จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ดันภูเก็ตเป็นเมืองวัฒนธรรมอาหารของยูเนสโก



วันที่ 5 พฤศจิกายน 54 ที่ห้องนนทรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต สมาคมเพอรานากันและมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และเทศบาลนครภูเก็ต จัดการประชุมประชาคมครั้งที่ 1 “การผลักดันเมืองภูเก็ตให้เป็นเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก” เพื่ออธิบายและสอบถามความคิดเห็นเบื้องต้นจากผู้ประกอบการด้านอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวภูเก็ตให้เป็นมรดกสำคัญและเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยมี ผศ.อดุล นาคะโร หัวหน้าคณะศึกษาวิจัย เรื่องเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน นายกวี ตันสุตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ตัวแทนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ตัวแทนจากเทศบาลนครภูเก็ต ผู้ประกอบการและผลิตอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วม
ผศ.อดุล นาคะโร หัวหน้าคณะศึกษาวิจัย เรื่องเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามบรรทุกข้อตกลงร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต เพื่อผลักดันโครงการนำเสนอให้เมืองภูเก็ตเป็นเมืองในเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ( City of Gastronomy) ซึ่งปัจจุบันได้รับการประกาศไปแล้ว 3 เมือง ได้แก่ เมืองโปปายัน ประเทศโคลัมเบีย เมืองอุสเตอร์ซุน ประเทศสวีเดน และเมืองเฉิงตู ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการนำเสนอดังกล่าวก็เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นยกระดับให้เป็นมรดกโลก และยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงด้านอาหารท้องถิ่นให้นานาประเทศรับทราบและสนใจเดินทางมาเยี่ยมเยียนภูเก็ตมากขึ้น โดยจะใช้เวลารวบรวมข้อมูลประมาณ 6 เดือนจากนั้นก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการยูเนสโกเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตจะทำหน้าที่ในการรวบรวมเอกสารเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการยูเนสโก ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมเพอรานากัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต และเครือข่ายทางวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่าเทศบาลนครภูเก็ต พิจารณานำเสนออาหารชาวบาบ๋าภูเก็ตเป็นอาหารหลัก เพราะเป็นอาหารท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตซึ่งมีรสชาติอร่อย มีชื่อเสียงมานาน ถือกำเนิดและพัฒนาการคู่เมืองภูเก็ตมากว่า 100 ปี เช่น น้ำชุบหยำภูเก็ต หมี่สั่ว หมูฮ้อง โอเอว เม็ดกาหยี เป็นต้น ควบคู่ไปกับความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของอาหารนานาชาติที่มีวิวัฒนาการร่วมกัน ได้แก่ อาหารซีฟู้ดที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ปลาเผา เบือทอด จักจั่นทะเล เป็นต้น รวมถึงอาหารไทยและอาหารมุสลิมด้วย เพื่อทำการเผยแพร่สู่ชาวโลกควบคู่กับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สวยงาม และการได้เป็นเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารยูเนสโก จึงเป็นการเติมเต็มทรัพยากรการท่องเที่ยวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผศ.อดุลกล่าว
ขณะที่นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่าทางยูเนสโกและกระทรวงวัฒนธรรมมีความประสงค์ให้เชื่อมโยงแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมอาหารกับความเจริญรุ่งเรืองมรอดีตของย่านเมืองเก่าเทศบาลนครภูเก็ตเป็นหลัก เพราะเป็นจุดเริ่มประเพณีวัฒนธรรมของชาวบาบ๋าภูเก็ต ซึ่งเป็นประชากรดั้งเดิมส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต เช่นเดียวกับเมืองเฉิงตู ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งพึ่งได้รับการประกาศไปเมื่อปีที่ผ่านมา


