จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พ่อเมืองภูเก็ตพร้อมคณะลงพื้นที่แหลมกาน้อย




เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 บริหาดชายหาดแหลมกาน้อย ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยพ.อ.สมชาย โปณะทอง หัวหน้าชุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มณฑลทหารบกที่ 41 ดูแลพื้นที่ จ.ภูเก็ต น.อ.เพชรัตน์ เทียนจันทร์ รอง ผอ.กพร.บก.ทรภ.3 นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 


ตรวจสอบกรณีมีประชาชนผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ร้องเรียนว่ามีนายทุนบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณแหลมกาน้อย โดยเปิดเป็นร้านอาหาร และมีการบุกรุกเขตชายฝั่ง ถมดิน และหินลงไปในทะเล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชายฝั่งนอกแนวเขตที่ดินตามเอกสารสิทธิโฉนด โดยมีนายพิสิษฐ์ ปภารกิจยศพัฒน์ รองนายกเทศบาลตำบลราไวย์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลราไวย์ นายสิน พลรบ กำนันตำบลราไวย์ ตลอดจนตัวแทนของผู้ประกอบการ ร่วมชี้แจงรายละเอียดการถมพื้นที่ลงไปในทะเลและการสร้างลักษณะเขื่อนกันตลิ่งพังความยาวประมาณ 50 เมตร 


นายไมตรี กล่าวภายหลังการตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่สาธารณะบริเวณแหลมกาน้อย ว่า เนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมฯ ว่า มีร้านอาหารชื่อแหลมน้อยซีฟู้ดรุกล้ำชายฝั่ง และจากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวได้มีการถมมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว และได้มีการต่อเติมเพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งเป็นลำดับ แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าในส่วนที่ต่อเติมนั้นล้ำลงไปในพื้นที่ซึ่งเป็นทะเลและอยู่นอกแนวเขตโฉนด 


และตามกฎหมายเจ้าท่า ได้ห้ามก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำเข้ามา 20 เมตร ระดับน้ำทะเลสูงสุด จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอยู่ในแนวเขตโฉนดที่ดิน ส่วนของสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการไปแล้วนั้นจากการตรวจสอบพบว่าหากทำการรื้อถอนก็จะมีผลเสียมากกว่าผลดี จึงได้มอบหมายให้ทางเทศบาลตำบลราไวย์ ร่วมกับกำนันตำบลราไวย์จัดเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ ให้ โดยจะต้องไม่เป็นของเอกชน เหมือนกับพื้นที่ชายหาดสาธารณะอื่นๆ ทั่วทั้งเกาะภูเก็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เป็นธรรม และไม่มีการร้องเรียนเกิดขึ้นอีก 


“การแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ชายหาดทั่วเกาะภูเก็ตนั้น ภาพรวมถือว่าไปได้ดี มีการกำหนดเวลาในการทำงานที่ชัดเจน พื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ก่อนก็ลงมือทันที แต่จุดไหนที่มีปัญหาก็จะมาพิจารณาข้อระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะในบางพื้นที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการ หรือในบางพื้นที่ทางท้องถิ่นก็ไปปลูกสิ่งปลูกสร้างให้กับผู้ประกอบการที่เป็นชาวบ้านตามนโยบายของรัฐในห้วงเวลานั้นๆ แต่ในภาพรวมถือว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่ทำไม่ถูกต้องโดยการรื้อถอนด้วยตนเอง หรือรายใดที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ก็ขอกำลังจากทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปช่วยรื้อถอน” 


นายไมตรี กล่าวด้วยว่า การดำเนินการดูแลภายหลังจากมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกไป แล้วนั้น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการไว้แล้ว ซึ่งได้สั่งการให้แต่ท้องถิ่นหาสถานที่และพิจารณาเรื่องความต้องการกับประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งต้องสอดคล้องกันระหว่างอาชีพการมีงานทำ และถูกต้องตามระเบียบราชการซึ่งแต่ละท้องถิ่นกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้เขาสามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ผิดกติกา 


โดยแต่ละท้องถิ่นก็จะดำเนินการแตกต่างกันไปตามสภาพหรือบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น หมอนวด จากเดิมที่มีการนำเตียงมาวางไว้บริการก็อาจจะหันมาใช้ผ้าปูบนชายหาดแทน เป็นต้น โดยจะต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวรรุกล้ำที่สาธารณะประโยชน์เกิดขึ้นอีก ยกเว้นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของภาครัฐที่จัดสร้างขึ้นใช้ในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาด ซึ่งภาพรวมถือว่าน่าพอใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการนักท่องเที่ยวและชาวภูเก็ตช่วยกันรักษาชายหาดให้สวยงามให้เป็นธรรมชาติที่สุดและไม่กระทบกับกฎหมายแต่ละฉบับ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น