จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การท่าฯ ภูเก็ตรับฟังความคิดเห็นพัฒนาทางวิ่ง ทางขับ




เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดด้านสิ่งแวดล้อม โครงการงานสำรวจออกแบบรับปรุง Runway Strip, RESA และทางขับขนานท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดย บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาจัดขึ้น 


เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารโครงการและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการและการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินการโครงการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาผลการศึกษาร่วมกัน พร้อมทั้งรวบรวมประเด็นข้อวิตกกังวล ข้อเสนอแนะนำไปใช้ในการปรับปรุงแนวทางการศึกษา ตลอดจนแนวทางการพัฒนาโครงการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 


โดยมีนายสุพจน์ ชนะกิจ นายอำเภอถลาง นางมนฤดี เกตุพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ผู้บริหารท่าอากาศยานภูเก็ต นายวิโรจน์ มานะจิตต์ กำนันตำบลไม้ขาว ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง เข้าร่วม 


นางมนฤดี เกตุพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ฉบับที่ 11 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551) มาตราที่ 60/1 กำหนดให้สนามบินสาธารณะต้องได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากกรมการบินพลเรือน โดยสนามบินจะต้องดำเนินการตามข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานและคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ 


โดยท่าอากาศยานภูเก็ตได้รับการตรวจสอบจากกรมการบินพลเรือน ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะท่าอากาศยานภูเก็ตให้ทำการการปรับปรุงทางวิ่งให้มีพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง (Runway Strip) และพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (Runway End Safety Area : RESA) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดไว้ 


“ดังนั้น ทอท. จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยาน ตามแผนระยะสั้น 3 ปี (พ.ศ.2556-2558) ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวถือว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการท่าอากาศยานภูเก็ต ตามที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคมนาคมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชนในการประชุมครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 


ซึ่งตามมติในการให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าวกำหนดว่า กรณีที่การท่าฯ มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ซึ่งกระทบต่อสาระสำคัญของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานฯ ให้จัดส่งรายการปรับปรุงแก้ไข และวิเคราะห์ผลกระทบในส่วนที่เปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาก่อนดำเนินการ 


จึงได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (กรณีเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่หัวทางวิ่ง) แบะนำเสนอต่อส่วนราชการที่ดำเนินการในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนดจนได้รับการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบ” นางมนฤดีกล่าว 


สำหรับแนวทางการพัฒนาทางวิ่งทางขับ และลานจอดอากาศยานตามแผนพัฒนาระยะสั้น 3 ปี (2556-2558) ซึ่งเป็นการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ (แนวรั้ว) ท่าอากาศยานภูเก็ตทั้งหมด ประกอบด้วย การก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (Runway End Safety Area : RESA) ทางวิ่ง 09 และลดความยาวทางวิ่งลง 100 เมตร บริเวณหัวทางวิ่ง 09, ต่อขยายความยาวทางวิ่งบริเวณหัวทางวิ่ง 27 ออกไป 100 เมตร และก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง ที่ทางวิ่ง 27, ย้ายเครื่องช่วยเดินอากาศแบบ Glide Slop และปรับปรุง Glide Slop 


ต่อขยายทางขับสาย P เพื่อเชื่อมหัวทางวิ่ง 27 และทางวิ่งส่วนต่อขยาย รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง (Runway Strip) โดยจะใช้เวลาในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 8 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2557 –เมษายน 2558 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หลังรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้รับการอนุญาตก่อสร้างจากท้องถิ่น 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น