จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แนวคิดผู้ว่าใหม่ ชูบูรณาการ-ดึงทุกภาคีมีส่วนร่วม




นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเดินทางมารับตำแหน่ง และสักการะศาลหลักเมืองภูเก็ต อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาล ที่ 5 (หน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต) และบูชาพระรัตนตรัย ประจำห้องทำงานบริเวณชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับนโยบายการทำงาน ว่า 


ในการมารับตำแหน่งไม่ได้รับนโยบายอะไรมาเป็นพิเศษ ซึ่งในการบริหารราชการจังหวัดมีแนวทาง ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอยู่แล้ว โดยจังหวัดภูเก็ตมีวิสัยทัศน์ คือ เป็นเมืองการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาดำรงตำแหน่งที่นี่จะต้องยึดนโยบายดังกล่าวให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ส่วนนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเรื่องที่ทางจังหวัดจะต้องได้ดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดระเบียบต่างๆ แต่จะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตและชุมชนอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะต้องมาศึกษา พูดคุย และเรียนรู้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ร่วมกัน 


“การบริหารราชการของตนนั้น ภายใต้แนวคิดเดียว คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงาน โดยก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ก็จะมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน เพื่อให้เขาได้คิด มีส่วนร่วมและช่วยเหลือกัน ส่วนตัวคิดว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องในการอยู่ร่วมกัน และเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารงาน คือ ทำอย่างไรให้คนที่มาอาศัยอยู่ในภูเก็ตมีความภาคภูมิใจในจังหวัดของตัวเอง โดยคนภูเก็ตที่เป็นคนพื้นถิ่นจำนวนประมาณ 350,000-360,000 คน ในขณะที่มีคนจากที่อื่นเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก และจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ที่เข้ามาทำมาหากินรักภูเก็ตเช่นกัน เพื่อจะได้ทำประโยชน์ ช่วยเหลือ ดูแลร่วมกัน ไม่ใช่เพียงมาอยู่อาศัยและเมื่อได้ผลประโยชน์แล้วก็จากไป แต่คนที่เมื่อมาอยู่อาศัยที่นี่แล้วหัวใจก็จะต้องเป็นคนภูเก็ตด้วย ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะดำเนินการ” 


นายนิสิต ได้กล่าวฝากด้วยว่า เรื่องการสร้างค่านิยมของชาติ หรืออาจจะใช้ว่าค่านิยม 12 ประการ หรือจะเรียกเป็นอย่างอื่นที่เป็นค่านิยมที่จะทำให้คนไทยและประเทศไทย มีความรัก สามัคคี รักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ รวมถึงการมีวินัย เป็นเรื่องของธรรมาภิบาล และต้องร่วมมือกันทำ โดยเฉพาะภูเก็ตเป็นจังหวัดซึ่งมีองค์กรส่วนราชการไม่มาก จึงเชื่อว่าความเข้มแข็งต่างๆ มีความเป็นไปได้ ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวคิดว่ามีต้องให้เอกชนเป็นผู้นำ เพราะเขาพัฒนาก้าวไกลไปมาก ส่วนข้าราชการมีบทบาทหน้าที่ ในการสนับสนุนรองรับการเติบโต โดยทำให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยมากขึ้น บ้านเมืองมีความสะอาดเรียบร้อย 


ผู้คนในพื้นที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีในการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยพอเพียง นั่นคือ ความสุภาพ อ่อนน้อม การไหว้ การยิ้มทักทาย การช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยว ไม่คิดค้ากำไรหรือเห็นแก่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น เพราะหากเราต้องการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับมาตรฐานโลก เพื่อเพิ่มจำนวนท่องเที่ยวจากที่มีอยู่ประมาณ 10-11 ล้านคน เป็น 12-13 ล้านคน มาตรฐานด้านจิตใจ อัธยาศัย ความปลอดภัย และความสะอาดสวยงามต้องถึง ประชาชนมีวิถีชีวิตที่อยู่ได้ในสภาวะค่าครองชีพที่สูง แต่ต้องมีรายได้ที่เหมาะสมกับการที่จะอยู่ได้ โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนภูเก็ตมีความภาคภูมิใจในจังหวัดของตัวเอง ไม่ใช่มีเพียงทะเล ชายหาด หรือป่าเขาที่สวยงามเท่านั้น แต่น้ำใจและอัธยาศัยเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน 


“ปัญหาของภูเก็ต เป็นปัญหาที่ลึกซึ้ง คงยังไม่สามารถที่จะบอกว่าจะทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้ได้ทันที แต่ต้องมีการศึกษาและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะผลกระทบที่เกิดแต่ละเรื่องค่อนข้างสูงมาก และกระทบกระเทือนถึงระดับประเทศ ดังนั้นการจะดำเนินการใดๆ จะต้องปรึกษาหารือกันในทุกส่วนราชการ หาส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด สิ่งสำคัญคือ การบูรณาการส่วนราชการมาทำงานร่วมกัน การให้เกียรติกับส่วนราชการที่จะมาร่วมกันทำงาน ซึ่งตนคงไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ และพึ่งรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้เพียงปีเดียวที่ จ.ราชบุรี ยังไม่เก่งพอ แต่สัญญาว่า จะทำบ้านเมืองนี้ให้ดีที่สุดเหมือนกับบ้านตัวเอง จะตั้งใจทำให้ทุกคนมีความสุข” 


ในส่วนของการจัดระเบียบชายหาดนั้น นายนิสิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ แต่คิดว่าต้องมาประชุมร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐ เอกชน เจ้าของโรงแรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนที่มีปัญหาเดือดร้อน เพื่อจะได้รับทราบปัญหาต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะภูเก็ตมีชายหาดมากกว่า 20 ชายหาด และเข้าใจว่าแต่ละชายหาดจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ภูเก็ต แต่ก็ต้องมีผู้เสียสละบ้าง ได้หรือเสียประโยชน์บ้าง แต่เราต้องมีจุดยืนร่วมกันในการทำงาน 


และทราบข่าวอยู่เหมือนกันว่ามีการไปยื่นเรื่องเกี่ยวกับความเดือดร้อน และความไม่สบายใจ และความสับสนต่าง ๆ ซึ่งทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ตำรวจ หรือทหาร โดยจะเน้นให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกหรือทางเลือกอย่างไร เพราะบ้านเมืองเป็นของชาวภูเก็ตทุกคน และในการทำงานก็จะใช้คำว่าเป็นของพวกเรา เชื่อว่าทุกคนรู้ปัญหาดีกว่าตนเองมาก การจะให้พูดอะไรในเรื่องนี้โดยที่ตัวเองยังไม่รู้ดีพอ ยังไม่ได้ศึกษาดีพอ คิดว่าเป็นมารยาทไม่ควรพูด เพราะคำพูดอาจจะไปกระทบกระทั่ง ที่สำคัญที่สุด ไม่ได้เป็นความคิดที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น