จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

ภูเก็ตเร่งทำมาตรฐาน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “มุกภูเก็ต”

ภูเก็ตเร่งทำมาตรฐาน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “มุกภูเก็ต” 


ปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทยแล้ว 67 สินค้า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร (Agricultural Based Products) และสินค้าหัตถกรรมที่ผู้ผลิตในชุมชนได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและลักษณะพิเศษที่เป็นผลมาจากปัจจัยธรรมชาติสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแหล่งผลิตผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ที่สั่งสมกันมาจนมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานทั่วไป 


การใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์กับสินค้าเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของชุมชนที่บ่งบอกถึงคุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้า ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้าชุมชนเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง 


สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องจัดให้มีระบบการควบคุมคุณภาพ กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถรักษามาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ในระดับสากล โดยชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ร่วมกันจัดทำระบบควบคุมภายใน (Internal control)ในระดับผู้ผลิตและระดับพื้นที่ทั้งกระบวนการผลิตที่รับรองได้ว่า 


การผลิตสินค้าเป็นไปตามข้อกำหนดที่ขึ้นทะเบียนไว้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การเตรียมวัตถุดิบจนถึงปลายน้ำ คือ การจัดจำหน่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชน ในการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาท้องถิ่น และเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพให้สามารถยกระดับสินค้าจากท้องถิ่นออกสู่ระดับประเทศและต่างประเทศ 


เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดทำโครงการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทยเข้มแข็งสู่สากล เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกษตรกรและชุมชนต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้า GI ของไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถติดตราสัญลักษณ์ GI ไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วย 


จากความสำคัญดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ภูเก็ต จัดทำโครงการ “จัดทำระบบมาตรฐานสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้ามุกภูเก็ต ภายใต้โครงการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทยเข้มแข็งสู่สากล” เพื่อให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว มีระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพ กระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของสินค้า และช่วยให้ผู้ผลิตสามารถรักษามาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยังสร้างโอกาสทางการตลาดให้สินค้ามุกภูเก็ตอีกด้วย 


รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มขีดความ สามารถของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) มุ่งเน้นการสร้างการเจริญเติบโตจากภายในประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในท้องถิ่น 


สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง บูรณาการกับหน่วยงานที่มีส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่น (Local Tourism) มีความสามารถในการแข่งขันที่จะผลักดันให้สินค้า GI ไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งการศึกษาก็จะตอบโจทย์ดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการเองสามารถรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามที่กำหนดไว้ 


ขณะที่ นายอมร อินทรเจริญ ประธานบริหาร บริษัท เพิร์ล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายมุกครบวงจร กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่สามารถแยกแยะและไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างมุกน้ำจืดกับมุกน้ำเค็ม จึงทำให้เกิดปัญหาในด้านการทำตลาด รวมถึงความเชื่อมั่นว่าจะเป็นมุกแท้หรือมุกปลอมตามมา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมุกน้ำจืดหรือมุกน้ำเค็มล้วนแต่เป็นมุกแท้ทั้งสิ้น แต่หากพูดถึงมุกภูเก็ตจะเป็นมุกน้ำเค็ม เพราะในพื้นที่ไม่มีการเพาะเลี้ยงมุกน้ำจืด 


“ดังนั้นการศึกษาเพื่อจัดทำระบบมาตรฐานสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้ามุกภูเก็ต จึงถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า มุกภูเก็ตที่แท้จริงมีคุณสมบัติอย่างไร และมีมาตรฐานอะไรบ้าง เนื่องจากปัจจุบันยังขาดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว และหากมีการกำหนดมาตรฐานออกมา ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะได้มีการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และยังจะได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วย” 


นายอมร กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนแล้วก็จะทำให้สามารถอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง เพราะปัจจุบันเริ่มมีการร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อมุกบ้างแล้ว และหากยังไม่มีการทำหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายให้กับธุรกิจการผลิตและจำหน่าย ตลอดจนชื่อเสียงของมุกภูเก็ตในวงกว้าง เนื่องจากการแยกแยะระหว่างมุกน้ำจืดกับมุกน้ำเค็มนั้นทำได้ยาก ยกเว้นผู้ที่ศึกษาเรื่องของมุกอย่างแท้จริง 

   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น