อบจ.ภูเก็ต เร่งหาทางสร้างครูภาษาอังกฤษ



นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนในจังหวัดภูเก็ตไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในสังกัด อบจ.ภูเก็ต หรือโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ ประสบกับปัญหาขาดแคลนครูสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ประกอบอีก 4 ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 2558 เราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่เริ่มตั้งแต่บัดนี้เกรงว่าจะไม่ทันการณ์ เนื่องจากภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาต่างประเทศที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว และเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนก็จะมีผู้คนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหากเราไม่สอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กและเยาวชนจะเกิดการเสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น เพราะเขาจะมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่การผลิตบุคลากรจะเน้นหนักในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรม ทำให้บุคลากรครูสอนภาษาและอื่นๆ มีปัญหาขาดแคลน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจังหวัด จะต้องมาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ทาง อบจ.ภูเก็ตจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่มาประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และให้สอดรับกับการเปิดประชาคมอาเซียนดังกล่าว”
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะเริ่มต้นจากโรงเรียนในสังกัด อบจ.ภูเก็ต ซึ่งมีอยู่ 5 แห่งด้วยกันก่อน โดยนำครูที่มีอยู่มาอบรมให้ความรู้ด้านภาษาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปสอนเด็กได้ เนื่องจากในแต่ละปีการศึกษาก็จะมีครูภาษาอังกฤษที่เกษียณอายุหรือลาออก และเมื่อเปิดรับสมัครก็ไม่มีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมาก นำครูภาษาอังกฤษในโครงการคลังสมองมาช่วยสอน และในระยะเร่งด่วนก็จะว่าจ้างครูต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าของภาษามาเป็นผู้สอน ส่วนในระยะยาวก็จะประสานกับทางสถาบันอุดมศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ให้กำหนดแนวทางในการผลิตบุคลากรด้านครูผู้สอนไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรืออื่นๆ ให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหายไป รวมถึงทดแทนการว่าจ้างครูต่างประเทศด้วย เพราะตลาดยังมีความต้องการค่อนข้างมาก นอกเหนือจากบุคลากรด้านท่องเที่ยวและโรงแรม



ภูเก็ตตั้งโรงครัวผลิตข้าวกล่องช่วยน้ำท่วม



เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 ที่โรงอาหารวิทยาลัยอาชีวะศึกษาภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงครัวรัฐบาล (ชาวภูเก็ต) เพื่อผลิตข้าวกล่องพร้อมรับประสานส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โดยมีส่วนราชการนำโดยนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองราชการจังหวัดภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต ว่าที่ ร.ต. วิกรม จากที่ จ่าจังหวัด ภูเก็ต นายศุภชัย โภชนุกุล นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายวีระพงศ์ ไวทยวงศ์สกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมอำนวยความสะดวกและดูแลความเรียบร้อย การจัดทำข้าวกล่องดังกล่าว
โดยการจัดข้าวกล่องในครั้งนี้ มีนักเรียนนักศึกษา เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนของจังหวัดภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต ข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนชาวภูเก็ตผู้มีจิตอาสาร่วมกันบรรจุข้าวกล่อง เพื่อส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีเมนูอาหาร อาทิ ไก่ทอด น้ำพริกคั่ว ข้าวเปล่า น้ำพริก ไข่ต้ม กระเพราไก่ เป็นต้น โดยเที่ยวแรกได้ส่งไปแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา จำนวน 5,000 กล่อง เพื่อเป็นอาหารเที่ยง และช่วงบ่ายอีก 5,000 กล่อง เพื่อเป็นอาหารเย็น ด้วยสายการบินไทยไปลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะมีนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายวิโรจน์ สุวรรณวงศ์ ป้องกันจังหวัดภูเก็ต พร้อมผู้เกี่ยวข้องไปรับข้าวกล่องดังส่งให้กับทางเขตคลองสามวานำไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนต่อไป
ทั้งนี้นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ รัฐบาลได้มีนโยบายจับคู่ความช่วยเหลือระหว่างพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมกับพื้นที่ที่ไม่ประสบภัย โดยจังหวัดภูเก็ตได้รับการจับคู่กับเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร มีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนกว่า 160,000 คน จึงได้มีการจัดตั้งโรงครัวผลิตอาหารขึ้น เพื่อส่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยดังกล่าวเบื้องต้นจะดำเนินการเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตจำนวน 5 ล้านบาท หลังจากวันนี้ (5 พ.ย.54) จะผลิตอาหารส่งไปช่วยเหลือเป็นวันละ 20,000กล่อง


วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อบจ.ภูเก็ตเร่งแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลน



เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการพาณิชย์และการส่งเสริมอาชีพขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต” เพื่อหารือเกี่ยวกับการหาแนวทางแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน และการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า รวมทั้งราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีราคาเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์ปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เข้าร่วม อาทิ หอการค้าภูเก็ต สำนักงานการค้าภายในจังหวัด สำนักงานสรรพากรจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางสมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต และศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของ อบจ.ภูเก็ต ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งสินค้าบางรายการขาดแคลน เช่น น้ำดื่ม ข้าวสาร นมข้น เป็นต้น จึงต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากพบว่าสินค้าบางรายการขาดแคลนจริงเพราะโรงงานผลิตมีปัญหา ในขณะที่สินค้าบางรายการยังมีอยู่แต่ไม่มีการนำออกมาจำหน่าย ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ประกอบกับผู้บริโภคบางรายที่มีกำลังซื้อก็จะมีการซื้อสินค้าเก็บไว้ ด้วยเกรงจะขาดแคลน
“ข้อสรุปที่ได้จากการประชุม คือ จะประสานไปยังคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่า ด้วยสินค้าและบริการซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธาน และมีพาณิชย์จังหวัดเป็นเลขาฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าตามห้างสรรพสินค้าอย่างจริงจัง รวมทั้งจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าจนเกินความเป็นจริงหรือกักตุนสินค้า จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่”
นายไพบูลย์ ยังกล่าวด้วยว่า อยากขอทำความเข้าใจไปยังพี่น้องประชาชนว่าอย่าตื่นตระหนก เพราะจากการตรวจสอบในเบื้องต้นภาพรวมสินค้ายังมีอยู่ มีเพียงรายการเท่านั้นที่ขาดแคลนจริงๆ และไม่ควรจะมีการซื้อกักตุนไว้ โดยเฉพาะผู้ที่มีกำลังซื้อมากๆ เพราะนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สินค้าขาดตลาด จนเกิดความต้องการเทียม ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และควรจะแบ่งปันกัน เช่น น้ำดื่ม ซึ่งในส่วนของจังหวัดก็มีโรงงานผลิต และในภาคใต้ก็มีโรงงานผลิตอีกหลายแห่งที่ไม่มีปัญหา เป็นต้น ในขณะที่สินค้าบางรายการซึ่งโรงงานประสบกับปัญหาได้รับความเสียหายไม่สามารถผลิตได้ ก็มีการนำเข้ามาแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าไม่น่าจะมีปัญหาขาดแคลน
อย่างไรก็ตามนายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนเกี่ยวกับราคาสินค้าและสินค้าขาดแคลนนั้น ทาง อบจ.ภูเก็ต ได้ร่วมกับบริษัทเอกชน กำหนดจัดมหกรรมสินค้าราคาถูกขึ้นที่บริเวณศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 7 -10 พ.ย.นี้ เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดของประชาชน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่ก็จะต้องกำหนดมาตรการเพื่อให้สามารถกระจายสินค้าให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงด้วย





