางสำนักงานคลังจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีคณะทำงานการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดในแต่ละสาขา หรือผู้แทน จำนวน 16 สาขา อาทิ สาขาเกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้, สาขาประมง สาขาเหมืองแร่ เหมืองหิน สาขาอุตสาหกรรม (การผลิต) สาขาไฟฟ้า ประปา สาขาก่อสร้าง สาขาการค้า สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขนส่ง คมนาคม สาขาบริการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
สำหรับการจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) ปี 2552 เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการจัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดย GPP เป็นตัวชี้วัดศักยภาพในการผลิตของจังหวัด รวมถึงแสดงให้ทราบว่าจังหวัดมีการผลิตสินค้าและบริการอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด การผลิตสาขาใดเป็นการผลิตที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ในขณะเดียวกันข้อมูล GPP ที่แสดงเป็นอนุกรมจะทำให้ทราบว่า การผลิตโดยรวมของจังหวัดและการผลิตในแต่ละสาขาการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดในแต่ละปี ดังนั้น GPP จึงเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนสำหรับการขยายการผลิตโดยรวมให้เพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เมื่อการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นประชาชนก็ย่อมได้รับรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากับเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งของจังหวัดให้สูงขึ้น
ในปัจจุบันข้อมูล GPP ดังกล่าวเป็นการจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่การรายงานผลยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาของจังหวัดต่างๆ เพื่อประเมินผลการพัฒนาในแต่ละปีได้ทันกับรอบการประเมิน สศช.จึงมีนโยบายให้จังหวัดจัดทำ GPP ด้วยตนเอง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้จังหวัดมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ทันต่อการใช้งาน

จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำในภาพรวม


เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมจามจุรี 2 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตได้ว่าจ้างบริษัท แสปม คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาค อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
สำหรับโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำจังหวัดภูเก็ตนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาการใช้น้ำมาอย่างต่อเนื่อง และใช้การแก้ไขปัญหาทีละจุด จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติการราชการประจำปีและคำของบประมาณจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2554 จำนวน 5 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ จัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัย และปัญหาคุณภาพน้ำ ครอบคลุมทั้งจังหวัดภูเก็ต สำหรับให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นกรอบดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ การตั้งถิ่นฐาน สภาพสังคม กิจกรรมการใช้น้ำ สภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำของจังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นระบบ โดยให้มีแผนแม่บทเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาภัยจากน้ำ และปัญหาคุณภาพน้ำอย่างบูรณาการให้ครอบคลุมเชิงพื้นที่ทั้งเกาะภูเก็ต รวมทั้งครอบคลุมกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
นายปกรณ์ ดิษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญส่วนวิศวกรรมแหล่งน้ำ บริษัท แสปม คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า การจัดทำโครงการดังกล่าวนั้น เพื่อจัดทำแผนพัฒนาบริหารจัดการน้ำของจังหวัดในภาพรวม เพื่อแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น 5 ปี ระยะกลาง 10 ปี และระยะยาว 20 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคมนี้ โดยจะมีการวิเคราะห์การใช้น้ำในพื้นที่ทั้งการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ปริมาณน้ำที่มีอยู่ แหล่งกักเก็บน้ำ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเติบโตของการท่องเที่ยว หากเป็นพื้นที่ในเขตเมืองก็จะใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค ส่วนเขตนอกตัวเมืองแต่ละครัวเรือนจะใช้น้ำใต้ดินจากบ่อน้ำเป็นหลัก และมีบางส่วนที่ใช้บริการของประปาชุมชน
“จากการสำรวจข้อมูลในเบื้องต้นพบว่าจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนมีเฉลี่ยปีละประมาณ 2,500 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก แต่แหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอรองรับ และอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั้งอ่างเก็บน้ำบางวาดและบางเหนียวดำก็ยังไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มขีดความสามารถที่มีอยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนในการบริการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ กลางน้ำ ด้วยการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ส่วนปลายน้ำ จะเป็นการดูแลในเรื่องของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด”