จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

PKRU” ปั้นโมเดล Young Blood - Chief Engineer

PKRU” ปั้นโมเดล Young Blood - Chief Engineer 
ป้อนธุรกิจการโรงแรม – อสังหาฯ ในจังหวัดภูเก็ต 


ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ(Hospitality and Tourism) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property) คือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของเกาะภูเก็ตมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในฐานะขององค์กรที่ผลิตปัญญาชนป้อนเข้าสู่ระบบแรงงาน มีการพัฒนาสารพันหลักสูตรอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อตอบโจทย์ตลาดงานท้องถิ่น หนึ่งในสาขาที่ดำเนินงานในเชิงรุกได้อย่างโดดเด่น คือ “การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning)” ของสาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างชมรมผู้บริหารงานวิศวกรรมจ.ภูเก็ต และสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ซึ่งกำลังขยายความร่วมมือต่อเนื่องอีกในอนาคต ร่วมกันขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายในการปลุกปั้น Chief Engineer หรือหัวหน้าแผนกช่าง รุ่น Young Blood เข้าสู่สถานประกอบการ 


นายกิตติศักดิ์ จิตต์เกื้อ ประธานสาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ กล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่า “ในอดีตสาขาวิชาฯ ผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดงานด้านอุตสาหกรรม โดยเน้นที่ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมองว่าเด็กไม่ได้แสดงขีดความสามารถได้อย่างเต็มที่ จึงได้พยายามยกระดับหลักสูตรด้วยเครือข่ายและแนวร่วมที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกัน จึงเกิดเป็นจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (WIL) โดยจะส่งนักศึกษาไปเรียนและฝึกงานตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 ณ โรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียมในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้และผสมผสานความรู้ทางทฤษฏีและทักษะเข้ากับการทำงานในสถานประกอบการ หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานและลูกค้าจริงๆ 


อีกทั้งนักศึกษาจะได้เงินเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการ และเป็นทีมงานแผนกช่าง Engineering ซึ่งจะดูแลรับผิดชอบงานช่างเทคนิค ซ่อมบำรุง งานไม้ อิเล็กโทรนิกส์ ไฟฟ้า แอร์ ท่อประปา ฯลฯ ทั้งนี้โอกาสที่นักศึกษาจะได้งานในสถานประกอบการมีสูงมาก เนื่องจากปริมาณคนงานประเภทนี้มีไม่เพียงพอ นอกจากนั้นเส้นทางการก้าวหน้าในสายงานมีสูงเนื่องจากการได้เรียนรู้งานที่รวดเร็ว มีทักษะและทฤษฎีในสายงาน รวมถึงการสั่งสมประสบการณ์จะเพิ่มโอกาสเติบโตสู่ตำแหน่ง Chief (หัวหน้า) และ Director (ผู้อำนวยการ) ได้ในอนาคต” 


ทางฝั่งพันธมิตรโปรเจ็คอย่าง นายตรีภพ เปาจีน ประธานชมรมผู้บริหารงานวิศวกรรม จ.ภูเก็ต กล่าวถึงความได้เปรียบของหลักสูตรที่จะเกิดขึ้นต่อวงการช่าง ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ ว่า “จังหวัดภูเก็ต มีโรงแรมและรีสอร์ทจำนวนหลายร้อยแห่ง แน่นอนว่าสายงาน Engineer เป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งงานซ่อมบำรุงเป็นงานเร่งด่วนที่ต้องอาศัยทักษะและชั่วโมงบินในการทำงานสูง ในปัจจุบันตำแหน่ง Chief Engineer ในสถานประกอบการจะมีบุคลากรที่ค่อนข้างอายุมาก เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานมีการเลื่อนขั้นตำแหน่งจากช่างทั่วไปขึ้นมาสู่หัวหน้า แต่หากเราสามารถสร้าง Chief Engineer รุ่นใหม่ที่รอบรู้ทั้งทฤษฎีและแนวปฏิบัติ ประกอบกับการมีเงินเดือนในตำแหน่งหัวหน้าซึ่งเริ่มต้นกว่า 2 หมื่นบาท และสูงสุดถึง 2 แสนบาทในตำแหน่งผู้อำนวยการ ดังนั้นการร่วมมือกับ ม.ราชภัฏภูเก็ต นับเป็นโอกาสสำคัญที่เป็นการยกระดับวงการช่างอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง” 


ด้านนายภาสกร พรมแดน นักศึกษาหลักสูตรปริญญาทางปฏิบัติการ ผู้ซึ่งกำลังฝึกปฏิบัติงานช่างซ่อมบำรุงทั่วไป ณ โรงแรม Cassia Phuket เผยว่า “การได้ออกฝึกงานในโรงแรมทำให้ตนเองมีการพัฒนาและสร้างความมั่นใจจากการทำงานจริง เพราะได้เรียนรู้ระบบการทำงานอย่างละเอียด ฝึกฝนความเป็นมืออาชีพ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ความรับผิดชอบกับหน้างานที่ได้รับมอบหมาย ข้อได้เปรียบสำหรับนักศึกษาของหลักสูตรคือมีขอบข่ายความรู้และทฤษฎีเกี่ยวกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่กว้างขวาง ส่งผลให้เมื่อออกไปทำงานจะเรียนรู้เร็วและทำงานได้ทั้งระบบ จึงทำให้มั่นใจว่าอนาคตจะมีอาชีพที่มั่นคงและมีโอกาสเจริญเติบโตในสายงาน โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดีที่มหาวิทยาลัยและสถานประกอบการได้ดำเนินการให้เกิดขึ้น” 


ทางฝั่งนางสาวนิตยา ทองแดง นักศึกษาฝึกงานโรงแรม Holiday Inn Resort Phuket Mai Khao Beach เล่าประสบการณ์ว่า “รู้สึกดีใจที่ได้ออกทำงานในขณะที่ศึกษาเพราะทำให้มีโอกาสพิสูจน์ตนเอง ปรับปรุง และพัฒนาทักษะให้ตรงกับการทำงานจริง เพราะงานอุตสาหกรรมเป็นงานคอนโทรลระบบ และซ่อมบำรุง ดังนั้นหากศึกษาเฉพาะในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จำเป็นต้องไปเจอสถานการณ์จริง ซึ่งหลักสูตรนี้สร้างคน สร้างงาน สร้างอนาคตได้จริง ขอบคุณอาจารย์ สถานประกอบการ ที่หยิบยื่นโอกาสให้กับนักศึกษาทุกคน”


ความโดดเด่นของ “การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning)” และกำลังยกระดับสู่การเป็นปริญญาทางปฏิบัติการในอนาคต คือ โมเดลที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่การหล่อหลอมหลักการให้กับช่างเทคนิครุ่นเยาว์ได้มีเบสิก ต่อจากนั้นจึงหาเวทีให้ Engineer ได้สร้างกึ๋นและสั่งสมความเก๋า ณ สถานปฏิบัติงานที่รายล้อมด้วยช่างเทคนิครุ่นใหญ่มืออาชีพทำหน้าที่เป็นโค้ช ซึ่งจากความได้เปรียบของภูเก็ตที่เพียบพร้อมด้วยโรงแรมที่พักและสถานประกอบการขนาดใหญ่ โอกาสในการได้งานทำของนักศึกษาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและเติบโตในสายงานจึงสดใส ถือเป็นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างงานอย่างมั่งคง ในสายวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา ควบคู่กับการแสวงหาพันธมิตรที่เข้มแข็งเพื่อสร้าง Career Path สู่การเป็นผู้บริหารในอนาคต 







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น