จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการประมง




เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 นางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นำคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการทำงานและการค้ามนุษย์ ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเลและกิจการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยนางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดภูเก็ต พ.ต.ท.ฉัตรชัย ศักดิ์ดี สว.ส.รน.3 กก.8 บก.รน พ.ต.ท.ปัญญา ชัยชนะ สว.ส.รน.3 กก.8 บก.รน. 


พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต สำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจแรงงานเรือประมง เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าว บริเวณท่าเทียบเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทั้งนี้นำเรือคุณพุ่ม หรือ เรือ ต.814 ออกทำการตรวจแรงงานในเรือประมงที่กำลังเข้า-ออก ภายในคลองท่าจีน โดยมีการตรวจสอบแรงงานภายในเรือ 3 ลำ คือ เรือสินพิชัย เรือไชยตระการที่ 15 และเรือ 9 กล้ากมลชัย 


นางสาวสมหมาย กล่าวภายหลังตรวจสอบแรงงานเรือประมงต่างๆ ว่า การสนธิกำลังจากทุกฝ่ายในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบเรียบร้อย ( คสช.) ในการจัดระบบแรงงานต่างด้าว จากการตรวจสอบเรือทั้ง 3 ลำ คือ เรือสินพิชัย เรือไชยตระการที่ 15 และเรือ 9 กล้ากมลชัย พบส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว นอกจากนนี้ก็จะมีแรงงานคนไทย และแรงงานชาวเลด้วย 


จากการสอบถามทราบว่า แต่ละลำจะมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 40,000 บาท กรณีของค่าแรงงานสำหรับแรงงานใหม่จะอยู่ที่ 4,000 บาทต่อน้ำ (ออกเรือแต่ละครั้ง) แต่ถ้ามีประสบการณ์ทำงานเกิน 5 ปี จะได้รับถึง 6,500 บาทต่อน้ำ เมื่อเทียบกับประเทศพม่าจะได้รับค่าแรงเพียง 4,000 บาท ซึ่งสาเหตุที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะได้ค่าแรงที่สูงกว่าในประเทศของตัวเอง นอกจากนนี้ยังได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยในเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งไม่พบการกระทำผิดแต่อย่างใด และแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ก็พอใจที่จะทำงานเรือประมงในภูเก็ตต่อไป 


ทางด้านนางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ตรวจแรงงานเรือประมงในครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานเรือประมงทราบว่า ทาง คสช.ได้กำหนดให้จังหวัดภูเก็ตเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ที่ศาลาประชาคม โดยจะมีค่าใช้จ่ายคนละ 1,305 บาท ส่วนผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี จะต้องมาขึ้นทะเบียนด้วยเช่นกัน 


โดยมีค่าใช้จ่ายคนละ 1,080 บาท และจะออกใบอนุญาตทำงาน 60 วัน เพื่อรอพิสูจน์สัญชาติ หลังจากนั้นจะต้องรอมติจาก คสช.อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้มีสิทธิการได้รับการดูแลหรือคุ้มครองเหมือนกับแรงงานไทย และเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ 


อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา สำนักงานจัดหางานได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ทั้งสิ้น 110,600 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า ขณะที่แรงงานแรงด้าวที่จดทะเบียนในกิจการประมงของจังหวัดภูเก็ตและมีใบอนุญาตทำงานมีประมาณ 600 กว่าคน แต่สภาพการทำงานจริงๆ นั้นมีมากกว่านี้หลายเท่า จึงอยากให้มีการจดทะเบียนให้ถูกต้อง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น