จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ม.ราชภัฏภูเก็ต โชว์มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ

ม.ราชภัฏภูเก็ต โชว์มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ 
กระตุ้นเยาวชนปลูกฝังแนวคิดวิทยาศาสตร์ 


วันที่ 18 สิงหาคม 2559 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 29 ประจำปี 2559 โดยมี ดร.ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมด้วย ดร.สรรณพ นาควานิช ตัวแทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายดิสัน แหล่ทองคำ รองอธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต นายรังสรรค์ พลสมัคร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจน บุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุน นักศึกษา นักเรียน และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ณ หอประชุมใหญ่ ม.ราชภัฏภูเก็ต



นายรังสรรค์ พลสมัคร กล่าวว่า “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 29 จัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ที่ทรงเริ่มต้นประวัติศาสตร์การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย และการน้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงอุทิศพระสติปัญญาศึกษาหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 


เพื่อนำมาพัฒนาชาติในด้านต่างๆ และเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ครู ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพร้อมแข่งขันในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกันจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้น ในระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2559 ภายใต้หัวข้อ ‘จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม’ 


ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ นิทรรศการด้านวิชาการของสาขาวิชาต่างๆ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะครุศาสตร์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน และหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หมู่บ้านผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ 


นอกจากนี้ยังมีการประกวดและการแข่งขันต่างๆ เช่น การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประกวดสื่อการสอนทางวิทยาศาสตร์ (ประเภทอุปกรณ์สาธิต) การประกวดภาพวาดตามจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ การประกวดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแข่งขันตอบปัญหาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการแข่งขันวาดภาพคอมพิวเตอร์ 


โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากประสบการณ์จริง เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้และปลูกฝังแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ และเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น