จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

หาช่องทางกระจายผลผลิตลำไยเจาะท้องถิ่นและนทท.




เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ที่ห้องประชุมนนทรีย์ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานการค้าภายในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จัดกิจกรรม “การตลาดเชื่อมโยงการผลิตระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าปลายทาง และส่งเสริมการบริโภคลำไยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” ภายใต้โครงการยกระดับการแข่งขันสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมูลค่าเพิ่ม 


เพื่อเชื่อมโยงการตลาดระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้รวบรวมลำไยกับผู้ค้าปลายทางและส่งเสริมการบริโภคลำไย ได้รับเกียรติจากนางวิชชุดา กันตีวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมและคุณค่าของลำไย 


โดยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย การค้าภายในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ผู้แทนพาณิชย์จังหวัด ผู้แทนสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและอาหารในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจน เกษตรกร ผู้ประกอบการค้าลำไยแปรรูปจากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน 


ทั้งนี้ได้มีการนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลำไยมานำเสนอและเจรจาธุรกิจระหว่างกันด้วย โดยดำเนินการใน 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย นครพนม ชลบุรี ระยอง ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง กระบี่ และภูเก็ต ซึ่งภูเก็ตเป็นจังหวัดสุดท้าย 


นางวิชชุดา กันตีวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวนั้น เป้าหมายแรก เพื่อมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าการบริโภคลำไยอย่างรู้คุณค่าเป็นอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยจะรู้จัดลำไยในแง่ที่ว่า กินลำไยสดมากจะร้อนใน ตาแฉะ และเจ็บคอ ทำให้มีการบริโภคน้อย ตลาดส่วนใหญ่จึงเป็นตลาดต่างประเทศ 


แต่ความจริงคุณค่าของลำไยมีมากกว่าที่เราคิด เป้าหมายต่อมา คือต้องการให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจ ผู้ค้าผู้ประกอบการ ได้นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนและเปิดตลาดใหม่ๆ เนื่องจากมองว่า หากมีของดีจะต้องมีการนำเสนอต่อผู้บริโภค ไม่ใช่รอให้ผู้ซื้อเข้าไปหาในพื้นที่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เครือข่ายมีการเติบโตไปด้วยกันและมีลู่ทางการค้ามากขึ้น 


“ลำไยนับเป็นไม้ผลที่มีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่นๆ โดยปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 37,000 ล้านบาท การรู้จักลำไยของคนไทยจะอยู่ในวงแคบๆ และจะอยู่ในภาคเหนือ อย่างไรก็ตามการมาเปิดตลาดในภาคใต้ฝั่งอันดามัน เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงทั้งคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว 


ซึ่งเป้าหมายวางไว้ 2 ระดับ คือ คนพื้นที่เอง ซึ่งเราต้องการให้รู้จักและบริโภคลำไยในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น นอกเหนือจากการบริโภคเพียงลำไยสด กับการเปิดตลาดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งรู้จักลำไยและคุณค่าของลำไยดีอยู่แล้ว” 


นางวิชชุดา กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการทางภาคเหนือที่เดินทางมาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปลำไยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่กับลำพูน เช่น กลุ่มอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งสีทอง แปรรูปผลิตภัณฑ์เค้กลำไย คุกกี้ลำไย น้ำผึ้งลำไย ชาลำไย กาแฟลำไย ทอฟฟี่ลำไย เป็นต้น 


ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP นอกจากนนี้ยังจะมีการนำเสนอให้ทราบถึงคุณค่าของลำไยต่อสุขภาพและยังจะได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยให้มีตลาดในการกระจายสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งมีผลผลิตออกมาแล้วประมาณ 600,000 ตัน 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น