จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

1 ตุลานี้ รอลุ้น..! จะมีไลฟ์การ์ดดูแลช่วยเหลือ นทท.หรือไม่

1 ตุลานี้ รอลุ้น..! จะมีไลฟ์การ์ดดูแลช่วยเหลือ นทท.หรือไม่ 


เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 ที่ห้องเฮนาคา โรงแรม รอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ชมรมภูเก็ตไลฟ์การ์ด ภูเก็ต ร่วมกับบริษัท ภูเก็ตไลฟ์การ์ด เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในการดูแลรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง ตะวันตก 12 ชายหาดของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย หาดไม้ขาว, หาดในยาง, หาดในทอน, หาดบางเทา, หาดสุรินทร์, หาดแหลมสิงห์, หาดกมลา, หาดป่าตอง, หาดกะรน, หาดกะตะ, หาดในหาน และ หาดยะนุ้ย 


จากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) และจะหมดสัญญาการบริหารงาน ในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยนายประทัยยุธ เชื้อญวน ประธานชมรมไลฟ์การ์ดภูเก็ต และเจ้าหน้าไลฟ์การ์ดประจำชายหาดต่างๆ ร่วมกันแถลงสรุปผลการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา และการทำงานวันสุดท้ายของทางเจ้าหน้าที่ฯ โดยมีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วม 


นายประทัยยุธ กล่าวว่า ภูเก็ตไลฟ์การ์ดได้เข้ามาดูแล และวางระบบการบริหารจัดการรักษาความปลอดภัยบริเวณ 12 ชายหาด ต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 7 ปี โดยเป็นการต่อสัญญาปีต่อปี และจะสิ้นสุดสัญญาปีงบประมาณ 2560 ในวันที่ 30 กันยายน 2560 โดย อบจ.ภูเก็ต ได้เปิดให้ผู้สนใจซื้อและยื่นซองประมูลการบริหารจัดการชายหาดปีงบประมาณ 2561 ครั้งแรกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ทราบว่า ยังไม่มีบริษัทใดซื้อซองฯ รวมทั้งในส่วนของภูเก็ตไลฟ์การ์ดด้วย เนื่องจากงบประมาณในการบริหารงานปีงบประมาณ 2561 ตั้งไว้ที่ 19.8 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% เมื่อคิดคำนวณแล้วจะไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และหากไม่มีผู้ใดประมูลก็จะทำให้ วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดในหาดต่างๆ 


“จากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่างบที่เหมาะสมกับการบริหารงาน 12 ชายหาดอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านบาทเศษ แต่ที่ผ่านมาได้มีการปรับลดงบประมาณลงมาตลอด จึงทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าไปยื่นซองเพื่อเข้าทำงานต่อไปได้ เพราะหากงบลดลงก็จำเป็นที่จะต้องลดค่าจ้างเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด ซึ่งมี 90 คนตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่หลักในการบริหาร ประกอบกับปัจจุบันเจ้าหน้าที่ฯ ที่ปฏิบัติงานก็มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งยังขาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาช่วยในการทำงาน รวมถึงการมีหอสังเกตการณ์หรือที่พักที่เหมาะสมในแต่ละชายหาด” 


นายประทัยยุธ กล่าวด้วยว่า หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาในการทำงานในวันที่ 30 กันยายนนี้ ในกรณีที่ทาง อบจ.ยังไม่สามารถจัดหาเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประจำชายหาดได้ แนวทางที่วางไว้ คือ จะหารือและขออนุญาตจากจังหวัดภูเก็ต และ อบจ.ภูเก็ต ขอติดตั้งป้ายเตือนให้นักท่องเที่ยวได้ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ชายหาดต่างๆ จะไม่มีไลฟ์การ์ดในการดูแลนักท่องเที่ยว และขอให้เล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง หรือ WARNING NO LIFEGUARO ON DUTY SWIM AT YOUR OWN RISK รวมทั้งขึ้นธงแดงด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคมต่อเนื่องต้นเดือนพฤศจิกายน จะยังคงมีมรสุมอยู่ 