เอฟซี ภูเก็ต ชนะทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ 2:1



เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ที่สนามกีฬาสุระกุล อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายประดิษฐ์ แสงจันทร์ ประธานสภา อบจ.ภูเก็ต นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต ตลอดจนผู้มีเกียรติ และประชาชน เข้าร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ ระหว่างทีมเอฟซี ภูเก็ต พบกับ ทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ ที่เดินทางมาเก็บตัวที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมเอฟซี ภูเก็ต สามารถเอาชนะไปด้วยสกอร์ 2 ประตูต่อ 1
การแข่งขันฟุตบอลในครั้งนี้เป็นนัดการกุศล ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับ สโมสรเอฟซีภูเก็ต และสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นเพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขันไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยสรุปยอดการจำหน่วยบัตร จำนวนใบละ 100 บาท ได้รวมจำนวนทั้งสิ้น 81,800 บาท พร้อมกันนี้ ทางบริษัทในเครือลากูน่าภูเก็ต โดย นายนิยม ทัศนีย์ทิพากร ผู้ช่วยอาวุโส รองประธานกรรมการ บริษัทลากูน่า รีสอร์ท แอนด์โฮเท็ล จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบเงิน จำนวน 50,000 บาท เพื่อร่วมสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ด้วย ดังนั้น จึงรวมรายได้ทั้งหมด 131,800 บาท 


พบเวียนเทียนซื้อไข่โครงการสินค้าราคาต่ำกว่าทุน



เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการซื้อสินค้าราคาถูก โครงการจำหน่ายสินค้าราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยแบ่งเบาและลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้แก่ประชาชนในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต การค้าภายในจังหวัดภูเก็ต บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) จำกัด และบริษัทในเครือฯ จัดขึ้นที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานหอการค้าภูเก็ต ซึ่งไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากมีสินค้าจำหน่ายไม่กี่รายการ เช่น ไข่ไก่ ข้าวสาร ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่สด ผักสด เป็นต้น ยกเว้นจุดที่มีการขายไข่ไก่ซึ่งจะได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไข่ไก่เบอร์ 1 ซึ่งจำหน่ายในราคาแผงละ 110 บาท
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่ามีประชาชนบางรายที่มีการเวียนเทียนมาซื้อไข่ไก่ โดยเมื่อซื้อแผงแรกเสร็จก็นำไปเก็บและมาต่อแถวซื้อใหม่ไม่ต่ำกว่า 2-3 รอบ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้คำตอบว่า ซื้อได้คนละ 1 แผง แต่ยังสามารถมาต่อแถวเพื่อซื้อเพิ่มได้อีก ส่งผลให้ประชาชนที่จะมาซื้อเพื่อนำไปรับประทานในครอบครัวจริงๆ ไม่สามารถที่จะซื้อได้ ต่างบ่นด้วยความเสียดายและไม่เข้าใจว่าทำไมจึงปล่อยให้มีการเวียนเทียน แล้วอย่างนี้จะซื้อกันได้ทั่วถึงอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ก็ควรจะปล่อยให้ซื้อกันได้ตามสบาย ไม่ต้องให้ซื้อทีละแผง 

รัษฎาจัดอาหารปลอดภัย ประจำปี 2554



เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 54 ที่ห้องจามจุรี1 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายสุรทิน เลี่ยนอุดม นายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมโครงการอาหารปลอดภัย ประจำปี 2554 โดยมีนายเชาวเลิศ จิตต์จำนง รองนายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา นายสุรพงษ์ ชัยมงคล เจ้าพนักงานสารธารณสุขชำนาญงาน และผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ เข้าร่วมพิธี
นายเชาวเลิศ จิตต์จำนง รองนายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา ได้กล่าวว่า อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญของมนุษย์ในการดำรงชีวิต การบริโภคอาหารเพื่อทำให้ร่างกายเจริญเติบโต ดำรงชีวิตอยู่ได้ และอาหารปลอดภัยที่ประชาชนบริโภคนั้น ต้องปราศจากเชื้อโรคหรือสิ่งปนเปื้อนทางเดินอาหาร สารเคมี และสิ่งสำคัญต้องควบคู่ไปกับความสะอาด ประโยชน์ของอาหารและความปลอดภัย จึงต้องมีระบบการกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ ดังนั้นการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้แก่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตและจำหน่าย การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสารธารณสุขเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากสารปนเปื้อน
ด้านนายสุรทิน เลี่ยนอุดม นายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา ได้กล่าวว่า อาหารปลอดภัยเป็นนโยบายของรัฐบาลที่รณรงค์ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นประชาชนในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี โดยมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยจากสารเคมี เชื้อราและเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้นเหตุความเจ็บป่วยของผู้บริโภค เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานอาหารให้มีความปลอดภัยด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารสด อาหารแปรรูปและอาหารปรุงจำหน่ายพร้อมบริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางอาหารและป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จากรายงานของสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคท้องร่วงฉับพลัน ในแต่ละปี จำนวน 35,000 คน และจาการสำรวจพบว่า อาหารที่วางจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ นั้นมีสารปนเปื้อน สารกันบูด ฟอร์มาลิน เชื่อรา และสารอื่นๆตกค้างอยู่ในอาหารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย
นายสุรพงษ์ ชัยมงคล เจ้าพนักงานสารธารณสุขชำนาญงาน กล่าวว่า ความปลอดภัยในการบริโภคอาหารนับเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปให้ความสำคัญมากขึ้น ร้านอาหารซึ่งเป็นแหล่งปรุง ประกอบอาหาร เพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างยิ่ง เพราะหากร้านอาหารมีสภาพหรือมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะเป็นสาเหตุให้อาหารได้รับการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก ร้านอาหารก็จะเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญไปสู่ผู้บริโภคได้ ดังนั้นร้านอาหารจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากอาหารไม่สะอาด โดยจัดร้านและปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักการสุขาภิบาล


Asia Phuket Regional Programming Contest 2011



เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นเจ้าภาพการแข่งขันเขียนโปรแกรม “ACM-ICPC Asia Phuket Regional Programming Contest 2011” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) กับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.อ.ภูเก็ต โดยมีซิป้าเป็นผู้สนับสนุนหลัก และบริษัท ไอบีเอ็มเป็น Event Sponsor ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธี สรรพานิช รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต เป็นประธานเปิดการแข่งขันเขียนโปรแกรมดังกล่าว และ
ดร.อภิชาติ หีดนาคราม รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฝ่ายบริหาร กล่าวรายงานการแข่งขัน พร้อม รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคุณปริญญา กระจ่างมล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมแข่งขัน ณ ห้องประชุมหลวงอนุภาษภูเก็ตการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
การแข่งขันครั้งนี้เป็นการจัดแข่งขันเขียนโปรแกรม ACM-ICPC ระดับ Regional Contest เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจัดขึ้น ณ ม.อ.ภูเก็ต เป็นครั้งที่ 2 และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากมหาวิทยาลัยทั่งในประเทศและมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 60 ทีม จาก 7 ประเทศ ผู้ร่วมงานการแข่งขันกว่า 240 คน สำหรับทีมที่ชนะการแข่งขันครั้งนี้จะได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก(World Finals) ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ อีกด้วย



วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ครบ 1 ปี ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากฯ สิริโรจน์



เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 โรงพยาบาลสิริโรจน์ ได้จัดงาน Afternoon Tea Party เนื่องในโอกาส ฉลองครบรอบ 1 ปี การเปิดให้บริการ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก และวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน Phuket International Safe Fertility and PGD Center เปิดให้บริการตรวจรักษาอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ปี 2553 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและส่องกล้อง Safe Fertility Center กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลสิริโรจน์ ซึ่งเป็นศูนย์การรักษาที่ให้บริการอย่างครบวงจร นอกจากนั้นภายในงานยังมีการเสวนา ในหัวข้อเรื่อง fresh or freeze ทางเลือกของความสำเร็จ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ นายแพทย์วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ และนายแพทย์มานพ จันทนพันธ์ แพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อนอีกทั้ง ร่วมกันพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตอบคำถาม ข้อสงสัยแก่ผู้มาร่วมงานอีกด้วย