อย่างไรก็ตาม นายประทัยยุธ กล่าวด้วยว่า หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด ไม่ใช่เพียงเพื่อช่วยคนจมน้ำอย่างเดียว แต่รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนชายหาดด้วย ฉะนั้นงานของไลฟ์การ์ดจึงเป็นงานที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา การป้องกันจึงเป็นหัวใจหลักของ งานไลฟ์การ์ด กล่าวคือจะต้องไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้มาใช้บริการชายหาดหรือให้น้อยที่สุด รวมไปถึงความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งการทำงาน 95% จะเป็นในส่วนของงานป้องกัน โดยมีการทำสื่อเตือนอันตรายต่างๆ, ป้ายเตือน, การสร้างบุคลากรและฝึกทักษะ, การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยทางน้ำแก่ชุมชน เยาวชน และประชาชนทั่วไป ส่วนงานที่เหลืออีก 5% คือ การช่วยเมื่อเกิดเหตุและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนที่จะนำส่งต่อโรงพยาบาลหรือหมอต่อไป 


“การทำงานของไลฟ์การ์ดแต่ละชายหาดมีเหตุที่เกิดไม่เหมือนกัน เช่น หาดยะนุ้ย มีเหตุนักท่องเที่ยวโดนหินบาด ลื่นตกหิน, หาดในหาน ปัญหากระแสน้ำ, หาดกะตะ หาดกะรน ปัญหากระแสน้ำ และโดนแมงกะพรุน คลื่นกระแทกหน้าหาด เป็นลม และการลงเล่นน้ำนอกเวลาทำงาน เมาลงเล่นน้ำ, หาดป่าตอง ปัญหา กระแสน้ำ เป็นลม แมงกะพรุน และการลงเล่นน้ำนอกเวลาทำงาน เมาลงเล่นน้ำ,หาดกมลา ปัญหากระแสน้ำ เป็นลม แมงกะพรุน, หาดสุรินทร์ ปัญหากระแสน้ำ,โดนแมงกะพรุน 


และคลื่นกระแทกหน้าหาด, หาดบางเทา ปัญหากระแสน้ำ,โดนแมงกะพรุน และคลื่นกระแทกหน้าหาด เป็นต้น โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 จนถึง 25 กันยายน 2560 ช่วยนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย แบ่งเป็น ชาวไทย 35 คน และชาวต่างชาติ 302 คน รวมการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 337 คน มีการช่วยได้และเสียชีวิตในช่วงเวลาทำงานของไลฟ์การ์ด 2 คน ขณะเดียวกันก็มีการจมน้ำเสียชีวิตนอกเวลาทำงานของไลฟ์การ์ด รวม 7 คน” 


นายประทัยยุธ กล่าว อย่างไรก็ตามตัวแทนไลฟ์การ์ดแต่ละหาด ระบุว่า ในการทำงานทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย และลดสถิติการจมน้ำให้เหลือน้อยที่สุด แต่ปัญหาที่เจอเหมือนๆ กัน คือนักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามป้ายห้าม หรือสัญลักษณ์ธงแดง หรือคำเตือน มีการลงเล่นน้ำนอกเขตโซนนิ่งที่กำหนด ซึ่งเป็นร่องน้ำหรือกระแสน้ำ หรือในช่วงเวลาที่ไม่มีไลฟ์การ์ด รวมถึงการไปถ่ายรูปบนโขดหินต่างๆ และถูกคลื่นซัดจมทะเล ดังนั้นในการดูแลนักท่องเที่ยวจึงต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ ซึ่งไลฟ์การ์ดทุกคนจะผ่านการอบรมด้านการช่วยเหลือชีวิตและการปฐมพยาบาลมาเป็นอย่างดี
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น